หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ชะนีมือดำ - ลูกชะนีออกจากอกแม่ และเริ่มฝึกฝนการใช้ชีวิตเมื่ออายุราวสองปี ในระหว่างนี้แม่และพี่ๆ ในครอบครัวจะดูแลอย่างใกล้ชิด

หลังเลนส์ในดงลึก  ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ต้นแบบ’

โดยปกติ

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หากินอยู่บนเรือนยอดต้นไม้ อย่างพวกค่าง ชะนี จะให้เวลาลูกซึ่งเพิ่งเกิด เกาะติดอยู่กับอกไปจนกระทั่งมีอายุราวๆ 2 ปี

ตั้งแต่มีอายุใกล้ๆ สองปี เจ้าตัวเล็กต้องเริ่มผละออกจากอกแม่

ฝึกหัดไต่ไปตามกิ่งไม้ รวมทั้งการหากิน พวกมันจะทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ตามแม่ที่เป็นต้นแบบ

ในระหว่างการฝึก อย่างเก้ๆ กังๆ แม่จะเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด

นานมาแล้วที่เหล่าสัตว์ป่าถ่ายทอดการดำเนินชีวิตเช่นนี้

จากรุ่นสู่รุ่น ตามวิถีของสัตว์ชนิดนั้นๆ

ผู้เป็นต้นแบบสอน แต่ไม่ใช่ด้วยคำพูด

พวกมัน “สอน” ด้วยการกระทำ…

 

ไม่เฉพาะสัตว์ ซึ่งใช้ชีวตอยู่ตามเรือนยอดไม้เท่านั้น พวกที่อาศัยอยู่บนพื้นก็มีวิถีไม่แตกต่าง

เจ้าตัวเล็กในฝูง นอกจากมีแม่คอยดูแลสั่งสอนแล้ว บรรดาสมาชิกในฝูงตัวอื่นๆ ก็ถือเป็นหน้าที่ต้องคอยดูแลสมาชิกใหม่ด้วย

ในฝูงช้าง วัวแดง กระทิง ควายป่า หากอยู่ในช่วงเวลาที่มีตัวเล็กในฝูง ภาพที่พวกมันช่วยกันดูแลปกป้องเจ้าตัวเล็ก มักเป็นภาพอันเห็นได้ชัดเจน

สำหรับสัตว์ป่า หากไม่ได้รับถ่ายทอดประสบการณ์ตั้งแต่แรกเกิด การดำรงชีวิตย่อมไม่ใช่สิ่งง่ายดาย

สัตว์หลายชนิดฝึกฝนการเลี้ยงดูลูกตั้งแต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะมีลูกเป็นของตัวเอง

นกเงือกสีน้ำตาล รวมทั้งนกเงือกหัวหงอก ฝึกการหาอาหารและวิธีป้อนลูกที่อยู่ในโพรง ทำหน้าที่เช่นเดียวกับพ่อนกซึ่งมีภาระในการนำอาหารมาให้ลูกและเมีย

ไม่ใช่เพียงการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระให้พ่อนก

แต่นี่คือช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้

วิถีของต้นแบบเป็นเช่นไร

วิถีผู้รับการถ่ายทอดย่อมเป็นเช่นเดียวกัน

 

ในวันพฤหัสฯ ถ้าไม่มีภารกิจเร่งด่วนติดงานอยู่ในป่า หรือเส้นทางโดนสายน้ำพัด สะพานขาด ระดับน้ำในห้วยสูงเกิน เราจะออกไปตลาดเพื่อซื้อเสบียง

เมืองชายป่า ไม่ใหญ่ พ่อค้า แม่ค้า จำลูกค้าขาประจำได้ และรู้ว่าเป็นพวกออกมาจากป่า จึงมักได้รับไมตรี เลือกผัก เนื้อสดๆ ให้ รวมทั้งลดราคา หรือแถมให้มากกว่าปกติ

ส่วนใหญ่คนในป่าที่ออกมาซื้อเสบียงจะเป็นผู้ชาย การทำงานในป่า นอกจากสมบุกสมบันได้ อีกสิ่งหนึ่งอันเป็นคุณสมบัติคือ ต้องทำกับข้าวเป็น

ว่าตามจริง ไม่เฉพาะกับข้าวหรอก ความหมายคือ ควรทำทุกอย่างได้ ตั้งแต่ซักผ้า ไปจนถึงเย็บผ้า ซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ขาดเพราะหนามเกี่ยว เลยไปถึงการซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ

หาฟืน ก่อไฟ เลื่อยไม้ หุงข้าว เหล่านี้ทุกคนทำได้คล่องแคล่ว

อยู่ในป่านานๆ เราให้ความสำคัญกับอาหาร

โดยเฉพาะมื้อค่ำ ที่มีเวลา หลายคนมีฝีมือทางงานครัว พลิกแพลงเมนูได้หลายอย่าง ในขณะที่มีวัตถุดิบไม่มาก

เราใช้เวลานี้พูดคุย กระเซ้าแหย่ เล่าเรื่องตลก และถ่ายทอดเรื่องราวที่พบตอนกลางวันสู่กันฟัง

วันแรก หลังออกไปซื้อเสบียง กับข้าว อาจดูหรูๆ บ้าง วันหลังๆ ไม่ว่าจะใช้สูตรใด รสชาติอาหารก็คล้ายๆ กันไปหมด

วันพฤหัสฯ จึงเป็นวันค่อนข้างพิเศษ

ในค่ำวันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เมนูของเราจะเป็นปลานึ่งมะนาว

 

ในป่า

หากเป็นวันที่ฝนไม่ตก จะมีสารพัดเสียงตั้งแต่รุ่งเช้า ที่โดดเด่นกว่าเสียงอื่นๆ คือเสียงชะนี ดังจากทางทิศโน้น ทิศนี้

เสียงของสัตว์ คือการสื่อสาร หลักๆ คือบอกอาณาเขต แจ้งแหล่งอาหาร เตือนภัย บอกความเดือดร้อน รวมไปถึงบอกรัก

เสียงเหล่านี้ จะได้ยินเมื่อเราตั้งใจฟัง

มีความจริงอย่างหนึ่งไม่ว่าจะสื่อสารด้วยภาษา หรือวิธีการใด อาศัยอยู่ในมุมใดของโลก ในป่า ในเมือง อยู่ในสถานภาพใด

ถ้าใส่ใจ ย่อมพูดกันรู้เรื่อง

และจะเข้าถึง “หัวใจ” กันได้ไม่ยาก

ในธรรมชาติ เราต่างรู้ว่ามี “ความจริง” อยู่ที่นี่ ธรรมชาติเป็นคล้ายศาสดา ที่เป็นต้นแบบให้เหล่าสาวกศึกษา

มีวิธีที่จะรับข้อความจากที่นี่ได้

คือยอมรับความ “ด้อยกว่า” และหัวใจที่เปิดรับ

 

การสื่อสารต่างกัน ไม่ใช่อุปสรรค รวมทั้ง “ปัญหา” ที่ธรรมชาติกำลังเผชิญ ก็คล้ายจะเหมือนกันทั้งโลก

ป่าฝนในอเมซอน กำลังถูกคุกคาม สัตว์ป่าไม่มีแหล่งอาศัย ไม่ต่างจากป่าแถบบอร์เนียวหรือ เทือกเขาบูโด

สัตว์ป่าในทุ่งหญ้าเซรังกาติ ถูกไล่ฆ่าเอาอวัยวะ เช่นเดียวกับสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง

 

ทําอาหารมื้อค่ำ นอกจากเป็นเวลาผ่อนคลาย จะมีเสียงอีกมากมายดังออกมาจากความมืดให้ได้ยิน

“ได้ยิน” โดยไม่เห็นตัว

ข้อดีของการมีโอกาสได้ใช้ชีวิตในป่า คือได้ฝึกฝนทักษะ ใช้อวัยวะแบบเดียวกับที่สัตว์ป่าใช้ โดยไม่มีอุปกรณ์ช่วยมากมาย ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ตา หู และจมูก

สิ่งต่างๆ นี้ เราเรียนรู้ได้จากผู้อาวุโส หรือผู้ร่วมทีมที่มีทักษะความชำนาญสูง

เรื่องง่ายๆ อย่างการก่อไฟในทุกสภาพ และหุงข้าว

ทำไม่ได้ ก็ทนหิวไปนาน

 

วิถีของสัตว์ป่านั้น น่าชื่นชมนับถือ

ในวิถีสัตว์ผู้ล่า บางชนิดถือสันโดษ สมถะ อยู่เพียงในอาณาเขตของตน เคารพในเขตแดนผู้อื่น และอีกมากนิสัยเช่นนี้ ทำให้ผู้ได้รู้ ประทับใจไม่ยาก

อยู่ในป่า นอกจากทำกับข้าว ซักผ้า เย็บผ้า ซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว

หลายครั้ง บนด่าน เราเดินตามรอยของเสือ

ผมคิดเสมอว่า การได้รับถ่ายทอดประสบการณ์คือสิ่งสำคัญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรับฟังสารต่างๆ จากต้นแบบ

“ฟัง” ให้ “ได้ยิน”

ไม่ว่า “ต้นแบบ” นั้นจะเป็นใคร

คน หรือต่างสายพันธุ์