โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ/รูปหล่อรุ่นแรก 2487 หลวงพ่อยอด อินทโชติ มงคลวัดหนองปลาหมอ

หลวงพ่อยอด อินทโชติ

โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ [email protected]

รูปหล่อรุ่นแรก 2487

หลวงพ่อยอด อินทโชติ

มงคลวัดหนองปลาหมอ

 

“พระครูประสุตสังฆกิจ” หรือ “หลวงพ่อยอด อินทโชติ” อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองปลาหมอ ต.หนองปลาหมอ อ.หนองแค จ.สระบุรี หนึ่งในสุดยอดพระเกจิ ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง

พัฒนาวัดหนองปลาหมอ จากเดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์ร้าง จนเจริญรุ่งเรือง เป็นที่รู้จักดังปรากฏในปัจจุบัน

วัตถุมงคลล้วนเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ “รูปหล่อลอยองค์ รุ่นแรก ปี 2487” พระรูปเหมือนของท่าน ถึงแม้จะสร้างไม่ทันตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม แต่ก็ยังเป็นที่นิยม

และยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเบญจภาคีพระรูปเหมือนยอดนิยมของไทย

 

สํหรับเบญจภาคีพระรูปเหมือน สุดยอดพระรูปเหมือนพระคณาจารย์ของไทย ประกอบด้วย ภาคเหนือ รูปหล่อหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร และรูปหล่อหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์, ภาคอีสาน รูปหล่อหลวงพ่อสุข วัดโพธิ์ทรายทอง จ.บุรีรัมย์, ภาคใต้ รูปหล่อหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี และภาคกลาง รูปหล่อหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ จ.สระบุรี

พระรูปหล่อรุ่นแรก หลวงพ่อยอด พ.ศ.2487 จัดสร้างโดยพระครูวิบูลย์คณานุสรณ์ (หลวงพ่อเฉื่อย) อดีตเจ้าอาวาสวัดสหมิตรมงคล ศิษย์ใกล้ชิด โดยจัดสร้าง “รูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริงหลวงพ่อยอด” เพื่อเป็นที่สักการบูชาของศิษยานุศิษย์และผู้เคารพศรัทธา

พร้อมทั้งสร้าง “พระรูปหล่อขนาดเล็ก” จำนวน 500 องค์ เนื้อทองเหลืองด้วย

ลักษณะเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อยอดเต็มองค์ นั่งสมาธิเหนืออาสนะชั้นเดียว ใต้ฐานคว้านเพื่อบรรจุอัฐิของหลวงพ่อยอด แล้วอุดด้วยทองแดงทุกองค์ ซึ่งลักษณะพิมพ์ทรงจะคล้ายกับรูปหล่อหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน

เนื่องจากจัดสร้างจากโรงงานเดียวกันคือ “บ้านช่างหล่อ” เพียงอายุการสร้างห่างกันเกือบ 30 ปี นอกจากนี้ ยังมีพระเกจิชื่อดังผู้ทรงพุทธาคมในยุคนั้นหลายรูปเข้าร่วมพิธีปลุกเสก อาทิ หลวงพ่อคง วัดพุทไธศวรรย์, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อเกิด วัดสะพาน, หลวงพ่อนาค วัดหนองสีดา และหลวงพ่อเที่ยง วัดศาลาแดง เป็นต้น

พระรูปหล่อรุ่นแรก หลวงพ่อยอด ปี พ.ศ.2487 จึงนับเป็นวัตถุมงคลที่ทรงคุณค่าและพุทธาคม โดยเฉพาะด้านเมตตามหานิยม จนเป็นที่กล่าวขานว่า “ผู้ใดมีพระรูปหล่อหลวงพ่อยอดรุ่นแรก ไม่มีตายโหง”

ในครั้งนั้นเปิดให้ทำบุญเพียงองค์ละ 20 บาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณากันให้ถ่องแท้ ด้วยพระรูปหล่อหลวงพ่อยอดไม่ได้ออกมาเพียงรุ่นเดียว ยังมีที่สร้างในคราวเดียวกันที่วัดหนองโน ซึ่งนับเป็นรุ่นแรกเช่นกัน แต่ความประณีตงดงามจะด้อยกว่า

และรูปหล่อรุ่น 2 ของวัดหนองปลาหมอ ที่ออกมาเมื่อปี พ.ศ.2511 มีลักษณะใกล้เคียงกันกับรุ่นแรกมากและได้รับความนิยมสะสมเช่นเดียวกัน จึงต้องอาศัยความชำนาญในเรื่องพิมพ์ทรงและอายุของเนื้อหามวลสารเป็นสำคัญ

ปัจจุบันนับว่าหาดูหาเช่าของแท้ยาก

พระรูปหล่อรุ่นแรก หลวงพ่อยอด ปี พ.ศ.2487 (หน้า)
พระรูปหล่อรุ่นแรก หลวงพ่อยอด ปี พ.ศ.2487 (หลัง)

 

หลวงพ่อยอด เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา เกิดในราวปี พ.ศ.2400 ที่บ้านมะขามเฒ่า อ.สูงเนิน

อายุครบบวช เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดมะรุม โดยมีพระอาจารย์อินทร วัดมะรุม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ปล้อง วัดมะรุม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์รอด วัดมะค่า เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “อินทโชติ”

ศึกษาคันถธุระและวิปัสสนาธุระจนแตกฉาน เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาวิทยาการต่างๆ เพิ่มเติมที่วัดชนะสงครามอยู่หลายพรรษา

ระหว่างนั้นได้รู้จักกับ หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ และหลวงพ่อฉาย วัดพนัญเชิง สองพระเกจิชื่อดังจาก จ.พระนครศรีอยุธยา

เมื่อสำเร็จการศึกษา จึงเดินทางไปจำพรรษากับหลวงพ่อกลั่นระยะหนึ่ง

จากนั้นออกเดินทางต่อผ่าน อ.อุทัย อ.หนองแค จนมาถึงบ้านหนองปลาหมอ ณ สถานที่แห่งนี้ ท่านได้พบสำนักสงฆ์ร้างอยู่ และด้วยความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อท่าน ท่านจึงตัดสินใจจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ร้าง ในปี พ.ศ.2432 พัฒนาจนเป็นวัดและเจริญรุ่งเรืองขึ้นสืบมา ชื่อว่า “วัดหนองปลาเข็ง”

ต่อมาในปี พ.ศ.2483 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดหนองปลาหมอ”

 

ปกครองวัดหนองปลาหมอนานถึง 54 ปี เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ และมีเมตตาธรรมแก่ทุกคน เป็นที่เคารพเลื่อมใส

ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอธิการหมวด และเป็นพระอุปัชฌาย์ จนถึงสมณศักดิ์สุดท้าย เป็นพระครูเจ้าคณะแขวง ที่ พระครูประสุตสังฆกิจ เมื่อปี พ.ศ.2460

ด้านวัตถุมงคลในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตยุคแรก ส่วนใหญ่เป็นเครื่องรางของขลังประเภทตะกรุด ทั้งตะกรุดเงินและสามกษัตริย์

ต่อมาในราวปี พ.ศ.2475 อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองบอน ขออนุญาตจัดสร้างเหรียญรูปเหมือน เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญสร้างอุโบสถวัดหนองบอน โดยขอให้ท่านปลุกเสก ซึ่งถือเป็น “เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก” ของท่านที่โด่งดังมากเช่นกัน

ส่วนวัตถุมงคลอื่นๆ สร้างภายหลังท่านมรณภาพแล้วทั้งสิ้น

มรณภาพในปี พ.ศ.2486 สิริอายุรวม 86 ปี พรรษา 63

พระราชทานเพลิงศพในปี พ.ศ.2487