หลังเลนส์ในดงลึก : “เลือด กับ น้ำตา”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

18 ธันวาคม พ.ศ.2559

กระทิงเพศผู้ อายุราว 15 ปี นอนตายอยู่ใกล้ๆ พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า

ซากมีรอยกระสุน 9 รู แถวชายโครงด้านขวา

คาดว่ากระทิงตัวนี้ถูกฆ่าตายมาแล้ว 8 ชั่วโมงก่อนมีคนมาพบสัตว์ป่าตัวหนึ่งโดนฆ่าใกล้ๆ แหล่งอาศัยของพวกมัน ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ คล้ายจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

แม้จะเป็นในปี พ.ศ.2559

ยุคสมัยที่คนเดินทางออกจาก “ถ้ำ” มาไกลแล้ว

 

นานหลายปีก่อน

สมัยที่คนยังใช้หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือในการรับรู้ข่าวสาร มีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง ท่ามกลางข่าวใหญ่เรื่องอื่นๆ

ข่าวเริ่มต้นว่า

“ล่าช้างมรณะ ยิง 200 นัด ดิ้น น้ำตาริน”

“ระดมพรานมือฉมังกว่า 10 คน ล่าพลายเอกงาเดียว ช้างมรณะกลางป่าทั้งคืน พบอยู่กับช้างพัง ยิงถล่มด้วยลูกซอง 10 กระบอก เข้าขาหน้า ขาหลังจนทรุด น้ำตาไหลพราก ยอมจำนนให้มัดตรึงกับต้นไม้สิ้นฤทธิ์”

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะพลายเอกเกิดอาการตกมันอาละวาด สังหารควาญขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และผู้ติดตามไปสองคน หลังจากนั้น ก็เตลิดหนีเข้าป่าเป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้านมาก จึงได้ว่าจ้างให้คนออกตามล่า

ผ่านมานานหลายปี แต่นั่นก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเหตุเช่นนั้น

หลายครั้ง ช้างที่ตกมันอาละวาด ถูกฆ่าโดยกระสุนนับร้อยนัด

ถูกฆ่าทั้งๆ ที่อารมณ์อันดุร้ายเกิดขึ้นเพราะร่างกายเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติในห้วงเวลาผสมพันธุ์

ถ้ายอมรับความจริง พลายเอกไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำว่าได้ฆ่าควาญที่เขารักเคารพยอมรับใช้มาตลอด

อารมณ์ “บ้าคลั่ง” เช่นนี้ จะลดระดับลงและเข้าสู่ภาวะปกติในที่สุด

ทว่า ความผิดที่กระทำคล้ายจะรุนแรงเกินกว่าจะให้อภัยได้

เป็นความจริงว่า ชีวิตช้างไม่ได้มีค่าหรือสำคัญมากกว่าชีวิตคนที่ถูกช้างฆ่า

ย้อนกลับไปนาทีที่ช้างถูกยิง พลายเอกทรุดตัวลง น้ำตาไหลพราก ด้วยความเจ็บปวด

ชีวิตช้างไม่สำคัญกว่าชีวิตคน

เพียงแต่เราเป็น “ชีวิต” เหมือนกันเท่านั้น

 

ว่าไปแล้ว นี่เป็นเรื่องเดิมๆ คนมีความเห็นแตกต่างในทุกๆ เรื่อง ไม่ฟังความคิดเห็นคนที่เห็นต่าง

คนจำนวนไม่น้อยพยายาม “พูดแทน” ชีวิตซึ่งสื่อสารออกมาเป็นคำพูดไม่ได้

อีกทั้งโลกที่เราอาศัยอยู่ มาถึงวันที่ไม่เพียงแต่จะมีสงครามระหว่างคนด้วยกันแล้ว

“สงคราม” แย่งถิ่นอาศัยระหว่างคนกับสัตว์ป่า ดูหมือนนับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้น

อันที่จริง ในช่วงเวลาที่เรายังมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่มีสัตว์ป่าอยู่สักตัว คงยังไม่เป็นไรหรอก สภาพแวดล้อมคงให้เราอยู่ต่อไปได้ คนเก่งพอที่จะดัดแปลง คิดค้นสิ่งต่างๆ แม้กระทั่งคิดเตรียมพื้นที่บนดาวดวงอื่นไว้รองรับ

แต่คนรุ่นต่อๆ ไป อาจไม่ยินดีกับ “ซาก” โลก ที่เราทิ้งไว้ให้พวกเขานัก

 

กลางเดือนธันวาคม พ.ศ.2559

ท้องฟ้าเหนือผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก มัวซัว กลุ่มเมฆครึ้มพัดผ่าน

ฝนโปรยละอองทั้งๆ ที่อยู่ในห้วงเวลาของฤดูหนาว

ชุดลาดตระเวนของจุดสกัดดงวี่ กลับจากการลาดตระเวน ในสภาพมอมแมม เสื้อผ้าเปียกโชก

ในซอกหินเล็กๆ พวกเขาพบถุงปุ๋ยเก่าๆ ข้างในมีปลอกเขากระทิงจำนวนสี่ปลอก

“ตรวจสอบรอบๆ ก็ไม่พบซากครับ มันคงยิงจากที่อื่น แล้วเอามาซ่อนเพื่อกลับมาเอาทีหลัง” อนุวงษ์ หัวหน้าชุดให้ความเห็น

เขากระทิงสี่ปลอก หมายถึงกระทิงโตเต็มวัยสองตัวโดนฆ่า

“ปลอกเขานี่ต้องตีออกตอนกระทิงตายใหม่ๆ ครับ ถ้าแห้งจะแข็ง ตีออกยาก”

กระทิงน้ำหนักร่วมตัน

ถูกฆ่าเพียงเพื่อเอาแค่ปลอกเขา

 

ย้อนกลับไปที่พลายเอก

“หลังจากสิ้นฤทธิ์ คณะพรานได้ย้อนกลับมาดูในวันรุ่งขึ้น พบว่า พลายเอกนอนซมด้วยพิษบาดแผล เลือดจากแผลหยุดไหลแล้วแต่น้ำตายังไหล แสดงความเจ็บปวดทรมานตลอด โดยมีช้างพังสาวที่เคยคลอเคลียอยู่ด้วยกันกลางป่าเข้ามาวนเวียนรอบๆ ไม่กล้าเข้ามาให้เห็น”

ว่าไปแล้ว ถ้าพลายเอกตายทันที คงโชคดีกว่านี้

ช้าง ไม่ว่าจะเป็น ช้างบ้าน ช้างป่า กระทิง รวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆ คงจะต้องประสบกับชะตากรรมเช่นนี้ต่อไป

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน

โลกจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร

ถ้าคนอีกไม่น้อย เห็นและรู้สึกกับพวกมัน

เป็น “สัตว์” เถื่อน ดุร้าย ประโยชน์มีเพียงอวัยวะ และซากที่ไร้ชีวิต

 

เลือดจากบาดแผลของพลายเอกหยุดไหลแล้ว

แต่น้ำตายังไหลอยู่

หมายเหตุ : สองวันต่อมา พลายเอกสิ้นใจ เพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว โดยมีช้างพังคู่คลอเคลียของพลายเอก เดินวนเวียน น้ำตาไหลพราก อยู่รอบๆ