4 ปีที่ขี่เสือ ปฏิรูป…ยุทธศาสตร์…ปรองดอง (ป.ย.ป.) ไม่ใช่มีแค่แผน ยังมี 3 สภา และคณะกรรมการ นับไม่ถ้วน (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

อํานาจเหมือนเสือร้าย เมื่อขึ้นขี่ คนก็เกรงกลัว แต่เสือเป็นอันตรายต่อทุกคน

เพราะถูกพาขึ้นหลังเสือตั้งแต่ 2549 พอถึง 2553 ก็มีคนถูกเสือกัดตายเป็นร้อย คิดจะลงจากหลังเสือก็ลำบากแล้ว ปี 2557 ต้องตัดสินใจขี่เสือต่อไป แต่เสือดุ และกินเยอะมาก ชาวบ้านที่กลัวเสือเริ่มไม่พอใจ แต่แทนที่จะจับเสือขัง กลับไปจับคนที่ไม่พอใจ ถ้าชาวบ้านรวมกันไล่เสือ คนที่อยู่บนหลังก็จะพลอยซวยไปด้วย

แต่คนที่ขี่จะลงจากหลังเสือที่กำลังวิ่งได้อย่างไร ตอนนี้ทั้งเสือและชาวบ้านกำลังหงุดหงิด มีคนแนะว่าให้เสือวิ่งเข้ากรงประชาธิปไตย แล้วคนขี่ก็โดดลง วิ่งหนีไปเปลี่ยนเสื้อผ้า เสือและชาวบ้านจะจำไม่ได้

การรัฐประหาร 2557 เป็นความจำเป็นที่ต้องทำต่อเนื่อง เพราะความล้มเหลวหลังการรัฐประหาร 2549 ที่ลุกลามเกิดความขัดแย้ง เกิดแบ่งสีแบ่งฝ่าย ลุกลามมาถึงการปราบประชาชนจนมีคนล้มตายบาดเจ็บ

ในปี 2553 แม้มีการรัฐประหาร 2557 เกิดขึ้นแล้วก็ยังไม่สามารถสร้างความปรองดองหรือปฏิรูปอะไรเลย ตามที่ประกาศ

ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเลื่อนไป และยังไม่รู้จะไปสิ้นสุดเมื่อใด

หลังรัฐประหาร 2557 คสช. ได้กําหนดนโยบายการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ และการสร้างความสามัคคีปรองดองขึ้นในระยะแรก เพื่อเตรียมการไปสู่การกําหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว

วันนี้ครบ 4 ปี เราปฏิรูปอะไรไปบ้าง?

ยุทธศาสตร์ด้านไหนที่ทำเสร็จและคนเห็นด้วย

แล้วการปรองดองไปถึงไหน ความยุติธรรมที่เป็นหัวใจของการปรองดองเกิดขึ้นหรือยัง

ถ้าผู้อ่านคิดผลงานได้สักข้อ ช่วยบอกด้วย แต่หลายคนยังงง และถามกลับมาว่า องค์กรไหนทำ ทำอย่างไร ตอบเลยว่ามีคนทำหลายร้อยคน มีเงินเดือนคนละเป็นแสน

 

4 ปีที่พยายาม ได้ 3 สภา

1.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังรัฐประหาร คสช. เดือนกรกฎาคม 2557 มีการตั้ง สนช. ขึ้นให้ทำหน้าที่แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดย สนช. มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. จำนวนไม่เกิน 250 คน เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาออกกฎหมาย วันนี้มีอำนาจมาก ตั้งหรือยุบองค์กรอิสระได้ สามารถพิจารณางบประมาณแสนล้าน หรือล้านล้านบาทในเวลาสั้นๆ สภานี้สำคัญเพราะจะมาตัดสินชี้ขาดว่า เอาหรือไม่ แต่สภาพที่มาและที่จะไป ทำให้ผลงานไม่เข้าตา บางคนจึงไปเรียกว่า สภารีโมต

2. สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตุลาคม 2557-กันยายน 2558 เป็นสภาที่ตั้งขึ้นตาม รธน. (ฉบับชั่วคราว) 2557 มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน สภานี้คล้ายข้อเรียกร้องของม็อบ กปปส. ที่ให้มีสภาประชาชนมิได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศโดยไม่ต้องเลือกตั้ง

6 กันยายน พ.ศ.2558 สปช. มีมติไม่เห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญ 135 ต่อ 105 เสียง จึงทำให้สภาต้องถูกยุบโดยทันทีตามมาตรา 38 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หัวเรือใหญ่สรุปว่า…เขาอยากอยู่ยาว

3. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตุลาคม 2558-สิงหาคม 2560 ทำหน้าที่ศึกษาและปฏิรูปสืบต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ถูกยุบไป

โดยสมาชิก สปท. มีไม่เกิน 200 คนซึ่งทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งสมาชิกทั้ง 200 คนประกอบไปด้วยอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 61 คน, นักวิชาการ, นายทหาร นายตำรวจทั้งในและนอกราชการ, ตัวแทนกลุ่มการเมืองและตัวแทนพรรคการเมือง

ตั้งพร้อมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้ง 21 คน เพราะต้องร่าง รธน.ใหม่

เกือบ 3 ปี ผลงานของ สปท. ที่เด่นมากคือ คำถามพ่วงที่แนบท้ายในการออกเสียงประชามติ ที่ส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติอนุมัติ ทำให้ในบทเฉพาะกาลของ รธน. 2560 กำหนดให้ ส.ว. มีสิทธิ์ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ใน 5 ปีแรกหลังเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน มีสิทธิ์เลือกนายกฯ อย่างน้อย 2 รอบการเลือกตั้ง

นี่คือการเปิดช่องให้ คสช. สามารถสืบทอดอำนาจต่อได้อีก 8 ปี

มีคนไปตั้งฉายาว่า สภาต่างตอบแทน ส่วนที่คนอยากให้ตั้งที่สุด คือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากประชาชน กลับไม่ตั้ง

ถึงเดือนมิถุนายน 2560 สปท. ก็ส่งไม้ต่อ โดยมอบผลงานเสนอเป็น พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และ พ.ร.บ.แผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็ผ่าน สนช. ไปเรียบร้อยในเดือนกรกฎาคม 2560

 

คณะกรรมการ ป.ย.ป. ใหญ่ที่สุด

มกราคม 2560 คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ได้ออกคําสั่งที่ 3/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและสร้างความสามัคคี ปรองดอง เพื่อกําหนดให้มีกลไกขับเคลื่อนการทำงานทุกด้าน

ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ประกอบด้วย 1.นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 2.รองนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ 3.รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ 4.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการ 5.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ

แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องที่เสนอคณะกรรมการ ป.ย.ป. ขึ้น 4 คณะ

1. คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ มี 15 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองคนที่หนึ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองคนที่สอง มีที่ปรึกษาและกรรมการ 2 คน และกรรมการอื่นอีก 10 คน

2. คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ มี 15 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองคนที่หนึ่ง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองคนที่สอง มีที่ปรึกษาและกรรมการ 4 คน และกรรมการอื่นอีก 8 คน

3. คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ มี 14 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ มีที่ปรึกษาและกรรมการ 4 คน และกรรมการอื่นอีก 8 คน

4. คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี 28 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ มีที่ปรึกษาและกรรมการ 8 คน และกรรมการอื่นอีก 23 คน

กุมภาพันธ์ 2560 ตั้งคณะที่ปรึกษาของคณะกรรมการทั้ง 4 คณะ เพื่อให้การดําเนินงานของคณะกรรมการแต่ละคณะเป็นไปอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จํานวน 39 คน ดังนี้

1. คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ มีที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจํานวน 6 คน ได้แก่ 1) นายกานต์ ตระกูลฮุน 2) นายชาติศิริ โสภณพนิช ฯลฯ

2. คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ มีที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจํานวน 14 คน ได้แก่ 1) นายคุรุจิต นาครทรรพ 2) นายจเด็จ อินสว่าง ฯลฯ

3. คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ มีที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจํานวน 16 คน ได้แก่ 1) นพ.กําจร ตติยกวี 2) นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริ ฯลฯ

4. คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจํานวน 3 คน ได้แก่ 1) นายธงทอง จันทรางศุ 2) นายอัชพร จารุจินดา 3) พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ

 

ต้องตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ รับไม้ต่อ

สรุปว่าถึงกลางปี 2560 เราก็มีแผนปฏิรูปใหญ่แล้ว มีกรรมการควบคุม มีกรรมการเตรียมการ ดังนั้น

เดือนกรฎาคม 2560 จึงมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ตาม พ.ร.บ.แผนและการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 มีหน้าที่จัดทำแผนเพื่อปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งทำงานอื่นๆ ตามที่รับมอบหมายจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศถูกแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศมีทั้งหมดอย่างน้อย 10 ด้าน แต่ละด้านประกอบด้วย ประธานกรรมการปฏิรูปฯ 1 คน และกรรมการปฏิรูปฯ จำนวนไม่เกิน 13 คน เท่ากับว่า คณะกรรมการปฏิรูปในแต่ละด้าน กรรมการทั้งหมดไม่เกิน 14 คน พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศฯ กำหนดให้ต้องจัดทำแผนและขั้นตอนการปฏิรูปในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

1) ด้านการเมือง 2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3) ด้านกฎหมาย 4) ด้านกระบวนการยุติธรรม 5) ด้านการศึกษา 6) ด้านเศรษฐกิจ 7) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8) ด้านสาธารณสุข 9) ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 10) ด้านสังคม 11) ด้านอื่นๆ ตามที่ ครม. กำหนด

ทีนี้พอเข้าใจแล้วสิว่า ทำไม อ.บวรศักดิ์ถึงบอกว่ามีแผนเยอะ และทีมวิเคราะห์ก็บอกว่ากรรมการก็เยอะ สังเกตให้ดีจะพบว่ากรรมการทั้ง 11 ด้านต้องจัดทำแผนและขั้นตอนการปฏิรูป

(เหตุการณ์ 4 ปี เรื่องนี้จึงยาว ต่อตอนหน้า)