ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 พฤษภาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ทุกๆ ครั้งที่เกิดการชุมนุมทางการเมือง “สื่อมวลชน” ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่จะทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นออกไปสู่สังคมว่าขณะนี้เกิดอะไรขึ้น
ล่าสุดคือ การรายงานข่าวการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ในวันครบรอบ 4 ปีการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ดูเหมือนว่าจะทำให้บรรยากาศทางการเมืองดูร้อนแรงมากขึ้น
และการชุมนุมในครั้งนี้ยังทำให้แวดวงสื่อมวลชนเกิดประเด็นร้อนแรงไม่แพ้กัน
การนัดเดินขบวนใหญ่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล มีข้อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในปีนี้
แกนนำของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นกลุ่มนักศึกษาที่เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องมาโดยตลอด นำโดย นายรังสิมันต์ โรม, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว,นายปิยรัฐ จงเทพ, นายอานนท์ นำภา, นายเอกชัย หงส์กังวาน, นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว, นางสาวณัฏฐา มหัทธนา ซึ่งเป็นแกนนำในการต่อสู้กับเผด็จการมาตลอด 4 ปี
เมื่อแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งประกาศระดมคน เตรียมเคลื่อนขบวนในวันที่ 22 พฤษภาคม กลุ่มผู้ชุมนุมก็ทยอยเดินทางมาปักหลักที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 21 พฤษภาคม
สื่อมวลชนก็ได้เกาะติดสถานการณ์รายงานความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
โดยพบว่าบรรยากาศภายในการชุมนุมนั้นไม่ได้แตกต่างไปจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือกลุ่มพันธมิตรฯ รูปแบบยังคงเป็นเหมือนเดิม ทั้งการปราศรัยปลุกระดมของแกนนำบนเวทีชั่วคราวที่มีสไตล์ทั้งเคร่งขรึม ตลก และเร้าใจ
มีการเปิดเพลงปลุกใจ เร้าอารมณ์ และการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันในที่ชุมนุม
แต่การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในครั้งนี้ เสมือนการย่อส่วนการชุมนุมใหญ่ลงมา และมีขนาดเล็กลงเท่านั้น
ในช่วงบ่ายของวันที่ 21 พฤษภาคม พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีการประชุมการดูแลสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง แต่ได้มีข้อสั่งการมาถึงสื่อมวลชนที่จะปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการเคลื่อนขบวนของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
โดยมีข้อกำหนด 3 ข้อ คือ
1. สื่อมวลชนต้องใช้ปลอกแขนที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลออกให้เท่านั้น โดยไม่อนุญาตให้ใช้บัตรสื่อกรมประชาสัมพันธ์ หรือบัตรของสถานี ในการแสดงตัว
2. ห้ามสื่อมวลชนอยู่ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมเด็ดขาด
3. ห้ามนำเสนอข้อมูลที่จะสร้างความแตกแยก หรือความเข้าใจผิดในลักษณะยุยงปลุกปั่น มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันมือที่สามแอบอ้างเป็นสื่อมวลชนซึ่งอาจมีการแฝงตัวเข้ามา
พร้อมสั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลจัดทำปลอกแขนให้สื่อมวลชนที่จะเข้าไปรายงานข่าวในพื้นที่
โดยสื่อมวลชนจะต้องไปแสดงตัวด้วยตนเองต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล
พร้อมแสดงบัตรว่าประจำสังกัดหน่วยงานใด ก่อนลงชื่อพร้อมเบอร์โทรศัพท์
โดยตำรวจจะมีหมายเลขที่ปลอกแขนเพื่อใช้ยืนยันตัวบุคคล “หากไม่มีปลอกแขน บช.น. ห้ามเข้าไปทำข่าว”
เมื่อทราบข่าว สื่อมวลชนจากทุกสำนักข่าว ทั้งสื่อไทย สื่อออนไลน์ สื่อต่างประเทศ แห่ไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ต่อคิวรอรับปลอกแขนสีแดงเลือดหมู
บรรยากาศเป็นไปด้วยความวุ่นวาย เมื่อปลอกแขนที่จัดทำมามีเพียง 180 ชิ้น ไม่เพียงพอต่อจำนวนสื่อมวลชนที่มารออยู่จำนวนมาก
และยังมีสื่อทยอยมาอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ตำรวจต้องจัดทำปลอกแขนเพิ่มอย่างเร่งด่วน
แต่ปลอกแขนที่จัดทำมาเพิ่มกลับไม่ใช่ปลอกแขนเสียทีเดียว แต่เป็นผืนผ้าสีแดงเลือดหมูขนาดเท่าฝ่ามือ มีตราประทับของกองบัญชาการตำรวจนครบาล และมีปากกาเมจิกสีน้ำเงินเขียนหมายเลขยืนยันตัวตนเท่านั้น
โดยมีสื่อมวลชนทยอยมารับตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึง 3 ทุ่ม
สื่อมวลชนที่ได้รับผืนผ้าต่างถ่ายรูปโพสต์ลงไปในโซเชียลมีเดีย พร้อมวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา
แต่ประเด็นสำคัญไม่ใช่รูปร่างของปลอกแขน แต่สื่อมวลชนต่างตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของตำรวจว่า เข้ามาควบคุมการทำหน้าที่อย่างเสรีภาพของสื่อมวลชนหรือไม่
โดยย้อนกลับไปในอดีตการรายงานข่าวการชุมนุมทางการเมืองของสื่อมวลชนหลังเกิดการชุมนุมถี่ยิบตั้งแต่ปี 2553
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็ได้จัดทำปลอกแขนให้กับสื่อมวลชน มีทั้งรุ่นเก่าเป็นสีเขียวเข้ม และรุ่นใหม่เป็นสีเขียวอ่อน
เมื่อตำรวจจัดทำปลอกแขนให้อาจทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความเข้าใจผิด และเกิดการสับสนระหว่างตำรวจกับสื่อมวลชนได้
ด้านนางสาววิมลวรรณ ธรรมภักดี ผู้สื่อข่าวไทยรัฐทีวี ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำปลอกแขนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลให้กับสื่อมวลชนว่า ส่วนตัวเข้าใจการทำหน้าที่ของตำรวจเนื่องจากในปัจจุบันมีบุคคลแอบอ้างตัวเป็นสื่อมวลชนจำนวนมาก ประกอบกับจำนวนของสื่อมวลชนที่มีมากขึ้น
แต่เมื่อมองในมุมการปฏิบัติงานกลับรู้สึกว่าเป็นการไม่ให้เกียรติการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และละเมิดสิทธิกันมากจนเกินไป ทำให้บัตรสังกัด ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ ดูไร้ซึ่งความหมาย
ผู้สื่อข่าวชุดแรก 180 คน ที่เข้าไปรับปลอกแขน ต้องเข้าไปทีละคน ยื่นเอกสาร ถ่ายภาพ ลงลายมือชื่อ ราวกับว่าเป็นการบันทึกประวัติ จึงเห็นว่าตำรวจควรประสานงานผ่านสมาคมของนักข่าวฯ ให้ทางสมาคมซึ่งกำกับดูแลสื่อมวลชนเป็นผู้ประกาศให้สื่อมวลชนติดปลอกแขน และแสดงบัตรต้นสังกัด น่าจะตรวจสอบได้ง่ายกว่า
ขณะที่นางสาวสุพัฒนา บุญธรรม ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น เห็นว่า คำสั่งให้สื่อมวลชนใช้ปลอกแขนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีความเร่งรีบ ไม่ประสานงานกับสมาคมนักข่าวฯ เหมือนเช่นเคย ทำให้สื่อมวลชนเกิดความไม่สบายใจและมีความกังวลในการเข้าปฏบัติหน้าที่ในพื้นที่ หากไม่มีปลอกแขนของตำรวจจะเข้าไปทำข่าวในพื้นที่ไม่ได้ หากไปอยู่รวมกับผู้ชุมนุมอาจถูกดำเนินคดี
เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจที่เกินกว่าเหตุหรือไม่
เพราะว่าสื่อมวลชนไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับตำรวจ หรือกับผู้ชุมนุม เราทำหน้าที่นำเสนอข่าวในมุมมองที่หลากหลาย หากห้ามเราเข้าไปฝั่งผู้ชุมนุมอาจเข้าข่ายการปิดกั้นข้อมูลหรือข้อเท็จจริงจากอีกฝ่าย หากต้องการจัดระเบียบสื่อมวลชนควรมีการประสานงาน และพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ ไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และอยากให้คำนึงถึงสิทธิหน้าที่ของกันและกันให้มากกว่านี้
นายพิธพงษ์ จตุรพิธพร ผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรม ช่อง 7 เห็นว่าจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการแจกปลอกแขนให้สื่อมวลชน สภาพที่เห็นแสดงถึงความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่ ความไม่เข้าใจการทำงานและจำนวนของสื่อมวลชน ประกอบกับการแข่งขันของสื่อในปัจจุบัน
จนบางครั้งคิดเลยเถิดไปถึงขั้นว่า นี่เป็นการดูถูกสติปัญญาของสื่อมวลชนในปัจจุบันหรือไม่ “ปลอกแขนที่คนอื่นได้ หรือเศษผ้าที่ผมได้ กลายเป็นคุณกับตำรวจ แต่เป็นอันตรายกับพวกเรา”
นี่เป็นเพียงความคิดเห็นของสื่อมวลชนภาคสนามบางส่วนที่ต้องการสะท้อนมุมมองส่วนตัวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ส่งผลต่อาการทำงานของสื่อมวลชน
และถึงแม้ว่าการชุมนุมของกลุ่มอยากเลือกตั้งในครั้งนี้จะจบลงอย่างรวดเร็วภายใน 1 คืน โดยการจับกุม 15 แกนนำ ไม่มีการยืดเยื้อเหมือนกับการชุมนุมที่ผ่านมา
แต่ประเด็นการควบคุมสื่อมวลชนยังไม่จบ ยังมีการพูดถึงจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
โดยเฉพาะนักข่าวภาคสนามที่ลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง
จึงขอให้การปฏิบัติหน้าที่ของภาครัฐในการควบคุมสื่อมวลชนในครั้งนี้เป็นบทเรียนถึงการวางแผนการจัดการหากมีการชุมนุมอีกในอนาคต