ศัลยา ประชาชาติ : ปตท.พลิกเกมแจง 8 ประเด็น เคลียร์ปมน้ำมันขึ้นราคา

กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันทีหลังจากที่น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ซึ่งใช้อ้างอิงราคาน้ำมันในประเทศทะยานขึ้นมาสู่จุดสูงสุดถึง 77.05 เหรียญ/บาร์เรลในวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้เกิดขึ้นมาถึง 2 เดือนจากราคาที่ประมาณ 61.75 เหรียญ/บาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันภายในประเทศต้องปรับขึ้นตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกมีราคาสูงถึง 29.79 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้นมาถึง 3.20 บาท/ลิตร (ราคาดีเซลอ้างอิง Platts ตลาดอาเซียนวันที่ 19 พฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 93.69 เหรียญ/บาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 3.82 บาท/ลิตร)

จากนั้นราคาน้ำมันดีเซลจะทะลุเพดาน 30 บาท/ลิตรแน่นอน หากรัฐบาลไม่เข้ามาบริหารจัดการด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งไม่ว่าจะเป็นการใช้เงิน “อุดหนุน” จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือการปรับลดการจัดเก็บภาษีโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีสรรพสามิต

 

ส่งผลให้ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตัดสินใจเลือกใช้วิธีการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาน้ำมันแบบเป็นขั้นเป็นตอนด้วยการ

1) นำน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 ที่จะกำหนดราคาไว้ให้ “ต่ำกว่า” น้ำมันดีเซลขายปลีกเกรดปรกติ 3 บาท/ลิตรออกมาใช้

2) ระหว่างที่ยังรอการผลิต-จำหน่ายดีเซล B20 กระทรวงพลังงานจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามา “อุดหนุน” ราคาน้ำมันในประเทศด้วยการรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกินไปกว่า 30 บาท/ลิตร (หมายถึงกองทุนฯ จะเข้าไปอุดหนุนต่อเมื่อน้ำมันดีเซลเกินกว่า 30 บาท/ลิตร หรือเท่ากับน้ำมันดิบดูไบจะต้องทะยานขึ้นไปกว่า 77 เหรียญ/บาร์เรล)

3) หากราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นไป “สูงกว่า” 80 เหรียญ/บาร์เรลก็จะใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนลดราคาขายปลีกลง 50% ของราคาน้ำมันขายปลีกที่ควรจะเพิ่มขึ้น หรือหมายถึงรัฐบาลจะช่วยรับภาระราคาน้ำมันคนละครึ่งกับผู้บริโภค (เท่ากับมีส่วนต่างระหว่าง 77 เหรียญถึง 80 เหรียญ/บาร์เรลอยู่ประมาณ 3 เหรียญที่กองทุนน้ำมันจะต้องช่วยอุดหนุนเต็ม 100% ไปก่อนในช่วงแรก)

และ 4) หากราคาน้ำมันดิบเบรนต์ (Brent) เพิ่มขึ้นไปถึง 90 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลอ้างอิง Platts ตลาดอาเซียนปรับเพิ่มขึ้นทะลุ 100 เหรียญเป็น 105 เหรียญ/บาร์เรลไปแล้ว กรณีนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเข้ามาอุดหนุนการขึ้นราคาขายปลีก 50% ได้ประมาณ 10 เดือนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า รมว.พลังงานคนนี้เลือกที่จะใช้วิธี “จำกัด” การอุดหนุนราคาน้ำมันภายในประเทศด้วยการประกาศขอบเขตของการอุดหนุนราคาไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน อาทิ ราคาน้ำมันดิบ 80 เหรียญ 90 เหรียญจะใช้วิธีอุดหนุนอย่างไร

อีกทั้งบอกด้วยว่า เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกรณีเลวร้ายสุดจะใช้อุดหนุนไปได้กี่เดือน นั่นหมายถึงการไม่ยอมที่จะใช้วิธีการปรับ/ลด/งดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเหมือนรัฐบาลที่ผ่านๆ มา

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเตรียมการที่จะมีการอุดหนุนราคาน้ำมันแบบครึ่งๆ หรือ 50/50 ระหว่างรัฐกับผู้ใช้น้ำมันดังกล่าวกลับถูกวิพากวิจารณ์ “น้อยกว่า” การปรับขึ้นราคาน้ำมันของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

หรือพูดง่ายๆ ว่า ครั้งนี้ “หวย” มาออกที่ ปตท. รับไปเต็มๆ 100%

 

เริ่มตั้งแต่ข้อกล่าวหาที่ว่า ปตท.ขายน้ำมันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาเลเซีย แล้วลุกลามไปจนกระทั่งถึงการประกาศไม่เติมน้ำมัน ปตท. และบริษัทน้ำมันที่ ปตท. ถือหุ้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป ด้วยเจตนาจะให้ “บริษัท ปตท. เจ๊ง” ผสมกระแสทวงคืน ที่มีการจับข้อมูลในรูปแบบเดิมๆ ขึ้นมาโจมตี ปตท. อีกครั้งหนึ่ง

นั่นทำให้นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องออกมาตั้งคำถามถึง “ขบวนการ” ซึ่งออกมาโจมตี ปตท. อย่างต่อเนื่องในครั้งนี้ว่า ขบวนการเหล่านี้ต้องการอะไรกันแน่ บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังคือใคร

เพราะเหตุใดกลุ่มบุคคลเหล่านั้นจึง (แกล้ง) ไม่เข้าใจพื้นฐานของอุตสาหกรรมพลังงาน หรือใครจะได้รับประโยชน์จากการที่ทำให้บริษัทพลังงานของชาติอ่อนแอและเสียหาย

กระทั่งนำไปสู่การตอบโต้ที่เข้มข้นมากขึ้นด้วยว่า จะมีการลงโทษพวกสร้างกระแสในโซเชียลมีเดียจากข้อความเท็จและการพูดความจริงเพียงครึ่งเดียวอย่างไรดี?

ท้ายที่สุดจึงมีการชี้แจงประเด็นข้อสงสัยสำคัญๆ เกี่ยวกับพลังงานออกมาจากฝั่ง ปตท. รวม 8 ประเด็นด้วยกันคือ

 

1)ที่ว่า ปตท. ขายน้ำมันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยเปรียบเทียบกับมาเลเซีย (ต่ำสุด) และสิงคโปร์ (สูงสุด) นั้น ปัจจัยราคาขายปลีกจากต้นทุนเนื้อน้ำมันและค่าการตลาดไม่ต่างกัน แต่มีแตกต่างกันมากก็คือ ภาษีที่รัฐบาลแต่ละประเทศจัดเก็บ โดยมาเลเซียมีรายได้จากการส่งออกก๊าซ-น้ำมันจึงแทบไม่เก็บภาษีผู้ใช้ ขณะที่ไทยต้องนำเข้าน้ำมันจึงเก็บภาษีสรรพสามิต (ภาษีสรรพสามิตเก็บอยู่ระหว่าง 5.20-5.85 บาท/ลิตร) เพื่อนำมาเป็นงบประมาณของรัฐ พร้อมกับยืนยันว่า ราคาขายปลีกน้ำมันของปั๊ม ปตท. ไม่เคยสูงกว่าปั๊มต่างชาติ แถมยังต่ำกว่าเป็นบางวันด้วย

2) ปตท. ส่งออกน้ำมันถูกกว่าที่ขายในประเทศ ในประเด็นนี้ นายเทวินทร์ยืนยันว่าราคาส่งออกใกล้เคียงกับราคา ณ หน้าโรงกลั่นน้ำมันที่ขายในประเทศ ปตท. ส่งออกเป็นราคาตลาดในภูมิภาค ซึ่งหมายถึงราคาที่ยังไม่ได้รวมภาษีสรรพสามิตเหมือนน้ำมันที่จำหน่ายปลีกในประเทศ

3) ปตท.แอบขึ้นราคาน้ำมันโดยไม่บอกประชาชน เรื่องนี้ยืนยันว่า “ไม่จริง” การขึ้นราคาขายปลีกเป็นไปตามราคาตลาดโลก ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นไปถึง 20% และตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน ปตท. ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมัน 6 ครั้งเพื่อรักษา “ค่าการตลาด” ที่อยู่ระหว่าง 1.60-1.80 บาท/ลิตร แถมราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นก็ยัง “ต่ำกว่า” ปั๊มต่างประเทศรวม 9 วัน

4) ปตท.กำไรแยะจากการ “ผูกขาด” ขายน้ำมันแพง ข้อเท็จจริงคือ กำไรของ ปตท.มาจากธุรกิจน้ำมันเพียง 10% ส่วนที่เหลือมาจากผลตอบแทนการลงทุนในธุรกิจก๊าซ สำรวจและผลิต โรงกลั่นและปิโตรเคมี ณ สิ้นปี 2560 ปตท.มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น (Total Assets) 2.23 ล้านล้านบาท มีกำไร 135,000 ล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset หรือ ROA) 6% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของการทำธุรกิจทั่วไป

5) ปตท. ผลิตก๊าซ-น้ำมันในประเทศมากมาย จึงควรนำมาอุดหนุนด้านราคาหรือไม่ ในประเด็นนี้ นายเทวินทร์เห็นว่า “ไม่ควร” เพราะ ปตท.สผ. (บริษัทลูก) มีสัดส่วนการผลิตก๊าซ-น้ำมันแค่ 30% ของผู้ผลิตในประเทศหรือเทียบเท่า 10% ของการใช้พลังงานทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้น “รายได้จึงไม่เพียงพอที่จะนำมาอุดหนุนราคาได้อย่างมีนัยสำคัญ”

6) คุณภาพน้ำมันและบริการของ ปตท. ต่ำกว่ามาตรฐาน… “เรื่องนี้ก็ไม่จริง” เนื่องจาก ปตท. พัฒนาคุณภาพน้ำมันสูงกว่ามาตรฐานทั่วไปอยู่แล้ว

7) ปตท. มุ่งแต่ทำกำไรไม่เคยช่วยเหลือสังคม แต่ในความเป็นจริงก็คือ ปตท. เปิดพื้นที่ในปั๊มน้ำมันให้เกษตรกรนำผลผลิตมาขายโดยตรงไม่คิดค่าใช้จ่าย ปตท. มีการตั้งบริษัท Social Enterprise เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนให้สร้างรายได้ร่วมกับธุรกิจของ ปตท. และยังมีกิจกรรมดูแลสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

และ 8) นายทุน-นักการเมืองเป็นเจ้าของ ปตท. แต่ความเป็นจริงก็คือ กระทรวงการคลัง-กองทุนวายุภักษ์ ถือหุ้นใน ปตท. รวมกัน 63.5% อีก 32% ถือโดยสถาบันการเงิน/กองทุน และอีก 4.5% ถือโดยนักลงทุนรายย่อย

 

เป็นกระบวนการตอบโต้ด้วยข้อมูลโดยละเอียดและท่าทีที่แข็งกร้าว

โดยเฉพาะเมื่อมีการประสานกับ “ฝ่ายกฎหมายของ ปตท. โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการกับผู้ที่มีเจตนาไม่หวังดีส่งข้อมูลอันเป็นเท็จสร้างความเสียหายให้แก่ ปตท. อีกทางหนึ่งด้วย

ซึ่งก็ต้องติดตามดูว่า ปฏิกิริยาโต้กลับของ ปตท. จะหยุดยั้ง “ขบวนการ” โจมตี ปตท. ได้หรือไม่