อ.จุฬา ถอดรัหสกรอบความเชื่อแบบ “ดี้ นิติพงษ์” ตกลงสังคมประชาธิปไตย เป็นสังคมที่ควรอยู่ ?

เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองถึงสิ่งที่ ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาคพยายามสื่อสารสะท้อนความคิดความเชื่อออกมาว่า เป็นสิ่งที่สะท้อนคนชนชั้นกลางในเมืองโดยตรง ถึงแม้ว่าหลายฝ่ายจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่สะท้อนเรื่องของความสงบทางการเมืองในสภาวะที่บ้านเมืองไม่มีปัญหาเรื่องของความขัดแย้ง ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการดำรงชีวิตในสังคมบริเวณของเขา ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยฉะนั้นประเด็นเขาจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบ เมื่อพิจารณาประเด็นของสังคมไทยการเข้ามาของคสช.ในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการของคณะรัฐประหาร มันไปตอบโจทย์ ตรงส่วนนี้ ผมถึงเชื่ออย่างหนึ่งว่าเขาไม่ได้ปฏิเสธประชาธิปไตย ถึงขั้นนั้น แต่ผมเชื่อว่าเขาไม่อยากได้ประชาธิปไตยที่ นำมาสู่ปัญหา หรือสามารถที่จะทำให้เป็นปัญหาหลักทางการเมืองได้

โดยพื้นฐานที่สุดเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมที่ควรอยู่ อยู่กันได้ดีที่สุดคือสังคมประชาธิปไตยแต่ต้องยอมรับบนบรรทัดฐานว่าในสังคมแบบนี้ความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่เคยยอมรับความแตกต่างไม่ยอมรับความขัดแย้งสังคมไทยชอบมีความเชื่ออยู่เสมอว่าสังคมต้องเป็นเอกภาพต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เวลาเราพูดถึงเอกภาพหรือประเด็นเหล่านี้มันไม่ได้หมายความว่า ชีวิตในสังคมมันจะแตกต่างกันไม่ได้และคนไม่สามารถแสดงออกได้ แต่ในความเป็นจริงเราต้องยอมรับว่าปัจจุบันสังคมมันเปิดพื้นที่ส่วนนี้ให้คนสามารถแสดงออกได้

การแสดงออกมีความสําคัญอย่างไร ? ความสำคัญก็คือคนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของสังคมร่วมกันมากขึ้น เราต้องยอมรับว่าเราจะมีความเห็นอย่างหนึ่งหรือคนอื่นจะมีความเห็นอีกอย่างหนึ่ง ก็มาถกกัน เราต้องผลักให้สังคมมาถึงจุดที่ถกกันอย่างมีเหตุผล และต้องยอมรับให้ได้ว่าความขัดแย้งแตกต่างเป็นเรื่องปกติ สังคมที่ทำให้สองสิ่งนี้อยู่ได้มันจะเป็นสิ่งที่เปิดมุมมองความคิดให้เขามาแลกเปลี่ยนความเห็นว่าสังคมมีทางไป แต่สังคมที่พยายามจะปิดและพยายามทำเหมือนว่าทุกอย่างสงบเรียบร้อยภายใต้การกำกับมาตรการใดอันเป็นการซ่อนปัญหาอีกมากมายไว้ข้างใต้และรอวันปะทุเท่านั้น