อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : A Blue Man in the Land of Compromise การสะท้อนวิกฤตของสังคมด้วยภาพอดีต ผ่านบทสนทนากับประวัติศาสตร์ศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

 

A Blue Man in the Land of Compromise

การสะท้อนวิกฤตของสังคมด้วยภาพอดีต

ผ่านบทสนทนากับประวัติศาสตร์ศิลปะ

 

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ปิดทำการชั่วคราวจากมาตรการล็อกดาวน์

พื้นที่ทางศิลปะอย่างหอศิลป์ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ทำให้นิทรรศการศิลปะหลายนิทรรศการต้องปิดนิทรรศการก่อนเวลาอันควร

หากแต่ในเดือนกันยายนนี้ รัฐบาลมีมติคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้หอศิลป์ต่างๆ กลับมาเปิดทำการ นิทรรศการต่างๆ ก็กลับมาเปิดให้คอศิลปะเข้าชมกันอีกครั้ง

ในครั้งนี้เราขอนำเสนอเกี่ยวกับนิทรรศการเหล่านั้นกัน

เริ่มจากนิทรรศการที่มีชื่อว่า

A Blue Man in the Land of Compromise

โดยอนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ศิลปินหนุ่มชาวใต้ผู้อาศัยและทำงานในจังหวัดปัตตานี

 

อนุวัฒน์มุ่งเน้นในการนำเสนอความจริงจากมุมมองของเขาผ่านผลงานศิลปะที่สะท้อนเรื่องราวการสร้างมายาคติต่างๆ ทั้งในเรื่องเพศ เชื้อชาติ หรือแม้แต่การเมือง ที่สังคมไทยเราถือเป็นเรื่องเปราะบางและละเอียดอ่อนต่อการตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อชี้ชวนให้คนถกเถียง ตีความ และตั้งคำถาม

เช่นเดียวกับนิทรรศการครั้งที่ผ่านมาของเขาที่เราเคยกล่าวถึงไปในคราวที่แล้ว อนุวัฒน์ยังใช้ภาพวาดที่หยิบยืมแรงบันดาลใจจากผลงานของเอกอน ชีเลอ (Egon Schiele) จิตรกรชาวออสเตรียคนสำคัญในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในการวาดภาพตัวละครที่มีต้นแบบมาจากนายแบบชายไทยรักชายอย่าง “บังลี” เพื่อนรักของเขา ผู้ใช้ร่างกายเปลือยเปล่าแสดงกิริยาท่าทางสื่อสารถึงประเด็นต่างๆ ในสังคม

ในนิทรรศการครั้งนี้ อนุวัฒน์หยิบเอาตัวละครบังลีมาย้อมร่างกายเป็นสีน้ำเงินทั้งตัว สวมศีรษะด้วยชฎาสีทอง สวมบทบาทเป็นตัวละครเอกในภาพวาดชุดนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของ “มนุษย์สีน้ำเงิน” อันเป็นสัญลักษณ์แทนบุคคลบางชนชั้นในสังคม

 

“ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สีน้ำเงินเป็นตัวแทนของชนชั้นสูง ตั้งแต่ในอังกฤษสมัยราชวงศ์ทิวดอร์ มีการออกกฎหมายว่าประชาชนธรรมดาห้ามใส่เสื้อผ้าสีน้ำเงิน เพราะเป็นสีราคาแพงที่ถูกสงวนไว้สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น สีน้ำเงินยังเป็นตัวแทนของสังคมชายเป็นใหญ่อีกด้วย ส่วนในสังคมไทย เราทราบกันดีว่าสีน้ำเงินถูกใช้แทนสัญลักษณ์ทางสังคมการเมืองบางอย่าง”

“ผมสนใจประเด็นเกี่ยวกับสีน้ำเงิน เลยแต่งเป็นเรื่องราวของมนุษย์สีน้ำเงิน ผู้เดินทางค้นหารักแท้ผ่านการทดลองหลับนอนกับคนจำนวนมาก แต่ยิ่งนอนกับคนมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้สีน้ำเงินบนตัวของเขาเข้มขึ้นเท่านั้น เพราะสีน้ำเงินเป็นสีประจำบาป ‘ราคะ’ หนึ่งในบาป 7 ประการ ตามหลักคำสอนของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก”

“มนุษย์สีน้ำเงินจึงไม่มีทางตามหาความรักแท้เจอได้ ถ้าหากเขาไม่ชำระล้างบาปสีน้ำเงินของเขาออกไป”

 

 

ในภาพวาดชิ้นหลักขนาดมหึมาของนิทรรศการชุดนี้ ตัวละครมนุษย์สีน้ำเงินผู้ถูกรายล้อมด้วยคู่หลับนอนมากหน้าหลายตา

ในภาพนอกจากจะแสดงอากัปกิริยาการเสพสังวาสเป็นหมู่คณะเพื่อสะท้อนบาปราคะแล้ว

ตัวละครเหล่านี้ยังถูกจัดท่าทางและองค์ประกอบเลียนแบบผลงานของศิลปินชื่อดังในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่แสดงออกถึงโศกนาฏกรรมและความตาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพวาด “แพของเรือเมดูซ่า” The Raft of the Medusa (1818-19) ของธีโอดอร์ เจริโก (Theodore Gericault) ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้บุกเบิกกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบโรแมนติก ที่แสดงโศกนาฏกรรมการอับปางของเรือรบหลวงเมดูซ่าแห่งฝรั่งเศส และชะตากรรมอันน่าสะเทือนขวัญของลูกเรือผู้หนีตายบนแพชูชีพ

ผสมผเสด้วยวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยในปัจจุบันอย่าง “เป็ดยาง” นั่นเอง

“ภาพวาดชิ้นนี้ผมทำขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมปี 2563 ที่โรค COVID-19 เริ่มต้นการระบาด ตอนนั้นผมได้ข่าวคนเสียชีวิตมากมาย ทั้งจากโรคระบาดและการฆ่าตัวตาย บวกกับเรื่องของสภาวการณ์ทางการเมืองของไทย ทำให้ผมรู้สึกเศร้าสะเทือนใจ เลยอยากทำงานที่บันทึกการเสียชีวิตของคนเหล่านั้น”

“อย่างในประวัติศาสตร์ศิลปะเองก็มีภาพวาดเกี่ยวกับความตายเยอะแยะมากมาย ผมจึงหยิบเอาความตายในภาพวาดเหล่านั้นมาเป็นต้นแบบในการสร้างงานชุดนี้ขึ้นมา โดยผสมกับภาพข่าวของเหตุการณ์ในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 และสถานการณ์ทางการเมืองของไทย”

“ในภาพชิ้นใหญ่ ตัวละครมนุษย์สีน้ำเงินจะจำลองท่าทางและองค์ประกอบจากตัวละครในภาพวาด The Raft of the Medusa ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้นำที่ไร้ความสามารถ แต่หยิ่งยโส ไม่ฟังความคิดเห็นของคนรอบข้าง จนทำให้ทุกคนต่างตกอยู่ในสภาวะวิกฤต ต้องเผชิญกับความตายและความหายนะ”

 

 

“หรือตัวละครบางตัวในภาพที่จัดท่าทางและองค์ประกอบเลียนแบบภาพวาดของเอกอน ชีเลอ ก็แสดงความเชื่อมโยงถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน เพราะตัวชีเลอเองก็เสียชีวิตจากโรคระบาดครั้งใหญ่ ตัวเขาก็ทำงานที่สะท้อนความหมิ่นเหม่บางอย่างทางวัฒนธรรมและสังคม การใช้ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างบังลี ยังสื่อถึงผู้คนหลากหลายในสังคมที่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศใดๆ ก็ตาม”

“การทำงานของผมเป็นเหมือนการสนทนากับผลงานศิลปะที่บันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา ผมมองว่าโลกเรามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งโรคระบาด การฆ่าตัวตาย หรือวิกฤตทางสังคมการเมือง”

“ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำอีกในปัจจุบัน เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบ เวลา สถานที่ หรือประเทศ”

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพวาดเกอร์นิกา (Guernica) ของปิกัสโซ่ ก็ยังคงเกิดขึ้นอีกในหลายประเทศทั่วโลก อย่างในซีเรีย ต่อให้ผ่านไปกี่ร้อยปี ก็ยังมีคนตายจากสงครามและความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนเดิม เพราะมนุษย์ก็ยังมีนิสัยเหมือนเดิม”

“อย่างล่าสุด ผมเห็นภาพข่าวที่ผู้คนนอนตายบนพื้นถนน ก็ดูไม่ต่างอะไรกับภาพวาดผู้คนนอนตายบนท้องถนนจากเหตุการณ์โรคระบาดในประวัติศาสตร์ศิลปะ เป็นเหมือนกับภาพซ้ำเลย สำหรับผม การสร้างบทสนทนากับภาพวาดในประวัติศาสตร์ศิลปะก็ไม่ต่างอะไรกับการหยิบเอาอดีตมาสะท้อนให้เห็นปัจจุบันนั่นเอง”

 

เรียกได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่นิทรรศการศิลปะชั้นดีและเต็มไปด้วยประเด็นอันลุ่มลึกเปี่ยมความหมายเช่นนี้กลับมาเปิดให้เข้าชมกันอีกครัง รู้อย่างนี้แล้วคนรักศิลปะทั้งหลายก็ไม่ควรพลาดไปชมกันโดยพลัน!

นิทรรศการ A Blue Man in the Land of Compromise โดยอนุวัฒน์ อภิมุขมงคล จัดแสดงที่ VS Gallery โครงการ N22 ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-13 พฤศจิกายน 2564, เปิดทำการปกติวันพุธ-อาทิตย์ 12:30-18:00 น. (หยุดจันทร์-อังคาร), สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook @VSGalleryBangkok

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก VS Gallery และศิลปิน