โคทม อารียา ชี้หาทางออกประเทศ ต้องลดมายาคติ-ความคิดแบบทหาร เลิกคิดว่านองเลือดแล้วจะจบ

“ความขัดแย้งไม่มีทางหมดไป และจะว่าไปความขัดแย้งก็เป็นพลวัตขับเคลื่อนสังคมนะ สำหรับปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้มันซับซ้อนกว่าที่ผ่านมา แต่ทั้งสองฝ่ายคือรัฐบาลและผู้ชุมนุมจะต้องคิดทางออก ไตร่ตรองแล้วต้องใช้จินตนาการ ภายใต้กรอบ ที่อยากเสนอคือ 1.ต้องเคารพเสรีภาพของทุกคนเท่าที่เป็นไปได้ 2.อยากจะให้เน้นหลักการุณยธรรม คืออยากเห็นผู้อื่นหลุดพ้นจากความทุกข์ แน่นอนทุกคนต้องการมีความสุข ไม่มีใครอยากทุกข์ ถ้าเราใช้หลัก 2 ข้อนี้ คือมีเสรีและไม่มีใครมีทุกข์ แล้วก็เริ่ม เอาใจเขามาใส่ใจเรา มันจะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่ทางออกได้ จึงมองว่าทางออกของประเทศเวลานี้อยู่ในความคิด อยู่ในจิตใจของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยเฉพาะรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม”

รศ.ดร.โคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล กล่าวถึงการหาทางออกประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน

รศ.ดร.โคทมกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางออกที่สำคัญที่สุดทางหนึ่ง รัฐธรรมนูญคือกติกาที่ว่าด้วยอำนาจของรัฐ มีการเขียนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่าน 3 ตัวแทนคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปในทำนองนี้ตามหลักการเหล่านี้

แต่ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนให้ลึกลับซับซ้อนให้ตีความและคนที่ตีความดันเป็นคนที่มีกลุ่มคิดกลุ่มเดียวกัน มีวิธีคล้ายๆ กันของผู้มีอำนาจ แถมยังเขียนมาให้แก้อดีต โดยพยายามอ้างถึงที่ผ่านมามีคนไม่ดีต่างๆ ทั้งที่รัฐธรรมนูญควรจะต้องสถาปนาการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจทางการเมืองในวันข้างหน้า ควรจะต้องเอาหลักการใหญ่ๆ เข้ามาใส่

แต่นี่มีการพูดเรื่องของการปฏิรูปแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำไมพวกคุณคิดว่าคุณคิดดีกว่าคนอื่นหรือ คนรุ่นนี้จะคิดดีกว่าคนอื่นหรือ ผมก็เห็นบอกว่าจะปฏิรูปๆ พูดมาตั้งแต่ตอนปฏิรูปก่อนเลือกตั้งแล้วก็ดูซิวันนี้เป็นยังไง มันก็จะเจออุปสรรคเป็นธรรมดา

อย่าไปคิดว่าเขียนกฎหมายขึ้นมามันจะสามารถแก้อดีตและทำอนาคตอันรุ่งโรจน์ได้

ควรจะถ่อมตัวลงมานิดนึง เปิดกว้างอีกสักหน่อย ก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ไม่ควรย้อนยุคกลับไปแบบปี 2521 ควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้นและให้มันเกิดสมดุลมากขึ้น

ส่วนที่มีม็อบจัดตั้งมวลชนขั้วตรงข้ามมา รศ.ดร.โคทมมองว่า เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ เข้าใจว่าฝ่ายจัดตั้งน่าจะเป็นฝ่ายที่เคารพผู้มีอำนาจหน้าที่พอสมควร ถ้าหากผู้มีอำนาจหน้าที่บอกว่าใจเย็นๆ แล้วมันจะเบาลง ประเด็นต่อมาคือคุณอยากจะแสดงพลังใช่ไหม สามารถทำได้ตามสบาย แต่ต้องไม่ลืมว่าควรจะต้องต่างเวลาต่างสถานที่ พวกคุณยอมรับสิ่งนี้ได้หรือเปล่า

การที่บังเอิญมาพบกันพอดีในวันเดียวกันก็อย่าอยู่ใกล้กัน เราก็รู้ว่า ไม่มีใครอยากจะเสี่ยงให้การชุมนุมแปรเปลี่ยนเป็นการทำร้ายร่างกาย แปรเปลี่ยนเป็นความจลาจล เกิดทำลายทรัพย์สิน มันไม่มีใครได้ประโยชน์จากการสูญเสียของส่วนรวมเลย

ถ้าเข้าใจประเด็นนี้ตรงกัน ว่าเสรีภาพในการแสดงออกมันไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถแสดงออกได้ ในกรอบเดียวกันทุกกลุ่มสามารถกระทำได้โดยสงบและปราศจากอาวุธ

มีประเด็นหนึ่งน่าคิด ผมเท้าความเหตุการณ์ที่เกิดในฝรั่งเศส การใช้ความรุนแรงฆ่าคนที่เขียนการ์ตูนล้อเลียนพระศาสดา คนหนึ่งรู้สึกว่าถูกทำร้ายเพราะความเชื่อเขาลึกซึ้งมาก สำหรับเขาศาสดาคือคนที่มาช่วยคนเป็นพันล้านตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แล้วกลับมาถูกลบหลู่ดูหมิ่นเหยียดหยาม เขาก็มีความโกรธแค้น

แต่ปัญหาก็คือเขาใช้ความรุนแรงถึงขั้นฆ่าคน มันเลยมีคำกล่าวว่าความรุนแรงย่อมเป็นเชื้อและเป็นปัจจัยก่อให้เกิดความรุนแรงถัดไป

ทีนี้ต้องเข้าใจ 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องเข้าใจว่าคำพูดที่กระทบกระเทือนอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างรุนแรง เราพูดไปแล้วเราได้อะไร? แค่สะใจเล็กๆ น้อยๆ แต่เขาเสียใจ เขาโกรธ แล้วเราจะไปทำร้ายจิตใจเขาทำไม

คนที่บอกว่าความสงบเกิดขึ้นได้ต้องนองเลือดก่อน นี่เป็นพวกที่มองโลกในแง่ร้าย อาจจะมีความคิดให้ถูกบ้างในบางครั้ง แต่มองโลกแบบนี้มันเป็นวิธีพวกคิดแบบทหาร คือว่าคุยกันไม่รู้เรื่อง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การฉกฉวยจู่โจมยึดครองอำนาจได้แม้จะเสียเลือดเนื้อไปบ้างแต่ฉันจะเป็นคนนำพาความผาสุกเข้ามา

นี่กี่ครั้งต่อกี่ครั้งมันไม่เคยเป็นอย่างนั้นแต่ก็ยังมีคนคิดแบบนี้อยู่ทั้งที่มันตกรุ่นไปแล้ว เราต้องขับเคลื่อนโลกจากที่เป็นมายาคติเยอะๆ ให้มายาลดลง เราจะได้มีเวลารับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะการสังคมเทคโนโลยีอีกหลายเรื่อง

ถ้าเรามัวจะมาช่วงชิงอำนาจทางการเมืองโดยใช้กำลังบังคับมันน่าจะต้องลดน้อยถอยลงไปบ้างได้หรือเปล่า

รศ.ดร.โคทมพูดถึงมุมมองต่อความขัดแย้งจากอดีตถึงปัจจุบัน อย่างยุค 14 ตุลาคม 2516 ถามว่าเป็นเรื่องของรุ่นหรือไม่ ก็ใช่ แต่เป็นเรื่องของความคิดอุดมการณ์ทางการเมือง เป็นหลัก แล้วต้องยอมรับว่าเวลาคนที่มีอายุมากขึ้น ตามสำนวนเขาบอกว่าก็กลายมาเป็นชั้นกระฎุมพี หลังจากที่ตอนเป็นเยาวชน หัวขบถ แต่พอมีฐานะดีก็สนุกสนานกับทุกสิ่งที่เป็นทรัพยากรแวดล้อม เปลี่ยนจากขบถเป็นกระฎุมพี เป็นเช่นนี้มา

จะบอกว่า ครั้งนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างรุ่นก็ไม่เชิง เพราะว่าความขัดแย้งภายในรุ่นเดียวกันก็มีข้ามรุ่น มีทั้งเยาวชนขัดแย้งกันเอง ผู้สูงอายุขัดแย้งกันเองก็มีเยอะ

ผมไม่อยากให้มองเป็นความขัดแย้งระหว่างรุ่น เพราะว่าความสัมพันธ์นี้เปราะบางมากและอยากให้รักษาไว้

ผมเองได้มีโอกาสไปช่วยงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ผมก็ลองไปถามเขาว่าเป็นอย่างไรบ้างตอนนี้ ปรากฏว่ามีเยาวชนประมาณ 100 คนที่คล้ายกับว่าถูกให้ออกจากบ้านหรือทนอยู่ไม่ได้ต้องไปอยู่กับเพื่อนฝูง

สิ่งเหล่านี้คือ มันเป็นความขัดแย้งระหว่างรุ่นก็จริง แต่มันกลับไปทำร้ายความสัมพันธ์ที่สำคัญมากภายในครอบครัว ความสัมพันธ์ที่เป็นความรัก

ความขัดแย้งเป็นเรื่องผิวเผิน แต่สิ่งที่ลึกลงไปคือการทำลายสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่-ลูก ไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อ-แม่ต้องปิดกั้น ถ้าลูกโตแล้วคิดเองได้ควรปล่อยให้ลูกได้ตัดสินใจเองได้หรือไม่ ไม่ต้องเอาความเชื่อของตัวเองมาใส่สมองลูกอย่างเดียว

ลูกก็ควรพร้อมที่จะรับฟัง ลูกรักแม่รักพ่อ พ่อ-แม่ก็รักลูก อยากให้มองถึงตรงนี้

ผมอยากให้พยายามมองเรื่องสายสัมพันธ์มากกว่าเดิมด้วยซ้ำเพราะว่าคนมีอายุปู่-ย่า ตา-ยาย เยาวชนเป็น 2 รุ่นที่แทบจะบอกว่าไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองอยู่ตรงหน้า

เมื่อไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองวางอยู่ตรงหน้าระหว่างกันก็ถือโอกาสนี้คุยกันเสียหน่อย สิ่งที่เขานำเสนอกันทั้งสอง เพื่ออนาคตข้างหน้า

ในอนาคตถ้าจินตนาการว่าไม่มีความขัดแย้งแล้ว มันก็คงพูดเรื่องสันติวิธีได้ง่าย

แต่ในความเป็นจริง สังคมมีทางเลือกเยอะมากยุคหลัง covid เราจะเอาอย่างไร ดิจิตอลเราจัดการอย่างไร โลกร้อนจะเอาอย่างไร

มันมีสารพัดปัญหาทางเลือกทางออก

ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ได้จินตนาการถึงโลกที่ปลอดจากความขัดแย้ง

เราอาจจะจินตนาการถึงโลกที่เราห่วงใยซึ่งกันและกัน ฉันมีเสรีภาพ คือหลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตยหรืออุดมการณ์นี้และแถมเรื่องของภราดรภาพด้วย

สุดท้ายสำหรับสิ่งที่อยากฝากถึงท่านนายกฯ รศ.ดร.โคทมบอกว่า ผมคิดว่าถ้าท่านสามารถที่จะคลายความขัดแย้งครั้งนี้ได้ โดยท่านต้องยกตัวตนออกไปส่วนหนึ่ง อันนี้จะช่วยอย่างยิ่ง

เพราะท่านนายกฯ มีอำนาจมากเหลือเกิน รัฐมนตรีก็ฟัง สมาชิกวุฒิสภาก็ฟัง ทีนี้ท่านแบกภาระอันหนักอึ้งอันนี้ไว้ ถ้าเมื่อใดการตัดสินใจยังพัวพันมากมายอยู่กับม่านบังตาบางอย่างมันอาจจะไม่ใช่การตัดสินใจที่ดี เพราะฉะนั้น ช่วงเวลานี้เป็นเวลาสำคัญที่ท่านอาจจะต้องมองหากัลยาณมิตรเสียบ้าง

ส่วนสิ่งที่อยากฝากสำหรับเยาวชน ผมบอกว่าให้ใจร่มๆ หน่อย บางเรื่องอาจทำได้เร็ว บางเรื่องทำได้ช้า แต่ไม่เป็นไรเยาวชนก็เสนอได้เต็มที่ แต่ขอให้เข้าใจสภาพความจำกัดของสังคมไทย

ไม่ใช่เหมือนกับว่าไม่ถนอมศีรษะ เมื่อเจอกำแพงก็จะเอาหัวชนเสมอไป มันก็อาจจะหัวโนเจ็บตัวบ้าง แต่ในเมื่อเจอกำแพงแล้วเห็นว่ามีอีกทางหนึ่งไปได้ ภายใต้เป้าหมายเดิมเดียวกันก็เลือกไปได้