ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 มีนาคม - 1 เมษายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
Messages
สารศิลปะแห่งแรงบันดาลใจ
จากศิลปินผู้ล่วงลับ
เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการที่น่าสนใจมา เลยเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย
นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า “Messages” หรือ “สาร” ที่จัดแสดงผลงานของ ชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญของไทยผู้ล่วงลับ https://bit.ly/3f4ezRx
นิทรรศการในครั้งนี้เป็นโครงการต่อเนื่องที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ MOCA Bangkok ติดต่อชวลิตในช่วงต้นปี 2563 เพื่อจัดทำนิทรรศการ แต่เขากลับจากไปเสียก่อน
ด้วยความที่ผลงานศิลปะของเขาน่าจะสร้างแรงบันดาลใจและเปิดมุมมองให้ศิลปินรุ่นหลัง ทางพิพิธภัณฑ์จึงดำเนินการจัดนิทรรศการนี้ขึ้นตามแผนเดิมที่วางไว้ โดยมุ่งเน้นในการนำเสนอแนวทางการดำเนินชีวิตและปรัชญาในการทำงานของชวลิตผ่านผลงานและข้อเขียนของเขา ถ่ายทอดเป็นแรงบันดาลใจจากรุ่นสู่รุ่น
นอกจากจะจัดแสดงผลงานของชวลิตในหลายยุคสมัย ทั้งงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, ศิลปะสื่อผสม และผลงานศิลปะดิจิตอลและภาพพิมพ์ดิจิตอลอิงก์เจ็ตที่เขาทำในช่วงบั้นปลายของชีวิตและข้อเขียนต่างๆ นิทรรศการครั้งนี้ยังมีผลงานของศิลปินรับเชิญที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากชวลิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็น จิตต์สิงห์ สมบุญ, วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์, ปานพรรณ ยอดมณี, ฟ้าสาง นาวาอรัญ และ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ
ในนิทรรศการยังจัดฉายภาพยนตร์สารคดี “Whether Art is Life or Not” ของชวลิต เสริมปรุงสุข โดย นวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา
ยังมีผลงานศิลปะที่ตีความจากผลงาน “สุสานเกษตรกร” ของชวลิตอย่าง Hope โดยวัชระ ประยูรคำ จัดแสดงอยู่ที่สวนด้านหน้าพิพิธภัณฑ์อีกด้วย
ภัณฑารักษ์ นิ่ม นิยมศิลป์ กล่าวถึงผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ว่า
“นิทรรศการครั้งนี้จะมีผลงานอยู่สองส่วน คือผลงานของอาจารย์ชวลิตในยุคต่างๆ และผลงานของศิลปินรับเชิญ 5 คน ศิลปินที่เราเชิญมาเหล่านี้ ต่างรู้จักอาจารย์ชวลิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราอยากรู้ว่าอาจารย์ชวลิตส่งอิทธิพลกับศิลปินรุ่นหลังอย่างไร ศิลปินทั้ง 5 เป็นศิลปินต่างรุ่น ที่ทำงานด้วยสื่อ วัสดุ และแนวทางการทำงานที่แตกต่างกัน เราอยากให้ผลงานมีความหลากหลาย เพื่อแสดงมุมมองที่มีต่ออาจารย์ชวลิตจากหลายแง่มุม โจทย์ที่เราวางไว้สำหรับศิลปินรับเชิญในนิทรรศการครั้งนี้ก็กว้างมาก คืออะไรก็ได้ที่เป็นแรงบันดาลใจจากอาจารย์ชวลิต ไม่ว่าจะเป็นผลงาน แนวความคิด การใช้ชีวิต ทุกอย่าง เราเปิดกว้างทั้งหมด”
จิตต์สิงห์ สมบุญ สร้างสรรค์ผลงานจากความประทับใจในช่วงเวลาของมนุษย์แต่ละคนที่มีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน ทั้งเวลาของชวลิตและเวลาของเขา
จิตต์สิงห์ได้แรงบันดาลใจจากการใช้สัญลักษณ์เรขาคณิตพื้นฐานและการใช้แม่สีต่างๆ ในผลงานของชวลิต ซึ่งเขามองว่าเป็นตัวแทนของเวลาอันไม่มีที่สิ้นสุด
เขาใช้วัสดุเก็บตกรอบๆ ตัวในบ้านอย่างประตู เหล็กดัดหน้าต่าง บันได หัวเตียง และชิ้นส่วนเหลือใช้จากการสร้างสรรค์ผลงาน ผสมผสานลวดลายและผลงานวิดีโอที่ประกอบด้วยภาพและสัญลักษณ์ที่ได้แรงบันดาลใจจากชีวิต ความคิด และผลงานของชวลิต
“ผมรู้สึกว่าการโยกย้ายเกี่ยวข้องกับเวลา ผมเลยเอาพวกอะไหล่และวัสดุจากการย้ายบ้านมาเป็นวัตถุดิบในการทำงาน ผสมกับสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งกราฟฟิกรูปใบหน้าของผมและใบหน้าของอาจารย์ชวลิตที่หันเข้าหากัน หรือภาพน้ำไหลที่เป็นได้ทั้งไหลมาหรือไหลไป, บันไดที่ทั้งขึ้นหรือลงก็ได้, เหล็กดัดที่เป็นได้ทั้งด้านนอกและด้านใน หรือประตูที่เป็นได้ทั้งเข้าและออก สิ่งของที่เคยถูกใช้ ถูกทิ้ง และนำกลับมาใช้ใหม่”
“หรือคนเราที่ตายแล้วกลายเป็นเถ้า จากเถ้ากลายเป็นดิน จากดินกลายเป็นต้นไม้ เป็นชีวิตใหม่ การพบ จาก เกิด ตาย ทุกอย่างเป็นเรื่องของเวลาทั้งนั้น”
วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ สร้างสรรค์ผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากข้อเขียนในบันทึกความทรงจำและจดหมายของชวลิต ที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต ทั้งความรู้สึกนึกคิด ความทรงจำ จากการทำงานศิลปะ หรือเรื่องราวในชีวิตประจำวัน
วศินบุรีนำข้อความเหล่านี้มาใส่ในผลงานประติมากรรมเซรามิกของเขา
“ผมหยิบเอาความคิดหรือความทรงจำของอาจารย์ชวลิตมาบันทึกไว้ในเซรามิก เพื่อล้อกับศิลาจารึก แต่แทนที่จะใช้ก้อนหิน ผมก็ใช้เครื่องปั้นดินเผาจารึกความทรงจำของอาจารย์ให้คงอยู่ตลอดไป เพราะเซรามิกเป็นวัสดุที่มีความคงทนถาวรต่อธรรมชาติและกาลเวลา”
“ส่วนรูปทรงของผลงาน ผมได้แรงบันดาลใจมาจากอาจารย์ชวลิต ที่มักจะหยิบเอาวัสดุที่อยู่รอบๆ ตัว อย่างข้าวของที่ซื้อตามตลาดนัด มาทำงานศิลปะดิจิตอล”
“ผมหยิบเอารูปทรงเหล่านั้นมาทำเป็นประติมากรรมเซรามิก เพื่อบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ความทรงจำจากข้อเขียนของอาจารย์ลงไป”
ปานพรรณ ยอดมณี หยิบเอาแรงบันดาลใจจากความตายของชวลิตมานำเสนอผ่านผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมสื่อผสมที่ผสมผสานศิลปะไทยแบบประเพณีเข้ากับจิตรกรรมตะวันตกยุคเก่าก่อน และซากอารยธรรมโบราณเข้าด้วยกันจนกลายเป็นงานศิลปะขนาดมหึมา
“ฉันมองความตายของอาจารย์ชวลิตเป็นการเกิดใหม่ เหมือนการต่อยอดสารที่อาจารย์ทิ้งเอาไว้ให้ โดยหยิบรูปลักษณ์ของความตาย จากความรู้สึกเหมือนเวลาเราเข้าไปในถ้ำ แล้วพบซากโครงกระดูกและวัตถุโบราณ”
“สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนตะกอนที่ตกผลึกระหว่างการเดินทางของชีวิต ทั้งการเกิดและการตาย ฉันแทนค่าการเดินทางนี้ด้วยการขมวดเอาเรื่องราวในศาสนาพุทธกับคริสต์เอาไว้ด้วยกัน เหมือนเป็นภาพพระบฏผสมกับจิตรกรรมฝาผนังปูนเปียกในวิหารคริสต์ โดยใช้สัญลักษณ์ของดอกบัวและโครงกระดูก แทนการเกิดและการตาย”
“โครงกระดูกและหัวกะโหลกนี้ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของอาจารย์ชวลิตที่ฉันติดตามจากเฟซบุ๊กของอาจารย์มาตลอด เหมือนเป็นการส่งสารระหว่างคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ที่มาเจอกันด้วยโซเชียลมีเดีย”
ฟ้าสาง นาวาอรัญ เจ้าของผลงานศิลปะสื่อผสม จิตรกรรม และศิลปะจัดวางนามธรรมเรขาคณิตที่ใช้รูปทรงและสีสันอันเรียบง่าย ลดทอน การใช้ข้าวของเก็บตกเหลือใช้รอบๆ ตัวมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และการแสดงออกถึงธรรมชาติที่แท้จริงของวัตถุอย่างตรงไปตรงมาของเขา มีความเชื่อมโยงและคล้ายคลึงกันบางอย่างกับผลงานของชวลิต
ผลงานของฟ้าสางถูกจัดวางเรียงเคียงข้างกับผลงานของชวลิต
และสร้างบทสนทนาซึ่งกันและกันอย่างน่าสนใจ
ปิดท้ายด้วย อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ที่สร้างสรรค์ผลงานภาพวาดบนผืนผ้าขนาดมหึมา โดยได้แรงบันดาลใจจากงานภาพจิตรกรรมแบบม้วนแขวน (Scroll-painting) ของจีน และเรื่องราวชีวิตและการทำงานของชวลิตที่เขาเคยติดตามจากสื่อต่างๆ รวมถึงโซเชียลมีเดีย
“สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของผมคือ อาจารย์ชวลิตสามารถปรับตัวเข้ากับยุคสมัย และมองเห็นความเป็นไปได้ของสิ่งต่างๆ ในการนำมาทำงานศิลปะ อย่างช่วงท้ายของชีวิต อาจารย์ก็ทำงานศิลปะดิจิตอลและภาพพิมพ์อิงก์เจ็ต”
“ตอนที่ผมดูสารคดี อาจารย์มักจะบอกว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้สามารถเป็นศิลปะได้ทั้งนั้น เหมือนอาจารย์มองว่าโลกนี้งดงาม และอะไรก็เป็นศิลปะได้หมด ผมคิดว่าการจากไปของอาจารย์ไม่ใช่การสิ้นสุด แต่เป็นการเปลี่ยนผ่าน เป็นการเดินทางต่อของจิตวิญญาณ ทำให้ผมนึกถึงภาพเขียนจีนภาพหนึ่งที่ผมเคยเก็บเอาไว้ในคอมพิวเตอร์นานแล้ว ด้วยความที่ชื่อภาพพูดถึงการเดินทาง คติของภาพเขียนจีนก็มองว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่”
“ผมคิดว่าความตายเป็นธรรมชาติที่ไม่มีใครหลีกหนีได้ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ก็เลยวาดภาพนี้ขึ้นมาโดยได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนจีน เป็นรูปของหุบเขา ภูเขา และการเดินทาง โดยใช้ผ้าใบจากผลงานที่ผมเคยวาดค้างคาเอาไว้ตั้งแต่ประมาณปี 2011 มาปะติดปะต่อกัน เหมือนรอคอยเวลาของการเป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่าง ซึ่งสะท้อนถึงการเดินทางของตัวผม หรือแม้แต่การเดินทางหลังความตายของอาจารย์ชวลิต”
“ผมคิดว่าในชีวิตอาจารย์เดินทางมาเยอะ มีประสบการณ์การทำงานศิลปะมามาก ชีวิตหลังความตายน่าจะเป็นการผจญภัยครั้งใหม่ของอาจารย์ ก็เลยวาดทิวทัศน์ที่อาจารย์จะผจญภัยต่อไป”
นิทรรศการ “Messages” โดย MOCA Bangkok และกองทุนศิลปะชวลิต เสริมปรุงสุข จัดแสดงที่ชั้น G พิพิธภัณฑ์ศิลปะ MOCA Bangkok วันที่ 13 มีนาคม-27 เมษายน 2564
เปิดทําการวันอังคาร-วันอาทิตย์ 10.00-18.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)
สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2016-5666
[email protected] @LINE Official : @mocabangkok
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากนิ่ม นิยมศิลป์ และสุชาย พรศิริกุล