คำ ผกา : “แหว่ง” ในสายลม

คำ ผกา

“บ้านโดยส่วนมากในศตวรรษที่ 20 โดยส่วนมากไม่มีตู้เก็บอาหาร ลิ้นชักใส่ของ ชั้นวางของ ตู้เก็บถ้วยชาม หรือแม้แต่ก๊อกน้ำร้อน น้ำเย็น ไม่ได้เป็นแม้แต่ครัวตามแบบที่ควร ไม่มีที่ล้างจานหรือเก็บอาหาร ไม่ต้องไปพูดถึงหิ้งผึ่งให้จานชามแห้งเลย ห้องครัวเป็นห้องเล็กๆ มืดๆ มีแผ่นกระดานสำหรับวางเนื้อ มีเตาอิฐหักๆ วางอยู่มุมหนึ่งของห้อง มีรางหินสำหรับเทน้ำทิ้งซึ่งจะไหลผ่านรูกำแพงออกไปยังท่อที่ฝังอยู่”

(กองเรือหาคู่, หน้า 378-379)

นั่นคือสภาพบ้านของข้าราชการอังกฤษที่มาทำงานอยู่ในอินเดีย อันเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เป็นรายละเอียดที่ถูกบันทึกไว้โดยภรรยาชาวอังกฤษที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียกับสามี ที่พบว่าสภาพบ้านพักข้าราชการนั้นอำนวยคุณภาพชีวิตที่ต่างจากบ้านในอังกฤษอย่างลิบลับ (ไม่มีก๊อกน้ำร้อน น้ำเย็น)

เพื่อแก้ปัญหาให้บรรดาภรรยาเหล่านี้ มีหนังสือ เดอะ คอมพลีต อินเดียน เฮ้าส์ คีปเปอร์ เป็น “คู่มือ” สำหรับภรรยาชาวอังกฤษในการจัดการบ้านเรือนในอาณานิคมอังกฤษ

เช่น จะจัดการปัญหาหนู แมลงสาบ ปลวก หรือจะทำให้บ้านมีอ่างล้างจานได้อย่างไร

แต่ในสภาพบ้านที่ไม่ได้มาตรฐานอังกฤษนี้ เหล่าข้าราชการชาวอังกฤษและครอบครัวก็มีความฟุ่มเฟือยหรูหราอย่างยิ่งในการมีคนรับใช้

ในหนึ่งครอบครัว สมาชิกครอบครัวจะมีคนรับใช้ประจำตัว มีพ่อบ้าน มีกุ๊ก คนช่วยงานครัว มีคนแบกน้ำ มีคนทำความสะอาดบ้าน คนซักผ้า คนเลี้ยงเด็ก คนเลี้ยงม้า คนส่งนม ในหนึ่งครอบครัว อาจมีคนรับใช้ถึง 13 คนหรือมากกว่านั้น

ไอเดียว่าด้วยบ้านพัก “ข้าราชการ” น่าจะมาจากการบริหาร “ราชการอาณานิคม” นี่เอง ยิ่งมีตำแหน่งสูง บ้านช่องก็ยิ่งหรูหรา

เช่น มีสวนสวยๆ มีคนสวนหลายคน มีเชฟ มีเฟอร์นิเจอร์มากกว่าข้าราชการชั้นผู้น้อย บนข้อสมมุติฐานว่า ยิ่งตำแหน่งสูงก็ยิ่งต้องจัดงานเลี้ยงรับรองต่างๆ

ดังนั้น คนรับใช้ กุ๊ก หัวหน้าพ่อบ้าน ไปจนถึงคนแบกน้ำ โต๊ะ เก้าอี้ ก็ต้องจัดหามาให้พอเพียงต่อความจำเป็นในการงานนั้น และสมเกียรติ สมศักดิ์ศรี

กลับมาดูเรื่องบ้านพักข้าราชการในเมืองไทย ที่ฉันคิดว่าน่าจะต้องมีคนศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องนี้อย่างจริงจังเพราะมันน่าจะทำให้เราเข้าใจพัฒนาการของสังคม การเมือง วัฒนธรรมไทยได้ดีขึ้น ผ่านความเปลี่ยนแปลงของระบบการจัด “บ้านพักข้าราชการ”

ทำไมต้องมีบ้านพักข้าราชการ?

เหตุผลพื้นฐานที่สุดน่าจะเกิดจากระบบรัฐราชการรวมศูนย์ ข้าราชการทุกคนสังกัดกับกรม กอง กระทรวง ในกรุงเทพฯ

จากนั้นจึงถูก “ส่ง” ไปประจำตำแหน่งยังจังหวัด อำเภอต่างๆ ตามแต่ “ส่วนกลาง” จะมีคำสั่ง

เมื่อไปแล้ว ทุกคนก็รู้ว่าจะต้องถูกย้าย ทั้งถูกย้ายเพื่อเลื่อนตำแหน่ง หรือถูกย้ายเพราะถูกลงโทษ

แต่นั่นแปลว่า ชีวิตของข้าราชการไทยก็มีความคล้ายๆ กับข้าราชการอังกฤษ

คือต้องอาศัยในบ้านพักประจำตำแหน่งไปเรื่อยๆ กว่าจะได้ลงหลักปักฐาน มีบ้านของตนเอง ไม่ต้องย้ายไปไหนอีก อาจจะเป็นหลังเกษียณ

ลูก เมียของข้าราชการจึงต้องเผชิญกับชะตากรรมของการต้องย้ายไปจังหวัดนู้นจังหวัดนี้ ย้ายโรงเรียนกันตลอดเวลา

เรื่องรายได้ของข้าราชการก็น่าสนใจ เพราะเป็นที่รู้กันว่า เงินเดือนข้าราชการค่อนข้างน้อย แต่มีความมั่นคงแบบน้ำซึมบ่อทราย

ทำงานบริษัทเอกชน เงินเดือนอาจจะสูง แต่บริษัทอาจจะเจ๊ง หรือเราอาจถูกไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรมได้ทุกเมื่อ

คนที่เลือกรับราชการจึงแลกเอาความมั่นคงกับเงินเดือนที่น้อย และรัฐก็ชดเชยเงินเดือนที่น้อยกว่าเอกชนนั้นด้วยสวัสดิการข้าราชการ เช่น ลูกเบิกค่าเล่าเรียนได้ เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เบิกได้ยันพ่อ แม่ ลูก

การมีบ้านพักข้าราชการ ไปจนถึงรถประจำตำแหน่งต่างๆ ก็ถือว่าเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่ง ข้าราชการบางหน่วยยังอาจใช้น้ำ ไฟ หรือน้ำมันรถฟรีอีกด้วย

ในวัฒนธรรมแบบไทย ข้าราชการยังมีกลิ่นอายของข้าราชการของรัฐก่อนสมัยใหม่ด้วย คือ มีความเป็นเจ้าคนนายคน หรือต้องแบกเอาความภาคภูมิใจของการเป็นผู้รับใช้ชาติ ดูมีสถานะอีกแบบเหนือกว่าประชาชนคนธรรมดา หรือภารกิจบางอย่างแสนสำคัญเพื่อชาติ จึงไม่แปลกใจที่ข้าราชการไทยจะค่อนข้างบ้าใส่เครื่องแบบ เพราะรู้สึกว่ามันได้ตอกย้ำ “สถานะอันพิเศษ” หรือวรรณะพิเศษของตน

แต่ในท่ามกลางเงินเดือนข้าราชการที่ได้เงินกันน้อยนิดนั้น ในความเป็นไทยๆ ในความเป็นวิถีไทย เราก็รู้ หรือทำป็นหลับตาข้างหนึ่งอีกนั่นแหละว่า ตำแหน่งราชการที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นั้น พึงมีไว้แสวงหารายได้พิเศษ ที่มีคนเต็มใจเอามาประเคนให้ จะเรียกมันว่าส่วย เงินใต้โต๊ะ ค่าน้ำร้อนน้ำชา ของขวัญของกำนัลหรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อแลกกับ “การอำนวยความสะดวก” ที่ตำแหน่งราชการของคนนั้นๆ จะอำนวยให้ได้

คนมีอำนาจวาสนามียศมีตำแหน่งให้คุณให้โทษกับคน ตามธรรมเนียมไทย ยังเป็นที่คุ้นเคยกันเรื่องการจัดหากระเช้า ของฝาก ของกิน อะไรที่ หายาก พิเศษ พรีเมียม เป็นของกำนัลแก่คนมียศมีตำแหน่ง

วิธีการเข้าหาเข้ามอบ ก็ดูน่ารักน่าเอ็นดูแบบไทย ดูเป็นผู้น้อยแสดงความรัก ความห่วงใยต่อผู้ใหญ่แบบธรรมด๊าธรรมดา

ดูรู้จักฝากเนื้อฝากตัว มีสัมมาคารวะ น่าเอ็นดู

ไม่นับการสรรหา “ของดีๆ” ไปฝากผู้ใหญ่จากบรรดาพ่อค้า แม่ค้า นักธุรกิจอีก

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่สินบาทคาดสินบนอะไร เป็นการแสดงน้ำใจไมตรี แสดงความเคารพระหว่างผู้น้อย ผู้ใหญ่ตามธรรมเนียมไทยเท่านั้นเอง

ที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีก เรายังพบว่า บ้านพักข้าราชการยังมีหลายแบบ และฉันไม่มีความรู้พอจึงอธิบายไม่ได้ว่า ทำไมบ้านพักข้าราชการไทยจึงมีทั้งที่ดูหรูหราสวยงาม กว้างขวาง สะดวกสบาย ไปจนถึงบ้านพักข้าราชการที่ดู “กันดาร”

แม้แต่ในระดับตำแหน่งเดียวกัน เช่น จวนผู้ว่าฯ ที่บางจังหวัดก็สวยมาก ทำเลดีมาก เช่น อยู่ริมแม่น้ำ บางจังหวัดก็ดูธรรมดา

สมัยก่อนสถานีอนามัยบ้านฉันมีบ้านพักของหมอที่มาประจำอยู่อนามัย บ้านก็พอดูได้ แต่มีพื้นที่สวยงาม กว้างขวาง แต่สถานีอนามัยอื่นๆ ก็ไม่ได้อยู่มาตรฐานเดียวกันเท่าไหร่

หรือบ้านพักข้าราชการอย่างแฟลตตำรวจ ฉันก็เห็นว่า โอ…แฟลตตำรวจหลายๆ แห่งดูรุงรัง ซอมซ่อ ดูเสื่อมโทรม ดูไม่ได้รับการดูแลในฐานะที่จะเป็นบ้านพักอาศัยที่มอบคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้อยู่อาศัยได้เลย

บ้านพักพนักงานรถไฟ ก็ไปอีกแบบ มีอีกบุคลิก

อย่างบ้านพักข้าราชการที่บ้านป่าแหว่ง ก็น่าสนใจว่า ของภาคอื่น เขตอื่น เป็นบ้านหลังใหญ่บนพื้นที่หนึ่งไร่ ราคาประมาณห้าหรือหกล้าน เหมือนกันหรือเปล่า จำเป็นต้องใช้แบบแปลนบ้านชุดเดียวกันสำหรับทั่วประเทศเป็นมาตรฐานเดียวกันหรือไม่?

สมัยนี้ไม่รู้พัฒนาการของบ้านพักข้าราชการเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และในยุคที่ “การรวมศูนย์” อำนาจและความเจริญ ไม่ได้กระจุกอยู่แค่กรุงเทพฯ อีกแล้ว แถมยังมีหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการในท้องที่จังหวัด อาจจะยกเว้นทหาร ตำรวจ มหาดไทยบางส่วน ก็เป็นคนท้องถิ่นมากกว่าคนที่ถูกโยกย้ายมาจากที่อื่น

ในที่นี้จึงอยากรู้ต่อไปอีกว่า ยังเหลือหน่วยงานไหนที่ยังต้องมีบ้านพักข้าราชการอยู่อีก – อย่างสถานีอนามัยข้างบ้านฉัน ไม่มีบ้านพักให้หมอมา 20 ปีแล้วกระมัง

สิ่งที่พึงคิดต่อไปคือ ข้าราชการกลุ่มไหนที่ต้องการการอุดหนุน หรือการช่วยเหลือเพื่อที่พักอาศัยจริงจัง?

คําตอบคือ เช่น ข้าราชการชั้นผู้น้อย เงินเดือนน้อย เช่น แฟลตตำรวจ สำหรับตำรวจชั้นผู้น้อย น่าจะจำเป็นมาก และควรได้รับการออกแบบ ยกระดับคุณภาพแฟลตให้ดูเป็นที่อยู่อาศัยที่สะอาด ถูกสุขอนามัย มีการจัดการสิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพราะบอกตามตรง แฟลตตำรวจทุกวันนี้หน้าตาดูเป็นหอพักราคาถูกเอามากๆ

ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เงินเดือนสูงมากแล้ว ยังต้องการการอึดหนุนเรื่องที่พักอาศัยหรือไม่

อาจต้องอภิปรายกันโดยละเอียดต่อไป หรือเพื่อลดภาระทางงบประมาณในการสร้าง ในการดูแล รัฐควรจัดสรรเป็นเงินค่าเช่าบ้านรายเดือนให้ข้าราชการไปเลยจะดีกว่าหรือเปล่า?

หรือท้ายที่สุด หากเป็นคนมีรายได้น้อย จะข้าราชการหรือไม่ใช่ข้าราชการ – แทนการสร้าง “บ้านพักข้าราชการ” รัฐควรจริงจังกับเรื่อง public housing ลงทุนกับการเคหะแห่งชาติ ออกแบบที่อยู่อาศัย กับคนรายได้ปานกลางลงไปหาต่ำ – ไม่ใช่เพื่อการสงเคราะห์ แต่เป็นหน้าที่ของรัฐในการบริหาร “คุณภาพ” ชีวิตให้แก่ประชาชน การมี public housing ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่รัฐมีหน้าที่ทำถนน ทำประปา ทำไฟฟ้า ทำอินเตอร์เน็ต ทำขนส่งมวลชน ให้แก่ประชาชน เพราะมันต้องถูกนับว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชน

รูปแบบการเคหะแห่งชาติ ก็อาจจะมีตั้งแต่การจัดสรรที่ดินเปล่าไปจนถึงการสร้างคอนโดมิเนียม หรือบ้านคุณภาพดี ราคาถูก พร้อมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ไปจนถึงห้องชุดสำหรับเช่าระยะยาว

เวลาพูดเรื่องการเคหะแห่งชาติ คนไทยก็นึกออกแต่แฟลตดินแดง แต่จริงๆ แล้วการเคหะฯ ทำมากกว่านั้นและควรจะได้ทำมากขึ้นไปอีก

ยกเลิกบ้านพักข้าราชการ ยกเลิกอภิสิทธิ์ของข้าราชการ แต่ทำให้พลเมืองทุกคนเข้าสู่ระบบสวัสดิการรัฐแบบถ้วนหน้า เสมอภาค – น่าจะดีกว่าหรือไม่?

เพราะนี่ก็หมดยุคส่งข้าราชการจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ต่างจังหวัดอันกันดารแล้ว และตอนนี้ทุกจังหวัดในเมืองไทยก็ไม่มีจังหวัดไหนกันดารอีกต่อไปแล้ว

การใช้ที่ดินที่ดูลักลั่น เช่น พื้นที่ป่าอันสมบูรณ์กลับเป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าไปสร้างบ้านได้อย่างถูกกฎหมาย

แต่พื้นที่ป่าแล้ง หรือชุมชน มีบ้านคนอยู่เต็มไปหมดพร้อมไร่นา กลับกลายเป็นป่าสงวนฯ? เหล่านี้ควรได้รับการสะสางแก้ไขให้ตรงกับสภาพพื้นที่ที่เป็นจริงใช่หรือไม่?

ถามขึ้นมาลอยๆ เพราะรู้ว่าคำตอบคงอยู่ในสายลมนั่นแหละ