เทศมองไทย : น้ำมันกับเอเชีย บริโภคมากก็อ่วมอรทัย

สํานักข่าวรอยเตอร์ให้ข้อมูลเอาไว้ในบทวิเคราะห์เรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกับการบริโภคน้ำมันของภูมิภาคเอเชียเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ได้ครบถ้วนกระบวนความและน่าสนใจ ชวนให้เก็บเอาไปขบคิดกันต่อได้ดีมาก

เริ่มต้นตั้งแต่การบอกข้อเท็จจริงเอาไว้ว่า นับตั้งแต่มกราคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ขาดอีกเล็กน้อยก็จะแตะระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นกันมานับตั้งแต่ปี 2014 แล้ว

ที่น่าสนใจก็คือ เป็นการขึ้นไปแกว่งตัวอยู่ในระดับสูงในยามที่ความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์

เขาบอกว่า ถ้าคิดที่ราคา 80 ดอลลาร์ มูลค่ารวมของการบริโภคน้ำมันของเอเชียทั้งหมดในเวลานี้ก็จะอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี มากมายมหาศาลถึงขนาดนั้น

นั่นคิดเป็นดอลลาร์นะครับ แต่ถ้าคิดเป็นเงินตราท้องถิ่นก็คงมากมายขึ้นไปอีก เพราะตอนนี้ค่าเงินดอลลาร์แข็งโป๊ก ยิ่งทำให้ราคาน้ำมันที่แพงอยู่แล้ว แพงขึ้นไปใหญ่

 

อาร์บีซี แคปปิตอล มาร์เก็ต ธนาคารเพื่อการลงทุนหรือวาณิชธนกิจของแคนาดาบอกเอาไว้ว่า เอเชียจึงกลายเป็นภูมิภาคที่ปั่นป่วนที่สุดในโลกในทุกครั้งที่ราคาน้ำมันพุ่งสูง

ข้อเท็จจริงสำคัญก็คือ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกบริโภคน้ำมันมากถึง 35 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำมันที่ทั่วโลกบริโภคกันต่อวัน

แต่ในทางกลับกัน เอเชียกลับเป็นภูมิภาคที่ผลิตน้ำมันดิบได้น้อยที่สุดในโลก คือผลิตได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก

ข้อมูลของมอร์แกน สแตนลีย์ ที่รอยเตอร์หยิบมาบอกต่อเอาไว้ก็คือ ในเมื่อทุกกิจการต้องใช้น้ำมันในขั้นตอนการผลิตและกระบวนการให้บริการ เมื่อน้ำมันขึ้นราคา ต้นทุนของทุกกิจการก็ต้องปรับเพิ่มขึ้นตาม

ตัวอย่างเช่น กิจการเหมือง ซึ่งผลิตวัตถุดิบจำพวกดีบุก ทองแดงป้อนให้กับโรงงานการผลิตต่างๆ มีสัดส่วนของน้ำมันเป็นต้นทุนอยู่ระหว่าง 10-20 เปอร์เซ็นต์ โรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะใช้อะไรเป็นพลังงาน ก็ต้องมีน้ำมันเข้าไปเป็นต้นทุนอยู่ด้วย ตั้งแต่ 4 เปอร์เซ็นต์ จนมากที่สุดถึง 50 เปอร์เซ็นต์ กิจการเหล่านี้ต้นทุนแพงขึ้นทั้งหมดเมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น

แล้วกิจการธุรกิจทั้งหลายก็จะทำเหมือนๆ กันหมดก็คือ ผลักต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้กับผู้บริโภคให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

การที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น จึงทำให้ทุกอย่างปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยกันถ้วนหน้า

 

จีนเป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันมากที่สุดในเอเชีย อาจเป็นหนึ่งในที่สุดของโลกด้วยซ้ำ แต่ละวันนำเข้าน้ำมันถึง 9.6 ล้านบาร์เรล (ข้อมูลเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา) คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของการบริโภคทั้งโลก

คิดตามราคาปัจจุบัน จีนต้องใช้เงินซื้อน้ำมันมากถึง 768 ล้านดอลลาร์ต่อวัน 23,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน ถ้าทั้งปีจะสูงถึง 280,000 ล้านดอลลาร์

แต่อาร์บีซีไม่ได้บอกว่าจีนเป็นชาติที่เดือดร้อนที่สุด เขาบอกว่า ชาติที่จะเดือดร้อนที่สุดเมื่อราคาน้ำมันแพง คือประเทศอย่างอินเดียกับเวียดนาม ที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันอย่างหนักเหมือนกับจีนเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ความมั่งคั่งของจีนมากมายมหาศาลกว่า ทำให้ชะลอผลกระทบจากการที่ราคาสูงขึ้นมากแบบเฉียบพลันได้มากกว่า

“ประเทศที่ยากจนกว่า มีข้อจำกัดในการระดมทุนเงินกู้มากกว่า จะเผชิญปัญหายุ่งยากทางการเงินได้ในยามที่บิลค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น” เหมือนเช่นตอนนี้

 

ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์ ยังเดือดร้อนเพราะราคาน้ำมันแพงมากกว่า เนื่องจากสัดส่วนของรายได้ประจำโดยเฉลี่ยแล้วจะถูกนำไปใช้เป็นค่าน้ำมันสูงกว่า คือเฉลี่ยแล้วราว 8-9 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนต่อคน ในขณะที่คนในประเทศพัฒนาแล้ว ต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันคิดสัดส่วนเฉลี่ยแล้วเพียงแค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประจำเท่านั้น

ธุรกิจได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยตรงที่สุด เห็นจะเป็นกิจการในกลุ่มคมนาคมขนส่งและโลจิสติกทั้งหลาย แต่สุดท้ายแล้วทั้งหมดก็อาจมาลงเอยที่ผู้บริโภคทั้งหมด เพราะถ้าธุรกิจผลักภาระที่เพิ่มขึ้นให้ลูกค้าไม่ได้ น้ำมันยิ่งแพง ธุรกิจก็ยิ่งมีโอกาสเจ๊งมากขึ้นเท่านั้นเอง

อาร์บีซี แคปปิตอล มาร์เก็ต เตือนเอาไว้ตอนท้ายว่า เมื่อคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันแล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่เอเชียทั้งภูมิภาคจำเป็นต้องลดปัญหาจากราคาน้ำมันโลกลงให้ได้

ด้วยการบริโภคน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ ให้คุ้มประโยชน์มากที่สุดและประหยัดให้ได้มากที่สุด

ซึ่งเราท่านทั้งหลายรู้กันดี แต่มักลืมๆ ไปทุกทีที่ราคาน้ำมันมันลดลงมาต่ำเตี้ยเรี่ยดิน พอถึงเวลาน้ำมันแพงก็อ่วมอรทัยกันทุกทีไป