เอกสาร มหายาน : เสถียร โพธินันทะ [ดังได้สดับมา]

ต้องยอมรับว่า หนังสืออันเกี่ยวกับ “มหายาน” เท่าที่ปรากฏในภาษาไทยนั้นมีน้อยมาก หากอ่านจากที่พระพิมลธรรม (อาสภเถระ) ได้เขียนคำอนุโมทนาให้แก่หนังสือ “ประมวลกำหนดสิกขาบทในอุตตรนิกาย” ซึ่งรวบรวมโดยพระอาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร เมื่อปี พ.ศ.2502
สัมผัสได้จากการปรารภในตอนหนึ่ง
“ส่วนมากพุทธศาสนิกชนชาวไทยรู้จักพระพุทธศาสนาฝ่ายอุตตรนิกายและพระภิกษุจีนไม่ดี คือ รู้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ลางคนสำคัญผิดไปจนถึงว่า พระภิกษุจีนเป็นพระนอกพระพุทธศาสนา หรือสำคัญเห็นเป็นเสมือนคฤหัสถ์ ไม่ถวายเคารพคารวะตามฐานานุรูป
“ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งพระสงฆ์อุตตรนิกายฝ่ายจีนในวงพุทธศาสนิกชนชาวไทยแคบไป นับเป็นเหตุสำคัญประการหนึ่ง”
แม้จะมีการตีพิมพ์ “ปรัชญามหายาน” ในปี พ.ศ.2498 ก็ยังถือว่าเป็นส่วนน้อย
ซึ่งเสถียร โพธินันทะ ผู้เขียนเองก็ยอมรับในกถามุขว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการศึกษาพระพุทธศาสนาโดยกว้างขวางนั้น วงการพระปริยัติธรรมของเรายังขาดแคลนหนังสือประเภทนี้มาก”
หากยิ่งศึกษาผ่านหนังสือ “พระพุทธศาสนามหายาน” อันเป็นงานของพระภิกษุอภิชัย (เย็นเหี่ยง) โพธิ์ประสิทธิ์ศาสต์ แห่งสำนักสงฆ์หลับฟ้า (ลิบห่วยเจ็งเสี่ย) เสนอเป็นวิทยานิพนธ์ ต่อสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา เมื่อปี พ.ศ.2520และเมื่อตีพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่ก็ได้เขียนคำนำตอนหนึ่งว่า

แม้ในปัจจุบันนี้ (พ.ศ.2520) ได้มีผู้เข้าใจถูกต้องมากขึ้นแล้ว ทั้งนี้ เพราะอาศัยปฏิปทาของสงฆ์ฝ่ายมหายานนั้นเองเป็นการแสดงออกให้เห็น
และประกอบกับมีการตื่นตัว ศึกษา และทำความเข้าใจในหมู่นักศึกษาและพุทธศาสนิกมากขึ้น
ในระยะต่อมาได้มีหนังสือและตำรับตำราเกี่ยวด้วยพระพุทธศาสนามหายานให้ศึกษากันมากยิ่งขึ้น มีนักศึกษาและนักเผยแผ่คนสำคัญๆ เช่น อาจารย์เสถียร โพธินันทะ อาจารย์เลียง เสถียรสุต นายแพทย์ตันม่อเซี้ยง และอาจารย์เสถียร พันธรังสี เป็นต้น ได้ช่วยกันเผยแผ่งานและหลักธรรมต่างๆ ของมหายานขนานไปพร้อมๆ กับการดำเนินงานเผยแผ่ธรรมของคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านให้ความรู้และผลิตเอกสารตำรับตำราต่างๆ อย่างแพร่หลาย ทำให้พุทธศาสนิกชนไทยที่สนใจได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ในแขนงวิชานี้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี เอกสารและตำรับตำราต่างๆ ของมหายานในพากย์ภาษาไทยนับว่ายังไม่เพียงพออยู่นั่นเอง เพราะผู้ที่จะศึกษาแตกฉานในพระธรรมวินัยแบบมหายานควรเป็นผู้มีความรู้เป็นอย่างดีในภาษาจีน ซึ่งเป็นภาษาที่ทรงเอาพระไตรปิฎกมหายานไว้เกือบทั้งหมด


ผู้ที่จะสามารถแปลถ่ายทอดมาให้คนไทยรู้จัก ควรจักต้องเป็นผู้มีความรู้ดีทั้ง 2 ภาษา นอกเหนือไปจากพื้นฐานความรู้และความสนใจในพระพุทธศาสนาเป็นทุนอยู่แต่เดิม

หากสำรวจจากหนังสืออ้างอิงท้ายเล่มของหนังสือ “พระพุทธศาสนามหายาน” ของพระครูสมุห์อภิชัย (เย็นเหี่ยง) โพธิ์ประสิทธิ์ศาสต์ ก็จะเห็นได้ว่านอกเหนือจาก “ลัทธิของเพื่อน” แล้ว
หนังสือ “สูตรของเว่ยหล่าง” และ “ปรัชญามหายาน” ถือว่าเป็นงานยุคบุกเบิก
เพราะว่าสูตรของเว่ยหล่าง พุทธทาสภิกขุ แปลและตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน 2498 เพราะว่าปรัชญามหายานตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2498
จากนั้นที่เป็นเอกสารจากสำนักสงฆ์ฝ่ายจีนก็ตามมาในภายหลัง
ดังเช่น “ประมวลกำหนดสิกขาบทในอุตตรนิกาย” ของพระอาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร เมื่อปี พ.ศ.2502 ดังเช่น “ประชุมพระธรรมบรรยายมหายาน” อันหลวงจีนเย็นเจี่ยวรวบรวม ตีพิมพ์โดยสำนักสงฆ์หลับฟ้าเมื่อเดือนกรกฎาคม 2504 วิทยานิพนธ์เรื่องพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานและมหายาน ของ เย็นเกียรติภิกขุ ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2506
“พระพุทธวัจนะ 42 บท” (พระสูตรมหายาน) คณะสงฆ์จีนนิกายเมื่อปี พ.ศ.2511

การที่เอกสารและหนังสือส่วนใหญ่จำกัดอยู่ภายในสำนักสงฆ์จีน มิได้เผยแพร่ออกมาสู่พุทธศาสนิกชนในวงกว้างนั้นเองคือมูลเชื้อแห่งความเข้าใจผิด เข้าใจคลาดเคลื่อน

การทำความเข้าใจหนังสือ “ปรัชญามหายาน” ของเสถียร โพธินันทะ ประสานเข้ากับหนังสือ “พระพุทธศาสนามหายาน” เมื่อปี 2520
หรือแม้กระทั่ง “พุทธศาสนามหายาน” ของสุมาลี มหาณรงค์ชัย ในปี พ.ศ.2546 จึงมีความจำเป็น