หนุ่มเมืองจันท์ : สนามเด็กเล่น

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ผมเห็นข้อความหนึ่งในเฟซบุ๊กของ “พิ” พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

“ตามหาสายนักเขียนมาร่วมเปลี่ยนการศึกษาไทย!!!

พวกเรากำลังรวมทีมสร้าง TED Club Bible

สุดยอด Guidebook : How to organize TEDx in Thai high school ที่จะส่งให้ครูไทยทั่วประเทศนำไปจัด #TEDClub

สร้างพื้นที่ปล่อยของให้เด็กในโรงเรียนตัวเอง”

คุณสมบัติที่เขาต้องการ คือ

1. เคยมีประสบการณ์ด้านการทำงานเขียน ผ่านงานนิตยสารหรือหนังสือ

ระดับ “ถนัดปั่นงานด่วนงานเร่ง”

2. นำภาษาจากการแปลมาเกลาคำให้อ่านง่าย น่าสนใจ

ชอบทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ สดใส ซุกซน

และ 3. มีเวลามานั่งคุยสัปดาห์ละครั้ง แบ่งงานไปทำ

เป้าหมาย คือ งานทั้งหมดต้องเสร็จภายในมิถุนายนนี้

อ่านจบ ไม่ต้องคิดเลยครับ

สมัครทันที

คุณสมบัติที่มั่นใจที่สุดก็คือ การปั่นงานด่วนงานเร่งครับ

งานนี้เป็นงาน “อาสาสมัคร”

ทำงานด้วย “ใจ”

ไม่มีเงินเดือน

ผมติดตามเรื่อง TED มานานแล้ว

TED คือ เวทีทอล์กที่โด่งดังระดับโลก

เขาจะชวนบุคคลน่าสนใจขึ้นมาเล่าเรื่องสร้างแรงบันดาลใจ

โด่งดังจากเมืองนอกแล้วค่อยขยายแนวคิดนี้มาเมืองไทย

“พิ” เป็นคนหนึ่งที่ดึงกิจกรรมนี้เข้ามา

เขาเป็นเด็กหนุ่มตัวเล็กๆ ที่มีฝันที่ยิ่งใหญ่มาก

คล้ายๆ กับ “เต๋อ” และ “โหน่ง” แห่งสถาบันกวดวิชาออน ดีมานด์ที่ผมเคยเขียนถึง

“เต๋อ” กับ “โหน่ง” อยากทำกระทรวงศึกษาฯ ภาคเอกชน

ปฏิวัติระบบการศึกษาของไทย

“พิ” ก็คล้ายๆ กัน

เพียงแต่ “อาวุธ” ของเขา คือ “การเล่าเรื่อง” ครับ

“พิ” เคยเป็นอาสาสมัครในงาน TEDxChiangmai มาก่อน

จากนั้นก็มาบุกเบิก TEDxBangkok

เขารับบทเป็น “Story Curator” หรือ “ภัณฑารักษ์” คัดสรรและขัดเกลาเรื่องทั้งหมดที่จะถูกเล่าบนเวที

จากนั้นก็มาตั้งบริษัท Glow Story เอเยนซี่แนวใหม่ของไทยกับเพื่อนคือ ป่าน-ปิยพัทธ์ ปฏิโภคสุทธิ์ และ บี๋-นภัส มุทุตานนท์

ทำงานแบบ “ธุรกิจ” คือ มี “รายได้” และ “กำไร” เลี้ยงองค์กร

แต่ “กิจกรรม” และ “เนื้อหา” ที่นำเสนอต้องสร้างแรงกระทบต่อสังคม

ฝันยิ่งใหญ่แบบนี้

ลืมบอกไปว่า “พิ” อายุ 26 ปีครับ

เขาทำ TEDxBangkok มาหลายครั้งแล้ว

ปีนี้ปรับเปลี่ยนแผนใหม่

“พิ” และเพื่อนอยากสร้างผลกระทบเป็น “การกระทำ” มากกว่า “แรงบันดาลใจ”

เขาเลยเลิกทำ TEDx เวทีใหญ่

ปรับเปลี่ยนเป็น 2 กิจกรรมใหม่

กิจกรรมแรก คือ จัด TEDx เป็นเวทีเล็กๆ กระจายไปหลายแห่ง

ใช้ชื่อว่า TEDxBangkok Adventures

กิจกรรมที่สอง เขาจะ TEDx เข้าสู่โรงเรียนมัธยม

ตั้งชื่อว่า TED Club

โครงการนี้ล่ะครับที่ผมสมัครเข้าไปเป็น “อาสาสมัคร” ช่วยทำ “คู่มือ” ให้เขา

แค่คิดก็สนุกแล้ว

โครงการ TED Club เริ่มต้นไปก่อนหน้านี้แล้วครับ

เขารับสมัครครูมัธยมที่สนใจอยากจัด TED ในโรงเรียน

นี่คือ กลยุทธ์การเปิดพื้นที่ให้เด็กมีเวทีในการแสดงออก

เพราะเด็กทุกคนล้วนมีเรื่องราวที่น่าสนใจ

ไม่ว่าเขาจะเรียนเก่งหรือไม่เก่ง

ไม่ว่าเขาจะเล่นกีฬาหรือดนตรีเป็นหรือไม่

เด็กทุกคนล้วนเป็น “ดาวฤกษ์”

มีแสงสว่างในตัวเอง

ขอเพียงแค่มี “ครูที่ปรึกษา” ที่ช่วยขัดเกลาเรื่องราวของเขาเท่านั้นเอง

เชื่อหรือไม่ครับว่ามีครูที่สนใจเข้าโครงการนี้ถึง 200 กว่าคน

แต่เขารับได้แค่ 30 คน

ผมเพิ่งเข้าไปสังเกตการณ์ตอนที่เขาอบรมครั้งที่ 3

“ต้อง” กวีวุฒิ เจ้าของคอลัมน์ “ธุรกิจพอดีคำ” ไปสอนวิธีคิดแบบ Disign Thinking

สนุกมาก

เห็นความคึกคักของคุณครูและทีมของ “พิ” แล้วดีใจ

มีความหวังกว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” อีกครับ

ยังไม่ทันได้นั่งประชุมกัน

แค่นั่งดูก็เหมือนกับได้ย้อนเวลาหาอดีต

ผมคิดถึงวันที่ทำกิจกรรมนักศึกษา

วันที่เชื่อว่าโลกจะเปลี่ยนได้ด้วยมือของเรา

ทุกคนทุ่มเททำงานด้วย “ใจ”

ไม่มีเรื่อง “เงิน” มาเกี่ยวข้อง

จบการอบรม เราไปกินข้าวกัน

มี “พิ” และน้องๆ อีก 6 คน

“สกาย-นัท-แป้งร่ำ-ตูน-วี”

ประโยคแรกที่ “พิ” บอกก็คือ “พี่ครับ ทำอย่างไรไม่ให้พวกน้องๆ ไม่เกร็งพี่ครับ”

ตกใจเลยครับ

ลืมไปว่า “แก่”

เพราะตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปสู่ช่วงกิจกรรมนักศึกษาสมัยที่เรียนธรรมศาสตร์

กำลังฝันอยู่ว่าอายุ 20 ต้นๆ

พอ “พิ” บอกว่าน้องๆ เกร็ง

ตื่นเลย

เริ่มตระหนักว่าตอนนี้เราเป็น “รุ่นใหญ่” แล้ว

สถานการณ์ตอนนี้คงประมาณ “พี่เบิร์ด” เจอ “อะตอม-ชลกันต์” ตอนทำอัลบั้มใหม่

เริ่มด้วยถามชื่อและประวัติของน้องแต่ละคน

โห…แต่ละคนไม่ธรรมดา

เหมือน “อะเวนเจอร์” มารวมตัวกัน

จากนั้นผมเริ่มเล่าประวัติตัวเองคร่าวๆ คุยไปเรื่อยๆ

พักนึงน้องๆ ก็เริ่มหายเกร็ง

กลายเป็นมาสัมภาษณ์ผมแทน

การได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วย “ไฟฝัน”

มันเหมือนกับการได้ฉีดสเต็มเซลล์ให้กับชีวิต

เหมือนได้ลงไปเล่น “สนามเด็กเล่น” อีกครั้ง

ผมบอกเขาว่าจะให้ความเห็นน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

เพราะคนอายุมาก “กรอบประสบการณ์” จะแข็ง

เห็น “ความเป็นไปไม่ได้” มากกว่า “ความเป็นไปได้”

ให้เขาคิดอย่างเต็มที่

ฝันให้เต็มเหนี่ยว

อย่าคิดภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่

เพราะถ้าคิดภายใต้ข้อจำกัด อาจไปได้แค่ 4

ฝันให้เต็มที่ ฝันให้ถึง 10

บางทีด้วยสิ่งที่สั่งสมมา ผมอาจช่วยให้เขาได้สัก 6

แม้จะไม่ได้ 10

แต่อย่างน้อยมากกว่า 4

ผมไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วโครงการนี้จะเป็นอย่างไร

อาจล้มไม่เป็นท่า

หรืออาจไปได้ไกลเกินความคาดหมาย

แต่สำหรับผม แค่กล้าเริ่มต้นลงมือทำ

…ก็ชนะแล้ว