พิศณุ นิลกลัด : ใบเหลือง ใบแดง มีที่มาจากไหน?

พิศณุ นิลกลัด

การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 21 ซึ่งรัสเซียเป็นเจ้าภาพจะเริ่มขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน เตะกัน 1 เดือนจนได้แชมป์ในวันที่ 15 กรกฎาคม

ฟุตบอลโลกคราวนี้รับประกันว่าต้องมีนักเตะเคราะห์ร้ายโดนกรรมการแจกใบแดงแน่

เคยสงสัยมั้ยครับว่า ใบเหลือง ใบแดง เริ่มมีตั้งแต่เมื่อไหร่?

 

ใครเป็นคนคิด?

ใบเหลือง ใบแดง เริ่มใช้ครั้งแรกในการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 1970 ที่เม็กซิโก

ผู้คิดค้นคือผู้ตัดสินฟุตบอลโลกชาวอังกฤษ ชื่อเค็น แอสตั้น (Ken Aston) โดยได้ไอเดียมาจากไฟสัญญาณจราจรไฟเหลือง เตรียมหยุด ไฟแดง หยุดสนิท

เพื่อเวลานักเตะและผู้ชมเห็นผู้ตัดสินชูใบเหลือง ใบแดง จะได้ทราบพร้อมกันว่าหมายถึงอะไร ไม่ต้องประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง แค่เห็นใบเหลือง ใบแดงก็เข้าใจแล้วว่าคืออะไร เพราะเป็นภาษาสากล

ก่อนปี 1970 สมัยที่ยังไม่มีการแจกใบเหลือง ใบแดง ทั้งนักเตะและผู้ชมเกิดความสับสนเรื่องการทำฟาวล์แรงครั้งแรกและถูกกรรมการตักเตือน หากทำฟาวล์รุนแรงอีกครั้งที่ 2 จะถูกไล่ออก เพราะสมัยก่อนผู้ตัดสินใช้วิธีจดในสมุดโน้ตเล็กๆ ไม่มีชูใบเหลือง ใบแดงให้เห็นอย่างเด่นชัด

ทำให้ผู้ชมในสนามไม่พอใจ และเกิดความสับสน ว่าทำไมอยู่ๆ นักฟุตบอลก็ถูกไล่ออกจากสนาม บางคนเล่นฟาวล์แต่ไม่ถูกไล่ เพราะผู้ชมจำไม่ได้ หรือไม่ได้จำว่าใครทำฟาวล์รุนแรงครั้งที่ 1 หรือครั้งที่ 2

เค็น แอสตั้น ก็เลยครุ่นคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี

 

วันหนึ่งขณะที่เขากำลังขับรถบนถนนเคนซิงตั้น ไฮสตรีต (Kensington Hight Street) ในกรุงลอนดอน เห็นสัญญาณไฟจราจรเปลี่ยนจากเหลืองเป็นแดง จึงปิ๊งไอเดียว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับฟุตบอลได้ โดยการให้ใบเหลืองเหมือนเป็นการเตือนนักฟุตบอลให้ “Take it Easy” หรือ “ใจเย็นๆ”

ส่วนการให้ใบแดง ก็เป็นการสั่งนักฟุตบอลว่า “Stop, you”re off” “หยุด คุณออกไปเลย”

ฟุตบอลโลก 1970 เป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกที่มีการใช้ใบเหลืองใบแดง

ต่อมาในปี 1974 เค็น แอสตั้น คนเดิมก็เป็นผู้คิดค้นการใช้ป้ายชูประกาศเวลามีการเปลี่ยนตัวนักฟุตบอล เพื่อให้ทั้งตัวนักเตะและผู้ชมทราบว่าใครถูกเปลี่ยนตัวออก แล้วใครลงไปเล่นแทน

 

แม้ผู้ตัดสินฟุตบอลชาวอังกฤษจะเป็นผู้คิดค้นใบเหลือง ใบแดง ในการแข่งขันฟุตบอลทั่วไปและฟุตบอลโลก แต่ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซียที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ฟีฟ่าไม่เลือกทีมผู้ตัดสินจากสหราชอาณาจักร หรือ United Kingdom ซึ่งประกอบด้วยอังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ให้ทำหน้าที่แม้แต่คนเดียว

นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 80 ปี หรือนับตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1938 ที่ผู้ตัดสินชาวอังกฤษไม่ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่

ฟุตบอลโลกที่จะมีขึ้นที่รัสเซีย ทางฟีฟ่าคัดเลือกผู้ตัดสินทั้งหมด 36 คน และผู้ช่วยผู้ตัดสินอีก 63 คนจากทุกทวีป

ฟีฟ่ากล่าวถึงเกณฑ์การคัดเลือกผู้ตัดสินว่าดูที่ทักษะและนิสัยใจคอของผู้ตัดสิน ตลอดจนระดับความเข้าใจในเกมฟุตบอล และความเข้าใจในแท็กติกของทีมฟุตบอลแต่ละทีม

ที่ผ่านมา ผู้ตัดสินจากอังกฤษคนล่าสุดที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ตัดสินฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศคือ ฮาวเวิร์ด เว็บบ์ (Howard Webb) ในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศ ปี 2010 ระหว่างสเปนกับเนเธอร์แลนด์

ฮาวเวิร์ด เว็บบ์ แขวนนกหวีดเลิกเป็นผู้ตัดสินในปี 2014 ตอนอายุ 43 ปี

 

การที่ผู้ตัดสินอังกฤษไม่ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ในฟุตบอลโลก 2018 สื่ออังกฤษก็วิจารณ์ว่าเป็นเพราะผู้ตัดสินอังกฤษสมัยนี้มาตรฐานต่ำลง

ฮาวเวิร์ด เว็บบ์ กล่าวว่า การเป็นผู้ตัดสินต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวกับเสียงวิจารณ์ ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถตัดสินด้วยความมั่นใจเด็ดเดี่ยวได้ เพราะในสนามแข่งขันที่มีผู้ชมเป็นหมื่น ทางหน้าจอทีวีอีกเป็นล้าน ตัวผู้ตัดสินเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ความเห็นต่อเกมมีผลได้เสียกับการแข่งขัน

ปีแอร์ลุยจิ กอลลีน่า (Pierluigi Collina) อดีตผู้ตัดสินชาวอิตาลี ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ตัดสินที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลก ปัจจุบันมีตำแหน่งในฟีฟ่า เป็นประธานคณะกรรมการผู้ตัดสิน (FIFA Chairman of the Referees Committee) ได้ให้แง่คิดในความพร้อมของผู้ตัดสินไว้น่าสนใจว่า

เมื่อผู้ตัดสินสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าเหตุการณ์อะไรน่าจะเกิดขึ้นในการแข่งขัน ก็จะทำให้ผู้ตัดสินมีความพร้อม

เมื่อผู้ตัดสินมีความพร้อม ก็จะทำให้การตัดสินใจถูกต้อง

หากคาดการณ์ไม่ถูกว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตะลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด โอกาสที่จะตัดสินใจผิดก็มีสูง

ซึ่งกอลลีน่าเห็นว่า การเป็นผู้ตัดสิน คำว่า “ขอโทษ ตัดสินผิดเพราะคาดการณ์ไม่ถูกว่าจะเกิดอะไรขึ้น” เป็นข้อแก้ตัวที่เขารับไม่ได้

กอลลีน่าให้คำแนะนำกับผู้ตัดสินฟุตบอลว่า ให้คิดเหมือนกับมูฮัมหมัด อาลี คือ “Float like a butterfly, sting like a bee.” หรือโบยบินเหมือนผีเสื้อ แต่ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง

โดยกอลลีน่ากล่าวว่า ผู้ตัดสินจะถือว่าทำหน้าที่ได้ดีมากเมื่อผู้ชมการแข่งขันรู้สึกว่าไม่มีผู้ตัดสินทำงานอยู่ในสนาม การแข่งขันเป็นไปอย่างลื่นไหล

ผู้ตัดสินต้องรู้จักโบยบินพลิ้วไหวเหมือนผีเสื้อ แต่ในยามสำคัญ ผู้ตัดสินต้องเข้มแข็ง จริงจัง ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง