การขุดคุ้ยตะกอนประวัติศาสตร์ ผ่านภาพถ่ายแห่งอดีตและปัจจุบัน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER การขุดคุ้ยตะกอนประวัติศาสตร์ ผ่านภาพถ่ายแห่งอดีตและปัจจุบัน

 

 

“ภาพถ่าย” นอกจากจะเป็นเครื่องแทนความเป็นจริง เป็นเครื่องมือบันทึกห้วงเวลาขณะหนึ่งในชีวิต เป็นหลักฐานการมีอยู่ของความสัมพันธ์ หรือแม้แต่เป็นเครื่องมือบันทึกประวัติศาสตร์

ภาพถ่ายยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ความไม่ชอบมาพากลในสังคมได้อีกด้วย

ดังเช่นผลงานในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของ เล็ก เกียรติศิริขจร ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้ทำงานในสื่อภาพถ่าย อย่าง UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER ที่ขุดคุ้ยความทรงจำในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ยังไม่ถูกชำระจากเหตุการณ์ความรุนแรงนองเลือดทางการเมืองในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ถูกกลบฝังภายใต้ภาพลักษณ์อันสดใสสวยงามของสังคมอันสงบเรียบร้อย เปี่ยมศีลธรรม

ด้วยผลงานภาพถ่ายชุด Postcards from Heaven ที่นำภาพถ่ายกิจกรรมรื่นเริงทางสังคมในยุคปัจจุบันในสีสันฉูดฉาดจัดจ้าน จำนวน 16 ภาพ ซ้อนทับด้วยข้อความพาดหัวข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์อย่าง หนังสือพิมพ์ดาวสยาม, หนังสือพิมพ์ชาวไทย และหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิไทม์ ฯลฯ

ในลักษณะตัวหนังสือโปร่งแสงจนยากจะสังเกตเห็น ถ้าไม่พินิจพิจารณาให้ดี

นิทรรศการ UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER
นิทรรศการ UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER
นิทรรศการ UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER
นิทรรศการ UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER

เล็ก เกียรติศิริขจร ศิลปินเจ้าของผลงานกล่าวถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“ผลงานในนิทรรศการนี้มีที่มาจากการที่ผมสะสมโปสการ์ดเก่าในช่วงทศวรรษ 2510 ที่มีโทนสีแปลกๆ ฉูดฉาด ในยุคสมัยที่เมืองไทยกำลังประชาสัมพันธ์ตัวเองเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

“ในตอนแรกผมสนใจแค่ภาพลักษณ์ของโปสการ์ด เลยลองถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์ปัจจุบันด้วยรูปแบบทางสุนทรียะเดียวกันกับโปสการ์ดเหล่านั้น”

“หลังจากนั้นผมก็คิดต่อไปอีกว่าในช่วงปีนั้นมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงปีนั้นมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ผมก็เลยเอาเหตุการณ์ที่ว่านั้นเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานชุดนี้ โดยเปรียบเทียบเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต กับกิจกรรมรื่นเริงทางสังคมที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ด้วยความที่เป็นเหตุการณ์ในยุคร่วมสมัย พอเกิดเหตุการณ์ไหนขึ้น ผมก็ออกไปถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2 ปี”

“แต่กับเหตุการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในอดีตล่ะ ผมจะเอามาผนวกเข้ากับงานชุดนี้ได้อย่างไรดี? ผมเลยเข้าไปค้นคว้าข้อมูลในหอสมุดแห่งชาติ โดยมุ่งไปที่พาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ในยุคสมัยนั้น”

“ผมนำพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์เหล่านี้มาผนวกเข้ากับภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างกิจกรรมทางสังคมและวัฒธรรมต่างๆ ที่ถูกจัดขึ้น อย่างเช่น เหตุการณ์ฉลอง 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยเลือกใช้เทคนิคการพิมพ์ยูวีลงบนแผ่นอะคริลิก และทับซ้อนตัวหนังสือข้อความจากพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ (แบบโปร่งใส) ลงไปบนผิวหน้าของภาพ โดยที่ยังคงความเป็นตัวหนังสือพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์เอาไว้ ขนาดของผลงานก็ยังเท่ากับขนาดหน้าคู่ของหนังสือพิมพ์อีกด้วย”

“ที่ผมเลือกใช้วัสดุอะคริลิกพลาสติก เพราะผมอยากให้มีความรู้สึกแบบ Kitsch (ความโหล ดาษดื่น) แบบเดียวกับเนื้อหาที่อยู่ในภาพซึ่งเป็นกิจกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว เทคนิคการพิมพ์ยูวียังเป็นเทคนิคที่ใช้กันในงานโฆษณาอีกด้วย”

นิทรรศการ UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER
นิทรรศการ UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER
นิทรรศการ UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER
นิทรรศการ UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER

“นอกจากจะจัดวางองค์ประกอบของภาพให้เหมือนโปสการ์ดแล้ว ผมยังปรับแต่งสีของภาพเยอะมาก ด้วยความที่ผมพิมพ์ภาพด้วยเทคนิคการพิมพ์ยูวี ซึ่งใช้ระบบสีแบบ CMYK ที่ให้สีสันฉูดฉาดแปลกตา เหมือนกับโปสการ์ดในยุคนั้น และหนังสือแบบเรียนของเด็กในสมัยก่อน ซึ่งใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมต้องการ”

“นอกจากจะปรับแต่งให้ภาพถ่ายมีโทนสีจัดจ้าน ผมยังเลือกถ่ายภาพให้มีความชัดลึกเท่ากันทั้งภาพ และเลือกถ่ายภาพตอนแสงสว่างจ้า เพราะต้องการให้ภาพดูแบนเท่าๆ กันหมด เพื่อต้องการพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับความจริงและความไม่จริง ซึ่งเป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับบันทึกทางประวัติศาสตร์”

ที่น่าสนใจก็คือ พื้นห้องแสดงงานของนิทรรศการครั้งนี้ ถูกปูด้วยหญ้าเทียมสีเขียวสดใสไปจนทั่วทั้งห้อง ราวกับจะล้อไปกับชื่อนิทรรศการ ด้านในสุดของห้องแสดงงานยังมีภาพถ่ายเล็กๆ ของต้นมะขาม หลักฐานเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองอันน่าสยดสยองในช่วงเวลานั้นด้วย

“ที่ปูพื้นหญ้าแบบนี้ก็เพราะผมต้องการเปลี่ยนความรู้สึกของผู้ชมที่เดินเข้าไปในห้องแสดงงานที่เดิมเป็นพื้นไม้ ผมอยากให้นิทรรศการนี้เป็นมากกว่านิทรรศการภาพถ่ายทั่วไป พื้นหญ้านี้ยังเป็นภาพแทนของสนามหลวง และสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม”

“ส่วนภาพถ่ายต้นมะขามที่สนามหลวง ผมสันนิษฐานว่าเป็นต้นเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม เมื่อดูจากลักษณะทางกายภาพที่ใกล้เคียงกับต้นที่อยู่ในภาพถ่ายมาก แต่ผมยืนยันไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาตร์และวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับต้นมะขามนี้”

“สำหรับผมภาพนี้เป็นเหมือนภาพแทนประวัติศาสตร์ที่ถูกย่อส่วนให้เป็นเพียงประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลของคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้น ผมเลยทำให้มีขนาดเท่ากับภาพถ่ายในอัลบั้มรูปถ่ายของครอบครัว”

Postcards from Heaven 02 (2022)
Postcards from Heaven 05 (2020)

บนพื้นห้องแสดงงานยังมีสายไฟสีดำยาวเหยียดวางกองยุ่งเหยิงระเกะระกะอยู่เต็มพื้น สายไฟที่เห็นนี้มีความยาว 241 เมตร ซึ่งตรงกับวาระ 241 ปีของกรุงรัตนโกสินทร์ ราวกับจะเป็นภาพแทนประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยอันยุ่งเหยิงวุ่นวายของบ้านเมืองนี้ กองสายไฟที่ว่านี้ก็ยังทำให้เรานึกถึงสายไฟรกรุงรังบนท้องถนน ที่กลายเป็นภาพจำของกรุงเทพมหานครในใจของใครหลายคน

“ภาพถ่ายทั้ง 16 ภาพที่จัดแสดงอยู่บนผนังในนิทรรศการครั้งนี้ถูกเรียงลำดับจากช่วงเวลาของตัวหนังสือพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ต้นปีไปจนถึงปลายปี 2519 ไล่เรียงว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วงเวลานั้น”

“นิทรรศการครั้งนี้เป็นเหมือนการบอกเล่าข้อมูลที่ผมพบเจอมา และสำรวจว่าผู้ชมจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมถ่ายภาพมาอย่างไร”

กฤษฎา ดุษฎีวนิช ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการกล่าวถึงเป้าหมายของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“นิทรรศการครั้งนี้เราพยายามจะสร้างแรงสั่นสะเทือนอะไรบางอย่างแก่ประวัติศาสตร์ที่เคยตกตะกอนให้เกิดการฟุ้งกระจายคุกรุ่นขึ้นมา ด้วยการใช้ภาพถ่ายที่ดูมีความสุข ความสงบ ความสวยงาม สมบูรณ์แบบ เหมือนเป็นสรวงสวรรค์ กับชุดตัวหนังสือที่มีความขัดแย้งอย่างสิ้นเชิง”

“ภาพถ่ายเหล่านี้คือภาพของสถานที่ที่ถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลังจากที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศจากการรัฐประหาร สิ่งที่ดูสมบูรณ์แบบและสวยงามที่ว่านี้มีตะกอนความทรงจำอะไรบางอย่างอยู่ นิทรรศการครั้งนี้เป็นความพยายามในการทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนจนตะกอนที่ถูกกลบฝังซุกซ่อนอยู่ในซอกหลืบของประวัติศาสตร์เผยตัวขึ้นมา”

Postcards from Heaven 11 (2021)
Postcards from Heaven 12 (2020)

“เราพยายามจับคู่ความจริงกับข้อเท็จจริงให้ใกล้ชิดกันที่สุด ให้เกิดแรงเสียดทานบางอย่างที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เพื่อกระตุ้นให้คนหันกลับมามองปัจจุบัน โดยใช้สัญลักษณ์ง่ายๆ อย่างสนามหญ้าของสนามหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พยายามสร้างความเขียวขจี เช่นเดียวกับชื่อของนิทรรศการนี้ ที่แสงแดดยิ่งจัดจ้า หญ้ายิ่งเขียวสด แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่สีเขียวอันสวยงาม สมบูรณ์แบบแห่งนี้ได้กลบฝังเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มากี่รอบแล้ว ความสวยงามของพื้นที่ท้องสนามหลวงในปัจจุบันมีชั้นของตะกอนความทรงจำทับซ้อนอยู่ เป็นตะกอนของความเจ็บปวด เสียงกรีดร้องของผู้คน กับภาพที่เราเคยเห็นกันในอดีต ที่ผ่านตาแล้วก็ผ่านเลยไป”

“เราหยิบเอาตะกอนเหล่านั้นขึ้นมาสื่อสารผ่านประโยคตัวหนังสือที่ซ้อนทับบนภาพถ่าย แต่ทำให้เจือจางและเบาบางที่สุด จนทำให้ผู้ชมต้องชมอย่างจดจ่อตั้งใจจึงจะเห็นร่องรอยของตะกอนประวัติศาตร์ที่คุกรุ่นอยู่ในนั้น”

นิทรรศการ UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER โดย เล็ก เกียรติศิริขจร และภัณฑารักษ์ กฤษฎา ดุษฎีวนิช

จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม-3 กันยายน 2566 ณ HOP PHOTO GALLERY ชั้น 3 โซน MUNx2 ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected]

ในนิทรรศการยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษ WALKING IN THE BURNING SUN EXHIBITION TOUR BY LEK KIATSIRIKAJORN ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม-3 กันยายน 2566 (5 รอบ)

กิจกรรมนำชมนิทรรศการ UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER โดยศิลปิน ‘เล็ก เกียรติศิริขจร’ พูดคุยถึงขั้นตอนกระบวนการทำงานของผลงานชุดนี้ จนถึงเบื้องหลังนิทรรศการ สำหรับใครที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ในลิงก์นี้ https://forms.gle/jStrCcJkfaEGrtvH9 ตามวันและเวลาที่กำหนด : วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2566 / เวลา 14:30-16:00 I วันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม 2566 / เวลา 13:00-14:30 I วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม 2566 / เวลา 13:00-14:30 I วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2566 / เวลา 13:00-14:30 I วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2566 / เวลา 13:00-14:30 •

Postcards from Heaven 16 (2021)

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์