คนมองหนัง : รู้จัก ‘ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ’ คนทำหนังญี่ปุ่นรายที่ 5 ผู้คว้า ‘ปาล์มทองคำ’ จากคานส์

คนมองหนัง

“ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ” วัย 55 ปี เพิ่งพาหนังใหม่ของตนเองเรื่อง “Shoplifters” คว้า “ปาล์มทองคำ” อันเป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ครั้งที่ 71

นี่คือครั้งที่ 7 ซึ่งหนังของเขาได้รับคัดเลือกให้ร่วมฉายในเทศกาลเมืองคานส์ โดยเป็นการเข้าประกวดสายหลักเสีย 5 เรื่อง (โคเรเอดะได้เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำหนแรกจากหนังเรื่อง “Distance” เมื่อปี 2001)

ผู้กำกับฯ แนวหน้าจากญี่ปุ่น เคยเฉียดใกล้ปาล์มทองคำมากที่สุด เมื่อคราวนำหนังเรื่อง “Like Father, Like Son” คว้าจูรี่ไพรซ์ (รางวัลสำคัญอันดับสามของเทศกาล) มาครองเมื่อปี 2013

หนังเล่าเรื่องราวของสามีภรรยาชนชั้นกลางซึ่งเพิ่งตระหนักว่าลูกชายวัย 6 ปี ที่พวกตนเลี้ยงดูมา ไม่ใช่ “บุตรโดยสายเลือด” แต่เขาถูกสับเปลี่ยนกับเด็กทารกอีกคน ผู้ถือกำเนิดจากครอบครัวซึ่งมีฐานะยากจนกว่า เมื่อแรกเกิดที่โรงพยาบาล

ส่วนผลงานซึ่งทำให้โคเรเอดะเป็นที่รู้จักในวงกว้างนอกประเทศญี่ปุ่น คือ “Nobody Knows” (2004)

หนังพูดถึงกลุ่มเด็กเร่อนถูกทอดทิ้ง พร้อมตั้งคำถามแหลมคมว่าบรรดาปัจเจกบุคคลควรรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่พวกตนก่อขึ้น หรือว่าเราควรกล่าวโทษสังคมที่หล่อเลี้ยงคนเหล่านั้นขึ้นมา

ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่งผลให้ “ยูยะ ยากิระ” ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ขณะมีวัยเพียง 14 ปี

บางคนเปรียบเทียบโคเรเอดะกับ “เคน โลช” นักทำหนังอาวุโสชาวอังกฤษผู้มีแนวคิดสังคมนิยมชนิดเข้มข้น (และเคยคว้าปาล์มทองคำมาสองหน) เพราะทั้งคู่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของเหล่าสามัญชนคนยากไร้ผ่านศิลปะภาพยนตร์ได้อย่างจับใจผู้ชมเหมือนๆ กัน

กระทั่งมีการขนานนามให้โคเรเอดะเป็น “เคน โลช แห่งญี่ปุ่น”

ขณะเดียวกัน บางคนก็เปรียบเปรยเขากับปรมาจารย์ร่วมชาติอย่าง “ยาสึจิโร โอสุ” โดยพิจารณาจากภาวะโศกเศร้าสะเทือนอารมณ์ อันเป็นจุดเด่นซึ่งมักปรากฏในภาพยนตร์ของสองยอดนักทำหนังต่างยุค

“Shoplifters” ภาพยนตร์ลำดับที่ 13 ของโคเรเอดะ เล่าเรื่องราวการสู้ชีวิตของครอบครัวชาวบ้านฐานะยากจน ซึ่งอาศัยอยู่ ณ บ้านหนึ่งชั้นสภาพทรุดโทรมในกรุงโตเกียว

ทุกชีวิตในบ้านต่างหวังพึ่งพาเบี้ยคนชราซึ่งคุณยาย สมาชิกอาวุโสสูงสุดของครัวเรือน ได้รับจากหน่วยงานรัฐ แต่เงินจำนวนนั้นก็ยังไม่เพียงพอกับการยังชีพ สมาชิกที่เหลือ (มีทั้งที่ผูกพันกันทางสายเลือดและไม่ใช่) จึงต้องออกตระเวนลักเล็กขโมยน้อย

เท่ากับว่าสายสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของครอบครัวในหนัง ถูกเชื่อมร้อยเข้าหากันด้วยการก่ออาชญากรรม

โคเรเอดะให้สัมภาษณ์ลิซ แชคเกิลตัน แห่งสกรีนเดลี่ ว่า ตนเองทำหนังเรื่องนี้จากคำถามตั้งต้นว่าอะไรคือสายสัมพันธ์ที่ยึดโยงสมาชิกครอบครัวเข้าไว้ด้วยกัน? เป็นสายเลือดหรือเวลาที่พวกเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน?

คำถามสองข้อนี้ถูกผนวกเข้ากับข่าวคราวที่เขาอ่านพบเมื่อไม่กี่ปีก่อน ซึ่งสื่อมวลชนรายงานว่ามีครอบครัวฐานะขัดสนไม่ยอมแจ้งภาครัฐว่าสมาชิกวัยชราในบ้านได้เสียชีวิตลงแล้ว เพราะต้องการจะนำเงินบำนาญคนสูงอายุมาใช้จ่ายดูแลสมาชิกที่เหลือ

“ความแตกต่างทางชนชั้นในสังคมญี่ปุ่นถูกถ่างขยายให้กว้างขึ้นในช่วงห้าปีที่ผ่านมา จนมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองอย่างที่พวกเขาพึงจะได้รับ” เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำรายล่าสุดบรรยาย

นอกจากนั้น “Shoplifters” ยังเจริญรอยตามผลงานหลายเรื่องก่อนหน้านี้ของโคเรเอดะ ซึ่งพยายามตั้งคำถามกับแนวคิด/คุณค่าเรื่อง “สายเลือด” ที่สังคมญี่ปุ่นยึดมั่นถือมั่น

โดยส่วนตัว เขาเชื่อว่ายังมีสายสัมพันธ์ทางสังคมชนิดอื่นๆ ที่สำคัญและลึกซึ้งไม่แพ้เรื่องสายเลือด และการยึดถือคติว่า “เลือดข้นกว่าน้ำ” ก็ส่งผลให้ระบบรัฐสวัสดิการในประเทศญี่ปุ่นไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

โคเรเอดะเป็นชาวโตเกียวโดยกำเนิด เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ และเริ่มต้นทำงานด้วยอาชีพนักเขียนนิยาย ก่อนจะหันเหสู่วงการโทรทัศน์

หนังยาวเรื่องแรก คือ “Maborosi” ของโคเรเอดะประสบความสำเร็จ ด้วยการคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เวนิสและชิคาโก้ เมื่อปี 1995

นอกจากผลงานเด่นๆ ที่อ้างอิงไว้ในช่วงต้นบทความ งานสร้างชื่อชิ้นอื่นๆ ของเขาก็มีอาทิ Air Doll, Our Little Sister, After the Storm และ The Third Murder (หนังส่วนใหญ่ของโคเรเอดะถูกนำเข้ามาฉายที่เมืองไทย และมีฐานแฟนประจำเหนียวแน่นไม่ใช่น้อย)

อย่างไรก็ดี เมื่อลงลึกไปที่เส้นทางการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ของเขา โคเรเอดะกลับมีสถานะประหนึ่ง “คนนอก” ในอุตสาหกรรมหนังญี่ปุ่น

LOIC VENANCE / AFP

เขามีเส้นทางวิชาชีพที่ค่อนข้างแตกต่างจากคนทำหนังรุ่นก่อนหน้าและรุ่นเดียวกัน เพราะหลังจากทำภาพยนตร์สารคดีป้อนบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์อยู่ระยะสั้นๆ โคเรเอดะก็กระโดดไปกำกับหนังยาวเรื่องแรก ผิดกับพี่/เพื่อนร่วมวิชาชีพรายอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ยาวนานหลายปี ในบทบาทผู้ช่วยผู้กำกับฯ หรือรับตำแหน่งรองๆ ประจำกองถ่าย

วิถีทางเช่นนั้นหล่อหลอมเขาให้เลือกทำหนังบันเทิงคดีด้วยวิธีคิดแบบสารคดี “หนังโคเรเอดะ” มักก่อรูปขึ้นจากเหตุการณ์จริง และประสบการณ์ชีวิตจริงๆ ของตัวผู้กำกับฯ เอง ผิดแผกจากหนังเชิงพาณิชยศิลป์ทั่วไปของญี่ปุ่น ที่มักต่อยอดมาจากหนังสือการ์ตูน (มังงะ) หรือเรื่องแต่งประเภทอื่นๆ

ยิ่งกว่านั้น โคเรเอดะยังชอบปรับเปลี่ยนบทภาพยนตร์ในลักษณะ “ด้นสด” ระหว่างถ่ายทำ เพื่อให้เนื้อหาของหนังมีความสอดคล้องกับศักยภาพจริงของเหล่านักแสดง หรือเพื่อผลักดันให้เรื่องราวมีพลวัตก้าวไกลไปมากกว่าตัวสคริปต์

สวนทางกับขนบของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่น ที่ต้องมี “คณะกรรมการควบคุมงานสร้าง” อันประกอบด้วยผู้ร่วมลงทุนหลายเจ้า มาคอยกำหนด ตรวจสอบ และอนุมัติเห็นชอบบทภาพยนตร์ก่อนถ่ายทำ

ถึงกระนั้น หนังหลายเรื่องของโคเรเอดะก็ประสบความสำเร็จเชิงรายได้ เช่น “Like Father, Like Son” ที่ทำเงินทั้งหมดรวม 3.2 พันล้านเยน หรือราว 900 ล้านบาท (และถูกซื้อไปรีเมคโดยค่ายดรีมเวิร์กส์ สตูดิโอ ด้วยคำแนะนำของ “สตีเวน สปีลเบิร์ก”)

เขาจึงเป็นแบบอย่างของคนทำหนังที่เลือก “ทางสายกลาง” ไม่ใช่สายอินดี้-เข้าไม่ถึงผู้คนวงกว้าง-ยากจน หรือสายพาณิชย์-ตลาดจ๋า-ยอมถูกจำกัดความคิดสร้างสรรค์

ภาพยนตร์ของโคเรเอดะบ่งชี้ความเป็นไปได้ที่คนทำหนังผู้หนึ่งจะถูกชมเชยด้วยคำวิจารณ์เชิงบวก พร้อมกับตัวเลขสวยงามในบ็อกซ์ออฟฟิศ

แม้การมีผลงานถูกคัดเลือกไปเทศกาลเมืองคานส์ถึง 7 ครั้ง จะช่วยรับประกันที่ทาง “ตรงกลาง” อันปลอดภัยให้แก่โคเรเอดะ ทว่าเขาก็ควรได้รับการยกย่องเชิดชู จากการเลือกวิธีทำงานที่สวนกระแสอุตสาหกรรมภาพยนตร์ภายในประเทศอย่างแหลมคมและมั่นคงเสมอมา

“Shoplifters” เป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นลำดับที่ห้าซึ่งคว้า “ปาล์มทองคำ” ถัดจาก “The Eel” โดย “โชเฮ อิมามุระ” เมื่อปี 1997 หรือ 21 ปีก่อน

ขณะที่ผู้กำกับฯ ชั้นครูแห่งแดนอาทิตย์อุทัยอีกสามราย ซึ่งเคยได้รับรางวัลนี้ คือ “ยาสึจิโร โอสุ”, “อากิระ คุโรซาวะ” และ “มิกิโอะ นารุเสะ”

นอกจากนั้น ผลงานล่าสุดของโคเรเอดะยังเป็นหนังญี่ปุ่นเรื่องแรกนับแต่ปี 2002 ที่คว้ารางวัลสูงสุดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติระดับแกรนด์สแลม (คานส์, เวนิส และเบอร์ลิน)

หลังจากภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “Spirited Away” โดย “ฮายาโอะ มิยาซากิ” คว้ารางวัล “หมีทองคำ” ของเทศกาลเบอร์ลิน เมื่อ 16 ปีที่แล้ว

โคเรเอดะมีปณิธานส่วนบุคคลที่เชื่อว่า “ภาพยนตร์นั้นมีศักยภาพในการเชื่อมร้อยผู้คนและประเทศต่างๆ ที่เคยขัดแย้งกัน ให้สามารถสมัครสมานกันได้”

สอดคล้องกับลักษณะการทำงานของเขา ที่ด้านหนึ่ง ก็พยายามประสานร่วมมือกับผู้คนหลายฝ่าย เช่น การเป็นโปรดิวเซอร์ของหนังเรื่อง “Ten Years Japan” เพื่อดูแลนักทำหนังรุ่นใหม่ในโปรเจ็กท์

อีกด้านหนึ่ง โคเรเอดะก็มีโครงการใหม่ๆ มากมายอยู่ในหัว รวมถึงหนังที่ตั้งใจฉายภาพความผิดบาปของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้เจ้าตัวจะตระหนักดีว่านั่นมิใช่งานง่ายดายปราศจากอุปสรรค

“คนญี่ปุ่นต่างต้องการลบล้างความผิดพลาดครั้งนั้นออกจากความทรงจำของพวกตน แต่ในฐานะคนทำหนัง ผมรู้สึกว่าตัวเองควรจะต้องกล้าชนกับประเด็นดังกล่าว เหมือนที่ยอดผู้กำกับฯ เช่น นางิสะ โอชิมะ และโชเฮ อิมามุระ เคยแผ้วถางหนทางเอาไว้ในอดีต” เขาให้สัมภาษณ์สกรีนเดลี่

ก่อนการมาถึงของงานใหม่ๆ “หนังรางวัลปาล์มทองคำ” ฝีมือโคเรเอดะ จะเข้าฉายที่เมืองไทยช่วงต้นเดือนสิงหาคม

 

ที่มาข้อมูล

http://www.asahi.com/ajw/articles/AJ201805200022.html

https://www.japantimes.co.jp/culture/2018/05/20/films/hirokazu-kore-edas-shoplifters-steals-show-win-cannes-palme-dor/#.WwO0ru6FOUl

https://www.japantimes.co.jp/culture/2018/05/20/films/director-hirokazu-kore-eda-master-humanism/#.WwHe70iFNPY

https://www.japantimes.co.jp/culture/2018/05/21/films/young-filmmakers-looking-follow-hirokazu-kore-edas-footsteps-work-cut/#.WwO-Qe6FOUl

https://english.kyodonews.net/news/2018/05/be42f5f5fdbb-japans-koreeda-wins-cannes-palme-dor-for-shoplifters.html

http://the-japan-news.com/news/article/0004452938

https://www.screendaily.com/features/palme-dor-winner-hirokazu-kore-eda-on-the-family-ties-that-inspired-shoplifters/5129549.article

“โคเรเอดะ ฮิโรคาสุ” หลั่งน้ำตา นำ “Shoplifters” คว้า “รางวัลปาล์มทองคำ” รางวัลสูงสุดจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีนี้ ในไทยเตรียมฉาย 2 สิงหาคม