พิพิธภัณฑ์ปราโด หมุดหมายสุดท้ายของสามเหลี่ยมทองคำแห่งศิลปะ (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน :
พิพิธภัณฑ์ปราโด หมุดหมายสุดท้ายของสามเหลี่ยมทองคำแห่งศิลปะ (1)

 

หลังเสร็จจากการเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย ไปในตอนที่แล้ว ในตอนนี้ คณะทัวร์ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปนของเราก็เดินทางมุ่งหน้าไปยังหมุดหมายสุดท้ายของ สุดยอดพิพิธภัณฑ์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “สามเหลี่ยมทองคำแห่งศิลปะ” (Golden Triangle of Art) อย่างพิพิธภัณฑ์แห่งชาติปราโด (Museo Nacional del Prado)

หรือเรียกสั้นๆ ว่า พิพิธภัณฑ์ปราโด (Museo del Prado) นั่นเอง

พิพิธภัณฑ์ปราโด ตั้งอยู่ใจกลางกรุงมาดริด บนถนน Paseo del Prado ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ไรนา โซเฟีย เท่าไหร่นัก (เรียกว่าเดินไปถึงได้น่ะ)

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักที่สุดในโลกศิลปะ ด้วยคอลเล็กชั่นผลงานศิลปะที่ยอดเยี่ยมที่สุดของยุโรป จากศตวรรษที่ 12 ถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20

มีผู้เข้าเยี่ยมชมถึง 3 ล้านคนต่อปี

พิพิธภัณฑ์ปราโดตั้งอยู่บนพื้นที่ของอาคารแบบนีโอคลาสสิคขนาดมหึมา ที่ออกแบบโดยสถาปนิกเอกชาวสเปนแห่งศตวรรษที่ 18 ฆวน เด บีญานูเอบา (Juan de Villanueva)

แรกเริ่มเดิมทีเป็นอาคารเก็บวัตถุทางประวัติศาสตร์ธรรมชาติ แต่ในภายหลังถูกเปลี่ยนเป็นราชพิพิธภัณฑ์แห่งจิตรกรรมและประติมากรรม (Royal Museum of Painting and Sculpture) ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติปราโด และเปิดให้สาธารณชนเข้าชมอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1819

และพิพิธภัณฑ์เองก็เพิ่งเฉลิมฉลองครบรอบสองร้อยปีไปเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา

พิพิธภัณฑ์ปราโด

ภายในพิพิธภัณฑ์มีห้องแสดงงานกว่า 100 ห้อง และมีผลงานศิลปะชิ้นเยี่ยมของโลกมากมายหลายพันชิ้น

ทั้งผลงานชิ้นเอกของศิลปินเอกชาวสเปนอย่าง ดิเอโก เบลาสเกซ, ฟรานซิสโก โกยา, ปาโบล ปิกัสโซ หรือศิลปินชั้นครูผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุโรปอย่าง ราฟาเอล (Raphael), เฮียโรนิมัส บอช (Hieronymus Bosch), เอล เกรโก, ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ (Peter Paul Rubens, ทิเชียน (Titian), แอนโธนี ฟาน ไดค์ (Anthony van Dyck), เรมบรันต์ (Rembrandt), อัลเบร็ชท์ ดือเรอร์ (Albrecht Dürer), คาราวัจโจ

หรือแม้แต่จิตรกรชาวสเปนแห่งยุคอิมเพรสชั่นนิสม์อย่าง ฮัวคิน โซโรญา และอื่นๆ อีกมากมาย

ในพิพิธภัณฑ์ปราโดยังมีคอลเล็กชั่นประติมากรรมคลาสสิคชิ้นสำคัญแห่งศตวรรษที่ 16-19 ทั้งประติมากรรมจากตำนานเทพปกรณัม และพระคัมภีร์ไบเบิล และประติมากรรมรูปเหมือนของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ของสเปนต่างๆ หรือประติมากรรมโบราณจากยุคโรมัน หรือผลงานของประติมากรชั้นครูอย่าง เลโอเน เลโอนี (Leone Leoni) เป็นต้น

นอกจากจะจัดแสดงผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมที่เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินและคนทำงานสร้างสรรรค์ในหลากยุคสมัยแล้ว พิพิธภัณฑ์ปราโดยังมีกิจกรรมที่มอบความรู้ ความเพลิดเพลินและประสบการณ์ทางศิลปวัฒนธรรมแก่นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไปอีกด้วย

ด้วยความที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีขนาดมหึมา กว้างใหญ่ไพศาล มีห้องแสดงงานศิลปะกว่าร้อยห้อง และมีงานศิลปะอยู่หลายพันชิ้น การชมงานให้ครบทุกชิ้นภายใต้เวลาอันจำกัดของคณะทัวร์อย่างเราจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

เราเลยถือวิสาสะมุ่งหน้าไปชมเฉพาะผลงานไฮไลต์ของศิลปินที่เราตั้งตาตั้งใจจะมาชมให้จงได้ โดยอาศัยดูจากแผ่นพับของพิพิธภัณฑ์ และถามไถ่เจ้าหน้าที่ว่าผลงานเหล่านั้นอยู่ตรงไหนกันบ้าง

อนุสาวรีย์ของ ดิเอโก เบลาสเกซ หน้าพิพิธภัณฑ์ปราโด

เริ่มต้นด้วยผลงานไฮไลต์ชิ้นแรกอย่าง Las Meninas (1656) (นางสนองพระโอษฐ์) ภาพวาดของ ดิเอโก เบลาสเกซ จิตรกรเอกในราชสำนักของพระเจ้าเฟลีเปที่ 4 แห่งยุคบาโร้ก ในศตวรรษที่ 17 ของสเปน เป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญที่สุดของยุคทองของสเปน (Spanish Golden Age)

เขาได้รับการยกย่องอย่างมากในการทำลายกรอบและขอบเขตจำกัดของการวาดภาพเหมือนและภาพบุคคล

สไตล์การวาดภาพของเขาได้รับความนิยมเหนืองานของศิลปินคนอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน ที่ยึดโยงอยู่กับประวัติศาสตร์อันยาวนานและขนบธรรมเนียมในการวาดภาพแบบเดิมๆ

และถึงแม้เขาจะวาดภาพของชนชั้นสูงในราชสำนักอย่างกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์, ศาสนจักร อย่างพระสันตปาปาและพระราชาคณะ ไปจนถึงขุนนาง ขุนทหารและบุคคลสำคัญต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีความสนใจในการวาดภาพของสามัญชนคนเล็กคนน้อยด้วยเช่นเดียวกัน

ภาพวาด Las Meninas ภาพนี้ ถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก

โดยเป็นภาพวาดที่นำเสนอฉากภายในห้องขนาดใหญ่ ในพระราชวังรอยัลอัลคาซาร์ แห่งมาดริด ในรัชสมัยของพระเจ้าเฟลีเปที่ 4 แห่งสเปน

มีบุคคลในราชสำนักอย่าง เจ้าหญิงมาร์การิตา เทเรซา แห่งสเปน พระราชธิดาในพระเจ้าเฟลีเปที่ 4 แห่งสเปน ระหว่างยังทรงพระเยาว์ ที่ห้อมล้อมด้วยเหล่านางสนองพระโอษฐ์, พระพี่เลี้ยง, ราชองครักษ์, ตลกหลวง และสุนัขหนึ่งตัว

นอกจากนั้น ในภาพยังมีตัวจิตรกรอย่างเบลาสเกซ ยืนวาดภาพบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่อยู่ข้างๆ ไกลออกไปมีมหาดเล็กยืนอยู่ตรงช่องประตู

ตัวละครในภาพบางคนจ้องมองมายังผู้ชม แต่บางคนก็จ้องมองกันเอง

ในขณะที่บนกำแพงฉากหลัง มีกระจกเงาที่สะท้อนภาพครึ่งพระองค์ของพระเจ้าเฟลีเปที่ 4 และสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสเปนอยู่

ซึ่งดูๆ ไปก็คล้ายกับกำลังอยู่ในตำแหน่งของผู้ชมที่กำลังจ้องมองมาที่ฉากนี้

แต่ในขณะเดียวกัน นักวิชาการบางคนก็สันนิษฐานว่าภาพนี้เป็นภาพจากกระจกเงาบานใหญ่ ที่สะท้อนภาพของเบลาสเกซ ขณะกำลังวาดภาพอยู่มากกว่า

อนุสาวรีย์ของ ฟรานซิสโก โกยา ในสวนหย่อมของพิพิธภัณฑ์ปราโด

องค์ประกอบอันลึกลับซับซ้อนของภาพนี้ กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นจริงและภาพลวงตา และสร้างความสัมพันธ์อันสับสนคลุมเครือระหว่างผู้ชมและตัวละครที่ปรากฏในภาพ

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ภาพนี้กลายเป็นภาพที่ถูกวิเคราะห์และตีความอย่างกว้างขวางมากที่สุดในประวัติศาสตร์งานจิตรกรรมตะวันตกเลยก็ว่าได้

สไตล์การวาดภาพแบบธรรมชาตินิยม (Naturalism) ของเบลาสเกซ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับจิตรกรภาพวาดเหมือนจริง หรือสัจนิยม (Realism) และจิตรกรอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอดูอาร์ มาเนต์ (Édouard Manet) และศิลปินในยุคโมเดิร์นผู้มีชื่อเสียงอีกหลายคนอย่าง ปาโบล ปิกัสโซ, ซัลบาดอร์ ดาลี และ ฟรานซิส เบคอน ที่ต่างก็สร้างผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากผลงานชิ้นนี้ของเบลาสเกซ เพื่อเป็นการแสดงคารวะต่อเขานั่นเอง

พอเราได้ไปดูผลงานชิ้นนี้ในระยะใกล้ๆ ด้วยตาตัวเองเป็นครั้งแรก เราถึงได้รู้ว่าภาพนี้มีรอยเย็บต่อกันของผ้าใบหลายผืน แทนที่จะเป็นผ้าใบเรียบเนียนทั้งผืน

แต่ไปๆ มาๆ ความไม่สมบูรณ์แบบที่ว่านี้เองก็กลับทำให้ภาพวาดนี้ดูมีเสน่ห์อย่างน่าประหลาด

Las Meninas (1656) โดย ดิเอโก เบลาสเกซ

พิพิธภัณฑ์ปราโด ตั้งอยู่บนถนน Paseo del Prado ใกล้กับสถานีรถไฟอโตชาและสถานีรถไฟใต้ดิน Banco de España (Bank of Spain) ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน

เปิดทำการวันจันทร์-เสาร์ เวลา 10:00-20:00 น. วันอาทิตย์เปิดทำการเวลา 10.00-19.00 น. วันที่ 6 มกราคม, 24, 31 ธันวาคม เปิดทำการเวลา 10.00-14.00 น.

หยุดทำการทุกวันที่ 1 มกราคม, 1 พฤษภาคม และ 25 ธันวาคม

สนนราคาค่าเข้าชม บุคคลทั่วไป 15 ยูโร, ผู้สูงอายุกว่า 65 ปี 7.50 ยูโร, เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี, นักเรียนนักศึกษาอายุ 18-25 ปี, ผู้พิการ, ผู้ว่างงาน เข้าชมฟรี

บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมฟรีในวันจันทร์-เสาร์ เวลา 18.00-20:00 น. วันอาทิตย์และวันหยุด เวลา 17.00-19:00 น.

ดูรายละเอียดการเข้าชมเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://rb.gy/pwhrk

 

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์