มติบอร์ด สปสช. ลด “ภาระ” บุคลากร เชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ API แก้ปัญหาโลกแตกว่าด้วยการ “คีย์ข้อมูล” 

“ภาระงาน” บุคลากรสาธารณสุขนับเป็นปัญหาคลาสสิกของวงการนี้ ด้วยอัตราแพทย์ต่อประชากรที่ไม่เพียงพอ กระจุกตัวเฉพาะในเมืองใหญ่ การทำงานของพยาบาล ที่ค่าตอบแทนไม่เท่ากับภาระงาน และทำให้พยาบาล “ไหล” ออกจากระบบจำนวนมาก 

ถึงจุดนี้ คนจำนวนไม่น้อยในกระทรวงสาธารณสุขตลอดหลายปีที่ผ่านมาลงความเห็นว่าส่วนหนึ่งของปัญหามาจากกลไกทางการเงิน นับตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อปี 2544 ที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา เข้าถึงโรงพยาบาลมากขึ้นอย่างชัดเจน ทว่า ปัญหาที่ตามมาก็คือความไม่สมดุลในภาระงานบุคลากร โรงพยาบาลใหญ่ มีจำนวนคนไข้ล้นทะลัก แพทย์ -พยาบาล ต้องทำงานเกินชั่วโมงการทำงาน โรงพยาบาลเล็ก หมอคนเดียวอาจต้องดูแลทุกโรคภัยไข้เจ็บ พยาบาลหลายคนอาจต้อง “ควงกะ” เพื่อชดเชยหากมีใครสักคนป่วย 

ขณะเดียวกัน หนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่ส่งมาก็คือ ภาระงานที่ต้องเพิ่มขึ้นของบุคลากรทุกระดับเมื่อต้องกรอกข้อมูลการรักษาของคนไข้ เพื่อทำเรื่องเบิกจ่ายไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ห้วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวนไม่น้อยถูกเรียกว่าเป็น “นักรบห้องแอร์” ต้องนั่งจดจ่ออยู่หน้าคอมพิวเตอร์เพื่อคีย์ข้อมูลคนไข้ลงระบบ แลกกับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจาก สปสช. 

เมื่อบุคลากรมีปัญหาก็ส่งผลไปถึงระบบสาธารณสุขภาพรวม กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา “งูกินหาง” ภายใต้โครงสร้างที่ใหญ่โตมโหฬาร ที่ไม่สามารถแก้จุดใดจุดหนึ่งแล้วทุกอย่างจะสำเร็จ แต่ต้องแก้ร่วมกันทุกจุด ทั้งระบบ

ทั้งหมดนี้ ทำให้ สปสช. ในฐานะเจ้าภาพหาทางเริ่มมาตรการลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับทราบมาตรการหารือเพื่อเชื่อมโยง API (Application Programming Interface) เพื่อยกเลิกการบันทึกข้อมูล ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566  

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. บอกว่า แนวทางของ สปสช. ในการลดภาระงานบุคลากรมี 5 แนวทาง เป็นต้นว่า พัฒนาชุดข้อมูลมาตรฐานสำหรับการเบิกจ่าย เชื่อมโยง API เพื่อยกเลิกการบันทึกข้อมูล ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพด้วยตนเอง จัดให้มีกลไกหารือกับเครือข่ายผู้ให้บริการ ก่อนขยายสิทธิประโยชน์ และ ขยายบทบาทคอลเซ็นเตอร์ในการประสานหาเตียงและส่งต่อผู้ป่วย

ทั้งหมดนี้คือมาตรการที่เชื่อมโยงกัน โดยหากมีชุดข้อมูลมาตรฐานสำหรับการเบิกจ่ายภายใต้มาตรฐานชุดข้อมูลใหม่จะสามารถส่งข้อมูลครั้งเดียว โปรแกรมเดียว หน่วยบริการก็จะสามารถนำข้อมูลในระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital information system หรือ HIS) มาส่งเพื่อเบิกจ่ายได้โดยไม่ต้องบันทึกข้อมูลเพิ่ม ลดภาระงานในการบันทึกและส่งข้อมูลได้ 7 เท่า

จากนั้น จะมีการเชื่อมโยง API ยกเลิกการบันทึกข้อมูล และเชื่อมโยง HIS ระหว่างโรงพยาบาลกับ สปสช. โดยตรง โดยจะเริ่มนำร่องในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 

นอกจากนี้ จะมีการขยายบทบาทของ Contact Center 1330 ของ สปสช. ในการประสาน – หาเตียงผู้ป่วย พร้อมทั้งทำสัญญากับโรงพยาบาลเอกชนอีก 17 แห่ง ให้เป็นหน่วยบริการ เป็น “สถานพยาบาลอื่น” ตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควร ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยมีเตียงสำรองทั้งสิ้น 582 เตียง

สุวิมล นัมคณิสรณ์ พยาบาลวิชาชีพ ตัวแทนเครือข่าย Nurses Connect บอกว่า 5 มาตรการดังกล่าวเป็นสัญญาณที่ดี เพราะทำให้เห็นว่า สปสช. เห็นความสำคัญถึงเรื่องภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ และระบบ API ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุขจะช่วยลดภาระงานได้มาก

กระนั้นเอง ยังต้องระมัดระวังในเรื่องข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย ที่ต้องพิจารณาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งทั้งหมดเป็น “ข้อมูลส่วนตัว” เป็นอย่างยิ่ง และต้องอาศัยระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็น “ช่องโหว่” ใหญ่ของระบบราชการ ที่มักจะลงทุนในส่วนนี้ไม่มากนัก

ขณะเดียวกัน ประเด็นปัญหาใหญ่ที่ สปสช. และระบบสาธารณสุขยังหนีไม่พ้นคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีสุขภาพดีด้วยตัวเองมากขึ้น เพิ่มนโยบายในฟากของการส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น ซึ่ง สปสช. และกระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือกับอีกหลายหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวให้ประชาชนแข็งแรง ลดอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 

ทั้งหมดนี้ สอดคล้องกับแนวทางของ นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ตัวแทนจากสหภาพผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) ที่มองว่าเรื่องใหญ่กว่าการเชื่อมโยงข้อมูล และระบบ API ก็คือการสร้างระบบส่งเสริมสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น โดยมีระบบการส่งเสริมสุขภาพที่จริงจัง มีงบประมาณ มีแรงจูงใจ มีระบบสนับสนุน ให้ฟากของคนทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพอยากทำงานเพื่อความสุขของคนในชุมชน

นพ.ณัฐ ยังบอกอีกด้วยว่า ปัจจุบัน การเบิกจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพมักจะจ่ายให้กับสถานพยาบาลตามสิ่งที่แพทย์ให้บริการ เช่น การผ่าตัด การจ่ายยา ทว่า ในขณะเดียวกัน วิธีนี้กลับทำให้แพทย์ไม่ค่อยอยากทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพ เพราะจำนวนการเบิกจ่ายไม่มาก ขณะเดียวกัน ยังเสนอแนะให้การเบิกจ่ายเป็นไปในรูปแบบการดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (value-based healthcare) มากกว่านี้ ตัวอย่างเช่น การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก หากปลายทางผู้ป่วยมีการปัสสาวะได้ดีหลังการรักษา โรงพยาบาลจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้แพทย์ ทีมงาน หาทางออกแบบการรักษาที่ดีที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของผู้ป่วย ไม่ผลักให้ผู้ป่วยไปเข้ารับการบริการราคาสูงเท่านั้น 

ขณะที่การจัดระบบเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์นั้น นพ.ณัฐ บอกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แพทย์มีหน้าที่ต้องบันทึกข้อมูลที่จำเป็นต่อการรักษาในระบบ ไม่ว่าจะเป็นประวัติผู้ป่วย ข้อมูลการวินิจฉัย โดยจะทำงานได้ราบรื่นมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่ต้องขึ้นกับระบบสารสนเทศโรงพยาบาลของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ขณะที่ในส่วนของการขยายบทบาท Contact Center 1330 ก็จะมีส่วนช่วยลดภาระงานด้วย เพราะเคยประสบปัญหาต้องคอยไล่โทรหาโรงพยาบาลอื่นๆ ด้วยตัวเองจนกว่าปลายทางจะรับสาย ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคในการดูแลผู้ป่วย 

หากแนวทางของ สปสช. สามารถนำไปปฏิบัติงานได้จริง ก็จะทำให้ระบบส่งต่อ – เชื่อมต่อ ระหว่างโรงพยาบาล และ สปสช. เป็นไปโดยสมบูรณ์ ไร้รอยต่อ และลดภาระงานของแพทย์ – บุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น

แต่ทั้งหมดยังคงเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งเปราะ จากอีกหลายเปราะ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของ“ระบบ” ไม่ใช่เรื่องของวิธีการ ซึ่งยังต้องติดตามต่อไปว่าในฟากของการส่งเสริมสุขภาพ – ป้องกันโรค รวมถึงการแก้ “โรงพยาบาลล้น” จะถูกตอบสนองต่อไปอย่างไรในอนาคต