กรองกระแส/ประเด็นการเมือง ท่าทีต่อรัฐธรรมนูญ 2560 เส้นแบ่งการเมือง

กรองกระแส

 

ประเด็นการเมือง

ท่าทีต่อรัฐธรรมนูญ 2560

เส้นแบ่งการเมือง

 

การเสนอประเด็นเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาในที่ประชุมใหญ่เป็นครั้งแรกของพรรคอนาคตใหม่มีโอกาสจะกลายเป็น “กระแส” ในทางสังคมหรือไม่

สัมผัสได้จากท่าทีของ คสช. ของรัฐบาล

ไม่ว่าจะมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าจะมาจากนายวิษณุ เครืองาม

สะท้อนความสงสัย สะท้อนความหงุดหงิด

เป็นความหงุดหงิดจากวิธีการใช้ภาษาโดยเฉพาะจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นความสงสัยจากเป้าหมายก็คือ การรื้อและสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และเนื่องจากแต่ละคนล้วนมีบทบาทใน คสช. และมีบทบาทในรัฐบาล

จึงมอบหมายให้ คสช. ไปตรวจสอบ จึงมอบหมายให้ กกต. ไปตรวจสอบ ความชอบด้วยกฎหมายที่พรรคอนาคตใหม่แสดงออกเช่นนี้

ยิ่งเมื่อประเด็นนี้ตกไปอยู่กับแต่ละพรรคการเมือง ยิ่งมีความเด่นชัดว่าเรื่องของรัฐธรรมนูญได้กลายเป็นประเด็นร้อน ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญ

เท่ากับเจตนารมณ์ของพรรคอนาคตใหม่ประสบผลสำเร็จ

 

ทิศทางอนาคตใหม่

การจุดประกายความคิด

 

ต้องยอมรับว่าเพียงการขยับขับเคลื่อนตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา พรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการเสนอวาระในทางความคิด วาระในทางการเมือง

คำว่า “คนรุ่นใหม่” คำว่า “การเมืองใหม่”

แม้ประเด็นที่เคยเป็นเรื่องปลีกย่อยและเป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองมองข้ามอย่างประเด็นความหลากหลายทางเพศก็ได้รับการเอ่ยถึงพูดถึงจากหลายพรรคการเมือง กลายเป็นเรื่องสำคัญและอยู่ในวาระขึ้นมา

ท่าทีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อประสานกับท่าทีของนายปิยบุตร แสงกนกกุล มีความแจ่มชัด นั่นก็คือท่าทีของพรรคในการจุดประกาย เป็นหัวหอกในการเสนอความคิดใหม่ๆ ในทางการเมือง ในทางสังคม

จึงไม่แปลกที่พรรคอนาคตใหม่จะประกาศท่าทีในการต่อต้านนายกรัฐมนตรี “คนนอก” อย่างเข้มแข็งจริงจัง และท่าทีนี้เมื่อเสนอเข้าสู่สังคม เท่ากับเป็นคำถามทุกพรรคการเมืองว่ามีทัศนะอย่างไรต่อเรื่องนายกรัฐมนตรี “คนนอก”

และยิ่งมาถึงประเด็นอันเกี่ยวกับ “รัฐธรรมนูญ” ยิ่งมากด้วยความแหลมคม เท่ากับนำไปสู่การขีดเส้นแบ่งในทางการเมืองอย่างเด่นชัด

 

กรณีรัฐธรรมนูญ

กรณีรัฐประหาร

 

ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญมิได้ดำรงอยู่อย่างโดดๆ หากแต่ดำรงอยู่อย่างมีความสัมพันธ์กับแต่ละบริบทในทางการเมือง

คำถามก็คือ ทำไมต้องฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ทิ้ง

ทั้งๆ ที่นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 แล้ว อาจถือได้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เกิดขึ้นบนพื้นฐานแห่งความเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยอย่างเข้มข้น เพราะสัมพันธ์กับสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 และมีพื้นฐานมาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

จึงได้มีสมญาว่าเป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน”

แต่แล้วสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็นำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ทิ้งแล้วร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ขึ้นแทน แต่แล้วสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็นำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แล้วร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ขึ้นแทน

การตั้งคำถามต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จึงสัมพันธ์กับการตั้งคำถามต่อรัฐประหารไม่ว่าจะเมื่อเดือนกันยายน 2549 หรือเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นี่คือการเสนอประเด็นเข้าสู่สังคม เพื่อร่วมกันทบทวนและหาทางแก้ไข

 

ภารกิจสร้างกระแส

ภารกิจอนาคตใหม่

 

พลันที่พรรคอนาคตใหม่ได้เสนอประเด็นการรื้อและแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นวาระสำคัญ จึงไม่เพียงแต่จะเป็นคำถามไปถึง “รัฐประหาร” หากแต่ยังเป็นคำถามไปถึงทุก “พรรคการเมือง”

ไม่เพียงแต่จะถามว่า “เอา” หรือ “ไม่เอา” รัฐประหาร

หากแต่ยังมีคำถามตามมาด้วยในขณะเดียวกันว่า จะ “เอา” หรือ “ไม่เอา” รัฐธรรมนูญอันเป็นผลผลิตจากกระบวนการรัฐประหาร

คำถามนี้ทุกพรรคการเมืองจำเป็นต้องตอบ

หากพรรคอนาคตใหม่และพรรคที่มีความเห็นร่วมกันในแนวทางนี้ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา สามารถสร้างประเด็นในเรื่องการต่อต้านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้สำเร็จ นั่นเท่ากับเป็นการสร้างกระแสอันจะนำไปสู่ฉันทามติได้โดยพื้นฐาน

เป็นฉันทามติอันจะแสดงผ่านการเลือกตั้งว่าประชาชนต้องการพรรคการเมืองแบบใด ต้องการรัฐธรรมนูญแบบใด