วิช่วลคัลเจอร์ /ประชา สุวีรานนท์/หลงทางในโตเกียว (1)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

 

หลงทางในโตเกียว (1)

 

ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้ ทั้งที่เป็นไทยและต่างชาติ

ซึ่งไม่ต้องพูดถึงการไม่ตรงต่อเวลา

เพียงแค่จะทำให้ป้ายและแผนที่บอกว่ารถเมล์ผ่านที่ไหนบ้างก็ล้มเหลว

ไม่นานมานี้ มีข่าวว่ากรุงเทพมหานครได้จัดทำป้ายรถประจำทางแบบใหม่ อันเป็นหนึ่งในนโยบาย “มหานครแห่งความสุข” โดยทำเป็นแผนที่รถเมล์ หรือ Bus Route Map ซึ่งมีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ติดตามที่พักผู้โดยสารหลายแห่ง

แต่เพราะพยายามให้ข้อมูลของทุกป้ายที่รถประจำทางจอด ตัวอักษรที่ใช้จึงมีขนาดเล็กมาก อ่านแทบไม่ออก

ข่าวบอกว่าผลก็คือ ผู้อ่านต้องคุกเข่าหรือนั่งก้มต่ำๆ เพื่ออ่านป้ายเหล่านี้ หรือไม่ก็พาลไม่อ่านเสียเลย

สำหรับระบบขนส่งมวลชนโตเกียว ซึ่งต่างกับกรุงเทพฯ อย่างมาก เช่น ตรงต่อเวลา

อุปกรณ์อื่นๆ เช่นแผนที่และป้ายของเขาก็ชวนให้เวียนหัวเหมือนกัน แต่ปัญหาที่ว่านั้นมีลักษณะเช่นไร?

โตเกียวเป็นเมืองใหญ่ซึ่งมีระบบที่ใหญ่โตซับซ้อน แน่นอน แตกต่างกับกรุงเทพฯ หลายประการ

แต่ถ้าจะไปเที่ยวที่นั่น ก็ต้องเข้าใจปัญหาอื่นๆ เสียก่อน เช่น ระบบเงินตรา โทรศัพท์ รถไฟใต้ดิน และบัตรรถโดยสารที่ใช้ในการเดินทาง (ซึ่งมีหลายแบบเหลือเกิน)

พูดอีกอย่างมีหลายเหตุที่ทำให้เวียนหัว ถ้าไม่อยากหลงทางก็ต้องเตรียมตัวให้มาก

ในที่นี้ จะเน้นเฉพาะการหลงที่เกิดขึ้นเพราะระบบ wayfinding อันประกอบด้วยแผนที่และป้ายทั้งที่อยู่ใต้ดินและบนดิน

ผู้เขียนจะบอกว่าซับซ้อนและชวนหลงขนาดไหน

 

ระบบรถไฟใต้ดินโตเกียวนั้นเข้าใจยาก และที่บางคนบอกว่า ถ้าเข้าใจแผนที่รถไฟใต้ดินของเมืองนี้ ของเมืองอื่นก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายนั้น จริงทีเดียว

ปัญหาแรกคือ รถไฟใต้ดินมีหลายสาย ซึ่งแต่ละสายถูกบริหารโดยแต่ละบริษัท และสถานีรถไฟใต้ดินบางแห่งใหญ่โต อีกทั้งลึกลงไปใต้ดินหลายชั้น เราต้องเดินขึ้นและลงมาก

ปัญหาที่สองคือ ทางเข้าและออกซับซ้อนและมากมาย เราจึงต้องมองหาป้ายบอกทางอยู่ตลอดเวลา ทั้งเมื่อลงไปถึงแพลตฟอร์มแล้ว เช่น ควรไปทางซ้ายหรือขวา?

และเมื่อจะออกจากสถานี เช่น ทางไหนใกล้จุดที่เราต้องการ?

 

ทั้งสองปัญหาทำให้เราต้องพึ่งพาแผนที่และป้ายบอกทางเป็นอย่างมาก

ปัญหาแรก หรือการมีหลายสายนั้น อาจจะแก้ด้วยการดูสายหรือแยกเส้นให้ออกเสียก่อนว่าแต่ละสายไหนไปทางไหน ทั้งนี้ เพื่อค้นหาว่าสายไหนวิ่งไป-กลับ หรือสายไหนวิ่งวนเป็นวงกลม

แต่ปัญหาที่สอง หรือการที่สถานีใหญ่ซึ่งทำให้ต้องเดินมาก รวมทั้งหลงทางได้ง่ายนั้น แผนที่คงแก้ไม่ได้

 

ที่สำคัญ แผนที่รถไฟใต้ดินฉบับทางการที่มีแจกทั่วไปนั้น แลดูยุ่งเหยิงพิกล เพราะนอกจากจะบอกชื่อสถานี ยังบอกตัวเลขด้วย สำหรับนักออกแบบ เมื่อมองเห็นแว่บแรก อาจจะคิดว่าสิ่งนี้เป็นสาเหตุของความรกรุงรัง เพราะตัวเลขดังกล่าวมีความใหญ่โตและมีจำนวนมากมาย

ในข้อเขียนอื่นๆ ผู้เขียนเคยบอกไว้ว่าแผนที่ทำในสิ่งที่คล้ายกับแผนผังคือ “ลดทอน” สำหรับแผนที่รถไฟใต้ดินซึ่งเป็นที่พึ่งอย่างเดียวในการเดินทาง เพราะไม่มีจุดอ้างอิงอื่นๆ เช่น ถนน ตึก หรือบ้านเรือนใดๆ ยิ่งมีการลดทอนมาก

เห็นได้ว่าแผนที่ฉบับนี้กลับละเมิดกฎเกณฑ์ดังกล่าว คือกำกับชื่อสถานีด้วยตัวเลขบนป้ายขนาดใหญ่ และเข้าใจยากกว่าของเมืองอื่นๆ เช่น อันเดอร์กราวด์ของลอนดอน

ลองเปรียบเทียบฉบับทางการกับแผนที่อื่นๆ ที่มีอยู่แล้วก็ได้ ไม่นานมานี้ Jug Cerovic ชาวฝรั่งเศส แห่งบริษัท inat ได้รีดีไซน์แผนที่รถไฟใต้ดินของเมืองต่างๆ เช่น บาร์เซโลนา ปักกิ่ง ชิคาโก เบอร์ลิน ลอนดอน บัวโนสไอเรส เดลี ฮ่องกง กัวลาลัมเปอร์ ฯลฯ รวมทั้งโตเกียว และได้รวมเอาผลงานดังกล่าวไว้ใน One Metro World: An atlas of schematic metro maps

แผนที่โตเกียวของ inat เน้นเส้นและสีเท่านั้น จึงสวยงามน่าใช้ ข้อดีคือบอกความแตกต่างระหว่างสายได้ดี เพราะแยกเส้นที่มีสีต่างๆ ให้ห่างจากกันมากหน่อย

นอกจากนั้น ยังบอกความกว้างใหญ่ของสถานีชุมทางบางแห่งที่ใหญ่มาก เช่นในรูปนี้คือ Shinjuku Station แต่แผนที่โตเกียวฉบับนี้ไม่มีตัวเลขสถานี และอาจจะไม่ช่วยป้องกันการหลงได้เท่าฉบับทางการ

ถ้าลองใช้ฉบับทางการ จะพบว่าตัวเลขเหล่านี้มีประโยชน์ และฉบับนี้ได้ทำหน้าที่สำคัญอันได้แก่ป้องกันไม่ให้เราหลง

อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ใช้เข้าใจมากขึ้นว่ารถไฟวิ่งไปทางไหน ซึ่งก็จะทำให้เลือกแพลตฟอร์มได้ถูก ตัวเลขและชื่อสายในแผนที่ รวมทั้งบอกสีของแต่ละสาย ซึ่งตรงกันกับป้ายบอกทางและป้ายสถานีจำนวนมาก

นอกจากนั้น ตัวเลขและสีเหล่านี้ยังอยู่ในแผนภูมิที่อยู่บนแพลตฟอร์ม และในการประกาศอย่างเรียลไทม์ด้วยเสียงและป้ายไฟในรถ

สรุปก็คือ ตัวเลขสถานี ชื่อสถานี รวมทั้งสีของสายต่างๆ ที่ชัดเจน มีความจำเป็นสำหรับแผนที่ระบบรถไฟที่ใหญ่โตและซับซ้อนขนาดนั้น

 

ขึ้นมาบนดิน ก็ใช่ว่าจะง่าย แม้จะได้ชื่อว่ามีถนนและทางเท้าที่เหมาะแก่การเดินเที่ยวและขี่จักรยาน แต่โตเกียวมีความแปลกอย่างหนึ่งคือ ไม่มีชื่อถนน ซึ่งถ้าดูจากแผนที่ของ Google ก็จะเห็นชัด

ป้ายชื่อถนนนั้นก็มีบ้างแต่ไม่มากนัก และถ้าเปรียบกับกรุงเทพฯ ก็นับว่าน้อยมาก แต่ที่เหมือนกรุงเทพฯ คือถือกันว่าเป็นของธรรมดา ชาวบ้านหรือคนในท้องถิ่นจะไม่สนใจชื่อถนนสักเท่าไร

ที่ว่าแปลก เพราะทั้งในความเป็นจริงและในหนัง (ใน Lost in Translation สิ่งแรกที่บอกว่าเป็นโตเกียวคือป้าย และใน Brade Runners ป้ายไฟนีออนกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมือง) โตเกียวเป็นเมืองที่มีป้ายเต็มไปหมด

พูดอีกอย่าง ถ้าไม่มีป้ายชื่อ จะรับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะตะวันตก ที่คุ้นเคยกับแผนที่ได้หรือ?

โตเกียวจะรับนักท่องเที่ยวช่วง 2020 โอลิมปิกได้อย่างไร?

นี่อาจจะแสดงความอนุรักษนิยมของสังคมญี่ปุ่น การอยู่แบบดั้งเดิมของเขาลงลึกไปถึงระบบถนนและที่อยู่

เพราะเทียบกับกรุงเทพฯ แม้จะมีแนวคิดแบบตะวันออกเช่นกัน แต่เราจะเห็นชื่อถนนในแผนที่กรุงเทพฯ มากมาย และในโลกบนดิน ป้ายถนนของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งตรอกซอกซอย จะมีอยู่เต็มเมืองไปหมด

ทั้งเมืองจะเต็มไปด้วยป้ายแบบนี้ แต่ก็อย่างที่บอก ชาวบ้านไม่ได้ใช้ ถ้าจะเรียก ก็เรียกแต่ชื่อย่าน