เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : โอกาสในวิกฤตป้อมมหากาฬ

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

ถ้าทำความจริงให้ปรากฏ และยอมรับกันได้ ป้อมมหากาฬที่กำลังยุทธ์แย้งกันอยู่นี้จะกลายเป็นย่านที่มีเสน่ห์ย่านหนึ่งของกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงไทยได้จริง

เสน่ห์ในที่นี้คือ การให้ชีวิตแก่สิ่งที่มีคุณค่า คือ โบราณสถาน และการให้คุณค่าแก่สิ่งที่มีชีวิตคือชุมชนป้อมมหากาฬ

โดยทั่วไป โบราณสถานเป็นสิ่งไม่มีชีวิต มีแต่ความงาม ความศักดิ์สิทธิ์ ให้คนได้เชิดได้ชมและดูแลรักษา ห้ามเข้าไปใช้ชีวิตเป็นอยู่ เป็นอาณาเขตหวงห้าม ว่างั้นเถิด

แต่ป้อมมหากาฬนั้นเป็นโบราณสถานที่แตกต่างจากแหล่งอื่น ตรงที่มีชุมชนตั้งหลักแหล่งรกรากอยู่ ตามแนวกำแพงด้านนอกอันเป็นพื้นที่ชายคลองโอ่งอ่างชนกับปากคลองแสนแสบพอดี มีพื้นที่ช่วงชายกำแพงกับชายน้ำราวเกือบสี่ไร่

พื้นที่ตรงนี้แหละคือชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนสืบทอดกันมา และกำลังเป็นพื้นที่มีปัญหาระหว่าง กทม. กับชาวชุมชน

จะตกลงกันได้อย่างไร คงต้องจับตาดูแบบว่าห้ามกะพริบตาทีเดียว

ก่อนจะเป็นอะไรอย่างไร ขอเสนอมุมมองด้วยวิสัยทัศน์เชิงศิลปวัฒนธรรมว่า เอาที่ตรงนี้เป็นป้อมคูประตูเมืองที่แสดงวิถีชุมชนชาวบางกอกตามที่ควรมีควรเป็น จัดที่ทางผังเมืองของชุมชนใหม่ โดยพัฒนาไปจากที่มีอยู่เป็นพื้นเดิม

ทั้งนี้ ต้องมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อรักษาคุณค่าของทั้งสองส่วน คือ บรรยากาศของป้อมมหากาฬที่มีชีวิตชีวา และวิถีชีวิตที่มีคุณค่าของชุมชนชาวป้อมมหากาฬ

สำคัญยิ่งคือนอกจากสัมมาชีพ และศิลปาชีพของชุมชนแล้ว ที่น่าจัดทำให้มีขึ้นเป็นประจำก็คือ “ลานวัฒนธรรม”

ก่อนนั้นฝั่งสะพานผ่านฟ้าฯ ซึ่งเป็นศูนย์ศิลป์สมเด็จฯ ในปัจจุบัน เคยเป็นศูนย์สังคีตศิลป์ของธนาคารกรุงเทพ จัดการแสดงทุกเย็นวันศุกร์ด้วยงานศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะ โดยเปิดเน้นสาธารณะ น่าเสียดายที่บัดนี้ ดูจะไม่มีสถานที่อย่างนี้อีกแล้ว แม้ศูนย์สังคีตศิลป์จะไปจัดรายการทำนองนี้ที่สถาบันคึกฤทธิ์ เดือนละสองครั้ง แต่ก็ดูจะยังไม่คึกคักเท่าที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ผ่านฟ้า

ถ้าอย่างไรชุมชมป้อมมหากาฬน่าจะมีเวทีแสดงอย่างศูนย์สังคีตศิลป์ด้วยก็จะเป็นเสน่ห์สร้างชีวิตชีวาให้กับชุมชนป้อมคูประตูเมืองสืบเนื่องได้อีกแห่ง

ถ้าทำได้จริงก็แทบจะเป็นแห่งเดียวที่มีทำเลดีที่สุดของเมืองนั่นเลยทีเดียว

ด้วยที่ตรงนี้เคยเป็นโรงลิเกเก่าก็เอาลิเกนี่แหละเป็นหลัก สลับไปกับการแสดงอื่น จะจัดทุกวันศุกร์หรือศุกร์เว้นศุกร์ หรือเสาร์ก็ได้กำหนดได้แน่นอนแล้วค่อยวางผังรายการทั้งปี

ด้วยว่าเวลานี้เราขาด “พื้นที่” ในลักษณะเวทีชาวบ้านอย่างนี้ไม่ใช่ว่าศิลปะการแสดงพื้นบ้านไม่เป็นที่นิยมหรือพัฒนาเข้าไปอยู่ใน “จอแผ่น” กันหมด

ประเด็นขาด “พื้นที่” นี่ต่างหากที่น่าเป็นห่วง

ศิลปะการแสดงที่ต้องการ “พื้นที่” ของไทยเรานั้นมีมากมายหลากหลาย จะลองนึกดูนะ ถ้ามีเวทีวัฒนธรรมบริเวณป้อมมหากาฬได้จริง ก็จะมีรายการอื่นนอกจากลิเกก็คือ ดนตรีไทย หนังตะลุง โนราห์ หมอลำ ค่าวซอ และดนตรีพื้นบ้านสารพัด ฯลฯ

เร็วๆ นี้ได้ดู “หุ่นสาย” นี่ก็ต้องมีต้องสนับสนุน

เนื่องจากเป็นเวทีสาธารณะ คือ เปิดฟรีไม่เก็บค่าชม ต้องมีผู้อุปถัมภ์ ดังนั้น ต้องใช้วิธีขอความร่วมมือจากสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมชาวใต้ ชาวเหนือ อีสาน และจากชุมนุมกิจกรรมในสถาบันการศึกษา โรงเรียน ฯลฯ

จะให้ยั่งยืน ภาครัฐหรือ กทม. เอง ก็น่ามีส่วนร่วมด้วย ข้อสำคัญอย่าให้ตกเป็นเครื่องมือของการโฆษณาหาเสียง และนายทุนธุรกิจเข้ามา “เหมา” ผูกขาดเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าเท่านั้น

จะให้ดีควรตั้งเป็นคณะกรรมการเพื่อบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ในลักษณะ “สามประสาน” คือตัวแทนสามภาคส่วนมีราชการ เอกชน (ธุรกิจ) ประชาสังคม (สมาคม, ชมรมกลุ่มฯ) ให้เป็น “ดุลยภาพ” กัน

ก็นี่ไง “ประชารัฐ” ของงานศิลปวัฒนธรรม

ให้ป้อมมหากาฬเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวบางกอกที่มีลักษณะพิเศษดังว่านี้ ก็อย่าว่าแต่ชาวบางกอกเลย นักท่องเที่ยวเองนี่แหละเขาก็โหยหาเสน่ห์บางกอกอย่างนี้เช่นกัน

เพียงแต่เราไม่มีเพราะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้เพียงพอเท่านั้น

ความเข้มแข็งของชุมชนนั้น นอกจากด้านเศรษฐกิจแล้ว ก็ต้องมีด้านศิลปวัฒนธรรมด้วย งานศิลปวัฒนธรรมนั้น นอกจากคุณค่าซึ่งเป็นต้นทุนแล้ว ยังแปรเป็นมูลค่าได้อีกมหาศาล

พึงสังวรอีกประการคือ การส่งเสริมให้มีเวทีศิลปวัฒนธรรมทำนองนี้ ตัวชี้วัดสำคัญอาจจะไม่ได้อยู่ด้านปริมาณ เช่น จำนวนผู้ชมเท่านั้น หากอยู่ที่งานศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้ ได้มีโอกาสพัฒนาเพิ่มคุณค่าต่อยอดต่อไปได้ด้วย

มีตัวเลขสถิติว่าประเทศไทยเรานั้นอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งด้วยศิลปวัฒนธรรมเป็นอันดับแปดของโลก

นี่น่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะช่วยกันทำให้เรื่องที่เรามีอยู่มั่งคั่งนี้มั่นคงเพื่อความยั่งยืนสืบไป ด้วยการเปิดพื้นที่ให้งานเหล่านี้ได้ปรากฏ

หาไม่แล้วก็จะเป็นอย่างว่าคือ “ของเก่าก็หาย ของใหม่ก็หด”

วิกฤตนี่แหละจะเป็นโอกาสของป้อมมหากาฬ

 

จิตวิญญาณ

สิ่งที่มีคุณค่าคณานับ
รอการปรับปรุงค่ามหาศาล
แม้ไม่มีชีวิต จิตวิญญาณ
รอเพียงการเนรมิตชีวิตชีวา

เช่นวัดวาอารามบำเพ็ญฌาณ
ทั้งโบราณสถานที่มีคุณค่า
ร่วมพิทักษ์รักรู้เชิดบูชา
ก็ชื่อว่า ให้ชีวิต สถิตทรง

แต่สิ่งมีชีวิตจิตวิญญาณ
กลับไร้การดูแล และเสริมส่ง
ขาดการสร้างคุณค่าให้มั่นคง
ไม่ธำรงยงยาม กลับทำลาย

ทั้งโลก-ธรรม ธำรงคงครรลอง
พัฒนาสอดคล้องทั้งสองสาย
คุณค่ามีชีวิต ไม่ปิดตาย
ชีวิตฉายคุณค่า คณานิตย์

สร้างชีวิตให้สิ่งที่ มีคุณค่า
นี่คือการรักษาสืบภารกิจ
สร้างคุณค่าให้สิ่งที่ มีชีวิต
นี่คือการเนรมิต จิตวิญญาณ!