นักการเมืองเก่า “เก๋าเกม” มองนักการเมือง(ใหม่)ชื่อประยุทธ์

 

การเมืองจากนี้ไปคงจะเข้มข้นไม่น้อย หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เดิมที่มีหมวกหลายใบทั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ตลอดเวลาการทำหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์มักกล่าวตำหนิและให้สัมภาษณ์เชิงลบต่อนักการเมืองมาตลอด

มาถึงวันนี้ที่ท่านกลับออกมายอมประกาศว่าตัวเองเป็นนักการเมือง และปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำๆ หลายๆ อย่างในช่วงระยะหลัง ทำให้สามารถตีความท่าทีได้ว่าอยากจะอยู่ต่อ

นั่นยิ่งหมายความว่ายิ่งจะทำให้สนามการเมืองเข้มข้นมากขึ้นและน่าติดตาม

ดังเช่น รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ รามคำแหง เคยกล่าวไว้ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้เจอกับ “นักการเมืองเก่า” และ “นักการเมืองเก๋า” อภิปรายไม่ไว้วางใจ คัดค้านหรือทำหน้าที่ตรวจสอบในสภาที่ พล.อ.ประยุทธ์มีสิทธินั่งนายกฯ (คนนอก) คงเป็นภาพที่ใครหลายๆ คนอยากเห็น

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ต้องเอ่ยไกลถึงวันนั้นเพราะยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่

เพียงแค่การยอมรับว่าเป็นนักการเมืองครั้งนี้

ทำให้นักการเมือง (รุ่นดั้งเดิม) ออกมาพูดถึงและกล่าว “คำยินดี” ที่ยอมรับเสียทีกันมากหน้าหลายตา

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ยอมรับความเป็นจริง เพราะตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ถือว่าเป็นนักการเมืองแล้ว เพียงแต่ว่าเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งหรือจากการยึดอำนาจก็เท่านั้น เพราะตำแหน่งพวกนี้คือตำแหน่งการเมืองอยู่แล้ว

“ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ท่านยอมรับข้อเท็จจริง พร้อมบอกด้วยว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเคารพและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ประชาชนเป็นใหญ่ที่สุด” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว

และว่า สิ่งเร่งด่วนที่ควรจะต้องทำ คือการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ให้มีความชัดเจน ส่งเสริมให้มีการตรวจสอบเรื่องของการทุจริต อย่างตรงไปตรงมาและมีมาตรฐาน

คุณหญิงสุดารัตน์ยกตัวอย่างกรณีมาตรฐานของ ป.ป.ช. ที่สังคมไม่ค่อยสบายใจ คือหนึ่งในนั้น เป็นต้น

“ที่สำคัญการเข้ามาเป็นนักการเมืองต้องเป็นสุภาพบุรุษ โดยจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี และการที่ท่านได้ตั้งใจทำงานการเมืองต่อ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด แต่วิธีปฏิบัติของท่านเพื่อไม่ให้ถูกสังคมมองว่ามีการใช้อำนาจในการเอื้อประโยชน์ต่อการหาคะแนนหรือหาเสียงของตนเอง หรือห้ามพรรคการเมืองอื่นๆ ทำกิจกรรมใดๆ สิ่งนี้อาจจะถูกมองว่าท่านเอาเปรียบนักการเมืองหรือเปล่า?”

คำถามจากคุณหญิงสุดารัตน์คำถามนี้คงเป็นคำถามที่รับน้องใหม่ค่อนข้างบาดใจพอสมควร

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็กล่าวเช่นกันว่า “งานที่ท่านทำก็เป็นงานการเมืองอยู่แล้ว แต่เพียงขอให้เดินไปตามกรอบกฎหมาย และต้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชนด้วย”

ส่วนมุมมองของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่มีความชัดเจนและเป็นนิมิตหมายที่ดี

นายอนุทินถึงขั้นกล่าวว่า welcome to the club

“สิ่งสำคัญคือความเป็นนักการเมืองของท่านนายกฯ ท่านจะได้เข้าใจนักการเมืองด้วยกัน การพูดคุย การพบปะเจรจาอะไรกัน ก็จะได้อยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่พื้นฐานต่างกัน มีความหวาดระแวงกัน”

“ถ้าคนเรามันยิ้มให้กันแล้วอะไรก็ง่ายไปหมด”

ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า “ผมไม่ได้แปลกใจในการที่อยากจะอยู่ต่อเพราะว่าถ้าเราย้อนไปเรียนประวัติศาสตร์ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าหลังการยึดอำนาจหลายครั้งก็จะมีการดำเนินการในการที่จะสืบทอดดำรงอำนาจต่อไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง บางยุคถึงขนาดตั้งพรรคเอง บางยุคก็ตั้งพรรคตัวแทนหรือพรรคนอมินีขึ้นมา เพื่อสนับสนุนให้ตัวเองได้มีโอกาสที่จะสืบทอดอำนาจต่อไป ขึ้นอยู่กับแต่ละยุคแต่ละสมัย”

“ถ้ายุคนี้จะมีพรรคการเมืองใหม่หรือไม่ใหม่ขึ้นมาดำเนินการสนับสนุน (คสช.) ผมก็ไม่แปลกใจเพราะประวัติศาสตร์บอกให้เรารู้แล้วว่า เส้นทางนี้มันยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้สำหรับประเทศไทย หลังการยึดอำนาจ แต่จะสำเร็จหรือไม่อย่างไรเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามดูกันอีกต่อไป”

“แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและน่าจับตาต่อคือด้วยความที่ว่าทุกอย่างยังไม่ชัดเจน แม้จะมีหลายคนบอกว่ามันชัดเจน โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน แต่ว่าหลายคำพูดยังแสดงถึงความไม่แน่นอน เพราะยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ยังมีลักษณะของการมีเงื่อนไขเข้ามาทำให้การเมืองไม่มีความชัดเจน เพราะฉะนั้น ผมไม่มั่นใจว่าปี 2561 ทุกอย่างจะสามารถเดินหน้าไปตามโรดแม็ปตามที่ประกาศไว้หรือไม่ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกส่วนตัว แต่ว่ามันเกิดจากสัญญาณที่แม่น้ำสายต่างๆ ได้ส่งออกมาสู่สาธารณะ จนถึงนาทีนี้ ผมคิดว่ายังเป็นอย่างนั้นอยู่”

นายจุรินทร์ก็ยังมองว่าท่าทีจากผู้นำและ คสช. ส่อให้เห็นว่าการเมืองจะยังอึมครึม ไม่ชัดเจน 100% โดยยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้คิดเอาเอง มันมาจากสัญญาณของผู้นำแม่น้ำสายต่างๆ

“ส่วนคำถามที่หลายคนอยากรู้คือท่าทีของ 2 พรรคใหญ่ในการจับมือกันร่วมสู้ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถตอบได้เดี๋ยวนี้หรอก ถ้าตอบจะกลายเป็นการคาดเดาเพราะว่าทั้งหมดนี้ต้องเคารพประชาชน ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ให้คำตอบ ว่าหลังการเลือกตั้งแล้วประชาชนจะมีคำตอบอย่างไรสำหรับคะแนนเสียง และการตัดสินใจที่ผลออกมา มันต้องนับตรงนั้นก่อน แปลง่ายๆ ได้ว่า เราจะมาคิดของเราเองไม่ได้ ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตอบ”

นายจุรินทร์กล่าว

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทยก็กล่าวไว้ว่า ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษปีนี้อยู่ตรงที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวกจะพยายามเตรียมความพร้อมเพื่อให้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งให้ได้ และการเตรียมความพร้อมนี้หมายถึงการทำลายพรรคการเมืองเดิมและระบบพรรคการเมืองกับการพยายามส่งเสริมให้พรรคการเมืองใหม่มีความเข้มแข็งขึ้นมา

“พล.อ.ประยุทธ์กับพวกต้องเตรียมการให้แน่ใจว่าจะมีพรรคการเมืองและนักการเมืองหรือเสียง ส.ส. สนับสนุนในสภาเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งในการเตรียมการนี้หมายถึงการใช้อำนาจเข้าแทรกแซงระบบกติกาและกฎการต่างๆ จนกระทั่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและเกิดความเสียหายต่อพรรคการเมืองและระบบการเมืองทั้งหมด ที่สำคัญคือถ้าหากว่ายังไม่มั่นใจว่ามีการเลือกตั้งแล้ว พล.อ.ประยุทธ์และคณะจะกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกเขาก็จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป”

“สิ่งที่น่าจับตาก็คือว่า ถ้าเหตุการณ์เป็นอย่างนั้นในขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งอาจจะเติบโตขึ้นบ้าง แต่ว่ายังอยู่ในสภาพของรวยกระจุกจนกระจาย ประชาชนส่วนใหญ่จะเดือดร้อนและประชาชนจะรู้สึกว่าการยืดการเลือกตั้งออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเป็นต้นเหตุให้ประชาชนเดือดร้อน และมันก็จะเกิดการเผชิญหน้าระหว่าง คสช. ที่ต้องการอยู่ในอำนาจให้นานที่สุดและต้องการกลับคืนสู่อำนาจหลังการเลือกตั้ง เพื่อครองอำนาจให้นานที่สุดกับการที่ประชาชนเดือดร้อนจากการที่รัฐบาล คสช. ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ตรงนี้จะเป็นเรื่องที่น่าจับตามองผมคิดว่าเป็นอันดับแรกในเรื่องการเมือง ซึ่งผมยังไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งและไม่เชื่อมาตลอด และการไม่เชื่อมั่นก็ถูกตามนั้นมาตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา”

ส่วนความเป็นไปได้ของ 2 พรรคใหญ่ร่วมมือกันต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์นั้น นายจาตุรนต์กล่าวว่า ความจริงมาจากการคิดคณิตศาสตร์และสถิติในอดีต ถ้าพรรคใหญ่ 2 พรรคต่างก็ได้เสียง ส.ส. ไม่น้อยกว่า 125 เสียง (และมีความเป็นได้สูง) และแต่ละพรรคตัดสินใจไม่ร่วมมือกับพรรคอื่น (เพราะ ส.ว. คงจะไม่มาสนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่อยู่แล้ว) ฉะนั้น ถ้าวันนี้จะด่วนสรุปจะเป็นเรื่องที่เร็วเกินไป ว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมมือ เพราะขณะนี้ยังไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อถึงวันเลือกตั้งใครจะเป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองนั้นๆ และพรรคนั้นๆ จะต้องไปประชุมเพื่อทำนโยบายอุดมการณ์ ประกาศออกมาด้วย

“เพียงแต่ว่าสิ่งหนึ่งที่พรรคการเมืองทุกพรรคสามารถทำได้เลยตอนนี้ คือการประกาศให้ชัดเจนว่าจะไม่ร่วมมือกับนายกฯ คนนอก จะไม่สนับสนุน คสช. จัดตั้งรัฐบาล (ทหาร) ไม่ว่านายกฯ คนนอกจะเป็นใครก็ตาม! สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมานั่งจับมือกัน สามารถประกาศได้ ป้องกันรัฐบาลทหาร กลับมาเผด็จการ”

“การที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเป็นนักการเมือง ความจริง พล.อ.ประยุทธ์ต้องการเป็นนายกฯ และเป็นหัวหน้ารัฐบาลต่อ ซึ่งถ้า พล.อ.เป็นนายกฯ ต่อ พรรคเพื่อไทยก็ต้องเป็นฝ่ายค้านประตูเดียวไม่มีทางเลือกอื่น”

“ผมไม่ได้พูดว่าให้พรรคเพื่อไทยเดินหน้าจะไปเป็นฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยก็ต้องพยายามที่จะเป็นรัฐบาล แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ขึ้นมาด้วยวิธีใดก็ตาม พรรคเพื่อไทยจะต้องไม่ร่วมมือกับ พล.อ.ประยุทธ์และไม่ต้องร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเสียอกเสียใจอะไร เป็นเรื่องที่จะต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างสมเกียรติ”