อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : นามธรรมแห่งความรู้สึก ของนักแสดงผู้หลงรักการทำงานศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ขอบคุณภาพจากเพจ 333Anywhere

 

 

นามธรรมแห่งความรู้สึก

ของนักแสดงผู้หลงรักการทำงานศิลปะ

 

เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราได้ไปชมนิทรรศการศิลปะมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

ที่น่าสนใจก็คือเจ้าของผลงานในนิทรรศการที่ว่านี้เป็นคนที่เราไม่ได้รู้จักคุ้นเคยเขาในฐานะศิลปินหรือคนงานศิลปะตามปกติ

หากแต่คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักเขาในบทบาทอื่นเสียมากกว่า

บทบาทที่ว่านั้นก็คือ นักแสดง หรือที่ชาวบ้านร้านตลาดเรียกันติดปากว่า ดารา นั่นเอง

หากเอ่ยชื่อของ รวิชญ์ เทิดวงส์ หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะนักแสดงเจ้าบทบาทในหนังและละครหลายต่อหลายเรื่อง

แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าเขายังมีอีกบทบาทในฐานะศิลปินวาดภาพผู้ทำงานศิลปะมาอย่างยาวนาน

และเคยจัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะมาแล้วหลายครั้ง

อันที่จริงก่อนจะเข้าวงการบันเทิง เขาเองก็ร่ำเรียนทางศิลปะมาก่อนด้วยซ้ำไป

โดยรวิชญ์เริ่มต้นการเรียนศิลปะในโรงเรียนไทยวิจิตรศิลปอาชีวะ และเข้าศึกษาต่อในสาขานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านศิลปะในสถาบัน Hawke’s Bay Polytechnic ที่ประเทศนิวซีแลนด์

“ตั้งแต่เกิดมาและจำความได้ผมก็รู้ตัวว่าชอบวาดรูปแล้ว ตั้งแต่ตอนเรียนประถม ผมก็ได้คะแนนวิชาศิลปะสูงสุดในชั้นเรียน และเป็นตัวแทนไปวาดภาพให้โรงเรียนตลอด พอจบมัธยม 3 ก็ได้เข้าไปเรียนที่ไทยวิจิตรศิลป เรียนที่นั่นเหมือนผมได้เจอโลกของตัวเอง จากที่เกิดมาไม่เคยได้เกรด 3 เกรด 3.5 ก็มาได้ที่โรงเรียนนี้ตลอด”

“หลังจากนั้นผมก็เข้าเรียนต่อที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สาขาศิลปะประยุกต์ ในช่วงที่เรียนอยู่ผมก็มีโอกาสได้รับงานถ่ายแบบ เดินแบบต่างๆ พอเรียนจบที่จุฬาฯ ผมก็ไปเรียนต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์อยู่หนึ่งปี หลังจากนั้นผมก็ทำงานวาดภาพประกอบต่างๆ จนได้มีโอกาสเล่นภาพยนตร์เรื่องแรก และได้เซ็นสัญญากับโทรทัศน์ช่อง 3 รับงานแสดงต่อเนื่องยาวนานไป 10 กว่าปี”

“ในช่วงที่เรียนจบกลับมาเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อทางความคิดของผมก็คือ ผมได้บวชและเริ่มสนใจเรื่องศาสนา จนทำให้ได้มีโอกาสร่วมเดินทางกับท่านอาจารย์โกวิท เอนกชัย หรือเขมานันทะ เพื่อไปศึกษาธรรมะที่เกาะสมุยและเกาะแตน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผมใช้เวลาอยู่ที่นั่นเกือบเดือน ได้ฟังปรัชญาหลายอย่างที่ท่านสอน และได้เจอกับลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านคือ คุณทวีศักดิ์ อุชุคตานนท์ ที่มีความมุ่งมั่นในเส้นทางศิลปะอย่างมากตั้งแต่ตอนนั้น ส่วนตัวผมตอนนั้นยังไม่ได้มุ่งมั่นกับงานศิลปะจริงจังเท่าไร แต่สนใจในเรื่องของปรัชญาและศาสนามากกว่า”

“พอช่วงยุค พ.ศ.2540 เงินบาทลอยตัว ผมก็เริ่มกลับมาวาดภาพอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนาน จนได้มีโอกาสแสดงนิทรรศการเดี่ยวสองครั้งที่ห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรียม ตอนนั้นค่อนข้างประสบความสำเร็จ ขายงานได้เกินครึ่ง และเป็นที่สนใจของสื่อต่างๆ อย่างมาก อาจเป็นเพราะผมเป็นดาราที่มาวาดรูปทำงานศิลปะด้วย”

“แต่หลังจากนั้นผมก็หันมาทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานในวงการบันเทิง และรับงานละครเต็มตัว จนห่างหายจากการวาดภาพไปร่วม 20 ปี”

“เหตุผลที่ผมกลับมาทำงานศิลปะอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะได้กลับมาทำอีกแล้ว เกิดจากการที่ปีที่แล้วผมซื้อคอนโดมิเนียมและหาเฟอร์นิเจอร์เข้าไปตกแต่งเสร็จสรรพแล้ว แต่ผนังยังว่างอยู่ ไม่รู้จะเอาอะไรไปติดดี ไปหาซื้อรูปที่ขายตามร้านขายเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่งบ้านก็ไม่เจอที่ถูกใจสักที ก็เลยคิดว่า เอาวะ! ลองทำเองดูสักตั้ง”

“ผมตั้งใจไว้ว่าอยากได้งานแนว Abstract ก็เลยไปซื้อเฟรมผ้าใบและสีอะคริลิกมาลองวาดดู ตอนแรกคิดว่าแค่วาดๆ ไปเดี่ยวก็ได้ภาพ Abstract ออกมา ปรากฏว่าไม่ใช่อย่างนั้น ทำเท่าไรก็ไม่ชอบ ไม่โดน ผมก็คิดว่าจะทำยังไงดี มานึกได้ว่าที่เราวาดภาพออกมาไม่สวย นั้นแสดงว่าเรายังไม่อินกับมันจริงๆ ก็เลยต้องหาแรงผลักดันให้ตัวเองเพื่อที่จะวาดออกมาให้ดีให้ได้”

“สมัยก่อนผมเดินทางไปไหนก็เข้าพิพิธภัณฑ์ตลอด เคยไปพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งในปารีส ได้เห็นงานดีๆ มาเยอะ ซื้อหนังสือกลับมาก็แยะ ผมก็กลับไปหยิบหนังสือเกี่ยวกับศิลปะที่เราเก็บเอาไว้มากมายมาเปิดดู เข้าไปดูยูทูบของศิลปินต่างๆ เพื่อสร้างแรงผลักดัน จุดไฟให้ตัวเองใหม่ ประจวบกับช่วงหลังผมเล่นเฟซบุ๊กแล้วได้กลับมาติดต่อกับคุณทวีศักดิ์อีกครั้ง ก็นัดเจอเขาที่สตูดิโอ เพื่อพูดคุย ซึมซับบรรยากาศและความมุ่งมั่นในการทำงานของเขาเป็นแรงผลักดันให้ผม”

“หลังจากนั้นผมก็เริ่มวาดได้ดีขึ้น ก็เลยวาดต่อไปเรื่อยๆ และเอาผลงานโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ก็มีเพื่อนและกองเชียร์เข้ามาชื่นชมเป็นร้อยๆ คน ศิลปินท่านอื่นๆ ที่อยู่ในเฟซบุ๊กก็มาเพิ่มเป็นเพื่อนหลายคน แล้วก็ไม่ได้มีแต่ศิลปินอย่างเดียว แต่มีหอศิลป์ต่างๆ ด้วย”

“พอได้รับเสียงสนับสนุนมากเข้า เราก็เกิดฮึดขึ้นมา เลยประกาศในเฟซบุ๊กว่าเราจะจัดนิทรรศการแสดงเดี่ยวขึ้น จนในที่สุดก็ได้มาเจอกับหอศิลป์ 333 Anywhere ผมชอบพื้นที่และบรรยากาศ ก็เลยติดต่อเขาว่าอยากแสดงนิทรรศการที่นี่ เขาก็ให้ผมเอางานเข้าไปลองเสนอดู ในที่สุดก็กลายเป็นนิทรรศการครั้งนี้ขึ้นมา”

นั่นเป็นที่มาของนิทรรศการครั้งล่าสุดของรวิชญ์ที่มีชื่อว่า IMPETUS หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “แรงผลักดัน” เช่นเดียวกับแรงผลักดันที่ทำให้เขาหวนกลับมาสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดอีกครั้ง หลังจากการห่างหายจากการแสดงนิทรรศการศิลปะไปกว่า 20 ปี

ผลลัพธ์ก็คือภาพวาดจำนวนกว่า 50 ภาพ ในนิทรรศการครั้งนี้ และแนวทางการทำงานศิลปะที่เขาเลือกในการกลับมาครั้งนี้ก็คืองานศิลปะ Abstract หรืองานศิลปะแบบนามธรรมนั่นเอง

“ตั้งแต่ตอนที่ผมเรียนมาจนถึงตอนที่ผมวาดรูปตอนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมไม่เคยคิดถึงคำว่า Abstract เลย เพราะเข้าใจมาตลอดว่า Abstract เป็นงานที่ใครๆ ก็ทำได้ มั่วได้ วาดรูปออกมาสองสามเส้นก็เสร็จแล้ว แต่พอมาถึงวันนี้ความคิดผมกลับไม่เหมือนเดิม ผมกลับมาชอบและอยากทำงาน Abstract เพราะความที่ไม่เหมือนงานแบบอื่น บวกกับการที่ตัวเองอายุมากขึ้น กรอบความคิดเปลี่ยนไป จิตใจมีความนิ่งขึ้น ก็เลยเหมือนกับเราพร้อมที่จะทำงาน Abstract แล้ว”

“แต่สิ่งที่ท้าทายก็คือมีศิลปินมากมายที่ทำงาน Abstract ในโลกนี้ เราจะทำงานออกมายังไงให้ไม่ซ้ำกับเขาและมีแนวทางที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง”

“จนผมมาค้นพบวิธีการวาดภาพด้วยการใช้เกรียงปาดสี ด้วยความที่สมัยก่อนผมชอบวาดภาพแบบคิวบิสม์ (Cubism) ที่เป็นเหลี่ยมมุม ตัวเกรียงเองก็มีความเป็นเหลี่ยมมุม อีกอย่าง การวาดภาพด้วยเกรียงแตกต่างกับการวาดด้วยพู่กัน ตรงที่สีจะไม่ถูกดูดซึมเหมือนพู่กัน แต่ลงมาอยู่ในผืนผ้าใบที่เราวาดทั้งหมด ทำให้ผมเล่นกับมิติและความหนาของสีที่เกิดจากการใช้เกรียงได้อย่างเต็มที่ ให้ความรู้สึกเหมือนเวลาเราฉาบปูนลงไปบนผนัง”

“ผมชอบความรู้สึกเวลาที่ได้เข้าไปในบ้านหรืออาคารเก่าๆ อายุเป็นร้อยกว่าปี แล้วเห็นผนังเก่าๆ สีลอก หลุดร่อน สวยดี ผมอยากถ่ายทอดความรู้สึกแบบนั้นออกมาในผลงานของผม”

“เวลาทำงานผมไม่ใช้เทคนิคเป็นตัวนำ แต่ใช้ใจนำเทคนิค เพราะเทคนิคเนี่ย ถ้าคุณทำงานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่ทิ้ง เดี๋ยวคุณก็ได้มาเอง แต่ถ้าคุณทำเทคนิคเก่งมาก แต่ไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่อยู่ในใจคุณออกมาได้ เทคนิคนั้นก็ที่ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความว่างเปล่า เป็นแค่ความสวยงามที่เกิดจากทักษะ ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย”

“โดยส่วนตัวเวลาทำงานผมต้องการเสนออารมณ์ความรู้สึกของผมออกมา เวลาทำงานศิลปะ ผมไม่ได้เป็นแค่ผู้ให้อย่างเดียว แต่ผมเป็นผู้รับด้วย ทุกรูปที่ผมวาดสอนผมทั้งหมด การเกิดขึ้นของสีที่ผสมกันโดยไม่ได้คาดหมาย ถ้ามันออกมาสวย เข้าท่า เราก็เก็บไว้ ถ้าไม่เวิร์ก เราก็วาดใหม่ อย่างทุกรูปที่ผมวาดใช้เกรียงเหมือนกัน แต่ได้ผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกัน”

“ในแต่ละรูปมีปรากฏการณ์แตกต่างกันให้ผมได้สัมผัส พบเจอ และเรียนรู้ทุกครั้ง”

“ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเป็นศิลปินคือ การจริงใจกับสิ่งที่คุณทำ ความจริงใจสำหรับผมก็คือผมรับผิดชอบผลงานของผมทุกตารางเซนติเมตร ตั้งแต่หน้าภาพไปจนถึงขอบภาพ ด้านบนด้านล่าง ไม่มีหลบ ไม่มีซ่อน เปรียบเหมือนการทำอาหารผมจะชิมทุกจานจนรู้สึกว่าอร่อยที่สุด เส้นสายสีสันที่อยู่ในภาพ คือสิ่งที่ผมอนุมัติแล้วว่าผ่าน จะดีหรือไม่ดีผมก็เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด”

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมรอดจากความทุกข์คือความไม่คาดหวัง พอไม่คาดหวังเราก็ทำงานอย่างมีความสุข แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกดีก็คือ เมื่อก่อนตอนที่ผมมีชื่อเสียง เวลาแสดงงาน คนจะจำตัวผมได้มากกว่าผลงาน”

“แต่ตอนนี้ชื่อเสียงผมลดลงจากเมื่อก่อน คนก็หันมาจำผลงานของผมได้มากกว่าตัวผมยิ่งขึ้น บางคนที่ซื้อผลงานของผมไปเป็นคนต่างชาติที่ไม่รู้จักผมมาก่อนด้วยซ้ำไป”

นิทรรศการ IMPETUS จัดแสดงที่ 333 Anywhere Art Gallery (โกดัง 5) Warehouse 30 (ใกล้ไปรษณีย์กลาง) ตั้งแต่วันที่ 1-20 กรกฎาคม เปิดให้เข้าชมในวันอังคาร-อาทิตย์ 11.00-18.00 น. (ไม่เสียค่าเข้าชม) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก fb.com/333anywhere, อีเมล [email protected], Official Line : @333gallery

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก 333 Anywhere Art Gallery