ตํ่าหูก แต้มผ้า – เล่าอีสานผ่านงานทอ ศิลปะผืนผ้าเปี่ยมสีสันตระการตาแห่งวิถีพื้นถิ่นอีสาน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เหมือนกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว ว่าในช่วงปลายปีเราต้องเดินทางไปดูงานศิลปะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันบนพื้นที่กลางแจ้ง ทุ่งนาป่าเขา ในโครงการศิลปะ “อาร์ต ออน ฟาร์ม” (Art on Farm) ที่หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน กับจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ร่วมมือกันจัดขึ้นในทุกๆ ปลายปี

โดยเชื้อเชิญศิลปินมาสร้างสรรค์และจัดแสดงผลงานศิลปะขึ้นเฉพาะในพื้นที่ของจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ในช่วงที่มีการจัดงาน “จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ทัวร์” เปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าชมฟาร์ม ระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมของทุกปี

ธีมหลักของงานในปีนี้คือ “ตํ่าหูก แต้มผ้า – เล่าอีสานผ่านงานทอ”

เป็นการนําเสนองานศิลปะภายในพื้นที่ฟาร์ม รวมถึงความงดงามบนผืนผ้าทอของชาวอีสาน ที่ได้แรงบันดาลใจจากขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ของชาวอีสานอย่าง “ผ้าผะเหวด” (“ผะเหวด” เป็นคำสำเนียงอีสาน ตรงกับคำว่า “พระเวส” หมายถึงพระเวสสันดร อดีตชาติของพระพุทธเจ้า เรื่องราวในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับพระเวสสันดรจึงเรียกว่า “มหาเวสสันดรชาดก” เป็นชาดกขนาดยาว จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “มหาชาติ” และจะมีการทำผ้าผะเหวด ที่วาดเรื่องราวในพระเวสสันดรชาดกลงบนผ้าผืนยาวหลายสิบเมตรนำไปถวายให้วัด)

ในช่วงเดือนมีนาคม ชาวอีสานจะจัดงานบุญที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญต่อชุมชนอีสาน เรียกว่า “บุญผะเหวด” หรือ “บุญมหาชาติ” ซึ่งจะมีพิธีกรรมสำคัญคือการแห่ผ้าผะเหวด และการฟังเทศน์มหาชาติ

สะท้อนความเชื่อทางศาสนาที่แนบแน่นกลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยภาคอีสานได้อย่างลึกซึ้ง

ในปีนี้ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยอย่างมิตร ใจอินทร์ ถูกเชิญให้มาทำงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องผ้า ซึ่งเป็นธีมหลักของงานในปีนี้

มิตร ใจอินทร์ เป็นศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะร่วมสมัยของไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับสากล

ผลงานศิลปะของเขาท้าทายขอบเขตของสื่อศิลปะแบบเดิมๆ ด้วยรูปแบบอันหลากหลาย

ที่หลอมรวมความเป็นจิตรกรรมและประติมากรรมเข้าไว้ด้วยกัน

ทั้งในเชิงกายภาพ ด้วยเทคนิคการใช้สีสันฉูดฉาดบาดตาของสีนีออน และสีสันสดใสนุ่มนวลของสีพาสเทล และการสร้างพื้นผิวของเนื้อสีที่ทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ อย่างหนาแน่น

ผนวกกับวิธีการจัดแสดงอันไม่ธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นการแขวนห้อยภาพวาดในแนวดิ่งจากเพดานจรดพื้น

ทำให้สามารถดูได้ทั้งสองด้าน หรือการม้วนภาพวาดวางบนพื้นในแนวตั้ง หรือคลี่แผ่บนพื้น ผลงานของเขามีลักษณะคล้ายธงแขวนหรือม้วนภาพวาดทางพิธีกรรมโบราณ

ซึ่งมิตรได้รับแรงบันดาลใจจากตุง หรือธงแขวนแบบดั้งเดิมของล้านนา

โดยในงานอาร์ต ออน ฟาร์มครั้งนี้ มีผลงานของมิตรติดตั้งอยู่ในพื้นที่ 5 จุด

โดยจุดแรกใกล้กับประตูทางเข้าหลักของฟาร์ม เป็นภาพวาดนามธรรมที่ดูคล้ายริ้วผ้าผะเหวดขนาดยักษ์หลากสีสัน แขวนอยู่เหนือทุ่งดอกคอสมอสสีชมพูและสีขาว ราวกับกำแพงประตูขนาดมหึมา

เมื่อผ้าโดนลมพัดจะเกิดทัศนียภาพพลิ้วไหวสวยงามอลังการ และแถบภาพวาดนามธรรมที่ดูคล้ายตุงขนาดใหญ่หลากสีสันตระการตาในบริเวณติดกับทุ่งดอกดาวกระจายสีส้ม

นอกจากนี้ ยังมีภาพวาดนามธรรมแถบยาวคล้ายกับม่านหรือฉากที่ติดตั้งที่ศาลากลางบ้าน ในหมู่บ้านอีสาน

และภาพวาดนามธรรมหลากสีสันที่ติดตั้งอยู่ในสิมอีสาน (โบสถ์อีสาน) และหอไตรกลางนํ้า เมื่อเปลวแดดสะท้อนแสงจากผิวน้ำอาบไล้สีสันสดใสเมลืองมลังบนภาพวาดอย่างละลานตา

“งานชุดนี้เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต วิถีปฏิบัติของชาวล้านนาและชาวอีสาน ที่เขาจะทำผ้าพระบฏ (ผ้าแถบยาว เป็นลวดลายรูปพระพุทธเจ้าหรือพุทธประวัติ นิยมแขวนไว้เพื่อเป็นที่เคารพบูชา) ผ้าผะเหวด ม้วนเก็บเอาไว้ แล้วนำออกมาเปิดประดับในงานบุญตามเทศกาลประจำปี

ตอนเด็กๆ เราเกิดมาในโลกที่ไม่มีสีสัน เพราะทั้งวัฒนธรรม สื่อรอบตัวอย่างโทรทัศน์ หนังสือ ทุกอย่างเป็นขาว-ดำหมด ไม่ค่อยมีแสงและสีสันในชีวิตประจำวัน

สิ่งที่เปลี่ยนชีวิตเราคือการเข้าไปดูจิตรกรรมฝาผนังสมัยใหม่และภาพโปสเตอร์พระเวสสันดรชาดกในโบสถ์ ซึ่งเป็นที่นิยมในวัดบ้านนอกสมัยนั้น การได้เห็นสีแสงเหล่านี้ติดตัวเราและการทำงานมาจนทุกวันนี้”

มิตร ใจอินทร์ กล่าวถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานครั้งนี้ของเขา

“ธีมของงานอาร์ต ออน ฟาร์ม นอกจากจะเป็นเรื่องของงานเทศกาล เป็นเรื่องของวัฒนธรรมอีสานแล้ว ยังเป็นเรื่องของชุมชน เรื่องของคนท้องถิ่นด้วย เพราะสีสะท้อนแสง สีพาสเทล หรือสีนีออนที่สดเกินปกติ แบบเดียวกับที่เห็นในงานเรา ส่วนใหญ่จะเป็นสีของชาวบ้าน เป็นสีที่เราจะเห็นตามงานวัดในต่างจังหวัดช่วงเทศกาลรื่นเริง

ทุกวันนี้ความรื่นรมย์ ความมีชีวิตชีวาของความเป็นพื้นบ้านความเป็นท้องถิ่นแทบจะไม่เหลือ สูญหายไปหมด เพราะอำนาจรัฐคอยควบคุมกำกับ ทำให้ผู้คนไม่สามารถสนุกสนานบันเทิงได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นการร้องรำทำเพลง

ชาวบ้านเขาเหน็ดเหนื่อยมาทั้งปี ปีหนึ่งจะมีเทศกาลประมาณสี่ห้าครั้งตามฤดูเก็บเกี่ยว เขาอยากรื่นเริง อยากเฉลิมฉลอง อยากสนุกสนาน อยากปลดปล่อย แต่มุมมอง-อคติของชนชั้นกลางมักจะเหยียดว่าเป็นพฤติกรรม โง่ จน เจ็บ เพียงเพราะพวกเขาสนุกสนานเฮฮา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นถิ่นนี้ถูกมองด้วยอคติตลอดมา ว่ามัวแต่กินเหล้าเมามาย รักสนุก แต่ทุกคนก็ต้องการพื้นที่ผ่อนคลาย ต้องการความรื่นรมย์ของชีวิต จริงไหม? หน้าที่อันสำคัญของศิลปะคือการเรียกร้องชีวิตชีวากลับคืนมา ทำให้คนเป็นคน ทำให้คนเท่ากัน

ความตั้งใจแรกของเราคือจะทำเป็นธง สูงประมาณ 35 เมตร เป็นธงสาธารณะ เพราะที่นี่คืออำเภอปักธงชัย

แต่ด้วยความที่ต้นทุนสูงมาก และเวลาที่มีจำกัด เราก็เลยทำงานให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของท้องทุ่ง ธรรมชาติ เป็นเหมือนฉากหลังให้คนถ่ายรูป ให้เข้าไปกระโดดโลดเต้นได้ ทำให้คนคุ้นชิน เข้าถึงได้ง่าย ทำให้ศิลปะใกล้ตัวคน ไม่ได้อยู่แต่บนหอคอยงาช้าง

อย่างงานที่อยู่ในศาลากลางบ้าน ในหมู่บ้านอีสานที่ได้แรงบันดาลใจจากผ้าผะเหวดเล่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดก เราก็ทำให้เหมือนเป็นสิ่งประดับส่วนหนึ่งของอาคาร เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึง เชื่อมโยงได้

ปกติศาลากลางบ้านนี้เขาเรียกว่า “หอแจก” ซึ่งเป็นเหมือน Community Hall หรือ Community Center ที่ชาวบ้านมาฟังธรรม หรือมานั่งพบปะพูดคุย ประชุมกัน เราก็ทำงานให้เป็นเหมือนฉากหรือม่านกั้นให้เป็นห้องหับ ปูเสื่อให้เขานั่ง สีของงานเวลาดูตอนกลางวันก็จะกลืนไปกับสภาพแวดล้อม ถ้าดูตอนกลางคืนก็จะสว่างสดใสออกมา

งานส่วนใหญ่เราจะเป็นลักษณะของฉาก เพราะเราเห็นอิทธิพลของฉากในการสถาปนาอำนาจในสังคมไทย แบบเดียวกับฉากของรามเกียรติ์ วัด วัง ที่เป็นนาฏกรรมครอบทับความคิดความเป็นอยู่ของคนไทยมาหลายร้อยปี ชนชั้นนำใช้ฉากประกอบการอบรมบ่มเพาะให้สังคมยึดโยงและสยบยอมกับอำนาจ

แต่ในขณะเดียวกันชาวบ้านเองก็มีฉาก ของโรงลิเก โรงละคร โรงหมอลำ ที่ถูกวาดเป็นพระราชวัง เวลาจะเปลี่ยนฉากก็ใช้การรูดม่านเปลี่ยนเอา ซึ่งบ่อยครั้งมหรสพเหล่านี้ก็ล้อเลียนเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์ความไม่ชอบธรรมของอำนาจรัฐส่วนกลางที่กดขี่เอารัดเอาเปรียบพวกเขาอยู่ งานของเราโดยส่วนมากจะใช้รูปลักษณ์ของฉากแบบนี้นี่แหละ”

นอกจากนี้ ในงานยังมีผลงานศิลปะและงานออกแบบจัดวางเฉพาะพื้นที่ ในพื้นที่หลากหลายจุดของงาน ที่ออกแบบโดยสถาปนิกพอดี รวมถึงผลงานประติมากรรมกลางแจ้งที่ทำจากงานผูกมัดไม้ไผ่ของศิลปินจากสมาคมสถาปนิกสยาม ศาวิณี บูรณะศิลปิน และผลงานประติมากรรมกลางแจ้ง Breast Stupa Topiary ที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วของพินรี สัณฑ์พิทักษ์อีกด้วย

โครงการอาร์ต ออน ฟาร์ม เป็นส่วนหนึ่งของจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ทัวร์ จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2563 ณ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ต.ตะขบ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา

น่าเสียดายที่กว่าบทความตอนนี้จะตีพิมพ์ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ทัวร์ ก็จบไปแล้ว

แต่เราก็ขอถือโอกาสเก็บเอาภาพและเรื่องราวความประทับใจจากผลงานศิลปะท่ามกลางธรรมชาติในงานครั้งนี้ มาเล่าสู่เพื่อเป็นเหมือนของขวัญรับปีใหม่ให้ผู้อ่านก็แล้วกัน