THE SPIRITUAL MASKS | การสำรวจพลังของความเชื่อในสังคมมนุษย์ ผ่านศิลปะแห่งหน้ากาก

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ถึงแม้โดยปกติ “หน้ากาก” จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสวมใส่เพื่อป้องกัน, ปกปิดใบหน้า, อารมณ์ความรู้สึก หรือแม้แต่อำพรางความเป็นจริงบางอย่างของผู้สวมใส่

แต่ในทางกลับกัน หน้ากากก็ถูกใช้ในการสื่อสาร, สะท้อน, ส่งผ่านความรู้สึกนึกคิด หรือแม้แต่ความเชื่อของผู้ที่สวมใส่ออกมาเช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะป็นหน้ากากที่ใส่เพื่อการแสดงมหรสพ การแสดงสัญลักษณ์ทางสังคมการเมือง หรือแม้แต่ในการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง

สิ่งเหล่านี้เป็นแนวคิดที่แฝงเร้น หรือในทางกลับกัน สะท้อนผ่านผลงานในนิทรรศการแสดงเดี่ยวของ เอกรินทร์ เจริญรัตน์ ศิลปินร่วมสมัยชาวเชียงใหม่ ในชื่อว่า THE SPIRITUAL MASKS ที่นำเสนอการทดลองทางศิลปะเกี่ยวกับกระบวนการสร้างหน้ากากเพื่อสำรวจความหมาย, ความเชื่อ และอิทธิพลที่ส่งผลกระทบต่อสังคมของเครื่องมือชนิดนี้ ที่มนุษย์ใช้ในการอำพรางหรือสื่อสารบางสิ่งบางอย่างมานับแต่ครั้งบรรพกาล

โดยศิลปินเจ้าของผลงานกล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“แนวคิดในผลงานของผมเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวผมกับสังคม และตัววัตถุ หรือสัญลักษณ์ที่ผมนำมาใช้ ผมค่อนข้างสนใจสัญลักษณ์อันเรียบง่ายที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน อย่างเช่น หน้ากาก, หมวก, กระเป๋า หรือวัตถุเล็กๆ ที่ดูไม่ค่อยมีความสำคัญ แต่มีความหมาย มีความเป็นสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นตัวตนของคน ทั้งในเชิงสังคม, วัฒนธรรม และในเชิงปัจเจกของตัวเราเอง”

“ก็เลยทำให้เกิดโครงการศิลปะที่มีชื่อว่า A Thousand Masks ซึ่งเป็นกระบวนการทดลองที่ผมทำในนิทรรศการแต่ละครั้ง”

“โดยเนื้อหาของแต่ละนิทรรศการนั้นมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เหมือนเราจินตนาการว่าโครงการนี้เป็นเหมือนปลาใหญ่ตัวหนึ่ง ซึ่ง A Thousand Masks ก็คือกระดูกสันหลังของมัน”

“ส่วนเนื้อหาของงานแต่ละครั้งก็เป็นกระดูกซี่โครงเล็กๆ แยกย่อยออกมา ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะรวมกันเป็นปลาทั้งตัวเมื่อผมทำงานครบ 1,000 ชิ้น”

แก่นแกนของแนวคิดของผลงานในนิทรรศการครั้งนี้คือ “ความเชื่อ” (Belief) สภาวะทางความคิดของมนุษย์ ที่ส่งอิทธิพลต่อสังคม วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตของมนุษย์มานับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

“ผมมองว่า ‘ความเชื่อ’ นั้นเป็นตัวกำหนดหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตประจำวันของเรา รวมถึงของสังคมด้วย อย่างการที่เราเติบโตมา เราก็จะถูกปลูกฝังความเชื่อผ่านวัฒนธรรม และสร้างความเป็นตัวตนผ่านความเชื่อเหล่านี้ ที่ค่อยๆ หล่อหลอมตัวตนของเรา ให้เราเป็นคนอย่างไร คิดอย่างไร หรืออาจจะรวมถึงการเกิดความเจ็บป่วยทางจิต ความเชื่อที่ว่านี้เชื่อมโยงกันไปถึงองคาพยพส่วนที่เล็กที่สุดของสังคมอีกด้วย”

ในนิทรรศการครั้งนี้ นอกจากจะนำเสนอ “หน้ากาก” ในฐานะวัตถุในเชิงกายภาพแล้ว ยังเป็นการนำเสนอในฐานะสัญลักษณ์ทางสังคมอีกด้วย

“ผมใช้หน้ากากในเชิงสัญลักษณ์ที่แทนทั้งสถานการณ์ในช่วงที่เราเจอกับโรคโควิด -19 ที่เราถูกบังคับให้อยู่ในพื้นที่ของตัวเองเกือบตลอดเวลา โดยไม่ได้เกิดจากความสมัครใจ ทำให้ผมสงสัยว่า เวลาเราเจอผู้คนหลังจากการกักตัวอยู่กับตัวเองนานๆ แล้วเรารู้สึกว่า ทำไมเราถึงไม่สามารถเชื่อมต่อกับผู้คนที่เราเคยเจอ หรือเพื่อนฝูงที่เราพูดคุยกันได้อย่างสนิทใจมาก่อน มันเกิดอะไรขึ้น?”

“หรือว่าตอนนี้เรามีหน้ากากเป็นตัวกีดขวางบางสิ่งอย่างบนใบหน้าของเรา ผมรู้สึกว่าคนเราสร้างหน้ากากบางแบบขึ้นมาเพื่อที่จะรับมือกับช่วงเวลาที่ว่านี้ เลยทำให้เกิดแนวคิดของผลงานชุดนี้ขึ้น”

ที่น่าสนใจก็คือ ที่มาที่ไปของหน้ากากเหล่านี้ไม่ได้มีแรงบันดาลใจมาจากหน้ากากที่ปรากฏในชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรม ประเพณีใดโดยเฉพาะเจาะจง หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดจากประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดภายในที่สั่งสมจากการใช้ชีวิตของเขาเสียมากกว่า

“หน้ากากเหล่านี้ไม่ได้มีที่มาจากหน้ากากในวัฒนธรรมไหน ไม่เจาะจงว่าต้องเป็นหน้ากากแอฟริกัน หน้ากากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือหน้ากากแบบประเพณีของชาติพันธุ์อะไร แต่เกิดขึ้นจากสิ่งที่อยู่ข้างในตัวผมทั้งหมด”

“ผมใช้หน้ากากนี้ในเชิงสัญลักษณ์ของการเชื่อมต่อระหว่างผู้คน และเป็นการศึกษาทดลอง ว่าความสัมพันธ์ในเชิงวัฒธรรมเกี่ยวกับแนวคิดของปัจเจกแต่ละคนที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับหน้ากากนั้นทำงานอย่างไร และนำพาความคิดของผู้ชมไปถึงไหนได้บ้าง”

“ผมจึงเรียกรูปแบบของหน้ากากเหล่านี้ว่า Futuristic Tribal ที่มีทั้งความเป็นชนเผ่า (Tribal) และความเป็นพื้นบ้าน (Folk) หน่อยๆ ผมยังอยากให้มันมีความโปร่งใส และเปราะบาง เพื่อให้รู้สึกถึงความแตกหักง่าย ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องของจิตใจและความเชื่อ เพราะผมมองว่าความเชื่อเป็นอะไรที่ค่อนข้างอ่อนไหว เปราะบาง ทำให้เวลาที่เราพูดเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อกับคนที่เราไม่รู้จักหรือคุ้นเคย”

“เราจึงรู้สึกว่าเราควรต้องระวังมากๆ เพราะฉะนั้น เทคนิคที่ใช้ทำงานชุดนี้จึงเป็นเทคนิคหมึกจีนที่ใช้เชื้อน้ำบนบนกระดาษเป็นหลัก เพื่อสื่อถึงความรู้สึกที่เปราะบางมากๆ”

เอกรินทร์ยังแบ่งผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ออกเป็นสามส่วน จัดแสดงในพื้นที่แสดงงานสามชั้นของหอศิลป์ห้ผู้ชมได้เดินทางสำรวจความคิดของเขาไปทีละขั้นทีละตอน

“นิทรรศการครั้งนี้ ผมแบ่งผลงานเป็นสามชั้น สามขั้นตอน ชั้นแรกจะเป็นในส่วนของ Visual หรือการมองเห็น การรับรู้ เป็นแนวคิดของการพบเจอครั้งแรก ที่สื่อสารผ่านงานจิตรกรรมในชุด The Spiritual Masks, ส่วนชั้นที่สองเป็นงานศิลปะจัดวางในชุด Ceremony หรือพิธีกรรม ที่ใส่แสงไฟแบล็กไลต์เข้าไปข้างใต้หน้ากากให้แสงไฟแบล็กไลต์สะท้อนผ่านกระดาษ ให้แสดงพื้นผิวของกระดาษ เพื่อแสดงถึงความเป็นกระบวนการ การกระทำ ด้วยการนำมุมมองแบบนามธรรมเข้ามาสู่ชีวิตจริงของผู้คน ทำให้พวกเขารู้สึกว่าสิ่งนี้มีอยู่ และจับต้องได้ และชั้นที่สามจะเป็นงานในชุด Ghost House ประติมากรรมจัดวางจากเซรามิกกับกระดาษ ที่ทำงานในเชิงของความทรงจำและประสบการณ์ที่คนสามารถนำมาใช้กับความเชื่อและความคิดของตัวเอง”

“ผมเลยทำงานออกมาในรูปของภาชนะที่ใช้ในการกักเก็บสิ่งต่างๆ ในขณะเดียวกัน รูปทรงที่ผมออกแบบมาก็จะให้ความรู้สึกเหมือนเป็นบ้านเล็กๆ หรือศาลพระภูมิ ที่หลายๆ วัฒธรรมใช้เป็นที่อยู่ของความเชื่อ เป็นตัวแทนของโลกนามธรรมที่ดึงเอาความเชื่อเหล่านี้มาสู่ความเป็นจริง ด้วยการเชื่อมต่อผ่านวัตถุ เหมือนเป็นสื่อสิงสถิตของจิตวิญญาณบางอย่าง”

“การแบ่งผลงานในนิทรรศการนี้เป็นชั้นๆ แบบนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าไปสำรวจว่าความเชื่อเหล่านี้ทำงานกับเราอย่างไร และค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาในตัวตนของเราแบบไหน และกระตุ้นให้พวกเขาเกิดความสงสัยว่าความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อ กับตัวตน สังคม และวัฒนธรรมของเรานั้นคืออะไรบ้าง”

ถ้าใครบางคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า การเดินทางคือลมหายใจของศิลปิน เอกรินทร์เองก็เป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่ได้อานิสงส์ทางความคิดและแรงบันดาลใจแห่งการสร้างสรรค์จากการเดินทางท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรปหลังจากเรียนจบ

สิ่งนี้ทำให้เขาสนใจในประเด็นทางสังคมการเมือง จิตใจของมนุษย์และปรัชญา เอกรินทร์มักจะตั้งคำถามว่าสภาวะทางสังคมนั้นส่งผลกระทบต่อกระบวนการคิดและการสร้างตัวตนใหม่ของมนุษย์ได้อย่างไร เขาเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตราบใดที่เรายังคงอยู่ร่วมกันในสังคมนี้

“เวลาผมท่องเที่ยวเดินทางในหลายประเทศ ผมจะสนใจเกี่ยวกับผู้คนเป็นพิเศษ ผมชอบพูดคุยกับคนหลายกลุ่ม ทำให้ผมรับรู้ว่า ถึงแม้คนเราจะมีวัฒนธรรม หรือรูปแบบการใช้ชีวิตต่างกัน แต่เราก็มีความเชื่อและความรู้สึกนึกคิดที่คล้ายกัน

 

อย่างในวัฒนธรรมหลายๆ แห่ง ก็ใช้หน้ากากเป็นตัวแทนในการเปลี่ยนผ่านหรือการสื่อสารถึงบางสิ่งบางอย่างที่เป็นนามธรรมมากๆ เข้ามาสู่ชีวิตผู้คน ผมเลยรู้สึกว่ามนุษย์เรานั้นไม่มีเส้นแบ่งในเรื่องของความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นคนในฝั่งยุโรป เอเชีย หรือแอฟริกา ต่างก็มีความรู้สึกในเชิงนี้ไม่ต่างกัน

ผมก็เลยตีความออกมาเป็นภาพใหญ่เพื่อนำเสนอผ่านนิทรรศการครั้งนี้”

นิทรรศการ THE SPIRITUAL MASKS โดย เอกรินทร์ เจริญรัตน์ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม-28 สิงหาคม 2023 ณ RED DOG GALLERY เชียงใหม่

เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่ 08:00-17:00 น.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ : 09-1076-8585

อีเมล : [email protected]

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์