ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 ธันวาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
บ้านเกิดเมืองนอนของใคร? ๒๕๖๔
เสียดสีตีแผ่มายาคติของสังคมไทย
ด้วยศิลปะสไตล์ป๊อปสุดแสบสันต์
ในยุคสมัยที่ความทุจริตฉ้อฉลของอำนาจรัฐถูกกลบเกลื่อนด้วยโฆษณาชวนเชื่ออันแสนโรแมนติก ที่กล่อมเกลาให้ประชาชนรักเทิดทูนชาติ และยึดถือความพอเพียงอย่างไม่ลืมหูลืมตา
แต่ลับหลังกลับใช้จ่ายงบประมาณอันมหาศาลไปกับสิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์กับประชาชน หากแต่เอื้อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง รวมถึงขายทรัพยากรทางธรรมชาติ หรือแม้แต่โอนกรรมสิทธิ์ทางเศรษฐกิจของชาติให้ต่างชาติอย่างไร้ยางอาย
มีนิทรรศการศิลปะหนึ่งที่หยิบเอาความเป็นจริงเหล่านี้มาตีแผ่อย่างตรงไปตรงมา ทว่าเต็มไปด้วยลีลาจัดจ้าน เปี่ยมสไตล์ นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า บ้านเกิดเมืองนอนของใคร? ๒๕๖๔ โดย ประกิต กอบกิจวัฒนา ศิลปินป๊อปอาร์ตผู้สะท้อนสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยผ่านงานศิลปะได้อย่างแหลมคม
ด้วยการหยิบยืมภาพลักษณ์อันฉูดฉาดเปี่ยมสีสันเตะตาของศิลปะสไตล์ป๊อปอาร์ต ผนวกเข้ากับข้อความสั้นๆ กระชับ แต่โดดเด่นโดนใจ หรือกินความหมายลึกซึ้งในสไตล์งานโฆษณา ล้อเลียนเสียดสีโฆษณาชวนเชื่อและข้อมูลประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลที่ต้องการควบคุมสื่อและความคิดของประชาชนได้อย่างแสบสันต์คันคะเยอ
ประกิตเป็นศิลปินไทยรุ่นแรกๆ ที่เผยแพร่ผลงานผ่านโซเชียลมีเดียในเพจเฟซบุ๊ก “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป” ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงและถูกแชร์เป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ ปัจจุบันประกิตยังคงทำงานศิลปะ งานดีไซน์
และสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องเสมอมา
ประกิตกล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งล่าสุดของเขาว่า
“นิทรรศการครั้งนี้มีเนื้อหาต่อเนื่องจากนิทรรศการครั้งที่แล้ว (นิทรรศการกลุ่ม Conflicted Visions AGAIN (2020) ณ WTF gallery) ที่พูดถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ถูกบริหารจัดการภายใต้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติและการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาลทหาร”
“ส่วนนิทรรศการครั้งนี้เราได้แรงบันดาลใจจากประเด็นเกี่ยวกับหนี้สาธารณะของประเทศไทยที่พอกพูนขึ้นมากมายในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้นโยบายความมั่นคง การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ (แม้แต่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคร้าย) ที่เหล่าบรรดากองเชียร์มองว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อความมั่นคงของชาติ หรือการปลุกผีลัทธิชาตินิยมด้วยการสร้างแคมเปญอย่าง ‘บ้านเกิดเมืองนอน’ ขึ้นมา”
“นี่คือจุดที่ทำให้เราตั้งคำถามว่าอนาคตข้างหน้าประเทศเราจะไปรอดได้อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ ลูก-หลานเราจะมีปัญญาชดใช้หนี้จำนวนมหาศาลขนาดนี้ไหม? งบประมาณที่ซื้ออาวุธมากมาย เราเอาไปสู้รบกับใคร? (ประชาชน?) แล้วความมั่นคงที่ว่า เป็นความมั่นคงของใคร (วะ?) บ้านเกิดเมืองนอนที่ว่า เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของใคร? บ้านเกิดเมืองนอนของกู? หรือบ้านเกิดเมืองนอนของมึงกันแน่?”
“ผลสุดท้าย แคมเปญที่ว่าก็ผลิตซ้ำแต่ภาพเดิมๆ ของความโรแมนติกในความรู้สึกของคนชั้นกลาง ความสวยงามของชนบท ท้องทุ่งนา นกกาบิน พระอาทิตย์ตกดิน ใช้ชีวิตพอเพียง ทั้งๆ ที่คนในชนบทจริงๆ เขาก็ต้องการความสะดวกสบายในชีวิต ต้องการโอกาสเข้าถึงการศึกษา โอกาสในการทำงาน”
“แต่โลกทัศน์ของคนชั้นกลางกลับต้องการแช่แข็งให้เขาเป็นเหมือนสัตว์สตัฟฟ์ของคนกรุงเทพฯ หรือมายาคติอย่าง “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เราเคยตั้งคำถามไหมว่า วันนี้สังคมชนบทเป็นแบบนั้นจริงๆ ไหม ปัจจุบันใครเป็นเจ้าของนา เจ้าของปลา เจ้าของข้าวกันแน่? ผมคิดว่าปัจจุบันชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้ครองปัจจัยการผลิตแบบสมัยก่อน แต่กลายเป็นคนรับจ้างผลิตมากกว่า แต่ในสายตาของชนชั้นกลางก็ยังมองด้วยโลกทัศน์แบบเดิมๆ อยู่”
“ผมมองว่าในหลายสิบปีมานี้ประเทศไทยเรายังติดกับดักสงครามเย็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมเรื่องความรักชาติ ความเป็นประเทศเกษตรกรรม ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชาติไทย เราเคยส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่ง หรือในอดีตเราเคยเกรียงไกรอย่างไร ถามว่าทำไมรัฐถึงสตัฟฟ์ความคิดเราเอาไว้แบบนี้ ก็เพื่อที่จะทำให้ควบคุมและปกครองง่าย แต่สิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้กับโลกที่เดินไปข้างหน้าทุกวัน”
“ทั้งความรักชาติก็ดี ความมั่นคงก็ดี ความพอเพียงก็ดี ผลสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นแค่เรื่องบังหน้า ซึ่งพอไปขุดคุ้ยดูให้ดีๆ ก็จะพบการคอร์รัปชั่น ความฉ้อฉลมากมาย แล้วพอทุกครั้งที่มีคนตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ ประเด็นเกี่ยวกับความรักชาติ หรือความมั่นคงก็จะถูกปลุกขึ้นมาเสมอ ประเทศเรามักสร้างมายาคติเหล่านี้เพื่อกลบปัญหาที่ซุกซ่อนเอาไว้อยู่เสมอ, แล้วถามว่าทุกวันนี้ศัตรูของประเทศเราคือใคร? คือคนรุ่นใหม่ คนในอนาคตหรือ? ที่ผ่านมาเราเคยทบทวนไหมว่า คนในรุ่นก่อนหน้าเคยทำอะไรเอาไว้ สิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่เราต้องมานั่งทบทวนกันให้ดีๆ”
ผลงานในนิทรรศการ “บ้านเกิดเมืองนอนของใคร? ๒๕๖๔” ประกอบด้วยภาพวาดทิวทัศน์ชนบทที่ดูสวยงามฟุ้งฝัน แบบเดียวกับภาพวาดที่เราเคยเห็นในร้านอาหารตามต่างจังหวัดสมัยก่อน
แต่ที่น่าสนใจก็คือ มันถูกวาดบนแผ่นไม้ที่ตัดฉลุเป็นรูปทรงของอาวุธยุทโธปกรณ์อย่าง เครื่องบิน รถถัง เรือดำน้ำ ที่รัฐบาลทหารมักจัดซื้อโดยอ้างความมั่นคงของชาติ
บนภาพวาดนอกจากจะประดับด้วยถ้อยคำเชิงเสียดสีสโลแกนโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลแล้ว บางภาพยังประดับด้วยตัวเลขจำนวนเกินหกหลักที่ดูแล้วพอจะเดาออกว่าเป็นตัวเลขของอะไร
“รูปทรงฉลุของภาพวาด เราได้แรงบันดาลใจจากชีวิตวัยเด็กที่เราเติบโตมาจากชนบท ได้เห็นพวกคัตเอาต์โรงหนังหรือรถแห่หนังสมัยก่อน ที่ตัดคัตเอาต์เป็นรูปทรงของพระเอกนางเอก เครื่องบิน ให้ดูเป็นเหมือนรูปทรงสามมิติลอยออกมา ส่วนภาพวาดข้างใน เราได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดที่นำเสนอความโรแมนติกของชนบท ท้องทุ่งนา พระอาทิตย์ตกดิน ที่เคยเห็นเมื่อก่อน มาผสมผสานเข้ากับทัศนคติทางการเมืองที่เรามีต่อสังคมในปัจจุบัน”
“ส่วนตัวเลขที่เห็นบนภาพคือตัวเลขของงบประมาณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในการจัดซื้ออาวุธ งบประมาณที่ใช้ในโครงการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ที่อ้างว่าเป็นการสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยเหลือคนยากคนจน คนในชนบท แต่ถามว่างบประมาณที่ใช้ไปอย่างมหาศาลในหลายสิบปีที่ผ่านมา เคยช่วยได้จริงๆ ไหม? หรือเป็นแหล่งของการคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ที่ไม่เคยถูกตรวจสอบ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศนับวันยิ่งจนลงเรื่อยๆ”
“ตัวเลขที่มีศูนย์เยอะๆ คือจำนวนของหนี้สาธารณะที่ลูกหลานเราในอนาคตต้องจ่าย เราคิดว่าการกู้เงินไม่ใช่เรื่องผิดนะ แต่กู้มาแล้วคุณจะบริหารหรือใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพอย่างไร คุณจะสร้างรากฐานให้กับคนในอนาคตได้อย่างไร เราคิดว่าเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนในสังคมไทยไม่ค่อยได้ตั้งคำถาม ทุกวันนี้คนในสังคมเราแตกแยก เพราะเราหลับหูหลับตาเชียร์โดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น”
“ถึงแม้วันนี้บ้านเมืองของเราจะดูเหมือนว่าเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง แต่นอกเหนือจากนั้นขึ้นไปคือปัญหาเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่ของความเป็นรัฐราชการ รัฐทหาร แต่เรากลับมองไม่เห็นโครงสร้างที่ว่านั้น เรามองเห็นแต่ความโรแมนติกที่ฉาบเอาไว้ข้างใน (กะลา) มากกว่า”
ในนิทรรศการยังมีผลงานภาพวาดธงชาติไทยในสีที่ทำให้นึกถึงระบบทุนนิยมกินรวบที่แทบจะเป็นเจ้าของประเทศนี้ไปแล้ว กับธงชาติบ้านพี่เมืองน้องที่เราแทบจะเป็นเมืองขึ้นของเขาอีกด้วย
“สังคมไทยในตอนนี้ตกอยู่ในสภาวะที่ย้อนแย้ง เราติดหล่มสงครามเย็น แต่เราก็เป็นพันธมิตรกับประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีน ปากเราบอกว่าเรากลัวทุนนิยมกินรวบ แล้วดูทุกวันนี้เป็นยังไงล่ะ? เรามองว่าทุกวันนี้ประเทศไทยอยู่ในจุดเสื่อมถอย เราถอยหลังมาไกลมากๆ ทั้งที่ควรจะเดินไปข้างหน้า เราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นอะไรได้ เพราะเราใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมปิดปากคนที่คิดต่าง เราจับเยาวชนมากมายเข้าคุก แล้วสังคมที่แสดงความคิดเห็นไม่ได้จะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร”
“ในฐานะศิลปินหรือคนทำงานศิลปะ ผมมองว่าศิลปะยังเป็นพื้นที่หนึ่งที่เราพอจะพูดหรือส่งเสียงได้บ้าง เพราะเราคิดว่าศิลปะคือปัญญาของสังคม ศิลปะเป็นพื้นที่ของเสรีภาพ, น่าเสียดายว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยมีความเจริญทางศิลปะ ความเจริญทางปัญญาที่โชติช่วง แต่ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ประเทศเราแทบจะมีความถดถอยทางปัญญาในทุกด้าน ในขณะที่มีแต่ความรุนแรงเข้ามาแทนที่ในทุกด้านในปัจจุบัน”
นิทรรศการ บ้านเกิดเมืองนอนของใคร? ๒๕๖๔ โดย ประกิต กอบกิจวัฒนา จัดแสดง ณ VS Gallery โครงการ N22 ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 – 5 กุมภาพันธ์ 2565, เปิดทำการปกติวันพุธ-อาทิตย์ 12:30-18:00 น. (หยุดจันทร์-อังคาร)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook @VSGalleryBangkok
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก VS Gallery และศิลปิน