โลกหมุนเร็ว /เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/เดอะ แฟ้บ โฟร์ และการปรับตัวของราชวงศ์อังกฤษ

โลกหมุนเร็ว  / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง  [email protected]

 

เดอะ แฟ้บ โฟร์

และการปรับตัวของราชวงศ์อังกฤษ

 

บ่นกับเพื่อนๆ ว่าแหมชมการถ่ายทอดพระราชพิธีแต่งงานของเจ้าชายแฮร์รี่ กับเมแกน มาร์เคิล ไม่ค่อยจะฟินเท่าไหร่เลย

ทุกอย่างดูเรียบง่าย ไม่ได้เป็นดั่งเทพนิยายดังที่หวัง โบสถ์มีขนาดเล็ก รถม้าเรียบๆ ไม่ประดับลวดลาย

ชุดเจ้าสาวนั้นสวยสู้คนรวยคนดังคนไทยก็ไม่ได้

เจ้าสาวแทบไม่แต่งหน้าและยังแถมหน้ามันมีสิวบนใบหน้าแบบไม่ปกปิด

เธอไม่ได้ไปทำหน้าจนผ่องงามไม่มีที่ติแล้วใช้รองพื้นพอกหน้าแบบเจ้าสาวไทยและเจ้าสาวดังๆ ทั่วโลกเขาทำกันในวันอันสำคัญที่สุดในชีวิต

แต่สิ่งที่สวยงามน่าประทับใจจนอยากไปเที่ยวอังกฤษคือภาพมุมสูงของหมู่พระราชวังท่ามกลางแมกไม้ที่เขียวขจี กับพระราชวังที่บึกบึนแข็งแรงอายุกว่า 1,000 ปี ที่พระราชวงศ์อังกฤษและรัฐบาลอังกฤษรักษาไว้อย่างดี

การแต่งงานคราวนี้ในระดับหนึ่งสร้างความชุ่มฉ่ำในหัวใจเพราะมันคือนิยายซินเดอเรลล่าในยุค ค.ศ.2018 มันเป็นไปได้อย่างไรที่รัชทายาทลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์อังกฤษ หนุ่มฟ้อสดทั้งแท่งน่ารักและนิสัยดีเป็นที่หมายปองของสาวๆ จะลงเอยกับสาวอเมริกันลูกครึ่งเชื้อสายแอฟริกัน

โดยที่ปู่ของปู่ของปู่ของเธอคือทาสผิวดำในมลรัฐจอร์เจียทางใต้ของสหรัฐ

ทั้งสองดูรักใคร่ใกล้ชิด ตาถึงตา ใจถึงใจ ดูดดื่มหวานซึ้ง

ความแตกต่างของความเป็นเจ้าชายผู้สูงส่งแห่งราชวงศ์เก่าแก่กับหญิงสามัญชนดูไม่มีความหมายเอาเสียเลย

 

ในวันแต่งงานเมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา แม้การรอคอยที่จะได้ดูความอลังการไม่ค่อยสมหวังนัก แต่ผู้ชมได้รับรู้ความหมายต่างๆ ที่ปรากฏสู่สายตาในวันนั้นซึ่งจะเรียกได้ว่าช็อกนิดๆ ก็ว่าได้ ที่มันช่างฉีกรูปแบบงานแต่งงานโดยเฉพาะเมื่อเป็นงานของพระอนุชามกุฎราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ

แต่ในอีกระดับหนึ่งมันคือสัญลักษณ์ของการก้าวสู่ยุคใหม่ของราชวงศ์อังกฤษที่เด่นชัดยิ่งกว่าเมื่อคราวพิธีเสกสมรสเจ้าชายวิลเลียมส์และนางสาวเคท มิดเดิลตัน มันคือการคงอยู่อย่างเข้มแข็งและน่าชื่นชมของราชวงศ์อังกฤษที่มีการปรับตัวตลอดเวลา ทำให้สถาบันได้รับความนิยมชมชอบคะแนนสูงลิ่วหลังจากซวนเซเนื่องจากเรื่องราวของชาร์ลส์-ไดอาน่า ชาร์ลส์-คามิลล่า และแอนดรูว์-เฟอร์กี้

ในอดีต เรื่องราวความยืนยงของสถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรเป็นเรื่องชวนศึกษาอย่างยิ่ง ในเมื่อในโลกตะวันตกที่ล้วนแต่เคยมีสถาบันกษัตริย์ บัดนี้เหลืออยู่ไม่กี่สถาบัน รวมทั้งประเทศยักษ์ใหญ่ยุโรปอย่างรัสเซีย เยอรมนี และฝรั่งเศส ก็ไม่เหลือสถาบันกษัตริย์แล้ว

ถามผู้รู้ถึงยุคหน้าสิ่วหน้าขวานของอังกฤษ ว่าการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ยุคประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย ทำไมจึงปราศจากการเสียเลือดเนื้อ

ผู้รู้บอกว่าขุนนางอังกฤษปรับตัวได้ดีมาก พวกเขายกที่ดินที่ทำกินให้กับชนชั้นล่างทันก่อนที่จะมีการลุกฮือ

ระบอบศักดินานั้นก็คล้ายคลึงกันทุกประเทศคือแต่ละคนก็มีทั้งตำแหน่งและที่ดินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน

การไหวตัวทัน ปรับตัวทันของสถาบันคือความคงอยู่ และเป็นความคงอยู่ที่ได้รับความนิยมเสียด้วย

 

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเองคือความโปร่งใสและแตะต้องได้ของสถาบัน เราจะเห็นเรื่องของราชวงศ์ถูกนำไปล้อเล่น ไปเป็นตัวแสดงในภาพยนตร์ กฎต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของพระราชวงศ์ไม่ได้เก็บเป็นความลับ มีการนำมาเล่าต่อๆ กันอย่างเช่นในช่วงนี้ก็ส่งต่อข้อความ “การปฏิบัติตัวของสะใภ้หลวง” อย่างเช่นนอกพิธีการใส่ยีนส์ได้แต่ห้ามยีนส์ขาด เป็นต้น

การที่สถาบัน “แตะต้องได้” เช่นนี้สร้างความใกล้ชิดและความผ่อนคลายให้กับประชาชนเป็นอันมาก

ระหว่างปี 1860-1877 วอลเทอร์ เบชโฮต์ บรรณาธิการนิตยสาร The Economist ได้ทำการสำรวจความนิยมเปรียบเทียบระหว่างสถาบันกษัตริย์และสถาบันผู้บริหารประเทศอันได้แก่ รัฐสภา รัฐบาล คณะรัฐมนตรี และข้าราชการ ก็ปรากฏว่าสถาบันกษัตริย์ได้รับความนิยมมากกว่า แต่หลังจากการผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ พิธีเสกสมรสในคราวนี้ก็อาจจะเหมาะที่จะมีการสำรวจกันอีกครั้ง

คะแนนนิยมสูงแค่ไหนก็ดูได้จากยอดคนดูพิธีเสกสมรสที่สำรวจโดย The Telegraph ว่าเฉพาะที่ประเทศอังกฤษ มียอดคนดูถึง 11 ล้านคน มากกว่ายอดคนดูฟุตบอล FA Cup ซึ่งมีคนดู 6.7 ล้านคน

 

ในคราวที่เจ้าหญิงไดอาน่าสิ้นพระชนม์ เป็นยุคของนายกรัฐมนตรีจากพรรคเลเบอร์คือ โทนี่ แบลร์ เหตุการณ์นั้นทำให้คะแนนนิยมของสถาบันกษัตริย์ตกต่ำลงพักใหญ่เนื่องจากควีนเอลิซาเบธไม่แสดงความรู้สึกอะไรออกมา

จนกระทั่งโทนี่ แบลร์ ต้องออกมายกย่องเจ้าหญิงไดอาน่าเป็น “เจ้าหญิงของประชาชน” เพราะเข้าใจดีถึงความรู้สึกของประชาชนต่อเจ้าหญิงที่เขารัก

ในยุคของรัฐบาลพรรคเลเบอร์ โทนี่ แบลร์ และกอร์ดอน บราวน์ ทำการปฏิรูปอังกฤษหลายอย่างและได้รับความนิยมอย่างสูง ส่วนสถาบันกษัตริย์ซวนเซ

ส่วนขณะนี้สถานการณ์กลับไปอยู่ข้างสถาบันกษัตริย์อีก นับตั้งแต่เจ้าชายวิลเลียมส์เสกสมรสกับเคท มิดเดิลตัน ราชวงศ์ก็ดูสดใสและอยู่ในความนิยมอย่างสูง มาจนถึงวันนี้เมื่อคู่สมรสของเจ้าชายแฮร์รี่คือ เมแกน มาร์เคิล ได้ทำการ “ปฏิรูป” พิธีแต่งงานของสถาบันกษัตริย์

ความเข้มแข็งในจิตใจของเมแกนทำให้เธอกล้าปฏิรูปงานที่คนทั้งโลกกำลังจ้องมอง รายละเอียดทุกอย่างที่เธอและเจ้าชายบรรจงสอดแทรก จัดวาง ล้วนมีความหมาย ล้วนยกระดับ “ราก” ของเธอ รากของคนดำ ให้ขึ้นมาเท่าเทียมคนขาว

เมแกนเคยจดจำปฏิกิริยาของคนขาวที่มีต่อคนดำในวัยเยาว์ และวันนี้เมื่อมีโอกาส เธอก็ใช้ที่ยืนใหม่ของเธอ ฐานะใหม่ที่สูงส่งของเธอ เอาชนะมันได้แบบชั่วพริบตา

เมแกนเข้ามาร่วมทีมกับวิลเลียมส์ เคท และแฮร์รี่ กลายเป็น Fabulous Four แห่งราชวงศ์อังกฤษ ทำให้สถาบันเป็นที่นิยมได้ไปอีกนานแสนนาน ด้วยภาพลักษณ์ใหม่ที่คนอังกฤษเรียกว่า inclusive คือรวมคนทุกชั้น ทุกผิวพรรณเข้ามาด้วยกัน