ฉัตรสุมาลย์ : สารนาถในปัจจุบัน

สารนาถที่เราได้เห็นในปัจจุบันนี้ เป็นงานริเริ่มของชาวพุทธศรีลังกา ชื่อ อนาคาริกธรรมปาล ต่อมาในช่วงสุดท้ายของชีวิต ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุด้วย

ท่านเดินทางเข้ามาที่สารนาถ เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ.1891 (พ.ศ.2434) พบสภาพเมืองที่น่าเศร้าใจมาก ชาวบ้านเลี้ยงหมูอยู่ทั่วไป

ชคัท สิงห์ ผู้ดูแลของพระเจ้าเชตสิงห์ นับถือศาสนาเชน ได้ให้ขนย้ายก้อนหินในส่วนของมูลคันธกุฏีที่พังลงมากองอยู่โดยรอบพระวิหารไปสร้างเมืองชคัทคันช์ที่เมืองพาราณสี

ธรรมราชิกาสถูปถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง

ธรรมปาละใช้ความพยายามที่จะรื้อฟื้นดินแดนที่เป็นศูนย์กลางของชาวพุทธ ใน ค.ศ.1901 ได้ขอปัจจัยจากมารดา ซึ่งขณะนั้นอายุ 85 แล้ว มาซื้อที่ดิน เริ่มต้นสร้างโรงเรียน

อีก 3 ปีต่อมา ค.ศ.1904 ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก นางฟอสเตอร์ ชาวอเมริกันจากฮอนโนลูลู

ที่สมาคมมหาโพธิ ที่โกลกัตตา ช่วง พ.ศ.2505-2509 ผู้เขียนยังได้เห็นรูปขนาดใหญ่ของนางฟอสเตอร์อยู่ที่ห้องรับรองชั้นสอง

เรียกว่า เป็นคนแรกที่สนับสนุนงานของชาวพุทธ

โดยเฉพาะงานของธรรมปาละที่จะรื้อฟื้นพุทธศาสนาทั้งที่พุทธคยา และสารนาถ

มูลคันธกุฏีมหาวิหารของเดิมนั้น อยู่ใกล้ๆ กับฐานพระสถูปธรรมราชิกะ ปัจจุบันหลังจากที่เราเสียเงินค่าเข้าชมผ่านประตูเข้ามา จะถึงบริเวณนี้ก่อน พระถังซำจั๋งอธิบายว่า อยู่ทางเหนือของพระสถูป 18.29 เมตร และที่ท่านเห็นสมัยนั้น สูง 65.96 เมตร ผนังพระวิหารก่ออิฐและปูน สถาปัตยกรรมน่าจะเป็นสมัยคุปตะ แต่ปัจุบันเหลือเพียงที่ปรากฏในรูป

มูลคันธกุฏีวิหารที่เราไปกราบพระในปัจจุบันนี้ เป็นพระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยของอนาคาริกธรรมปาล โดยเริ่มงานตั้งแต่ ค.ศ.1923 และสร้างเสร็จ ค.ศ.1931 ใช้เวลานาน 8 ปี

ในพระวิหารนี้ มีพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากนาคารชุณนิคนฑ์ ที่ตักศิลาที่มอบให้กับสมาคมมหาโพธิ ในประเทศอินเดีย

พระบรมธาตุนี้ เวลาภิกษุณีธัมมนันทาไปจะขอให้พระภิกษุที่ดูแล เปิดให้ เราต้องเดินไปด้านหลังองค์พระประธาน ท่านจะยกพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในพระสถูปทองเหลืองวางบนศีรษะของเราแต่ละคนที่เดินเรียงกันเข้าไปสักการะ

แต่วันขึ้น 15 ค่ำ ในเดือนกรกฎาคมของทุกปี จะมีพิธีเปิดให้ผู้จาริกแสวงบุญได้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุด้วย

ในการสร้างพระวิหารนี้ เริ่มเมื่อ ค.ศ.1922 เมื่อ ฯพณฯ บัตเลอร์ รัฐมนตรีที่ดูแลแคว้นอุตรประเทศมาเป็นผู้วางศิลาฤกษ์ แม้กระนั้น ก็ยังมีอุปสรรค งานชะงักไป 4 ปี ในที่สุด นายจอห์น มาร์แชล ผู้อำนวยการของแผนกโบราณคดีอนุมัติให้สร้างพระวิหารในบริเวณที่เราเห็นในปัจจุบันได้

หินที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นหินชุนนาร์และได้ทำพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1931 (พ.ศ.2474) ตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 7 ในประเทศไทย

ธรรมปาละ ตั้งใจตั้งชื่อพระวิหารที่สร้างใหม่ว่า มูลคันธกุฏี เพื่อเกียรติแก่มูลคันธกุฏีของเดิมที่เหลือแต่ซาก

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 1957 (พ.ศ.2500) ท่านบัณฑิตไกลาศนาถกาตะชู ข้าหลวงใหญ่แคว้นมัธยประเทศกล่าวถึงความสำคัญในพิธีฉลองมูลคันธกุฏีวิหารว่า

พุทธศาสนาตกเป็นทาสอยู่ 900 ปี 700 ปีแรกอยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิม อีก 200 ปีหลังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

การเริ่มต้นงานของพระพุทธศาสนาโดยอนาคาริกธรรมปาลจึงมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับทั้งพุทธศาสนาเอง และสำกรับชาวพุทธในสมัยหลัง

หลังจากที่ตัวอาคารพระวิหารเสร็จแล้ว ในช่วง ค.ศ.1932-1935 เป็นช่วงที่กษัตริย์ญี่ปุ่นทรงให้การสนับสนุนให้ศิลปินญี่ปุ่นมาวาดจิตรกรรมฝาผนังถึง 21 รูป ศิลปินญี่ปุ่นคนนี้ ชื่อ นายโคเส็ตสุ นาสุ

ทางผนังด้านใต้ มี 6 รูป เป็นเรื่องราวตั้งแต่พระมหาโพธิสัตว์อยู่ในดุสิตเทวโลกก่อนที่จะเสด็จอุบัติลงมาสู่โลกมนุษย์

รูปที่ 2 เป็นรูปพระนางมหามายาทรงพระสุบิน

รูปที่ 3 เป็นรูปพระประสูติกาลที่ลุมพินี

รูปที่ 4 พระโพธิสัตว์ได้ฌานขณะที่พระราชบิดาทรงทำพิธีแรกนาขวัญ

รูปที่ 5 เทวทูตทั้ง 4

รูปที่ 6 พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรพระชายาและพระโอรสก่อนเสด็จออกบวช

ทางผนังฝั่งตะวันตกมี 7 รูป ดังนี้

รูปที่ 7 เป็นรูปทรงม้ากัณฑกะและนายฉันนะออกจากพระราชวัง

รูปที่ 8 ขณะทรงเรียนอยู่กับพระอาจารย์อาฬารดาบส

รูปที่ 9 ขณะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา

รูปที่ 10 มารวิชัย

รูปที่ 11 ทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์

รูปที่ 12 ทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร

รูปที่ 13 อนาถปิณฑิกเศรษฐีซื้อที่ดินจากเจ้าเชตถวายเป็นพระอาราม

บนผนังฝั่งตะวันออก มีอีก 8 รูป คือ

รูปที่ 14 พระพุทธเจ้าและพระอานนท์ดูแลพระภิกษุอาพาธ

รูปที่ 15 พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระประยูรญาติคราวทะเลาะกันเรื่องน้ำใช้

รูปที่ 16 พระพุทธเจ้าเสด็จกลับกบิลพัสดุ์

รูปที่ 17 เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

รูปที่ 18 พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา

รูปที่ 19 ปราบองคุลิมาล

รูปที่ 20 พระเทวทัตร่วมกับพระเจ้าอชาตศตรูวางแผนทำร้ายพระพุทธองค์

รูปที่ 21 พระอานนท์ขอน้ำฉันจากผู้หญิงนอกวรรณะ เน้นท่าทีของพุทธศาสนาที่ก้าวพ้นจากการถือวรรณะ

ในการเลือกแต่ละตอนมานำเสนอเป็นงานจิตรกรรมนั้น กษัตริย์ญี่ปุ่นทรงลงรายละเอียดพระราชทานคำแนะนำแก่ศิลปินด้วยพระองค์เอง การศึกษางานจิตรกรรมที่วิหารมูลคันธกุฏีนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

โดยเฉพาะถ้าจะเปรียบกับพุทธประวัติที่เราเห็นจนชินตาในฝ่ายของเถรวาท

น่าเสียดายที่ในพระวิหารเอง ไม่มีคำอธิบายประกอบภาพ คนที่ไม่ชำนาญเรื่องราวในพุทธประวัติก็อาจจะตามไม่ทันว่าเป็นเรื่องอะไร

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า ศิลปินคนวาด ไม่ได้มีบริบทสังคมของอินเดีย แม้ว่า อาจจะพยายามศึกษามาอย่างดีก็ตามที

สำหรับศิลปินทั่วไป อาจจะให้ความสนใจในศิลปะของการใช้โทนสี ที่นุ่มนวลกว่าจิตรกรรมในอินเดียที่วาดโดยศิลปินอินเดียเอง

ระยะทางจากพาราณสีไปสารนาถ จะผ่านเจาคันที เป็นเนินดินใหญ่มีหอคอยรูปแปดเหลี่ยม อยู่ทางด้านซ้ายมือ ขึ้นอยู่กับทัวร์ว่าจะให้เวลากับเรามากน้อยเพียงใด เจาคันทีหรือโจคันที แขกจะแปลว่า สี่ด้าน ตอนที่พระถังซำจั๋งมาเห็นนั้น มีความสูงถึง 300 ฟุต พระถังซำจั๋งว่า เป็นพระสถูปที่สูงที่สุดในสมัยนั้นที่สารนาถ เข้าใจว่าจุดนี้เป็นจุดที่ปัญจวัคคีย์พบพระพุทธเจ้า

รูปแปดเหลี่ยมนั้นเป็นส่วนที่มาเสริมในสมัยหลังเมื่อพระเจ้าหุมายูน จักรพรรดิในสมัยโมกุลเคยหลบหนีเชอร์ชาห์สุรีได้มาอาศัยหลบภัยที่สถานที่นี้

พระเจ้าอักบาร์พระโอรสจึงสร้างอาคารแปดเหลี่ยมบนฐานพระสถูป (ของพุทธ) เพื่อเป็นที่ระลึกให้พระราชบิดา

ลักษณะที่เป็นหอคอยแปดเหลี่ยมนี้สร้างเมื่อ ค.ศ.1588 ภาษาเปอร์เซียนที่จารึกไว้ปรากฏอยู่ทางประตูด้านเหนือมีใจความเท้าความถึงพระเจ้าหุมายูนที่ได้เสด็จมาที่นี่ ได้อาศัยหลบภัย 1 วัน พระโอรส คือ พระเจ้าอักบาร์จึงให้สร้างหอคอยแปดเหลี่ยมนี้ไว้เป็นที่ระลึกในปีฮิจเราะห์ 996

หากปีนขึ้นไปถึงระดับบนของหอคอยจะได้ภาพกว้างของบริเวณที่อยู่โดยรอบ

ที่พระสถูปนี้ ได้พบพระพุทธรูปสูง 95 ซ.ม. แกะสลักจากหินชุนนาร์ มีกวางหมอบสองตัว ตรงกลางเป็นพระธรรมจักร

สัญลักษณ์นี้เจาะจงเลยว่า เป็นที่สารนาถ

เมื่อพระพุทธองค์แสดงปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือสวนกวาง และเป็นสถานที่แสดงธรรมครั้งแรก ถือว่าเป็นการเคลื่อนกงล้อพระธรรมจักรนั่นเอง

หลักฐานทางโบราณคดีที่อินเดีย จะพบในลักษณะนี้บ่อยๆ คือ ส่วนล่างเป็นของพุทธ ส่วนบนเป็นอิสลาม ยืนยันความจริงที่ว่า ทุกอย่างล้วนตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน สมัยหนึ่งที่เดียวกันนี้ เป็นพุทธ สร้างโดยชาวพุทธ แต่มาอีกสมัยหนึ่ง ก็มีการต่อเติมเสริมแต่งขึ้นมา เป็นอิสลาม แล้วแต่ว่า ใครปกครอง ใครมีอำนาจในดินแดนแถบนั้น

ถ้าทำความเข้าใจเช่นนี้ได้ ก็จะเห็นความอลังการของข้อมูลในเชิงทั้งประวัติศาสตร์และโบราณคดี