ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 มิถุนายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
‘FREE’ ศิลปะรหัสลับ
ที่ซ่อนความนัยแห่งเสรีภาพ
เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย
นิทรรศการที่ว่านั้นมีชื่อว่า
“FREE”
โดย Mr.ZEN อันเป็นฉายาของศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ ด้วยการประยุกต์เทคนิคกราฟฟิตี้สเตนซิล (Graffiti Stencils) (ที่ใช้กระดาษแข็งเจาะหรือตัดช่องเป็นรูปทรงต่างๆ แล้วพ่นสีสเปรย์ทะลุช่องลงไปประทับเป็นภาพบนผนัง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำได้อย่างรวดเร็วมาก) และฟรีแฮนด์เพ้นติ้ง (Freehand painting) ที่ได้รับอิทธิพลจากสตรีตอาร์ตมาทำงานศิลปะบนผืนผ้าใบ

เขาได้แรงบันดาลใจจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของผู้คนรอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวัน รวมถึงสถานการณ์ทางสังคมที่ผู้คนกังวลสนใจ และสะท้อนสิ่งเหล่านั้นออกมาในผลงานของเขา
Mr.ZEN ยังเป็นศิลปินผู้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จากข่าวการถูกจับกุมดำเนินคดีในฐานะผู้ต้องหาคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ระบบคัดกรองโควิด-19 ของสนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากเขาเดินทางกลับจากการแสดงงานที่ประเทศสเปน จนถูกจับกุมคุมตัวเป็นเวลาหลายชั่วโมงและได้รับการประกันตัวในที่สุด
ซึ่งประสบการณ์การถูกลิดรอนอิสรภาพของเขาในครั้งนั้นได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้นี่เอง
“งานในชุด FREE มีที่มาจากเหตุการณ์ตอนที่ผมกลับมาจากเมืองบาร์เซโลน่าเมื่อประมาณต้นปีที่แล้ว และถูกจับกุมจากการเขียนสเตตัสแชร์ประสบการณ์ที่ผมพบเจอตอนที่เดินทางจากสนามบินบาร์เซโลน่ามาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง แต่ผมกลับถูกหน่วยงานรัฐบุกเข้าจับกุมตัวและดำเนินคดีเหมือนเป็นอาชญากร ผมถูกฟ้องศาล ถูกคุมขังอยู่ในห้องขังหลายชั่วโมงกว่าจะได้ประกันตัวออกมา”

“ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยถูกจับกุมหรือดำเนินคดีมาก่อน แม้แต่คดีเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม แต่วันหนึ่ง หลังจากผมกลับมาจากเมืองนอก ผมต้องถูกจับกุม คุมขัง ถูกใส่กุญแจมือ ตอนที่รอประกันตัว ผมนั่งดูมือตัวเองที่ถูกใส่กุญแจมือ ผ่านไปสองสามชั่วโมงผมเข้าใจเลยว่าทำไมคนถึงยอมรับสารภาพ เพราะมันกดดันมากๆ”
“ก่อนหน้านี้ ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพ อิสรภาพ ผมก็คิดว่าผมพอเข้าใจอยู่บ้าง แต่พอเราต้องสูญเสียมันจริง ถึงเข้าใจได้เลยว่าเสรีภาพและอิสรภาพสำคัญขนาดไหน”
“ตอนเดินออกมาจากห้องขัง ผมเดินข้ามถนนเล็กๆ ไปสูบบุหรี่ แล้วเห็นนกพิราบบินลงมาตรงนั้นพอดี เมื่อก่อนตอนผมทำงานตลอดมา แทบจะไม่เคยใช้สัญลักษณ์เป็นนกพิราบมาก่อนเลย เพราะผมรู้สึกว่ามันโคตรเชย”
“แต่พอเจอประสบการณ์นี้กับตัว ผมเข้าใจเลยว่าทำไมถึงต้องใช้นกพิราบเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ ผมก็เอานกพิราบที่ผมเห็นนี่แหละมาทำเป็นงานในชุดนี้ขึ้นมา”

เสรีภาพเป็นสิ่งประหลาด เพราะเราจะรู้สึกถึงคุณค่าของมันก็ต่อเมื่อเราสูญเสียมันไป นั่นเป็นสิ่งที่ศิลปินผู้นี้รู้สึกเช่นเดียวกัน
“ที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่าชีวิตและการทำงานของเรานั้นโคตรเสรี ผมจะคิด พูด ทำ หรือแสดงอะไรก็ได้ อาจเพราะส่วนใหญ่ผมแสดงผลงานในต่างประเทศมาตลอด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปิดอิสรภาพทางความคิดให้ผมมากๆ”
“แต่การทำอะไรในประเทศนี้มันไม่มีเสรีภาพเลย ผมเลยตั้งชื่อนิทรรศการครั้งนี้ว่า ‘FREE’ ทั้งที่ความจริงเราไม่มีความอิสรเสรีเลย”
“ด้วยความที่ผมพูดอะไรตรงๆ ในประเทศนี้ไม่ได้ ก่อนหน้านี้ผมถูกจับกุมเพราะผมใช้ภาษาไทยเล่าประสบการณ์ของตัวเองแล้วมีปัญหากับรัฐ ผมจึงต้องใช้ภาษาอื่นในการเล่า ผมก็คิดว่าจะใช้ภาษาอะไรดี?”

“พอดีผมเคยมีแบบร่างผลงานเก่าๆ ที่เคยวางแผนจะทำเอาไว้นานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำเสียที คืองานที่ใช้รหัสมอร์ส ก็เข้าแก๊ปพอดี ผมก็เลือกดูว่าหลังกลับมาจากบาร์เซโลน่าผมได้เจอเพื่อนคนไหน หรือได้อ่านบทความของใครที่ผมสนใจบ้าง แล้วผมก็โทรศัพท์ไปขอคำพูดสั้นๆ สักประโยคสองประโยคของเขาเกี่ยวกับความหมายของอิสระเสรีภาพของตัวเอง”
“ในจำนวน 12 คนนี้ มีอยู่คนเดียวที่ผมไม่เคยรู้จักตัวจริงๆ คือ มหาตมะ คานธี คือตอนที่ผมโดนจับกุมคุมขัง ผมคิดถึงคำพูดของเขาเป็นคนแรกๆ คือ ‘ไม่มีใครทำร้ายฉันได้ ถ้าฉันไม่อนุญาต’ (Nobody can hurt me without my permission) ตอนนั้นที่ผมถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ผมรู้สึกเลยว่าคำพูดนี้มันใช่จริงๆ เขาทำร้ายเราไม่ได้ ถ้าเราไม่อนุญาตให้เขาทำ ประโยคนี้เป็นประโยคแรกที่ผมเลือกมา ที่เหลือเป็นคำพูดของเพื่อนและคนที่ผมรู้จัก”

“หลังจากนั้นผมก็คัดคำพูดเหล่านั้นจนเหลือ 12 คน เอามาแปลงเป็นรหัสมอร์ส แล้วเอามาพ่นสเตนซิลเป็นผลงาน 12 ชิ้น เป้าหมายของผมคือการสื่อสารระหว่างผมกับเพื่อนๆ ด้วยความที่เราใช้ภาษาไทยไม่ได้แล้ว ก็เลยใช้รหัสมอร์สซึ่งเป็นภาษาของสายลับสมัยก่อนเสียเลย เพราะรัฐเองก็จ้องจับตาผมอยู่แล้วด้วย”
“ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ผมมีโจทย์ในการทำงานคือ ต้องจริง ต้องจิกกัดเสียดสี ต้องใกล้ตัว สัมผัสได้ และเป็นสิ่งที่ผมสนใจจริงๆ ในช่วงนี้เรื่องของเสรีภาพ (FREE) เป็นอะไรที่ตรงกับโจทย์เหล่านี้ที่สุดแล้วเท่าที่ผมเคยทำงานมา”
เนื่องจากเป็นผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากการประสบภัยคุกคามทางการเมืองจากรัฐ รายได้ส่วนหนึ่งจากการขายผลงานชุดนี้จึงถูกมอบให้องค์กรภาคประชาชนที่มีส่วนช่วยเหลือผู้ต้องหาทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องจริงจังอย่างศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนั่นเอง

“ตอนที่เกิดเรื่องผมได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตอนผมถูกจับและควบคุมตัวจากภูเก็ตมาที่ ปอท. มีคนจากศูนย์ทนายไปรอรับผมโดยที่ผมไม่ได้จ้างหรือรู้จักเกี่ยวข้องกับเขามาก่อน เขาคอยประกบดูแลรับผิดชอบคดีของผมอย่างจริงจัง เอาใจใส่ตั้งแต่แรกจนผมได้ประกันตัว ผมโคตรนับถือหัวใจเขาเลย ไม่รู้จะขอบคุณเขาอย่างไรดี”
“งานในชุดที่ผมทำขึ้นหลังจากเหตุการณ์นั้น ทั้งนกพิราบและงานอื่นๆ ที่ประมูลหรือขายได้หลายชิ้น ผมมอบรายได้ส่วนหนึ่งให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำให้ผมรู้สึกดีมาก”

“ก่อนหน้านี้งานของผมส่วนใหญ่ขายให้ลูกค้าต่างชาติและสร้างประโยชน์ให้ตัวผมและครอบครัวเป็นหลัก แต่งานชุดนี้ผมรู้สึกว่าผมได้ทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ด้วย ผมเคยพูดกับตัวเองและคนรอบตัวอยู่เสมอว่าผมอยากให้งานของผมมีประโยชน์กับคนอื่น แต่ที่ผ่านมามันเป็นแค่เรื่องของสุนทรียะและรสนิยมซึ่งเป็นอะไรที่เป็นนามธรรมมากๆ”
“ที่ผ่านมางานของผมไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ในบ้านเศรษฐีมีเงิน ซึ่งผมก็ภูมิใจนะ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เงินจากการขายงานของผมได้มีส่วนช่วยให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเอาไปช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ไม่มีเงินประกันตัวในคดีทางการเมือง”
“นี่เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่างานของผมมีประโยชน์กับคนอื่นอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ เป็นครั้งแรกที่ผมทำตามสิ่งที่ตัวเองเคยพูดได้ใกล้เคียงที่สุด”

โดยพื้นฐานแล้ว รากเหง้าของสตรีตอาร์ตและกราฟฟิตี้คือการประท้วง ประจาน หรือระบายความอัดอั้นบีบคั้นที่ประชาชนมีต่ออำนาจรัฐอันไม่เป็นธรรม ผลงานศิลปะของ Mr.ZEN ก็เป็นเช่นเดียวกัน
“งานศิลปะแบบนี้มีไว้ประจานปัญหาของสังคม ยกตัวอย่าง ถ้าฟุตปาธบ้านเราชำรุดเสียหาย เดินไม่ได้ แล้วคนไปยื่นแจ้งหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบตามปกติ น้อยครั้งมากที่จะมีใครสนใจมาแก้ปัญหา แต่ถ้ามีศิลปินสตรีตอาร์ตสักคนไปทำงานแฉว่าฟุตปาธตรงนี้โคตรเลวร้าย ปัญหานี้ก็จะได้รับการมองเห็นทันที และอาจถูกแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ผมคิดว่างานของผมน่าจะมีประโยชน์กับสังคม และทำให้คนฉุกคิดและตั้งคำถามอะไรได้บ้าง ไม่มากก็น้อย”

ติดตามผลงานของ Mr.ZEN ได้ที่ https://www.wua-artgallery.com/
สนใจบริจาคเพื่อสนับสนุนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ที่ https://bit.ly/3g5pwRl
นิทรรศการ “FREE” โดย Mr.ZEN จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน-20 มิถุนายน 2564 ที่ VS Gallery ในโครงการ N22 ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) เปิดทำการปกติวันพุธ-อาทิตย์ 12:30-18:00 น. (หยุดจันทร์-อังคาร)
ขอบคุณภาพจาก VS Gallery