ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ตอนที่ 2 : พบพานผ่าน “รัฐประหาร”

(ตอนที่แล้วเป็นตอน “เมื่อแรกพบ “อาวุโสและยิ่งใหญ่”” มาตอนนี้เป็นตอนที่ผู้เขียนได้เดินเข้าไปหาอาจารย์ชัยอนันต์!)

สมัยที่ผู้เขียนเป็นนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีความรู้สึกว่า ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์นั้น ท่านช่าง “อาวุโสและยิ่งใหญ่”

เพราะท่านเป็น “ศาสตราจารย์” และมีชื่อเสียงที่ผู้เขียนได้ยินมาก่อนจะเข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ

อีกทั้งตอนมัธยมปลาย ยามเมื่อไปเดินร้านหนังสือโอเดียนสโตร์ สยามสแควร์ ก็ยังได้เห็นหนังสือตำรารัฐศาสตร์หลายเล่มที่ท่านเป็นผู้แต่ง

เมื่อได้เข้ามาเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ที่ท่านเป็นอาจารย์ประจำอยู่ ก็รู้สึกถึงความ “อาวุโสและยิ่งใหญ่” ของท่าน และดูมีระยะห่างจากตัวเราเสียเหลือเกิน

แต่ในความเป็นจริง ท่านอายุห่างจากผู้เขียนเพียง 15 ปีเท่านั้น!

และเมื่อแรกพบ ท่านมีอายุเพียง 33 แต่เป็น 33 ที่เป็นศาสตราจารย์และ “ยิ่งใหญ่” แล้วในความรู้สึกของนิสิตปีหนึ่งอย่างผู้เขียนในขณะนั้น

เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางการศึกษาและการเป็นอาจารย์ของตัวผู้เขียนเอง พบว่า ตอนอายุ 33 เพิ่งเรียนจบปริญญาเอกเองและเพิ่งเข้าเป็นอาจารย์ธรรมดาที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

แต่อาจารย์ชัยอนันต์ตอนอายุ 33 ก็เป็น “ศาสตราจารย์แห่งภาควิชาการปกครอง” แล้ว

 

ผู้เขียนได้มีโอกาสพบท่านครั้งแรกในราวเดือนตุลาคม พ.ศ.2520 อยู่ในช่วงปลายของภาคการศึกษาต้น ชั้นปีที่หนึ่ง

และได้เห็นอาจารย์ชัยอนันต์ตัวเป็นๆ ครั้งแรกในชีวิต ขณะที่ท่านเดินผ่านห้องบรรยาย ชั้นสอง ตึกสอง (อาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์) เพื่อจะเดินเลี้ยวไปยังห้องทำงานของท่าน

ท่านใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว ไม่พับแขน ใส่เน็กไท กางเกงสีดำ

แม้ว่าจะรู้สึกในเจตสิกว่าท่าน “สูงส่ง” แต่อาจารย์ชัยอนันต์ตัวเป็นๆ ไม่ได้ตัวสูงใหญ่ แต่ออกเป็นทางเตี้ยๆ ตุ๊ๆ ใบหน้าของท่านขณะนั้นไม่สามารถบ่งบอกอายุได้แน่นอนว่าหนุ่มหรือแก่!!

แต่ผู้เขียนสังเกตว่า ศีรษะท่านโตมากกว่าสัดส่วนของลำตัว

ตอนนั้น ผู้เขียนคิดว่า นั่นก็เป็นสิ่งที่น่าจะเข้าใจได้ เพราะสมองท่านต้องมีขนาดใหญ่มากกว่าปรกติ มิฉะนั้น จะจบปริญญาเอกมาตั้งแต่อายุยังน้อย และอายุเพียง 33 ก็เป็นศาสตราจารย์แล้ว

ขนาดพวกอาจารย์คณะแพทย์หรือวิศวะที่ว่ามือแน่ๆ ก็ยังเป็นศาสตราจารย์ไม่ได้เร็วขนาดนี้

เมื่ออาจารย์ชัยอนันต์เดินผ่านไป ผู้เขียนก็รู้สึกตื่นเต้นเป็นที่สุด อยากจะเข้าไปขอทำความรู้จักท่าน (จริงๆ แล้ว อยากให้ท่านรู้จักเราต่างหาก!)

แต่ก็ยืนคิดอยู่พักหนึ่งว่าจะเข้าไปหาท่านด้วยเหตุผลอะไร? เพราะโดยปกติ ผู้เขียนเป็นคนเข้าหาผู้ใหญ่ไม่เป็น

ยิ่งเป็นครูบาอาจารย์ด้วยแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่ ถ้าเป็นผู้สูงอายุระดับคุณย่าคุณยาย ยังพอไหว

จำได้ว่า ตั้งแต่อนุบาลยันมัธยมปลาย ไม่สามารถจริงๆ กับการเข้าหาครูบาอาจารย์ เริ่มตั้งแต่สมัยอนุบาลหนึ่ง ก็ก่อเรื่องให้คุณครูประจำชั้นในวันงานปีใหม่โรงเรียน

 

โดยในช่วงปีใหม่ทุกปี โรงเรียนอนุบาลที่เรียนอยู่จะจัดงาน และเป็นวันเดียวที่เด็กนักเรียนจะได้ใส่ชุดไปเที่ยวไปโรงเรียนได้

ผู้เขียนจึงตื่นเต้นจัดที่จะได้ใส่ชุดโก้ๆ เช่น กางเกงขายาว เสื้อสีๆ

และด้วยความตื่นเต้นจัดนี้เองที่ทำให้นอนไม่หลับ พอเช้าเลยเป็นไข้ ไม่รู้ว่าไข้มาจากไหน น่าจะเป็นไข้ที่เกิดจากอาการประสาทหรือที่ภาษาหมอเขาเรียกว่า psycho-somatic อะไรทำนองนี้

ลุกขึ้นจากเตียงก็เวียนหัว ปวดหัว ตัวร้อน แล้วก็อาเจียน

แม่บอกว่า อย่าไปเลย! ถ้าเป็นวันเรียนปรกติ ได้ยินแบบนี้ ก็จะรีบปฏิบัติตามทันที เพราะปรกติจะหาเรื่องไม่ไปโรงเรียนอยู่ร่ำไปอยู่แล้ว โดยแกล้งปวดหัว ปวดท้องไปตามเรื่อง

แต่เนื่องจากที่บ้าน พ่อเป็นหมอ เมื่อตรวจชีพจร วัดไข้กันได้เองในบ้านด้วยแพทย์ปริญญา ลูกไม้การแกล้งไม่สบายจึงไม่สามารถใช้ได้

แต่สำหรับวันงานปีใหม่ ผู้เขียนยอมอยู่บ้านไม่ได้ แม้ว่าจะจับไข้หนาวสั่น ซึ่งช่วงนั้นก็เป็นฤดูหนาวด้วย ยิ่งไปกันใหญ่

แม่เลยให้ใส่เสื้อหนาวทับเสื้อสีตัวเก่ง ทำให้หงุดหงิดเล็กน้อย แต่ใส่เสื้อหนาวก็ดูดี ทำให้นึกถึงหนังซีรี่ส์โทรทัศน์ที่โด่งดังสมัยนั้นเรื่อง “หนูน้อยบีเวอร์” (Leave it to Beaver) ซึ่งเวลาดูทีไร ผู้เขียนจะคิดว่าตัวเองเป็นหนูน้อยบีเวอร์อยู่เสมอ

ที่คิดถึงหนูน้อยบีเวอร์ก็เพราะเด็กฝรั่งมักใส่เสื้อสเวตเตอร์ เมื่อแม่จับใส่เสื้อกันหนาวแบบนั้น ผู้เขียนก็โอเคเลย

เมื่อไปถึงโรงเรียน ก็วิ่งเข้าใส่โรงเรียนอย่างแรงทั้งๆ ที่เวียนหัวอยู่ หลังจากเข้าไปนั่งในห้องเรียนเพื่อเตรียมตัวจะเล่นเกมและจับสลาก นั่งๆ อยู่ก็รู้สึกวิงเวียนคลื่นไส้ และก็อ้วกออกมาอีก เลอะโต๊ะ

เท่านั้นไม่พอกระเซ็นกระสายไปเลอะเพื่อนนักเรียนหญิงที่ใส่กระโปรงชุดฟูฟ่องสีชมพูเหมือนตุ๊กตาเจ้าหญิงน้อยๆ แล้วเธอก็มีปฏิกิริยาเป็นขั้นๆ ดังต่อไปนี้ครับ

ขั้นที่หนึ่ง อึ้งแบบตกใจไม่คาดฝัน

ขั้นที่สอง แสดงท่าสะอิดสะเอียน

สาม ร้องไห้โฮ!!!

 

ส่วนตัวผู้อ้วกนั้น ก็สำนึกรู้ว่าผิดที่อ้วกไปโดนเขา และสำนึกว่าไม่ควรมาโรงเรียน แต่ผู้ที่รับกรรมหนักกว่าเด็กหญิงผู้นั้นคือ คุณครูประจำชั้นที่ต้องรีบไปแจ้งภารโรงให้มาทำความสะอาด แต่ภารโรงติดอะไรอยู่ก็ไม่ทราบ ไม่สามารถมาได้ เด็กๆ ร่วมชั้นเรียนพากันระส่ำระสายกันทั่วไป น่าจะด้วยเหตุผลสองสามประการดังนี้

หนึ่ง ที่แน่ๆ คือขยะแขยงกับภาพอ้วก

สอง เหม็นอ้วก

สาม “กระวนกระวายและร้อนรน” ตามประสาเด็กเล็กๆ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรเองได้

เด็กอนุบาลสองจะไปแก้ปัญหาอ้วกเลอะห้องได้ยังไง??

ลองนึกดูว่า หากมีเด็กอนุบาลสองสักคนหนึ่งในสถานการณ์แบบนั้น ลุกขึ้นมาไปหยิบผ้าขี้ริ้วและถังน้ำ แล้วมาเช็ดทำความสะอาดจนเรียบร้อย แถมยังเดินไปปลอบเจ้าหญิงกระโปรงชมพูฟูนั้นได้ด้วย เด็กแบบนี้ผิดเด็กแล้ว ถือเป็นเด็กแก่เกินวัย ดูไม่น่ารักเลย หรือไม่ก็เป็นเด็กแบบเด็กมโหสถ เด็กมีบุญญาภินิหารอะไรทำนองนั้น (ใครไม่รู้จักว่า เด็กมโหสถหรือปราชญ์น้อยคู่แผ่นดินคือใครและสามารถอย่างไร เชิญไปค้นดู ไม่รู้จักก็ถือว่าขาดความรู้เรื่องทศชาติชาดก)

เมื่อในชั้นเรียนวันนั้น ไม่มีเด็กมโหสถ และภารโรงไม่ว่าง อีกทั้งเด็กๆ กำลังระส่ำระสายใกล้จะแหกปากร้องไห้จ้าอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งจะทำให้ครูใหญ่และผู้คนในโรงเรียนแตกตื่นโดยคิดว่า เด็กในห้องอนุบาลหนึ่ง ข.ไข่ นั้นกำลังอยู่ในสภาวะถูกผีเข้าพร้อมกันหลายๆ คน (ไม่รู้ว่า ผีหลายๆ ตนมาเข้าเด็กนักเรียนหลายๆ คน หรือผีตนเดียวสามารถเข้าเด็กนักเรียนหลายๆ คนได้ในเวลาเดียวกัน)

คุณครูจิ้มลิ้ม (คุณครูชื่อ “จิ้มลิ้ม” จริงๆ) เลยต้องมาเช็ดอ้วกเอง และปลอบประโลมเจ้าหญิงน้อยกระโปรงฟูและต้องเช็ดชิ้นส่วนอ้วกของผู้เขียนออกจากกระโปรงชุดแสนสวยนั้นด้วย

แปลก? ไม่มีใครสนใจคนอ้วกเลย!!!

ผู้เขียนป่วยออกขนาดนั้น แทนที่เด็กหญิงกระโปรงเลอะอ้วกนั้นจะเป็นห่วงเป็นใยเพื่อนที่ไม่สบายจนอ้วกรดเธอ

คุณครูจิ้มลิ้มก็ไม่สนใจดูแลคนอ้วกเลยสักนิด เพื่อนๆ ในชั้นก็คิดแต่เรื่องตัวเอง-ห่วงตัวเอง

หลังจากผู้เขียนอ้วกแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยฟุบหน้าลงไปกับโต๊ะที่มีอ้วกของตัวเองกระจายอยู่ ทำนองเดียวกับนกพันธุ์หนึ่งที่เอาหัวมุดดินหนีภัย และภาพสุดท้ายที่เห็นก่อนที่จะฟุบไปคือ สายตาที่คุณครูจิ้มลิ้มจ้องมองมาที่ผู้เขียน เป็นสายตาที่ทำให้ผู้เขียนตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เกิดมาทำไม?”

และนั่นคือ ขั้นแรกที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกมีระยะห่างกับครูบาอาจารย์ คิดกลัวอยู่เสมอว่าจะไปทำอะไรให้ท่านเสียหาย

 

แต่ที่อยู่ตรงหน้าไม่ใช่คุณครูจิ้มลิ้ม แต่เป็นคุณครู “ชัยอนันต์” จะหาเรื่องไปคุยอะไรกับท่านดี ภาพที่ไปอ้วกเลอะจนสร้างปัญหาให้ครูยังหลอนในความทรงจำอยู่

แต่ในที่สุด ก็นึกหาเรื่องไปทำความรู้จักกับอาจารย์ชัยอนันต์จนได้ ผู้เขียนรีบเดินจนถึงตัวท่าน และก่อนที่ท่านจะไขกุญแจเข้าห้องทำงาน ผู้เขียนก็กล่าวไปว่า

“อาจารย์ครับ คำๆ นี้มันแปลว่าอะไรครับ?” ท่านมองไปที่ตัวพิมพ์ภาษาอังกฤษในหนังสือที่ผู้เขียนเอานิ้วชี้จิ้มคาอยู่ คำที่ว่านี้คือ “coup d” etat” ท่านเงยหน้าหันมามองผมด้วยสีหน้าเคร่งขรึม แล้วตอบคำถามด้วยเสียงที่แสดงถึงความเคลือบแคลงใจอะไรบางอย่างว่า

“รัฐประหาร”

วันรุ่งขึ้น วันที่ 20 ตุลาคม 2520 ทหารทำรัฐประหารล้มรัฐบาลคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร!

(ผู้เขียนสาบานได้ว่า ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับรัฐประหาร แต่ไม่รู้ว่าอาจารย์ชัยอนันต์ท่านคิดอะไร?!)