ศิลปินผู้ถ่ายทอดความงดงาม ในความร้าวรานของชีวิต ผ่านวัตถุข้าวของอันเรียบง่ายสามัญ Félix González-Torres

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในโลกศิลปะ มีศิลปินที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นส่วนตัว อย่างเรื่องราวความรักความสัมพันธ์, อารมณ์ความรู้สึก และศิลปินที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นส่วนรวมและสาธารณะ อย่างเรื่องสังคม, การเมือง แต่มีศิลปินไม่กี่คนที่สามารถทำงานเกี่ยวกับประเด็นทั้งสองฝั่งได้อย่างกลมกลืน หนึ่งในจำนวนนั้นคือ เฟลิกซ์ กอนซาเลซ-ตอร์เรส (Félix González-Torres) ศิลปินชาวอเมริกัน/คิวบา ผู้สลายเส้นแบ่งระหว่างชีวิตกับศิลปะและความเป็นส่วนตัวกับสาธารณะ

ในฐานะเกย์ผู้เปิดเผยรสนิยมทางเพศอย่างโจ่งแจ้งที่มีชีวิตอยู่ในยุค 1980s ในช่วงเวลาวิกฤตโรคเอดส์ และยุคสมัยที่ศิลปะพัวพันกับการเมืองอย่างมาก

ผลงานศิลปะจัดวางอันแปลกใหม่ของกอนซาเลซ-ตอร์เรส สร้างชื่อเสียงจากความเรียบง่าย แต่สร้างแรงกระเพื่อมอย่างทรงพลัง จากการนำเสนอเรื่องราวธรรมดาสามัญในชีวิตคนเราอย่างความรัก, ความพลัดพราก ได้อย่างเปี่ยมอารมณ์ความรู้สึกราวกับบทกวี

ถึงแม้จะมีชีวิตและช่วงเวลาการทำงานแสนสั้น แต่มรดกทางความคิดของเขาก็ยังคงมีชีวิตอยู่ ทั้งแนวคิดของศิลปะการเมือง และแนวคิดแบบสุนทรียศาสตร์เชิงสัมพันธ์ (Relational Aesthetics) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับผลงานศิลปะ เพื่อลดช่องว่างระหว่างศิลปะกับผู้ชม และเปลี่ยนสถานะผู้ชมให้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญอันจะขาดเสียไม่ได้ในผลงานศิลปะโดยไม่รู้ตัว

ด้วยผลงานอันเรียบง่าย เปิดกว้าง และเปิดโอกาสให้คนรุ่นหลังหยิบมาทำซ้ำได้อย่างไม่รู้จบ ถึงแม้ศิลปินจะไม่มีชีวิตอยู่แล้วก็ตาม

“Untitled” (Portrait of Ross in L.A.) (1990) Art Institute of Chicago, ภาพจาก https://shorturl.at/gvG05

บทบาทอันน่าทึ่งของกอนซาเลซ-ตอร์เรส ในโลกศิลปะร่วมสมัยคือการที่เขาหยิบเอาความเป็นประวัติศาสตร์และการเมืองส่วนบุคคลมาสร้างเป็นงานศิลปะแบบมินิมอลลิสม์และคอนเซ็ปช่วลอาร์ต ที่คนทั่วไปเข้าถึงและเข้าใจได้ไม่ยาก

ไม่ว่าจะเป็นผลงานศิลปะจัดวางจากปึกกระดาษวางเป็นระเบียบจนดูคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม, ราวแขวนหลอดไฟ, ข้อความตัวหนังสือ, นาฬิกาติดผนังรูปทรงเรียบง่าย, ลูกอมห่อกระดาษแก้ว หรือภาพของก้อนเมฆอันงดงามละมุนละไม แต่แอบแฝงถึงสถานการณ์ในสังคมการเมืองร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ, ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน และวิกฤตโรคเอดส์

กอนซาเลซ-ตอร์เรส ยังใช้ผลงานภาพถ่ายพอร์ตเทรต (ที่ไร้บุคคล) ในการทำลายสุนทรียะแห่งความแห้งแล้งไร้อารมณ์ ที่เป็นเสมือนกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดของศิลปะมินิมัลลิสม์ จนเรียกได้ว่าเขาเป็นศิลปินคนแรกๆ ที่เติมอารมณ์ความรู้สึกลงไปในงานศิลปะมินิมัลลิสม์ เขามักตั้งชื่อผลงานว่า “ไม่มีชื่อ” (แต่บางทีก็แอบใส่คำอธิบายเอาไว้ในวงเล็บข้างหลัง) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ตีความสิ่งที่เห็นและเชื่อมโยงกับเรื่องราวส่วนตัวของศิลปิน ผลงานศิลปะจัดวางภาพถ่ายพอร์ตเทรตที่เกือบจะดูนามธรรมเหล่านี้ เปิดเผยความสัมพันธ์ส่วนตัวอันใกล้ชิดของศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผลงานของเขาแต่ละชิ้น อย่างเช่น ผลงาน “Untitled” (1991) ภาพถ่ายหมอนสองใบบนเตียงนอนที่มีรอยยุบจาการหนุนนอนของคนสองคนประทับหลงเหลืออยู่บนหมอน ภาพถ่ายอันเรียบง่ายภาพนี้สื่อถึงอารมณ์อันโหยไห้อาลัยอาวรณ์จากการสูญเสียคนรักได้อย่างลึกซึ้ง

“Untitled” (Portrait of Ross in L.A.) (1991) ผู้ชมหยิบลูกอมจากผลงานนี้ที่จัดแสดงใน Art Institute of Chicago, ภาพโดย mark6mauno ภาพจาก https://shorturl.at/afhW5

กอนซาเลซ-ตอร์เรส ยังเป็นศิลปินที่ต้องการให้ผลงานของเขาเข้าถึงผู้ชมในวงกว้าง เขาเชื่อว่าผลงานศิลปะของเขาจะไม่มีความหมายเลย หากปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้ชม

“ถ้าไม่มีสาธารณชน ผลงานศิลปะเหล่านี้ก็คงไร้ค่า ผมต้องการให้สาธารณชนมีส่วนช่วยเหลือและรับผิดชอบผลงานของผมด้วยการเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในผลงานเหล่านี้กัน”

แนวทางนี้เป็นตัวอย่างแรกๆ ของแนวคิดแบบสุนทรียศาสตร์เชิงสัมพันธ์ ถึงแม้แนวเช่นคิดนี้จะเคยปรากฏในแถลงการณ์ของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะในยุค 1960s อย่าง ดาดา (Dada), เซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism), และ แฮปเพนนิ่งอาร์ต (Happening art) แต่กอนซาเลซ-ตอร์เรส ก็ถือเป็นศิลปินที่ขยายเส้นทางของรูปแบบการทำงานในลักษณะนี้ให้กว้างขึ้น และเป็นผู้เปิดศักราชใหม่แห่งความสัมพันธ์อันแนบชิดระหว่างศิลปินและผู้ชม ด้วยการเปลี่ยนวัตถุข้าวของรอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวันอย่างลูกกวาด หรือกระดาษถ่ายเอกสาร ให้กลายเป็นงานศิลปะจัดวางที่ผู้ชมสามารถหยิบฉวยกลับไปได้

ผลงานเหล่านี้นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเลื่อนไหลทางความคิดและความเป็นประชาธิปไตยในงานศิลปะอย่างชัดเจนแล้ว ยังทำลายเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว และขยายประสบการณ์ทางศิลปะออกไปนอกหอศิลป์อีกด้วย

“Untitled” (1989/1990) ปึกกระดาษวางเป็นระเบียบจนดูคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม ตรงกลางแผ่นกระดาษในแต่ละปึกมีตัวหนังสือพิมพ์ว่า “Nowhere better than this place.” และ “Somewhere better than this place.”, ถ่ายภาพโดย 19h00s, ภาพจาก https://shorturl.at/yBJ37

แรงบันดาลใจสำคัญที่สุดของกอนซาเลซ-ตอร์เรส คือความสัมพันธ์อันยาวนานของเขากับ รอส เลย์ค็อก (Ross Laycock) คนรักชาวแคนาดาผู้เป็นซอมเมอลิเยร์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์) และนักเคลื่อนไหวด้านโรคเอดส์ ที่เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคเอดส์ในปี 1991 ชีวิตและความตายของรอส ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อกอนซาเลซ-ตอร์เรส โดยเขาเขียนว่า ผลงานของเขานั้นเป็นอะไรที่เกี่ยวกับรอสมากที่สุด เหนือสิ่งอื่นใด

ผลงานศิลปะของกอนซาเลซ-ตอร์เรส มักจะถูกทำขึ้นเป็นชุดๆ หรือเป็นวัตถุข้าวของที่ซ้ำๆ กันจำนวนมาก ดังเช่นผลงานที่มีชื่อเสียงเป็นที่จดจำที่สุดของเขาอย่าง “Untitled” (Portrait of Ross in L.A.) (1990) ที่ประกอบด้วยลูกอมห่อกระดาษแก้วหลากสีสันจำนวนนับไม่ถ้วนกองพะเนินอยู่ตรงมุมหนึ่งของห้องแสดงงาน

ลูกกวาดเหล่านี้มีน้ำหนักรวมกันตามอุดมคติ(ของศิลปิน) คือ 175 ปอนด์ (หรือราว 79.38 ก.ก.) ซึ่งเป็นน้ำหนักของรอส คนรักผู้ล่วงลับของเขาในช่วงเวลาก่อนที่จะติดเชื้อเอชไอวี ผลงานชิ้นนี้ถูกเรียกกันในชื่อเล่นว่า “ลูกอมหล่นทะลัก” (candy spill) กอนซาเลซ-ตอร์เรส ทำผลงานนี้ออกมาในหลายชุด หลากขนาด, สีสัน และรูปทรง โดยผู้ชมที่เข้ามาชมงานสามารถหยิบฉวยลูกอมเหล่านี้กลับไปได้ตามใจชอบ

เมื่อลูกอมลดจำนวนลงจากการถูกหยิบไป ก็จะถูกเติบกลับเข้าไปใหม่ วัฏจักรเช่นนี้กระตุ้นเตือนให้เรานึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างการมีชีวิตและความตาย กองลูกวาดที่ว่านี้เป็นเหมือนภาพแทนของบุคคล ทั้งในแง่ของน้ำหนัก, สีสัน หรือความสัมพันธ์ระหว่างผลงานกับศิลปิน

ด้วยผลงานชิ้นนี้ กอนซาเลซ-ตอร์เรส แสดงให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จที่สุด คือการเคลื่อนไหวที่ดูไม่เหมือนเป็นเรื่องการเมือง ด้วยการที่ศิลปินเปิดโอกาสให้ผู้ชมจำนวนมากละเมิดกฎอันเข้มงวดของหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ ในการห้ามสัมผัส, จับต้อง หรือแม้แต่หยิบฉวยงานศิลปะกลับบ้าน

ศิลปินจงใจทำให้ผู้ชมเหล่านี้กลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในกระบวนการสูญหายไปของงานศิลปะ ผลงานชิ้นนี้ยังสะท้อนถึงปัญหาจากวิกฤตด้านสาธารณสุขอันยาวนานของโรคเอดส์ในยุค 90 ที่หลายคนตีตราโรคนี้ว่าเป็น “โรคมะเร็งของเกย์” อันนำไปสู่ความล้มเหลวในการให้งบประมาณสนับสนุนการวิจัยหรือการรักษาโรคนี้อย่างเพียงพอ จนท้ายที่สุด ก็นำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรหลายพันคน

ตัวผมเองเคยชมงานนี้ (และหยิบลูกกวาดกลับบ้านมาด้วย) ในโครงการศิลปะ do it ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ในช่วงยุค 1990s ถึงแม้จะเป็นผลงานที่ทำขึ้นในภายหลังโดยศิลปินชาวไทยตามรูปแบบของโครงการ แต่ก็ไม่ได้ทำให้งานด้อยคุณค่าลงแต่อย่างใด

เพราะสิ่งสำคัญของงานศิลปะประเภทนี้คือความคิดที่ศิลปินทิ้งเอาไว้มากกว่า

“Untitled” (Perfect Lovers) (1991) ศิลปะจัดวางนาฬิกาติดผนังสองตัวที่ตั้งเวลาเดินเท่ากัน แต่ท้ายที่สุดนาฬิกาตัวใดตัวหนึ่งจะถ่านอ่อนกว่าจนหยุดเดินลง เป็นการสะท้อนความสัมพันธ์ของกอนซาเลซ-ตอร์เรส กับคู่รักผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์ เขากล่าวว่า “ผลงานชิ้นนี้เป็นอะไรที่น่ากลัวที่สุดเท่าที่ผมเคยทำมา”

ผลงานอีกชิ้นของเฟลิกซ์ กอนซาเลซ-ตอร์เรส ที่ผมมีโอกาสได้ชมก็คือ “Untitled” (A Love Meal) (1992) ที่จัดแสดงในพิพิภัณฑ์ Stedelijk อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ที่ทำขึ้นเพื่อรำลึกถึงคนรักของเขาที่เสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนจากโรคเอดส์ กอนซาเลซ-ตอร์เรส ใช้ราวหลอดไฟ ที่ปกติมักจะใช้ประดับบาร์ริมทะเลหรืองานปาร์ตี้ฤดูร้อน สร้างผลงานศิลปะที่ถ่ายทอดความรู้สึกละมุนละไมปนโหยไห้ชิ้นนี้ แสงนวลเรืองรองจากหลอดไฟที่ห้อยอยู่บนสายไฟลงมาจากเพดาน เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความสุขอันไม่จีรังยั่งยืน หรือแม้แต่ชีวิตอันแสนสั้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะสูญสลายหายไป ไม่ต่างจากหลอดไฟที่ต้องขาดและดับวูบไปในสักวันหนึ่ง

“Untitled” (A Love Meal) (1992) พิพิภัณฑ์ Stedelijk อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์, ถ่ายภาพโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
“Untitled” (1991) ภาพถ่ายหมอนสองใบบนเตียงนอน ที่มีรอยยุบจาการหนุนนอนของคนสองคนประทับหลงเหลืออยู่บนหมอนติดตั้งในสถานีรถไฟใต้ดิน Hangangjin กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้, ถ่ายภาพโดย Paul Keller, ภาพจาก https://shorturl.at/yBJ37

ถึงแม้จะเสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนจากโรคเอดส์ในปี 1996 ในวัย 38 ปี แต่กอนซาเลซ-ตอร์เรส ก็ยังเป็นหนึ่งในศิลปินอเมริกันเพียงไม่กี่คน ผู้เป็นตัวแทนสหรัฐอเมริกาไปร่วมแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว ผลงานของเขายังคงส่งแรงบันดาลใจต่อศิลปินรุ่นหลังจำนวนนับไม่ถ้วน รวมถึงศิลปินร่วมสมัยชาวไทยอย่าง ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ด้วย

ในปี 2002 มูลนิธิ Felix Gonzalez-Torres Foundation ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่ออุทิศและสานต่อมรดกแห่งเจตนารมณ์ทางศิลปะของศิลปินผู้นี้นั่นเอง

“Untitled” (1989) ผลงานศิลปะบนบิลบอร์ดที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้เคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในสหรัฐอเมริกา, ภาพจาก https://shorturl.at/gvG05

ข้อมูล https://shorturl.at/epuPT, https://shorturl.at/aftN6, https://shorturl.at/yBJ37

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์