“Raam The Bridge to Lanka” ปั้น “รามเกียรติ์” เป็นแอนิเมชั่นไทยสู่สากล!

https://www.youtube.com/watch?v=t1iqJqfvV_o

หลังสตูดิโอสัญชาติไทย RiFF Animation Studio ได้ปล่อยภาพและคลิปวิดีโอตัวอย่างแอนิเมชั่นเรื่อง Raam The Bridge to Lanka (ราม ตอน สะพานสู่ลงกา) ออกมาให้ได้ชม ก็เรียกเสียงฮือฮาได้เป็นอย่างมาก

เพราะเป็นหนึ่งในภาพยนตร์แอนิเมชั่นชุด Force of Will the Movie ที่ร่วมกับสตูดิโอญี่ปุ่นอีก 5 แห่งผลิตขึ้น โดยมีกำหนดฉายที่ญี่ปุ่นในปี 2018

โดย Raam The Bridge to Lanka เป็นการนำวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ มานำเสนอในรูปแบบใหม่สไตล์แอนิเมชั่นที่ผสมผสานระหว่างแอ๊กชั่นไซไฟและความเป็นไทยลงไป

ซึ่ง วีรภัทร ชินะนาวิน ประธานกรรมการบริหาร RiFF Animation Studio เผยว่า บริษัท Force of Will ซึ่งเป็นบริษัททำการ์ดเกมชื่อดังของประเทศญี่ปุ่น มีโครงการจะทำแอนิเมชั่นโดยรวมสตูดิโอต่างๆ ในญี่ปุ่น 6 แห่ง ซึ่งบังเอิญว่าทาง Force of Will ได้เห็นผลงานภาพยนตร์ เมย์ไหน ไฟแรงเฟร่อ ในส่วนแอนิเมชั่นที่ทางสตูดิโอเป็นคนทำ จึงสนใจและชักชวนไปร่วมงาน

“เขาบอกว่ามันมีอะไรที่น่าสนใจในงานแอนิเมชั่นไทย เขาก็เลยชวนเข้าใปร่วมด้วย กลายเป็นสตูดิโอไทยที่เดียวที่ทำงานนี้”

“จริงๆ แล้วบริษัทนี้เขาทำการ์ดเกมที่เกี่ยวกับเทพนิยาย เกี่ยวกับวรรณกรรมตะวันตกตะวันออก แล้วเอามาทำเป็นเกม ทีนี้เขาก็ให้โจทย์มาเป็นคำว่า “แคลิฟอร์เนียโรล” ซึ่งชื่อนี้เป็นของอเมริกาใช่มั้ยครับ แต่ซูชิจริงๆ เป็นของญี่ปุ่น แต่คนอเมริกาเอาไปดัดแปลงจนกลายเป็นแบบอเมริกา เขาเลยให้โจทย์กับเราว่าไหนลองทำซูชิแบบคนไทยให้ชิมหน่อยซิ”

ได้ยินดังนั้น กระบวนการคิดสร้างสรรค์แอนิเมชั่นในคอนเซ็ปต์ “ซูชิสไตล์ไทย” จึงเริ่มขึ้น

“ไอเดียของเขาคืออยากให้เป็นวรรณกรรมสาธารณที่คนทั่วไปรู้จัก เราก็ทำไปให้เขาเลือก 3 เรื่อง อันแรกเป็นเรื่อง “บิวตี้ แอนด์ เดอะ บิสต์”

อันที่สอง เขาบอกให้ทำวรรณกรรมสาธารณะของญี่ปุ่น เราก็ทำเรื่องผีญี่ปุ่นของเขา

อันที่สาม เขาบอกว่าให้ทำอันที่เป็นของไทยจริงๆ เราก็นึกถึง “รามเกียรติ์” เพราะเป็นเรื่องราวที่ชาวต่างชาติน่าจะพอรู้จัก”

“ซึ่งเพื่อนผมที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เขาก็ชอบเรื่องนี้มากและชอบช่วงตอน “จองถนน” นี้มาก เพราะมีฉากหนุมานกับนิลพัทมาสู้กัน เราก็เลยหยิบขึ้นมาทำ”

แต่เพราะข้อจำกัดด้านเวลาที่กำหนดให้อยู่ในเวลา 15-20 นาที การนำวรรณคดีที่มีความยาวอย่าง “รามเกียรติ์” มาดัดแปลง จึงต้องตัดทอนบางสิ่งบางอย่างพอสมควร

“เนื้อเรื่องไม่เหมือนเสียทีเดียว โครงอาจจะใช่ ก็จะมีสะพานแน่นอน มีตัวละครเหมือนกัน เป้าหมายเดียวกัน แต่มีสถานการณ์ต่างกันบ้าง เพราะทาง Force of Will อยากให้ทุกเรื่องมีตัว “ปลาหมึก” ที่เป็นแคแร็กเตอร์ของเขา ซึ่งทางเราก็ต้องเอาสัตว์ประหลาดตัวนั้นมาใส่ในเรื่องเหมือนกัน แต่ต้นสังกัดเขาก็ให้อิสรภาพทำเต็มที่”

“เราก็พยายามตีความหมายใหม่อีกที เลยมีบางอย่างที่เราดัดแปลงตัวบทไปบ้าง”

อีกอย่างคือ “เนื่องจากมันเป็นแนวอนิเมะ มันก็จะมีเรื่องของดีไซน์ เราก็ต้องมาดูว่าเราจะดีไซน์ยังไงให้เข้ายุคสมัย ไม่ซ้ำใคร และไม่เชยด้วย เลยออกมาเป็นภาพที่คล้ายๆ หุ่นยนต์นิดๆ ซึ่งเราตั้งเราตั้งใจให้เป็นไซไฟ โรแมนติก แอ๊กชั่น ใส่ความเป็นโมเดิร์นเข้าไปเป็นมุมมองยุคอนาคต”

ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทิ้งความเป็นไทย “เราค่อยๆ เอาความเป็นไทยเข้ามาเล่น เพราะเราต้องการให้คิดถึงความเป็นไทยเป็นหลัก เห็นปุ๊บจะรู้ปั๊บเลยว่านี่มันของไทยจริงๆ”

“อย่างเรื่องรามเกียรติ์ส่วนมากคนจะรู้จักตอนเล่นโขน ซึ่งการเล่นโขนเป็นเอกลักษณ์มากอยู่แล้ว เราก็หยิบตรงนี้มาดัดแปลง เสื้อผ้าที่ตัวเอกใส่ กางเกงก็จะคล้ายๆ โจงกระเบน”

นอกจากนี้ “เราก็จะมีมวยไทยใส่เข้าไปด้วยในพาร์ตการต่อสู้” วีรภัทรอธิบาย

บอกอีกว่า แม้จะเคยทำแอนิเมชั่นมาหลายเรื่องแล้ว แต่สำหรับงานชิ้นนี้ไม่ง่าย เพราะ “เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ทางสตูดิโอเราครีเอตเองตั้งแต่ต้น”

“การทำแอนิเมชั่นขั้นตอนมันค่อนข้างเยอะ เราไม่เหมือนการถ่ายหนัง เราต้องสร้างของมาใหม่หมด เหมือนเริ่มจากกระดาษเปล่าหน้าหนึ่ง”

“ตัวงานเองก็ต้องการคุณภาพระดับสูงพอสมควร ฉะนั้น ของที่เราดีไซน์ โมเดล แคแร็กเตอร์ เราก็ต้องเจาะเป็นชิ้นๆ เพื่อที่จะรักษาคุณภาพงานให้ได้”

และเพราะเป็นงานใหญ่ที่จะออกสู่สายตานานาประเทศ การทำงานครั้งนี้จึงกดดันกว่าที่ผ่านมา

“กดดัน เพราะงานเราตั้งแต่สมัยเมย์ไหนฯ หรือเรื่องสยองสองร้อยปี ก็มีคนที่เขาตามงานเราอยู่ เราก็ไม่อยากให้คนผิดหวัง ทุกครั้งที่ทำงานก็อยากให้งานออกมาดี อยากให้คนชอบ”

“ที่สำคัญที่สุดตัวของทีมงานเอง คนที่นี่เป็นคนที่อยากรับงานมาก อยากทำงานให้ดีที่สุด เพราะเขาก็อยากเอางานมาเป็นพอร์ตชีวิตของตัวเอง เพราะฉะนั้น เขาก็จะกดดันกัน”

ส่วนเรื่องกระแสดราม่าที่อาจเกิดขึ้น เหมือนกรณีมิวสิกวิดีโอเพลง เที่ยวไทยมีเฮ ที่นำตัวละคร ทศกัณฐ์มาขี่ม้า แคะขนมครก และขับรถโกคาร์ต เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวไทยว่าไม่เหมาะสมนั้น วีรภัทรว่าไม่กลัว เพราะตั้งใจนำเสนอในมุมมองที่ดี

“ตอนทำเราก็ไม่ได้ลบหลู่ เราพยายามส่งเสริม ตั้งใจทำออกมาให้ดี เพราะฉะนั้น ผมเลยค่อนข้างเชื่อมั่นว่างานชิ้นนี้ออกไปไม่น่าจะโดนวิพากษ์ วิจาร์ณอะไรขนาดนั้น”

“ถึงจะโดนวิพากษ์วิจารณ์เราก็มั่นใจว่าเราตั้งใจนำเสนอในมุมมองที่ดี ให้ความเคารพ มองอีกมุมคือเพื่อโปรโมตให้กับประเทศด้วยว่าคนไทยสามารถทำงานสร้างสรรค์ได้ แล้ววัฒนธรรมก็สวยงาม”

ดังนั้น จึงหวังว่า “คนไทยจะชอบ พอชอบก็อยากให้มีความหวังกับวงการแอนิเมชั่นไทยมากขึ้น อย่างน้อยงานเราก็ไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้วนะ เพราะจริงๆ แล้วสองสามปีนี้ มีงานเอาต์ซอร์ตมากมาย ทำให้ไประเทศไทยได้เรียนรู้เยอะขึ้น แล้วก็เป็นงานที่มีคุณภาพสากลมากขึ้น”

“ตอนนี้เป็นโอกาสหนึ่งที่เราได้ทำงานภาพยนตร์ของเราเอง เราก็อยากให้รู้สึกว่าแอนิเมชั่นไทยก็สนุกดีเหมือนกันนะ แล้วเราก็เป็นตัวเปิดประตูให้คนไทยได้ทำผลงานใหม่ๆ เพื่อไปสู้กับต่างชาติมากขึ้น”