Orion and the Dark ความมืดห้าประการ

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

หนังใช้ได้เลยนะครับ จะว่าไปเทียบได้กับเรื่อง Inside Out ของดิสนีย์-พิกซาร์เมื่อปี 2015 เรื่องนั้นเล่าเรื่องอารมณ์ทั้งห้าของมนุษย์โดยมีจุดพลิกผันคือความฝัน (the Dream) หนังดีมากมายได้รับคำชื่นชมล้นหลามแม้ว่าจะดูยากและไม่เข้าใจบางฉาก

มาเรื่องนี้ Orion and the Dark งานของพิกซาร์-เน็ตฟลิกซ์ รอบนี้เล่าเรื่ององค์ประกอบของการนอนหลับทั้งห้าโดยมีตัวแปรสำคัญคือความมืด (the Dark) หนังสนุกพอใช้ได้ บางตอนก็เข้าใจยากพอกัน แต่อย่างไรก็น่าสนใจที่จะพูดถึง

ตัวเอกคือเด็กชายโอไรออน เขากลัวความมืด มากกว่านั้นคือเขากลัวทุกอย่างนั่นแหละ กลัวที่จะยกมือตอบคำถามครูทั้งๆ ที่คำถามยากๆ และเขาก็รู้คำตอบ “วาสโก ดา กาม่า” ขนาดนั้นเลย เขากลัวที่จะพูดกับแซลลี่เด็กหญิงที่เขาสนใจ (และเธอก็สนใจเขา) แล้วก็กลัวที่จะสู้กับเพื่อนตัวโตที่คอยบุลลี่เขา

เขากลัวอีกหลายสิ่งหลายอย่างจนกระทั่งต้องค้นหาวิธีรักษาตัวเอง

มีคนแนะนำให้เขาเขียนบันทึกและวาดรูปสิ่งที่เขากลัว เขาก็ทำแต่ไม่ได้ผล (ตำราฝรั่งเรียกวิธีนี้ว่าพฤติกรรมบำบัด – Behavior Therapy ซึ่งผมก็ไม่เคยพบว่าได้ผลเหมือนกัน ฮา ฮา)

เขากลัวที่จะปิดไฟนอน เขาขอให้พ่อแม่นอนเป็นเพื่อน แม่ก็ดูโอเค แต่พ่อเหมือนพ่อทั่วไปคือดูก็รู้ว่าอยากเอาเวลาไปทำอย่างอื่นมากกว่า ก็มักจะขอตัว ครั้นพ่อแม่จะปิดประตูปิดไฟ โอไรออนก็ไม่ยอมง่ายๆ คอยแต่จะต่อรองให้แง้มประตูและเปิดไฟอยู่ฉะนั้น

“ความกลัวเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆ ก็เป็น” พ่อแม่ว่า

“ช่างเป็นคำแนะนำที่ช่วยอะไรไม่ได้เลย” โอไรออนรำพึงลับหลัง

ที่ถูกแล้วความกลัวเป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ นั่นแหละ แต่เราไม่พูดแบบนี้กับเด็กที่กำลังกลัวเพราะเขารู้ว่ามันไม่ธรรมดา

แล้วคืนหนึ่งความมืดก็มาหาเขาจริงๆ มิใช่ความมืดธรรมดา แต่เป็น “ความมืด” ตัวเป็นๆ มีแขนขาและลูกตา เขาตั้งใจมาหาโอไรออนและอยากช่วยเหลือโอไรออนให้หายกลัวเสียที

หนังเริ่มด้วยการบอกประโยชน์ของความมืดในแบบที่เรารู้ๆ กันอยู่แล้ว “เพราะมีความมืดจึงมีความสว่าง” เจอเข้าแบบนี้คนดูก็จะรำพึงเหมือนกัน “ช่างเป็นคำแนะนำที่ช่วยอะไรไม่ได้เลย”

นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องความมืดช่วยให้เห็นความงามของแสงไฟเมืองในยามค่ำคืนหรือดวงดาวระยิบระยับบนท้องฟ้า อันนี้ก็ไม่มีประโยชน์อีกเหมือนกัน

ฉากเจ้าแห่งความมืดกับจ้าวแห่งความสว่างโคจรผ่านฟากฟ้ารอบโลกไล่กันนี่ดีมากเลย ช่วยให้เราเห็นจริงจังว่าทั้งสองท่านงานหนักแค่ไหนไล่กวดกันสุดชีวิตห้ามลดความเร็วเป็นอันขาด มิเช่นนั้นเป็นได้เสียสมดุลแน่ นอกจากนี้ ยังเห็นจะจะว่าความสว่างให้ความสดใสแก่โลกและชีวิตจริงๆ ด้วย อรุณเบิกฟ้า ชบาเบิกบาน นกน้อยขับขาน เช่นนี้แล้วความมืดจะเอาอะไรไปสู้

“ความมืด” จึงพาโอไรออนไปรู้จักภูตอีกห้าตน พวกเขาคือ “นอนไม่หลับ” “นอนหลับ” “เสียงในความมืด” “ความเงียบ” และ “ความฝัน” ที่จริงภูตห้าตนนี้ชื่อเสียงเรียงนามและหน้าที่การงานโอเคเลย แต่การออกแบบหรือดีไซน์ดูจะเสียชื่อพิกซาร์ไปนิด ไม่ค่อยจะน่าประทับใจเท่าไรนักโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการออกแบบอารมณ์ทั้งห้าและความฝันใน Inside Out

ภูตนอนไม่หลับนี่สนุกดี แต่ภูตนอนหลับนี่สนุกกว่า มีตั้งแต่เอาหมอนกดจมูกให้หลับ โปะยาสลบ ไปจนถึงใช้ค้อนตีหัว ภูตเสียงในความมืดก็หลอนดี แต่ภูตความเงียบให้ความรู้สึกที่แจ่มชัดกว่าเพราะหนังที่ดังโฉ่งฉ่างอยู่ตลอดเวลาจู่ๆ ก็ ” ” เรียกว่าเงียบจนได้ยินเสียงความเงียบ

มาที่ภูตความฝัน ส่วนนี้เป็นจิตวิทยาการนอนที่สำคัญมาก คนที่ฝันมากไปอาจจะเกิดอารมณ์เศร้าส่วนคนที่ฝันน้อยไปอาจจะเกิดการสะสมของความเครียด คนเราจึงจำเป็นต้องฝันและฝันพอดีๆ สัดส่วนของระยะเวลาที่ฝันต่อระยะเวลาการนอนหลับทั้งคืนควรพอเหมาะจึงช่วยให้จิตใจสมดุล

ความฝันเป็นท่อระบายของเสียออกจากใจ อะไรที่เราคิดไม่ได้พูดไม่ออกกระทำมิได้ในโลกแห่งความเป็นจริงเราระบายออกไปได้ในความฝันแต่ก็ต้องผ่านการแปรรูปให้แนบเนียนด้วย

พูดง่ายๆ ว่าอยากฆ่าใครหรือปล้ำใครก็อาจจะต้องผ่านสัญลักษณ์บางอย่างจะทำกันโต้งๆ ก็คงไม่ได้แม้จะในความฝันก็ตาม (หรือได้บ้างแต่ตื่นเสียก่อน)

โอไรออนเรียนรู้ความมืดจากภูตการนอนทั้งห้า พอรู้ว่าภูตทั้งห้าลำบากกันอย่างไรการณ์กลับกลายเป็นว่าเรื่องของตนเองเป็นเรื่องเล็กไปเลย

หนังไม่ยาวแต่ก็เล่าเรื่องของโอไรออนได้ยาวมาก ว่ากันตั้งแต่โอไรออนยังเป็นเด็ก จนกระทั่งเป็นพ่อคนนั่งคุยกับลูกสาวเรื่องความกลัวเหมือนกัน ไปจนถึงกลายเป็นคุณตาที่ได้เห็นลูกสาวซึ่งวันนี้เป็นแม่คนแล้วคุยกับหลานต่อ ตรงนี้น่าชมเชยคนเขียนเรื่อง

หนังยังมีโมทิฟ (motif) เล็กๆ เรื่องท้องฟ้าจำลอง เป็นนัดที่โอไรออนไม่กล้าไปกับแซลลี่ตั้งแต่ต้นเรื่อง ผ่านบทรำพึงว่าคนเราก็แปลกดีที่เปิดไฟกันสว่างจนดวงดาวหายไปแล้วต้องมาสร้างท้องฟ้าจำลอง ก่อนจะไปถึงฉากจบที่ท้องฟ้าจำลองอย่างน่าชมเชยอีกเช่นกัน

หนังดีนะครับ แต่เข้าใจยาก ฮา ฮา ก็ไม่น่าแปลกใจเพิ่งเป็นงานกำกับครั้งแรกของ Sean Charmatz สร้างจากหนังสือสำหรับเด็กปี 2014 ชื่อเดียวกันเขียนโดย Emma Yarlett นักวิจารณ์ชื่นชมกันพอสมควรแต่ดูเหมือนจะไม่เป็นที่สนใจของคนดูเท่าไรนัก

อาจจะเป็นอย่างที่ความฝันว่า “เดี๋ยวนี้คนเราชอบฝันกลางวันมากกว่า” •

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์