เขียนถึง ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช : เมื่อแรกพบ “อาวุโสและยิ่งใหญ่”

ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช (1) : เมื่อแรกพบ “อาวุโสและยิ่งใหญ่”

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “อาจารย์ชัยอนันต์” อายุครบ 74 ปี ผู้เขียนเป็นหนึ่งในลูกศิษย์จำนวนมากมายของท่าน มีโอกาสได้เรียนกับท่านสมัยปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

และตัวผู้เขียนเองก็ลงเอยมีอาชีพเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สอนหนังสือมาตั้งแต่ พ.ศ.2535 มาบัดนี้ก็เป็นเวลา 26 ปี

จำได้ว่า ตอนที่เข้าไปเป็นนิสิตปีหนึ่ง ภาควิชาการปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬาฯ นั้น ผู้เขียนรู้สึกมีระยะห่างจากท่านอาจารย์ชัยอนันต์มาก เพราะรู้สึกว่าท่านเป็นอาจารย์ที่อาวุโสและยิ่งใหญ่

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า เมื่อผู้เขียนเป็นนิสิตปีหนึ่ง อาจารย์ชัยอนันต์ท่านก็อยู่ในสถานะของศาสตราจารย์แล้ว

นั่นเป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าท่านอยู่สูงและมีระยะห่างจากตัวเองที่เป็นเพียงนิสิตปีหนึ่ง และ “ความสูง” ของท่านก็คือความเป็นศาสตราจารย์ของท่านนี้เอง

เพราะในความรู้สึกของตัวผู้เขียนขณะนั้น อาจารย์ท่านใดที่เป็นศาสตราจารย์จะสูงส่งมาก ดูน่าเกรงขามและอาคมขลัง

ซึ่งไม่รู้ว่านิสิตสมัยนี้จะยังมีความรู้สึกแบบนี้อยู่หรือไม่ แต่เท่าที่ประเมินอย่างไม่เป็นทางการ นิสิตสมัยนี้ดูจะไม่ตื่นเต้นที่จะได้เรียนกับอาจารย์ที่เป็นศาสตราจารย์เท่ากับได้เรียนกับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในโลกโซเชียลมีเดียที่ส่งผ่านความเห็นความรู้ของตนอย่างเผ็ดร้อนแหลมคมในโลกอินเตอร์เน็ต

 

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้นิสิตปีหนึ่งอย่างผู้เขียนรู้สึกว่า ท่านอาจารย์ชัยอนันต์ “ยิ่งใหญ่” ก็เพราะว่า อาจารย์ชัยอนันต์เป็นอาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพียงท่านเดียวที่ผู้เขียนได้ยินชื่อเสียงและได้รู้จักผลงานหนังสือของท่านก่อนที่ผู้เขียนจะสอบติดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

จำได้ว่า ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขณะนั้น ผู้เขียนกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่สอง กระแสประชาธิปไตยกำลังเติบโตเบ่งบานไปทั่วสังคมไทย โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ

ส่งผลให้ผู้เขียนมีความสนใจในเรื่องการเมืองกับเขาไปด้วย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ ผู้เขียนไม่ได้มีความสนใจในการเมืองเลยก็ว่าได้

ก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ผู้เขียนใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการฝึกซ้อมเล่นดนตรี ตั้งวงดนตรี เฮฮา คิดถึงผู้หญิงในจินตนาการไปตามเรื่อง

แม้แต่ในวันที่ 13 ตุลาฯ กิจกรรมที่ผู้เขียนทำในวันนั้นก็คือ ไปดูภาพยนตร์เรื่อง “เจ้าพ่อ” หรือ Godfather (ภาคแรก) ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมไทยที่อยู่ใกล้ราชดำเนินและสนามหลวง

ทุกวันนี้ ไม่มีโรงหนังเฉลิมไทยแล้ว แต่เป็นที่ตั้งของลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์

พอหนังเลิก ผู้เขียนเดินออกจากโรงมาพร้อมกับเพื่อนชื่อศุภวิทย์ เห็นรถพยาบาลเปิดสัญญาณไซเรนเสียงดังและขับเร็วจนน่าตกใจ

รถพยาบาลเป็นรถรุ่นเก่า ตอนท้ายประตูเปิดค้างไว้ และมีร่างของคนเจ็บนอนอยู่และมีเลือดเปื้อนตัว มีหมอนั่งอยู่ตอนท้ายของรถด้วย

ผู้เขียนไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ทุกอย่างดูโกลาหลและน่ากลัว ไม่รู้จะทำอะไรที่ดีไปกว่ารีบกลับบ้าน

พอกลับบ้าน พ่อเปิดประตูให้และกล่าวอย่างโกรธๆว่า ไปทำอะไรมา รู้ไหมว่าเขายิงกันแล้ว

ผู้เขียนไม่ได้บอกพ่อว่าไปดูหนังที่เฉลิมไทยมา เพราะถ้าบอกว่า ได้เห็นรถพยาบาลและคนเจ็บที่เลือดท่วม พ่อก็คงจะยิ่งโกรธมากขึ้นเข้าไปอีก

ต่อมาอีกสองสามวันก็ได้ทราบว่าโรงหนังเฉลิมไทยที่ผู้เขียนเข้าไปดู Godfather นั้นได้กลายเป็น ทั้งที่หลบภัยและโรงพยาบาลของคนเจ็บในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ

 

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ผู้เขียนเริ่มสนใจเรื่องการเมือง แม้ว่าตอนมัธยมศึกษาปีที่สามและสี่ยังคิดจะสอบเข้าคณะสายวิทย์คณะใดคณะหนึ่งอยู่ก็ตาม

เพราะที่บ้านอยากให้เรียนสายวิทย์ และสอบเข้าแพทย์หรือวิศวะ ตามแบบแผนของบ้านที่มีพ่อเป็นหมอ เป็นอาจารย์แพทย์ทที่ศิริราช และมีพี่ชายสองคนเรียนแพทย์ และพี่อีกคนหนึ่งก็เรียนวิทยาศาสตร์

แต่หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่สี่ ในช่วงปิดเทอม ได้มีโอกาสไปทำค่ายอาสาพัฒนาของโรงเรียนที่หมู่บ้านเลิงแสง ต. กุดขอนแก่น อ. ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ผู้เขียนก็บอกตัวเองว่า จะไม่สอบสายวิทย์ แต่จะเรียนรัฐศาสตร์เพื่อไปเป็นปลัดอำเภอ

ผู้เขียนจึงเริ่มสนใจหาหนังสือเกี่ยวกับการเมืองและรัฐศาสตร์อ่าน จำได้ว่าในราวปี พ.ศ.2518 มีวันหนึ่งไปเที่ยวสยามสแควร์ ไปดูหนังสือที่ร้านโอเดียนสโตร์ (น่าเสียดายที่เพิ่งปิดตัวไปไม่นานมานี้เอง !) และมุ่งไปที่หมวดรัฐศาสตร์ หนังสือการเมือง/รัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ผู้เขียนสนใจและหยิบมาพลิกๆ ดูจนในที่สุดตัดสินใจซื้อติดมือกลับบ้านก็คือ “สัตว์การเมือง” ที่มีผู้เขียนสามท่าน ได้แก่ ชัยอนันต์ สมุทวณิช, เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ และแสวง รัตนมงคลมาศ

อีกเล่มหนึ่งคือ “กลไกรัฐสภา” เขียนโดย ชัยอนันต์ สมุทวณิชและเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์

จะสังเกตได้ว่า หนังสือในหมวดรัฐศาสตร์และการเมืองสองเล่มนี้ มีชื่อคนเขียนที่ซ้ำกันคือ ชัยอนันต์ สมุทวณิชและเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์

แต่ที่ผู้เขียนสนใจชื่อ “ชัยอนันต์ สมุทวณิช” เป็นพิเศษก็เพราะชื่อของท่านปรากฏเป็นชื่อแรกของหนังสือทั้งสองเล่ม

อีกทั้งเมื่อพลิกดูประวัติ ก็พบว่าท่านเป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์อยู่ที่จุฬาฯ

และเมื่อผู้เขียนสนใจจะเรียนรัฐศาสตร์อยู่แล้ว จึงตั้งเป้าว่าจะสอบเข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพราะนอกจากจะใกล้บ้านแล้ว (ตอนนั้น บ้านผู้เขียนตั้งอยู่บนถนนบรรทัดทอง หลังสถานีตำรวจปทุมวัน) ยังจะได้เรียนกับคนที่เขียนหนังสือที่เราซื้อมาอีก

เพราะหลังจากได้อ่านหนังสือสองเล่มนี้ของท่านอาจารย์ชัยอนันต์แล้ว ก็พบว่าเป็นเรื่องที่น่าฉงนสนใจอย่างยิ่ง

อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่คิดว่า ถ้าได้ไปเรียนกับผู้เขียนหนังสือสองเล่มนี้แล้ว ดูจะขลังและถ้ามีอะไรสงสัยก็จะได้ไถ่ถาม หรือไม่ก็สามารถโชว์ภูมิให้ท่านดูว่า เราได้อ่านหนังสือของท่านมาแล้วนะ และรู้ความพอสมควร เป็นต้น

 

ในขณะที่อ่าน “กลไกรัฐสภา” นั้น บรรยากาศทางการเมืองกำลังคึกคัก เพราะมีเลือกตั้ง มีผู้แทนราษฎร มีประชุมสภา หลังจากที่ไม่มีมานาน (ที่จริงไม่มีมานานหรือไม่นาน ผู้เขียนก็ไม่ได้สนใจ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้สนใจการบ้านการเมือง)

อีกทั้งตอนอ่าน “กลไกรัฐสภา” ผู้เขียนแอบคิดอยากเป็นนักการเมืองอยู่เหมือนกัน (เพราะตอนนั้น นักการเมืองดูเท่ห์ ดูมีเกียรติ เป็นความหวังของประชาชน และต่อสู้เพื่อประชาชน)

แต่พออ่านๆ ไป ก็เริ่มมึนงง เพราะมีศัพท์แสงที่ต้องทำความเข้าใจมากเกี่ยวกับกระบวนการทางรัฐสภา อาทิ กระทู้ ญัตติ แปรญัตติ ลงมติ…

อ่านไปสักพัก ก็หลับไป

 

จากที่กล่าวไป คงพอเข้าใจว่า ทำไมเมื่อเข้าไปเรียนปีหนึ่ง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และได้เจออาจารย์ชัยอนันต์ ผู้เขียนถึงรู้สึกว่าท่าน “อาวุโสและยิ่งใหญ่”

ที่อาวุโสเพราะท่านเป็นศาสตราจารย์

ที่ยิ่งใหญ่ก็เพราะว่าท่านเขียนหนังสือสองเล่มที่ผู้เขียนซื้อมา

แต่การเขียนหนังสือสองเล่มไม่น่าจะ “ยิ่งใหญ่” เพราะนักวิชาการท่านอื่นๆ ในช่วงนั้น อาจจะเขียนหนังสือมากกว่า

ดังนั้น ผู้เขียนจึงถามตัวเองว่า อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าอาจารย์ชัยอนันต์ “ยิ่งใหญ่”?

คงหาคำตอบที่เฉพาะเจาะจงไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ คือ ในช่วงนั้น ผู้เขียนน่าจะได้ยินได้เห็นชื่อของท่านผ่านสื่อหนังสือพิมพ์หรือวิทยุบ่อยๆ แต่ก็ไม่ได้รู้ความว่าท่านทำอะไร มีบทบาทสำคัญอย่างไรถึงขนาดสื่อกล่าวถึงท่านบ่อยๆ

มีผู้สรุปความเกี่ยวกับตัวท่านไว้ว่า “ศ.ดร.ชัยอนันต์ มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด เป็นหนึ่งในผู้ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 100 คนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516” ดังนั้น เหตุผลที่น่าจะทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าท่านยิ่งใหญ่ก็คือ ความเป็นนักวิชาการหรืออาจารย์รัฐศาสตร์ที่ไม่ได้เพียงสอนหนังสือ แต่มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักบทบาทอีกบทบาทหนึ่ง นั่นคือ ไม่ใช่นักการเมืองแต่ก็สามารถมีบทบาททางการเมืองได้ และมีบทบาททางการเมืองบนพื้นฐานของวิชาความรู้ทางการเมืองแท้ๆ

แม้ว่าในความรู้สึก ท่านจะ “อาวุโสและยิ่งใหญ่” แต่ในความเป็นจริง ท่านอายุห่างจากผู้เขียนเพียง 15 ปีเท่านั้น! และเมื่อแรกพบ ท่านมีอายุเพียง 33 แต่เป็น 33 ที่เป็นศาสตราจารย์และ “ยิ่งใหญ่” แล้วในความรู้สึกของนิสิตปีหนึ่งภาควิชาการปกครองอย่างผู้เขียนในขณะนั้น

ส่วนตัวผู้เขียนตอนอายุ 33 ก็เพิ่งจบปริญญาเอกเอง!