หน้า 8 : ไฟลามทุ่ง

ใครจะไปนึกว่าข่าวการเดินทางไปประชุมที่ฮาวายแบบ “เหมาลำ” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

จะกลายเป็น “ข่าวใหญ่” ที่มากด้วยสีสัน

และบั่นทอนเสถียรภาพรัฐบาลอย่างรุนแรง

เพราะเมื่อนำมารวมกับข่าวครอบครัว พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา

กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ตรงข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศไว้

ไม่ว่าจะเป็นการชู “เศรษฐกิจพอเพียง” ในเวทีโลก

การสั่งให้ข้าราชการประหยัด เดินทางด้วยเครื่องบินต้องนั่งชั้นประหยัด

การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

หรือเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

“คำเทศนา” กลายเป็น “น้ำยาบ้วนปาก” ไปในพริบตา

มีคนบอกว่าเห็นข่าว พล.อ.ประวิตร แล้วนึกถึงตอนที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ขายหุ้นชินคอร์ป 76,000 ล้านบาท

ถ้าขายตอนปี 2546-2547 ที่สังคมไทยเกิดกระแส “ทักษิณฟีเวอร์”

“ทักษิณ” จะเป็น “ฮีโร่”

แต่พอขายในช่วงที่กระแสตก

การขายหุ้นในตลาดหุ้นที่ไม่ต้องเสียภาษียังถูกตั้งคำถามว่า “ทำไมไม่เสียภาษี”

ก่อนจะลุกลามไปเรื่องอื่นๆ ที่ซ่อนเอาไว้

จังหวะเวลาของ “ข่าว” จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ข่าว พล.อ.ประวิตร เกิดขึ้นในช่วงที่สังคมไทยไม่พอใจข่าวคนใกล้ชิดนายกฯที่มีลักษณะ “ทับซ้อน” ทางผลประโยชน์

ทั้ง ฝายแม่ผ่องพรรณ ลูกชายตั้งบริษัทในค่ายทหาร จนถึงการประมูลงาน

เมื่อเจอข่าวการใช้งบ 20 ล้านกับคน 38 คน ของ พล.อ.ประวิตร เข้าไป กระแสจึงแรงขึ้นทันที

ทั้งที่การเหมาลำไม่ใช่เรื่องแปลกของทุกรัฐบาล

จากเรื่องการใช้งบ 20 ล้านเช่าเหมาลำเครื่องการบินไทย

กลายมาเป็นเรื่องค่าอาหาร 6 แสนบาทบนเครื่องบินที่สะเทือนความรู้สึกคนหาเช้ากินค่ำ

และพัฒนาต่อมาเป็นเรื่องรายชื่อผู้ร่วมคณะ

ที่มีร่องรอยบางอย่างที่น่าสนใจ

ไม่ว่าจะเป็นชื่อ “ผู้ประกาศข่าวสาว”

หรือชื่อผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่อีก 2 คน

จะเดินทางไปหรือไม่ไป ไม่ใช่ประเด็น

คำถามอยู่ที่ว่าทำไมถึงมีชื่อ 3 คนนี้ร่วมคณะเดินทาง

เกี่ยวข้องอะไรกับการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-สหรัฐอเมริกา

“ผู้ประกาศสาว” พอรู้กันว่าทำไมได้รับเชิญ

แต่ 2 รายชื่อจากบริษัทยักษ์ใหญ่เกี่ยวข้องอะไร

คนหนึ่ง มีหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์กับคนในกองทัพตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร

ปรากฏตัวในภาพข่าวเป็นประจำตอนที่บริจาคเงินให้กับหน่วยงานของกองทัพ

ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ สโมสรอาร์มี่ ยูไนเต็ด หรือสมาคมแม่บ้านทหารบก

อีกคนหนึ่ง เป็นคนใกล้ชิด “เจ้าสัว”

ใกล้ชิดแค่ไหน

ก็ใกล้ชิดระดับเป็นพยานในคดี “หมอหยอง” เรียกเงินจาก “เจ้าสัว”

ไม่มีใครรู้ว่าทำไมภาคเอกชนรายใหญ่นี้จึงมีชื่อเดินทางไปกับคณะ พล.อ.ประวิตร

หรือว่าเป็นหนึ่งในนโยบาย “ประชารัฐ”

รัฐกับเอกชนเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนทีมฟุตบอล

มีผู้รักษาประตู มีกองหลัง

และมีกองกลาง “จ่าย” บอล

ให้กองหน้ายิงประตู