นงนุช สิงหเดชะ/จาก Nut Rage ถึง Water Rage สองศรีพี่น้อง ‘โคเรียนแอร์’ แม่ยังไงลูกก็อย่างนั้น

รายงานพิเศษ  นงนุช สิงหเดชะ

จาก Nut Rage ถึง Water Rage

สองศรีพี่น้อง ‘โคเรียนแอร์’

แม่ยังไงลูกก็อย่างนั้น

พี่สาวก่อวีรกรรมฉาวโฉ่ระดับโลกมาได้ 4 ปี
พอมาปีนี้น้องสาวก็สร้างวีรกรรม (ร้าย) แบบเดียวกัน ราวกับไม่คิดจะเรียนรู้บทเรียน นี่คงเป็นการพรรณนาที่เหมาะสมสำหรับการกระทำของโช ยุน-อา และ โช ยุน-มิน สองสาวทายาทของตระกูลโช แห่งฮันจินกรุ๊ป หนึ่งในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่หรือแชโบลของเกาหลีใต้ และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดสายการบินโคเรียน แอร์
ปี 2557 โช ยุน-อา วัย 44 ปี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของสายการบินโคเรียน แอร์ ถูกเสนอเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก เมื่อเธอไม่พอใจที่แอร์โฮสเตสโคเรียน แอร์ เสิร์ฟถั่วให้เธอทั้งซอง ไม่ได้แกะใส่จาน
เพียงแค่นั้นก็ทำให้สนามบินเจเอฟเค ในนิวยอร์ก โกลาหล เพราะเธอถือวิสาสะสั่งให้นักบินที่กำลังพาเครื่องบินวิ่งออกจากอาคารผู้โดยสารเพื่อเข้าสู่รันเวย์เตรียมเทกออฟ นำเครื่องบินกลับไปจอดที่เดิม เพียงเพื่อจะ “อบรม” แอร์คนนั้น
จนทำให้สื่อตั้งฉายาเหตุการณ์นั้นว่า Nut Rage
ซึ่งหากแปลตรงตัวก็หมายถึงความเดือดดาลอันเนื่องจากถั่ว
แต่ในที่นี้สื่อตั้งใจจะใช้ความหมายสแลงของ nut ซึ่งแปลว่าคนบ้า คนเพี้ยน
พฤติกรรมครั้งนั้นทำให้สังคมโจมตีตระกูลนี้อย่างหนัก เพราะเป็นการกระทำที่ขายหน้าคนเกาหลีใต้ระดับโลก
ผสมกับที่คนเกาหลีใต้หมั่นไส้ลูกหลานพวกแชโบลนิสัยเสียอยู่แล้ว แถมในแง่กฎหมายถือเป็นการละเมิดกฎความปลอดภัยการจราจรทางอากาศ เพราะนักบินมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวว่าจะทำอย่างไรกับเครื่องบิน
ในที่สุดศาลอาญาชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษจำคุกโช ยุน-อา 1 ปี ฐานละเมิดความปลอดภัยการเดินอากาศ แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอลงอาญา

เดือนเมษายน 2561 โช ยุน-มิน วัย 35 ปี ผู้เป็นน้องสาว ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารของจิน แอร์ สายการบินต้นทุนต่ำและยังดูแลฝ่ายการตลาด สร้างวีรกรรม Water Rage เมื่อเธอสาดน้ำใส่หน้าผู้บริหารของบริษัทเอเจนซี่โฆษณารายหนึ่งขณะประชุมร่วมกันเพราะไม่พอใจผลงาน
แต่พยานในเหตุการณ์บอกว่าหนักกว่านั้น เพราะไม่ได้สาดน้ำ แต่ขว้างแก้วทั้งใบใส่หน้าเลย ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก
พลันที่ข่าวแพร่สะพัดออกไป นายโช ยาง-โฮ ผู้เป็นพ่อได้ออกมาขอโทษต่อสังคมพร้อมกับประกาศปลดลูกสาวทั้งสองคนออกจากตำแหน่งประธานโรงแรมเครือ KAL และผู้บริหารของโคเรียนแอร์ พร้อมทั้งสัญญาจะยกเครื่องการบริหารจัดการใหม่ โดยเน้นความเป็นมืออาชีพมากขึ้น
เหตุการณ์นี้ได้ขยายผลไปสู่หลายอย่าง เริ่มจากการสอบสวนกระทรวงที่ดินและขนส่งว่าทำไมปล่อยให้ โช ยุน-มิน ซึ่งถือสัญชาติอเมริกันเข้ามานั่งในบอร์ดบริหารของจิน แอร์ นานถึง 6 ปี เพราะตามกฎหมายไม่อนุญาตให้คนต่างชาติมานั่งบอร์ดบริหาร
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังบุกค้นบ้าน และสำนักงานใหญ่ของตระกูลนี้หลังจากมีข้อกล่าวหาว่าใช้สายการบินโคเรียนแอร์ลักลอบนำเข้าสินค้าหรูหรา เฟอร์นิเจอร์และของใช้ส่วนตัวหลายอย่างโดยไม่จ่ายภาษี

FILE PHOTO: Korean Air Lines Chairman Cho Yang-ho arrives to testify at the second court hearing of his daughter Cho Hyun-ah, also known as Heather Cho, at the Seoul Western District court in Seoul January 30, 2015. REUTERS/Kim Hong-Ji/File Photo

หนังสือพิมพ์เดอะ โคเรียไทม์ส ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ “Gapjil Sisters Born to Manor” ซึ่งแปลได้ว่า “สองพี่น้อง ‘แกบจิล’ ที่เกิดมาบนความร่ำรวย”
ปาร์ก มู-จอง ผู้เขียนบทความนี้บอกว่า gapjil เป็นคำเกาหลีที่อีกไม่ช้าคงจะถูกบรรจุเข้าอยู่ในดิกชันนารีภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกับ กิมจิ บิบิมบับและแชโบล โดยมีผู้อธิบายไว้แล้วว่า gapjil เป็นคำที่หมายถึง “การกระทำหยิ่งยโส เผด็จการของคนเกาหลีใต้ที่มีตำแหน่งสูงที่กระทำต่อคนอื่นที่อยู่ในตำแหน่งต่ำกว่า”
ทั้งอดีตพนักงานและพนักงานปัจจุบันของฮันจิน กรุ๊ป ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านิสัย gapjil ของสองสาวพี่น้องคงเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูโดยแม่ของเธอ ที่มีชื่อเสียงว่าปฏิบัติต่อผู้ต่ำกว่า ไม่ว่าจะเป็นคนสวน แม่บ้าน คนขับรถ อย่างแย่มากๆ ดังนั้น มันก็คงเป็นกรณีของ “แม่เป็นยังไง ลูกก็อย่างนั้น”
โคเรียไทม์สบอกว่า Gapjil เป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมการทำงานเกาหลีใต้ ที่ยึดติดเหนียวแน่นในค่านิยม “ลำดับชั้น” หรือโครงสร้างสังคมในแนวดิ่ง ที่เปิดโอกาสให้คนรวยและคนที่มีตำแหน่งสูงกว่ากดหัวคนอื่นที่ต่ำกว่า
บทความนี้แนะว่าสองสาวพี่น้อง ควรเรียนรู้จากปู่ของเธอ โช จุง-ฮุน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งฮันจินกรุ๊ป ที่ได้รับความเคารพนับถือเนื่องจากขยันขันแข็ง ประหยัด เป็นกันเองกับพนักงาน
เวลาเดินทางไปติดต่อธุรกิจต่างประเทศ ก็ไปพักอยู่ที่บ้านเช่ากับพนักงานแทนที่จะพักโรงแรม ใส่สเวตเตอร์ธรรมดาแทนที่จะเป็นเสื้อสูท
แม้ไม่สูบบุหรี่แต่ก็จะพกบุหรี่ติดกระเป๋าไว้ให้พนักงานที่สูบบุหรี่เสมอ
นั่นเป็นเพราะค่านิยมในการเคารพผู้อื่นโดยไม่สนใจตำแหน่ง

สําหรับพฤติกรรม Gapjil นั้นคนไทยที่นิยมดูซีรี่ส์เกาหลีคงพอจะนึกภาพออก เพราะละครก็สะท้อนภาพจริงในสังคม หากสังเกตให้ดีๆ Gapjil จะปรากฏเด่นชัดในละครทุกเรื่องของเกาหลี กลายเป็น “ฉากประจำ” ที่ขาดไม่ได้ เผยให้เห็นระบบอาวุโสในสังคมทั่วไปและสังคมการทำงานแข็งแกร่งมาก เผลอๆ ดูจะเป็นเอามากยิ่งกว่าสังคมไทย
ทั้งที่เกาหลีใต้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
และอยู่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
การมีข่าว gapjil ใหญ่โตอยู่บ่อยครั้ง ดูจะสวนทางกับสถานะและระบบการปกครองของประเทศ