สุนทรภู่ อยู่วังหลัง ผู้ดีบางกอก | สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุนทรภู่ อยู่วังหลัง ผู้ดีบางกอก

สุนทรภู่ ได้รับยกย่องเป็นมหากวีกระฎุมพี เพราะมีชีวิตประจําวันอยู่ในกลุ่มคนชั้นนำทางเศรษฐกิจ-การเมือง ในเศรษฐกิจการตลาด ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

งานกวีของสุนทรภู่ แสดงออกด้วยประสบการณ์ตรง มีสีสันอย่างมีความทันสมัย และเป็นสมัยใหม่ ฯลฯ โดนใจกระฎุมพีร่วมยุคอย่างกว้างขวาง

นิราศเมืองแกลง แต่งเมื่อไปราชการลับ เพราะไม่ได้เกิดเมืองแกลง

นิราศเมืองแกลง แต่งเมื่อไปทำงานราชการลับของราชสำนักที่มีต่อบิดาซึ่งบวชเป็นภิกษุเจ้าอาวาส อยู่บ้านกร่ำ เมืองแกลง (จ.ระยอง)

ไม่ได้ไปเยี่ยมบ้านเกิดตามที่มีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อน และไม่อยากไปเพราะหนทางลำบาก ดังมีกลอนนิราศบอกตรงๆ ว่า “จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา”

บิดาสุนทรภู่ “บวชการเมือง” ด้วยเหตุผลทางราชการลับสมัยนั้น จึงไม่เกี่ยวข้องการหย่าร้างกับภรรยา (ซึ่งเป็นแม่ของสุนทรภู่)

บริเวณวังหลัง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งขวา) ปากคลองบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลศิริราช (ภาพจากโดรนของมติชนทีวี เมื่อมิถุนายน 2560)
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ที่เมืองแกลง (อ.แกลง จ.ระยอง) สร้างขึ้นจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนความจริงในประวัติสุนทรภู่

 

อยู่วังหลัง ผู้ดีบางกอก

สุนทรภู่ เกิดวันที่ 26 มิถุนายน 2329 ต้นแผ่นดิน ร.1

[กรุงเทพฯ สถาปนา พ.ศ.2325 ครั้นถึง พ.ศ.2329 มีศึกท่าดินแดง (กาญจนบุรี) บิดาสุนทรภู่น่าจะไปราชการทัพคราวนี้ด้วย]

อยู่วังหลัง ปากคลองบางกอกน้อย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ

ผู้ดีบางกอก เพราะแม่กับพ่อมีเชื้อสายพราหมณ์ (เมืองเพชรบุรี) ในราชสํานักกรุงศรีอยุธยา ใกล้ชิดกับครอบครัวพระพี่นาง (พี่สาว ร.1) แล้วรับราชการในกรมพระราชวังหลัง (ซึ่งเป็นบุตรพระพี่นาง)
เมื่อเล็กๆ สุนทรภู่อยู่กับแม่ในเรือนแพ ปากคลองบางกอกน้อย (มีบอกไว้ในโคลงนิราศสุพรรณ)
เรียนหนังสือในสํานักเรียนลูกหลานผู้ดีที่วัดชีปะขาว (ปัจจุบันชื่อวัดศรีสุดาราม บางขุนนนท์ ริมคลองบางกอกน้อย กรุงเทพฯ)

สํานักเรียนวัดชีปะขาว สอนหนังสือให้ลูกหลานบุตรธิดาเจ้านายขุนนางข้าราชการในราชสานัก ไม่เป็นโรงเรียนวัดสอนลูกหลานชาวบ้านทั่วไป

ครั้นเติบโตรับราชการสังกัดวังหลัง แล้วโอนไปสังกัดวังหลวง ในกรมพระอาลักษณ์ เกี่ยวข้องงานภาษาและหนังสือ ต้องศึกษาค้นคว้าตําราสมุดข่อยโบราณ ทั้งจากหอหลวง (อยู่ในวังหลวง) และจากเอกสารนานาชาติ

รับพระราชทานเรือนแพ อยู่ท่าช้างวังหลวง ย่านขุนนางผู้ใหญ่และย่านพ่อค้านานาชาติ มีแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารสม่ำเสมอกับคนต่างภาษา

เท่ากับมีอาชีพรับราชการ ไม่ใช่อาชีพกวี (อาชีพนี้ไม่มีในสมัยนั้น) จึงไม่แต่งหนังสือกลอนขาย ไม่มีคนซื้อ เพราะคนทั่วไปเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก

 

กลอนสุนทรภู่
ได้ต้นแบบจากกลอนเก่าๆ

กลอนส่งสัมผัสที่เรียกทั่วไปว่ากลอนตลาดหรือกลอนสุนทรภู่ ได้ต้นแบบจากหนังสือกลอนอ่านนิทานเรื่องต่างๆ ที่แต่งไว้ยุคก่อนๆ แล้วมีเก็บต้นฉบับเป็นสมุดข่อยอยู่ในวังหลวงกับวังหลัง เช่น ปาจิตกุมารกลอนอ่าน (ตำนานปราสาทพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา)

จึงเลียนแบบใช้แต่งกลอนเพลงยาวนิราศและนิทานกลอน จนกลายเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่รู้กันทั่วไปว่ากลอนสุนทรภู่

 

บวชการเมือง ร.3 ไม่รังแก
แต่กลับยกย่องเป็นครู

สุนทรภู่อยู่ในกลุ่มขุนนางฝักใฝ่เจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อไปคือ ร.4) ครั้นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสวยราชย์เป็น ร.3 จึงร้อนตัวออกบวชเป็นภิกษุหนีราชภัย

แต่ ร.3 ไม่รังแก กลับยกย่องให้ภิกษุสุนทรภู่เป็นครูสอนหนังสือให้โอรสธิดาน้อยๆ (ดังมีบอกในเพลงยาวถวายโอวาท) แล้วให้ธิดา (องค์โปรด) อุปถัมภ์ โดยนิมนต์ไปจำพรรษาอยู่วัดเทพธิดาราม (ดังมีบอกในรำพันพิลาป)

พระอภัยมณี
วรรณกรรมการเมือง
ต่อต้านล่าเมืองขึ้น

พระอภัยมณี เป็นวรรณกรรมการเมืองในรูปแบบนิทานกลอนต่อต้านสงครามล่าอาณานิคม เพราะขณะนั้นอังกฤษยึดได้อินเดีย, ลังกา และกําลังแผ่อำนาจเข้ายึดอุษาคเนย์ทางแหลมมลายู, พม่า
แต่งโดยใช้ฉากทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย แสดงความขัดแย้งระหว่างเมืองผลึก คือ ถลาง (ภูเก็ต) กับ ลังกา คือ ศรีลังกา (ขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ มีประมุขเป็นหญิง คือ พระนางเจ้าวิกตอเรีย จึงแผลงคำเป็น นางละเวง)

เกาะแก้วพิสดารอยู่ในกลุ่มเกาะนิโคบาร์ (มีชื่อในตำนาน ว่า นาควารี ในพระอภัยมณีเรียกทะเลนาควารินทร์) ทางตอนใต้ของทะเลอันดามัน

ผีเสื้อสมุทร แปลงจากผีเสื้อน้ำ มีในมหาวงศ์พงศาวดารลังกา

ยกย่องวิชาความรู้ศิลปวิทยาการ

ยกย่องการศึกษาเรียนรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดูจากพระอภัยมณีเรียนวิชาดนตรี (เป่าปี่) เป็นสัญลักษณ์ของการแก้ปัญหาด้วยสติปัญญาวิชาความรู้ โดยไม่ใช้ความรุนแรง

ชอบฟังคําบอกเล่าเก่าแก่ ซึ่งเป็นพลังสร้างสรรค์วรรณกรรม ดังพบโครงเรื่องจากนิทานนานาชาติดัดแปลงใช้ในพระอภัยมณี

ยกย่องหญิงให้มีวิชาความรู้ ดูจากนางวาลี (ในพระอภัยมณี) รูปชั่วตัวดํา แต่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของพระอภัยมณี ทั้งๆ สังคมสยามสมัยนั้นเหยียด “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน”

มีความรู้ มีฐานะทางสังคม
มีชื่อเสียง มีเสน่ห์ มีสาวๆ

ความเป็นผู้ดี มีวิชาความรู้ มียศถาบรรดาศักดิ์ มีชื่อเสียง ผลงานเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะตั้งแต่วัยหนุ่ม เพราะเป็นคนบอกบทอยู่หน้าม่านโรงละครชาตรี (ละครชาวบ้าน)

เท่ากับมีเสน่ห์อย่างยิ่ง ดึงดูดบรรดาหญิงสาววัยรุ่นเข้าพัวพันไม่น้อย ดังมีบอกในกลอนเพลงยาวนิราศเรื่องต่างๆ อย่างรับผิดชอบ ไม่ดูถูกทิ้งขว้าง

 

ไม่เมามาย ไร้สติ

อาชีพการงานอยู่ในแวดวงคนชั้นนำทางวัฒนธรรม ย่อมกินเหล้ารสนิยมสูงเป็นปกติ แต่ไม่เคยพบหลักฐานว่าเมามายไร้สติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ชีวิตในเพศฆราวาสไม่นาน ก็ออกบวชเป็นภิกษุอยู่ในสายตาของอํานาจรัฐตลอดเวลานานเกือบ 20 พรรษา จึงไม่ได้เกี่ยวข้องหรือหมกมุ่นสุราตามที่ถูกกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสี