โฟกัสพระเครื่อง/เหรียญพระมงคลบพิตร รุ่นแรกพุทธศักราช 2460 ที่ระลึกปฏิสังขรณ์ใหญ่

พระมงคลบพิตร

โฟกัสพระเครื่อง  โคมคำ  [email protected]

 

เหรียญพระมงคลบพิตร

รุ่นแรกพุทธศักราช 2460

ที่ระลึกปฏิสังขรณ์ใหญ่

 

“พระมงคลบพิตร” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “หลวงพ่อมงคลบพิตร” เป็นพระพุทธรูปอิฐบุด้วยทองสำริด แสดงปางมารวิชัย ที่ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของไทย ขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตร สูง 22.45 เมตร

เป็น 1 ใน 8 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์หลักคู่บ้านเมืองมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ประดิษฐาน ณ วิหารพระมงคลบพิตร ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ทางทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในรัชสมัยใด

ด้วยพุทธลักษณะขององค์พระปฏิมา ที่พระพักตร์แม้จะค่อนไปทางวงรี แต่ก็ยังคงมีเค้าเหลี่ยมอยู่ อันเป็นแบบศิลปะอยุธยาตอนต้น

และเมื่อมาพิจารณาเส้นพระขนงที่วาดเป็นรูปโค้ง จึงเห็นว่าเป็นพุทธศิลปะที่ผสมระหว่างศิลปะอู่ทองกับศิลปะสุโขทัย ที่เป็นที่นิยมสร้างในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จนถึงแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม คาดเดาว่าน่าจะสร้างในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

สอดคล้องกับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวว่า … วิหารพระมงคลบพิตรนั้น เดิมประดิษฐานอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง (เป็นบริเวณวัดชีเชียง) จนในปี พ.ศ.2146 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โปรดเกล้าฯ ให้ชะลอมาไว้ทางด้านทิศตะวันตก (ที่ประดิษฐานอยู่ ณ ปัจจุบัน) และยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมณฑปสวมไว้ในคราวเดียวกัน…

จนเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2310 พม่าเข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำ จึงใช้ไฟสุมองค์พระเพื่อลอกทองออก ทำให้องค์พระมงคลบพิตร ตลอดจนพระวิหารได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เครื่องบนพระวิหารที่หักลงมาต้องพระเมาฬีและพระกรข้างขวาแตกหักตกลงมา กลายเป็นซากปรักหักพังนับแต่นั้นมา

กระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์

เหรียญหลวงพ่อมงคลบพิตร รุ่นแรก ปี 2460

 

ในปี พ.ศ.2463 พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ขณะดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ดำเนินการซ่อมพระเมาฬีและพระกรข้างขวาของพระปฏิมาที่หักให้เต็มบริบูรณ์ด้วยปูนปั้น พร้อมทั้งบูรณะพระวิหารที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมขึ้นใหม่ด้วยเช่นกัน

พ.ศ.2499 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีบัญชาให้รื้อซากพระวิหารมงคลบพิตรของเก่าออกและสร้างขึ้นใหม่ให้เหมือนของเดิม ดังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้ และได้ทาสีดำ ‘พระมงคลบพิตร’ ตลอดทั้งองค์

นอกจากนี้ ระหว่างการบูรณะในราวปี พ.ศ.2500 กรมศิลปากรยังได้พบพระพุทธรูปบรรจุในพระอุระด้านขวาเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม

พ.ศ.2533 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมัยนั้น เสด็จฯ เป็นประธานเททองหล่อ “พระพุทธรูปพระมงคลบพิตรจำลอง” ได้ประทานพระดำริว่า … ควรปิดทององค์พระปฏิมาทั้งองค์ จะทำให้งดงามสง่าและน่าเลื่อมใสยิ่งขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมศรัทธาของพุทธศาสนิกชนอีกประการหนึ่ง…

ประกอบกับเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงนมัสการ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 50,000 บาท เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระ

ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงร่วมกับมูลนิธิพระมงคลบพิตร ดำเนินการบูรณะปิดทององค์พระปฏิมาตามพระดำริของอดีตสมเด็จพระสังฆราช

โดยจัดทำเป็น “โครงการบูรณะปิดทองพระมงคลบพิตร เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ พ.ศ.2535”

 

สําหรับวัตถุมงคล ที่สร้างจำลอง พระมงคลบพิตรŽ มีการจัดสร้างกันหลายครั้งในโอกาสสำคัญต่างๆ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาได้ร่วมบุญเช่าบูชาไว้สักการะ ที่มีความโดดเด่นและมีค่านิยมสูงในแวดวงนักนิยมสะสมและพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ คือ “เหรียญหลวงพ่อมงคลบพิตร รุ่นแรก ปี 2460”

จัดสร้างโดยพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า เพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนในการบูรณปฏิสังขรณ์พระมงคลบพิตร ซ่อมแซมพระเมาฬีและพระกรข้างขวาที่แตกหักตั้งแต่ครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 พร้อมทั้งบูรณะพระวิหารที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมขึ้นใหม่ ในราวปี พ.ศ.2460-2463 โดยจัดสร้างเป็น 2 เนื้อ คือ เนื้อเงินและเนื้อทองแดง

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ใหญ่ หูเชื่อม พื้นเรียบ ยกขอบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อมงคลบพิตร ปางมารวิชัย ประทับบนพระแท่น จารึกอักษรโดยรอบว่า “พระปฏิมากร มงคลบพิตร ศรีอยุธยา” ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์เฑาะว์

การจัดสร้างครั้งนี้เชื่อกันว่า ประกอบพิธีปลุกเสกในพระวิหารหลวงพ่อพระมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา หน้าพระพักตร์หลวงพ่อพระมงคลบพิตร เพื่อเป็นประธานให้พิธี

โดยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังยุคนั้นเข้าร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสก อาทิ พระญาณไตรโลก (หลวงพ่อฉาย) วัดพนัญเชิง, พระพุทธวิหารโสภณ (หลวงพ่ออ่ำ) วัดวงฆ้อง, หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม, พระอธิการชม วัดพุทไธศวรรย์, หลวงปู่ปั้น วัดพิกุลโสคัน และหลวงพ่อขันธ์ วัดนกกระจาบ เป็นต้น

เหรียญหลวงพ่อมงคลบพิตร รุ่นแรก ปี 2460 ยังได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็น 1 ในชุดเบญจภาคีเหรียญพระพุทธ อันทรงคุณค่าในระดับประเทศ

เป็นที่นิยมและแสวงหาอย่างสูงมาแต่อดีต