เมืองใหม่คณะราษฎร ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (2)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

เมืองใหม่คณะราษฎร

ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (2)

 

พื้นที่เมืองหลังการปฏิวัติ 2475 แตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญจากพื้นที่เมืองยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยการเปลี่ยน “พื้นที่กึ่งสาธารณะ” (quasi-public space) ให้กลายมาเป็นพื้นที่ “สาธารณะ” (public space)

พื้นที่สนามหลวง คือตัวอย่างที่ชัดเจนของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งผมเคยเขียนถึงไปหลายครั้งในหลายโอกาสแล้ว ดังนั้น จะไม่ขอเล่าซ้ำในที่นี้

เพื่อขยายความไอเดียดังกล่าว ผมอยากพูดถึงพื้นที่อีกแห่งหนึ่งที่ไม่ไกลจากสนามหลวงเท่าไรนัก และมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงสัญลักษณ์และความหมายมากหลังการปฏิวัติ

นั่นก็คือ สวนสราญรมย์

ภาพแสดงพื้นที่สวนสราญรมย์เปรียบเทียบกันระหว่างยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จากแผนที่ 2475 (ซ้าย) และยุคคณะราษฎร จากแผนที่ 2490 (ขวา)

พื้นที่สวนสราญรมย์เคยเป็นวังเจ้านายมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ 4 โดยเป็นวังของกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ และกรมขุนจักรธรานุภาพ แต่ในราว พ.ศ.2417 รัชกาลที่ 5 โปรดให้เปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวเป็นสวนในรูปแบบสมัยใหม่ และเนื่องจากสวนใหม่แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่ต่อเนื่องมาจากวังสราญรมย์ (วังใหม่ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4) จึงโปรดให้เรียกชื่อว่า สวนสราญรมย์

สวนสราญรมย์เป็นหนึ่งในโครงการสมัยรัชกาลที่ 5 ที่จะเปลี่ยนเมืองกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองศิวิไลซ์ตามแบบประเทศมหาอำนาจในยุโรป โครงการนี้ได้นายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ (Henry Alabaster) มาเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างสวนจนกลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และศึกษาพรรณไม้และพันธุ์สัตว์ต่างๆ โดยนอกจากสวนแล้ว อาคารและองค์ประกอบภายในก็ได้รับการออกแบบอย่างดีด้วยศิลปะตะวันตกเพื่อสร้างความศิวิไลซ์ให้เกิดขึ้นแก่พื้นที่

เวลาต่อมา ได้มีการจัดตั้ง “ทวีปัญญาสโมสร” ขึ้นในพื้นที่สวนสราญรมย์ ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ในราวปี พ.ศ.2447 โดยใช้อาคารเรือนกระจก (อาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก) บริเวณริมกำแพงสวนสราญรมย์ฝั่งทิศตะวันออก เป็นที่ทำการของสโมสร

ทวีปัญญาสโมสรมีลักษณะเป็นคลับของชนชั้นสูงที่เข้ามารวมตัวกันทำกิจกรรมทางปัญญาและเล่นกีฬาแบบผู้ดีซึ่งเป็นที่นิยมกันในกลุ่มชนชั้นสูงในยุโรป ณ ขณะนั้น โดยเก็บค่าสมาชิกรายปีเป็นเงิน 36 บาท ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยในยุคนั้น

ภายในอาคารมีทั้งห้องสมุด ห้องอ่านหนังสือ มีโรงละครขนาดความจุ 100 ที่นั่ง ชื่อว่า โรงละครทวีปัญญา มีห้องเล่นบิลเลียด ไพ่ฝรั่ง ปิงปอง หมากรุก รวมไปถึงอุปกรณ์การเล่นกีฬากลางแจ้งหลายชนิด เช่น เทนนิส คริกเกต ฮอกกี้ เป็นต้น

 

ปลายสมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2465-2466) สวนสราญรมย์ถูกเลือกให้เป็นสถานที่จัด “งานรื่นเริงฤดูหนาว” หรือ “งานฤดูหนาว” อันเป็นงานรื่นเริงประจำปีขนาดใหญ่ของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีต้นกำเนิดมาจาก “งานไหว้พระประจำปีวัดเบญจมบพิตร” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งรัชกาลที่ 6 ได้ขยายงานออกมาเป็นงานฤดูหนาว และเปลี่ยนสถานที่จัดงานมาเป็นสวนจิตรลดา และสวนสราญรมย์ ในที่สุด

งานฤดูหนาวมักถูกอธิบายว่าเป็นงานที่เปิดพื้นที่สำหรับคนทุกชนชั้นได้เข้ามาเที่ยวชมงาน เพราะมีการออกร้านที่หลากหลายทั้งแบบชาวบ้าน ผู้ดี และเจ้านายระดับสูง และนั่นทำให้มีการมองพื้นที่สวนสราญรมย์ในช่วงนี้ว่าได้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน

แต่ในความเป็นจริงการออกแบบการใช้พื้นที่งานฤดูหนาว (ทั้งตอนเมื่อครั้งยังจัดที่บริเวณวัดเบญจมบพิตร และเมื่อตอนย้ายมาที่สวนสราญรมย์) มิใช่ความหมายของพื้นที่สาธารณะที่แท้จริงแต่อย่างใด

การวางผังการจัดงานภายในสวนสราญรมย์ แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ที่แยกขาดจากกัน พื้นที่แรกเป็น “ร้านชั้นสูง” ตั้งอยู่ภายในรั้วสวนสราญรมย์ ซึ่งเป็นร้านของเจ้านายและผู้ดี คนที่จะเข้ามาชมพื้นที่นี้ได้ต้องเสียค่าผ่านประตูราคาแพง

ส่วนพื้นที่ที่สองเป็นส่วนการตั้งร้านของราษฎรทั่วไป เรียกกันว่า “สำเพ็ง” ซึ่งเสียค่าผ่านประตูราคาถูก (ดูเพิ่มในวิทยานิพนธ์ จาก “นาเชนแนล เอกซฮิบิเชน” ถึง “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” : ภาพสะท้อนประวัติศาสตร์สยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยกัณฐิกา ศรีอุดม”

แน่นอน การแบ่งแยกโซนการจัดงานออกเป็นส่วนต่างๆ สำหรับงานออกร้านที่มีขนาดใหญ่โดยรัฐเช่นนี้ เป็นเรื่องปกติเพื่อให้คนมางานสามารถเลือกชมงานตามความต้องการได้อย่างสะดวก

แต่การแบ่งโซนงานด้วย “ชนชั้น” ตามที่เกิดขึ้นในงานฤดูหนาว เป็นเรื่องที่แตกต่างออกไป เป็นการออกแบบที่มองพื้นที่แบบมีช่วงชั้นสูงต่ำ อันเป็นโลกทัศน์ของรัฐแบบจารีตและรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังมองเห็นคนไม่เท่ากัน

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สวนสราญรมย์สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังคงเป็นพื้นที่ที่ไม่อาจเรียกได้ว่า พื้นที่สาธารณะอย่างเต็มที่ (ไม่ต่างจากการใช้งานพื้นที่สนามหลวงในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่อย่างใด)

 

ควรกล่าวไว้ก่อนนะครับ การแยกโซนพิเศษที่ผู้ชมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มนั้น เป็นเรื่องปกติแม้ในโลกปัจจุบัน แต่การเริ่มวางผังงานตั้งแต่ต้นด้วยทัศนะแบบชนชั้นดังที่ปรากฏในงานฤดูหนาว เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาแยกออกไปอีกแบบซึ่งสัมพันธ์กับการมองพื้นที่สาธารณะในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนๆ ตามช่วงชั้นของคนที่ไม่เท่ากัน (ประเด็นนี้เป็นเรื่องยาวที่ต้องขอเขียนถึงอย่างละเอียดในโอกาสอื่นนะครับ)

แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นที่สวนสราญรมย์ เพราะพื้นที่นี้ได้กลายมาเป็นพื้นที่หลักแห่งหนึ่งในการใช้จัด “งานฉลองรัฐธรรมนูญ” งานรื่นเริงประจำปีครั้งใหญ่ในระบอบประชาธิปไตย ที่เข้ามาแทนที่ “งานฤดูหนาว” ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เป้าหมายของงานถูกจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐธรรมนูญ และหลักหกประการของคณะราษฎร ผ่านการจัดกิจกรรมนานาชนิด และการออกร้านของหน่วยราชการ พ่อค้า ประชาชน

เมื่อมองไปที่การออกแบบและวางผังการจัดงาน สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนคือ ไม่มีการแบ่งแยกโซนออกเป็นร้านชั้นสูง และสำเพ็ง อีกต่อไป การแบ่งโซนแน่นอนยังจำเป็นต้องมีอยู่ แต่ถูกกำหนดขึ้นด้วยเงื่อนไขของประโยชน์ใช้สอย มิใช่ชนชั้น

การจัดงานและกิจกรรมทั้งหลายเป็นไปในฐานะและความหมายเพื่อประชาชนพลเมืองโดยตรง และเป็นงานที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการประกวดนางสาวสยาม งานประกวดประณีตศิลปกรรม งิ้ว ลิเก จำอวด ละครร้อง ฯลฯ ทั้งหมดได้เปลี่ยนพื้นที่สวนสราญรมย์จาก “พื้นที่ของผู้ดี” มาสู่ “พื้นที่สาธารณะ” สำหรับประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง

(ดูเพิ่มในหนังสือ สยามมหกรรม การเมืองวัฒนธรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ โดยปรีดี หงษ์สต้น)

 

สัญลักษณ์อีกชิ้นที่บ่งชี้ความเปลี่ยนแปลงทางความหมายของพื้นที่นี้ก็คือ การก่อสร้างอาคาร “สโมสรคณะราษฎร” ขึ้นบริเวณมุมกำแพงสวนสราญรมย์ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้

สโมสรคณะราษฎรเป็นอาคารที่ถูกออกแบบขึ้นด้วย “สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” ที่แตกต่างในเชิงอุดมการณ์อย่างสิ้นเชิงจากสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิคทั้งหลายในสวนแห่งนี้ ตัวอาคารแม้ไม่ทราบปีก่อสร้างที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างแล้วเสร็จในช่วงระหว่าง พ.ศ.2478-2480

ความสำคัญของอาคารนี้ เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การถือกำเนิดขึ้นของพรรคการเมืองแห่งแรกของไทย เพราะสโมสรคณะราษฎรเมื่อแรกเริ่มถูกจัดตั้งขึ้นในนามของ “สมาคมคณะราษฎร” อันเป็นสมาคมทางการเมืองโดยตรง แต่ต่อมาทางราชการไม่ประสงค์ให้มีสมาคมการเมืองแบบนี้ เลยมีการเปลี่ยนสภาพมาเป็นสโมสรคณะราษฎร โดยมีวัตถุประสงค์ทางงานการกุศลและการศึกษาแทน

นอกจากเป็นที่ทำการสโมสรแล้ว ตัวอาคารยังถูกใช้เป็นอาคารอำนวยการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญต่อมาอีกหลายปี ในช่วงที่มีการจัดงานบริเวณสวนสราญรมย์

สิ่งพิเศษที่สุดของอาคารหลังนี้คือ บริเวณผนังด้านหน้า มีการก่อสร้างแท่นไม้ขนาดใหญ่เทินพานรัฐธรรมนูญ ลงรักประดับกระจกสีอย่างสวยงาม ซึ่งจากการสำรวจอนุสาวรีย์และสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญในยุคคณะราษฎรที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญแห่งใดที่จะสร้างขึ้นอย่างวิจิตรและสวยงามเท่าที่อาคารสโมสรคณะราษฎรเลย

โดยสรุป การเปลี่ยนกิจกรรมจากงานฤดูหนาว มาสู่งานฉลองรัฐธรรมนูญ และการสร้างอาคารสโมสรราษฎร ที่เป็นคู่ตรงข้ามทางรูปแบบและอุดมการณ์กับอาคาร เรือนกระจก ซึ่งเคยเป็นที่ทำการของทวีปัญญาสโมสร ทำให้เราอาจพูดได้ว่า สวนสราญรมย์หลังการปฏิวัติ 2475 ได้กลายสภาพมาเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง และเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอีกแห่งของเสรีภาพและความเท่าเทียมในระบอบประชาธิปไตย ในพื้นที่ใจกลางย่านเมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์