รายงานพิเศษ ชายแดนใต้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตอน “แก้ปัญหา คลายทุกข์ แก่พสกนิกรชายแดนใต้” ด้วยโครงการพระราชดำริฯ

จากการเสด็จเยี่ยมราษฎร ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้องของราษฎร จึงเกิดเป็นพระบรมราโชบายว่า “การที่จะแจกสิ่งของหรือเงินแก่ราษฎรนั้นเป็นการช่วยเหลือชั่วคราวไม่ยั่งยืน การที่จะช่วยประชาชนอยู่รอดได้ก็คือการให้อาชีพ” จึงเป็นที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 – เดือนมิถุนายน 2562 รวม 4,810 โครงการ มีการบูรณาการทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร เช่น โครงการด้านเกษตรกรรม การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การชลประทาน การประมง การสหกรณ์ และอื่นๆ  วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่ดีและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งโครงการส่วนใหญ่จะเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการผลิต ส่งเสริมให้มีความรู้ในการประกอบอาชีพตามศักยภาพของแต่ละท้องถิ่น ตลอดจนทรงหาทางนำเอาวิทยาการสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาชาวบ้านด้วย

พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกเหนือจากปัญหาความรุนแรงและการขัดแย้งทางความคิดแล้ว ปัญหาเรื่องปากท้องและคุณภาพชีวิต ก็มีสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะหลายพื้นที่มีสภาพไม่เอื้ออำนวยต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตร มีผลผลิตต่อไร่ต่ำ ทำให้มีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการครองชีพ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาแหล่งน้ำ ดินเปรี้ยว ขาดความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและพระบรมวงศานุวงศ์  จึงได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระจายในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา รวม 638 โครงการ 

ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนและเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม/หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล จึงมอบหมายให้ พลเอก วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล กลุ่มงาน เสริมสร้างพหุวัฒนธรรม และ พลเอก มณี จันทร์ทิพย์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล กลุ่มงาน เสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือ ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา โดยเมื่อวันที่ 20-21 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมประชุมสัมมนาติดตามการดำเนินงาน ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่ โรงแรมตันหยง อำเภอเมืองนราธิวาส เพื่อประสานงาน รับทราบปัญหาข้อขัดข้องและไห้คำแนะนำ ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้เกิดการประสานสอดคล้องและบูรณาการ อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับกิจกรรมในวันดังกล่าวมีการจัดเวทีเสวนา และทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม รวม 12 หน่วย 

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) พบว่าในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวม 940 โครงการ กระจายในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 638 โครงการ ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส 389 โครงการ ปัตตานี 96 โครงการ ยะลา 86 โครงการ และสงขลา 67 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 443 โครงการ รองลงมาเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพ และ การศึกษา จะเห็นได้ว่าในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มากกว่าจังหวัดอื่นๆ และมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมากที่สุด เนื่องจากน้ำเป็นต้นทุนพื้นฐานที่จำเป็นต่อการผลิตและการดำรงชีวิต ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะประสบปัญหาเรื่องน้ำเปรี้ยวที่เกิดจากป่าพรุ หรือน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งปัญหาภัยแล้ง ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ตามความจำเป็นและความต้องการของพื้นที่ ดังเช่น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนราอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่กรมชลประทานรับผิดชอบดูแล มีพื้นที่พัฒนาอยู่ในเขตจังหวัดนราธิวาส รวม 291,000 ไร่ ทั้งนี้เนื่องจากแม่น้ำบางนราเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดนราธิวาส พื้นที่ลุ่มน้ำทอดตัวขนานไปตามชายฝั่งทะเลตะวันออกยาวกว่า 60 กิโลเมตร มีพื้นที่รับน้ำ 1,383.79 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลผ่านอำเภอเมืองและอำเภอตากใบ ออกอ่าวไทย 2 ทางคือที่ บริเวณปากแม่น้ำ อำเภอเมืองนราธิวาส และไหลลงสู่แม่น้ำสุไหงโก-ลก บริเวณอำเภอตากใบ ที่ เป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีลำน้ำสาขาหลายสาย ได้แก่ คลองยะกัง คลองโต๊ะเจ๊ะ คลองจวบและคลองสุไหงปาดี ลักษณะภูมิประเทศใกล้ชายฝั่งทะเลและอยู่ในเขตฝนชุก ทำให้ประชาชนบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำบางนราประสบปัญหาน้ำทั้ง ๓ ประเภท คือ น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำเปรี้ยว สร้างความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูก รวมถึงปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ไม่สามารถใช้พื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้

จากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาดังกล่าว จึงทรงมีพระราชดำริให้ กรมชลประทาน พิจารณาศึกษาวางโครงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำบางนรา หาวิธีระบายน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม โดยก่อสร้างประตูระบายน้ำที่ปากแม่น้ำบางนราทั้งตอนบนและตอนล่างพร้อมจัดระบบชลประทานและระบบระบายน้ำ เพื่อแยกน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำเปรี้ยวออกจากกันโดยกักน้ำจืดไว้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตร รวมทั้งป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่ทำกินและระบายน้ำเปรี้ยวซึ่งขังอยู่ในที่ดินทำกินของราษฎรออกจากพื้นที่ก่อนจะทำการปรับปรุงคุณภาพดินในบริเวณดังกล่าวให้กลับมาใช้การได้ดังเดิม ต่อมาในปี 2525 กรมชลประทาน ได้สนองพระราชดำริโดยขุดคลองระบายน้ำจากคลองน้ำแบ่ง พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำ แล้วเสร็จเมื่อปี 2526 ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาภาวะน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกบริเวณสองฝั่งแม่น้ำบางนราได้เป็นอย่างดี  จากนั้น ในปี 2533ประตูระบายน้ำบางนราทั้งตอนบนและตอนล่างได้ก่อสร้างแล้วเสร็จทำให้สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเค็ม น้ำเปรี้ยว รวมทั้งกักเก็บน้ำจืดสำหรับพื้นที่เพาะปลูกได้ถึง 100,500 ไร่

แต่เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวครบวงจรและเป็นประโยชน์แก่พสกนิกรในพื้นที่ลุ่มน้ำบางนรา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ขึ้น เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลอง และพัฒนาดินอินทรีย์และดินที่มีปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่พรุ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรรวมทั้งแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนา ทั้งทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ การเกษตรอุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ และเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จให้พื้นที่อื่นๆ อีกด้วย จากโครงการดังกล่าว มีราษฎรในพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ รวม ๑๑ หมู่บ้าน รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ในเขตอำเภอตากใบ และอำเภอเมืองนราธิวาสได้รับประโยชน์ กว่า 30,000 ไร่ ที่กล่าวมาเป็นเพียง 2 โครงการจากทั้งหมด 638 โครงการ ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ช่วยแก้ไขปัญหา บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร แก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้เป็นดินที่มีความสมบูรณ์ สามารถใช้เพาะปลูกเลี้ยงชีพตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน อันเป็นการผ่อนคลายทุกข์เข็ญให้แก่ราษฎร แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด  แต่พสกนิกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงจดจำและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร หรือ “รายอกีตอ” ในหลวงของเรา อย่างหาที่สุดมิได้