คำ ผกา : ดูดเพื่อชาติ

คำ ผกา

คําศัพท์สุดฮิตของการเมืองไทยในวันนี้คือคำว่า “ดูด”

พลัง “ดูด” ส.ส. เข้าพรรค ไม่ใช่เรื่องใหม่ของการเมืองไทย ไม่อย่างนั้นคงไม่มีคำว่า “มุ้ง” หรือชื่อเรียกกลุ่มนักการเมืองที่มีอำนาจในการต่อรองเพราะมี ส.ส. อยู่ใน “สังกัด” ในระดับที่เป็นสมการสร้างผลแพ้-ชนะ เป็นรัฐบาล หรือเป็นฝ่ายค้านได้

พลัง “ดูด” นี้น่ารังเกียจโดยสิ้นเชิงหรือไม่?

หากมองมันในแง่ของพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย สำหรับฉัน มันไม่ได้น่ารังเกียจขนาดนั้น

ก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้งของเราเป็นแบบเบี้ยหัวแตก อันเป็นมรดกของยุคประชาธิปไตยครึ่งใบตั้งแต่ปี 2520 ลงมา การเลือกตั้งมีความหมายกับผู้ออกเสียงเลือกตั้งน้อยมาก เพราะ ส.ส. พรรคการเมือง แทบไม่สามารถผลักดันนโยบายอะไรสำเร็จเลย เพราะหลังเลือกตั้งจบลงด้วยการมีรัฐบาลผสม ภายใต้นายกรัฐมนตรีคนนอก

การเลือก ส.ส. จึงเป็นการเลือก เพราะเราจำชื่อคนนี้ได้ เพราะคนนี้เป็นดีเจอ่านข่าววิทยุที่เราคุ้นเคย เพราะคนนี้เป็นดารา เพราะคนนี้เป็นคหบดีที่น่านับถือของท้องถิ่นเรา

นักธุรกิจท้องถิ่นจำนวนมาก ทั้งที่ทำธุรกิจสีขาว สีดำ สีเทา จำต้องได้ หรือมีอำนาจรัฐ เพื่อปกป้องธุรกิจของตนเอง ก็ต้องเข้าสู่การเล่นการเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่จะปกป้องคุ้มครองธุรกิจและเพื่อขยายความมั่งคั่งของตน

เมื่อคนเหล่านี้อยากชนะการเลือกตั้ง และไม่อยากเป็นศัตรูกับชาวบ้านที่รู้ดีเกี่ยวกับธุรกิจ “เทาๆ” ที่ตนเองทำอยู่ คนเหล่านี้จึงซื้อใจชาวบ้านด้วยการทำตัวให้เป็น “ที่พึ่ง” ของชาวบ้าน

ในหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่การช่วยเหลือเรื่องเงินๆ ทองๆ แบบตรงไปตรงมา ไปจนถึงการดึงงบฯ มาลงในพื้นที่ของตน ช่วยเอาไฟฟ้าเข้า ช่วยขุดลอกคลอง ช่วยทำถนนให้มันดีขึ้น ช่วยให้มีโรงเรียน มีโรงพยาบาล หรือแม้แต่การช่วยเจรจาคดีความเล็กๆ น้อยๆ ที่ชาวบ้านพบเจอ

ในกระบวนการช่วยเหลือเป็น “ที่พึ่ง” ของชาวบ้าน นักธุรกิจท้องถิ่นเหล่านั้นก็ต้องมี “พรรคพวก” จำนวนมาก และเมื่อความสัมพันธ์เช่นนี้ถูกแปรไปสู่สนามการเมือง จึงเป็นภาพของเจ้าพ่อท้องถิ่นที่มีอิทธิพลทั้งมืดและสว่าง

มีธุรกิจอันคลุมเครือทั้งที่ถูกกฎหมายและที่เป็นสีเทาๆ มี “พรรคพวก” ที่กลายเป็นหัวคะแนน

คนเหล่านี้มีสองภาพลักษณ์ นั่นคือ สำหรับคนท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง พวกเขาคือเป็น “คนใจนักเลง” มีทั้งความเมตตามหานิยม และมีทั้งด้านที่ “โหด”

แต่ด้านที่โหด ก็ไม่ได้กระทบต่อสวัสดิภาพของชาวบ้านเท่าไหร่ เพราะจะโหดต่อคนที่มีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์กันเท่านั้น

ดังนั้น ความโหดจึงเป็นเรื่องพวกนักเลงกับนักเลงเขา ไม่เกี่ยวกับเรา

และชาวบ้านก็ชื่นชมคนเหล่านี้ในฐานะที่นำความเจริญมาสู่ท้องถิ่น ทำให้น้ำไหล ไฟสว่าง และยังคุ้มครองพวกเราไม่ให้ถูกคุกคามจากนักเลงกลุ่มอื่น ถิ่นอื่นอีกด้วย

สำหรับคนในเมืองที่มีการศึกษา เมื่อเห็นคนเหล่านี้กลายมาเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี ก็จะแสดงความ “อี๋” ความรังเกียจ ว่าคนเหล่านี้มือไม่สะอาด ใช้อำนาจ คอนเน็กชั่น ปกปิดความผิดของตน แสวงหาผลประโยชน์ เอาประโยชน์ให้พวกพ้อง คอร์รัปชั่น ไม่ได้มีความมุ่งมาดปรารถนาใดๆ ที่จะมาทำงานให้ชาติบ้านเมือง มิหนำซ้ำยังมีทัศนคติของระบบชายเป็นใหญ่อันล้าหลังเหลือเกิน

ความฝันที่อยากจะปฏิรูปการเมืองคือ อยากจะขจัดนักการเมืองเหล่านี้ออก และโทษว่าชาวบ้านนี่โง่จริงๆ เลือกตั้งทีไรก็ไปเลือกเอาเจ้าพ่อ เอานักเลงมาเป็น ส.ส.

แต่ถ้าสังเกตให้ดี เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงหรือเรียกให้หรูหราว่ามันมีพลวัตเล็กๆ เกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญปีที่ 2540 ที่ต้องการแก้ไขปัญหาเบี้ยหัวแตกในการเลือกตั้ง จนได้มาแต่รัฐบาลผสมอันไม่สามารถผลักดันนโยบายใดๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงไม่อาจสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง มีจุดยืนทางอุดมการณ์อย่างชัดเจน

จึงออกแบบรัฐธรรมนูญที่ส่งให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียว และให้เป็นระบบพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค

ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เหลือพรรคการเมืองใหญ่เพียงสองพรรคคือ พรรคไทยรักไทย (ในเวลานั้น) กับพรรคประชาธิปปัตย์

แน่นอนว่าเพื่อจะชนะการเลือกตั้ง “พลังดูด” ณ เวลานั้นก็รุนแรงมาก การซื้อตัว ส.ส. เกิดขึ้นอย่างเป็นสามัญธรรมดา พลังดูดจึงมาพร้อมกับพลังงาน พลังผลประโยชน์ พลังแห่งการต่อรองอำนาจ และอื่นๆ อย่างเข้มข้น

สิ่งที่ตามมาคือ มุ้งเล็ก มุ้งใหญ่ มุ้งน้อย มีกลุ่มวังน้ำ วังบัว อะไรเยอะแยะไปหมด ภายใต้พรรคการเมืองใหญ่

โอ๊ยยย ฟังดูแย่จัง นี่แหละ เขาถึงเรียกนักการเมือง “ขายตัว” เงินมาทางไหนก็ไปทางนั้นจริงๆ

ทว่าด้วยกระบวนการประชาธิปไตยในเวลานั้นที่อุดมไปด้วยการ “ดูด” การซื้อ การโกง การคอร์รัปชั่น สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันคือ พรรคการเมืองพรรคเดียวสามารถกุมเสียงข้างมากในสภา และสามารถผลักดันนโยบายที่ไปสัญญิงสัญญากับประชาชนเอาไว้

และในเวลานั้น การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น และการลดอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และมหาดไทยก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

กลไกการแบ่งเค้ก แบ่งผลประโยชน์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีเสียงของ “คน” จำนวนมากเข้ามาส่งเสียงแบบอึงอลเซ็งแซ่ ทำให้เกิดพัฒนาการของการเอื้อประโยชน์ที่แม้การโกง การคอร์รัปชั่นยังอยู่ แต่กลับมีตัวละครมากขึ้น

การผูกขาดอำนาจ ทุน แบบมุบมิบ อุ๊บอิ๊บ ทำได้น้อยลง

และในเกมนี้ ไม่มากก็น้อย ส่วนแบ่งของผลประโยชน์ที่ต้องลงไปหาประชาชนแบบไม่ใช่การโยนเศษเนื้อเศษเงิน ก็เกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้

สิ่งที่พรรคการเมืองเสียงข้างมากในเวลานั้นผลักดัน เช่น กองทุนหมู่บ้านในรูปของไมโครเครดิต (ไม่ใช่เงินผัน) ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม เรียนฟรี 12 ปี การพัฒนาให้เกิดนายทุนขนาดเล็กขนาดกลาง หรือที่เรียกว่า smes การเกิดของโอท็อป ฯลฯ

เหล่านี้ ได้ปลดปล่อยศักยภาพของประชาชนคนไทยให้มีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น

เมื่อไหร่ก็ตามที่คนมีความมั่นคงในชีวิต สามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐาน และการปฏิรูประบบราชการให้เป็นหน่วยบริการประชาชน มิใช่เป็นเจ้าขุนมูลนาย

ในกระบวนการนี้เองที่ทำให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องไปพึ่งบารมีของเจ้าพ่อท้องถิ่น นักเลง มาเฟียใดๆ อีกต่อไป

แต่หันมาเข้มงวดกับนักการเมือง พรรคการเมืองและนโยบายพรรคการเมืองมากขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ คะแนนนิยมในตัวนักการเมืองแบบเก่าที่เน้นอำนาจ บารมี และการสร้างเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ก็ค่อยๆ อ่อนแรงลง แม้จะไม่หมดไปเสียทีเดียว

ดังจะเห็นได้จากการที่มีนักการเมืองบางมุ้งบางกลุ่ม ออกจากพรรคไทยรักไทย/เพื่อไทย โดยมั่นใจในฐานเสียงของตนเองอย่างยิ่ง แต่กลับแพ้เลือกตั้งอย่างที่ไม่เคยแพ้มาก่อน

นึกออกไหม ประเด็นของฉันคือ การดูด การโกง การซื้อตัว ส.ส. ไปมา ไม่อาจหมดไปด้วยการบอกว่า มันแย่ มันเลว หยุดทำเดี๋ยวนี้!

สิ่งเหล่านี้จะหมด หรือเบาบางลงเมื่อระบบนิเวศน์ทางการเมืองเปลี่ยน

เมื่อโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา เปลี่ยน

เพียงมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตของพลเมืองเพิ่มขึ้นนิดเดียวจากนโยบายหลักๆ เกี่ยวกับสวัสดิการประชาชน บารมีของเหล่าเจ้าพ่อแทบไม่เหลือ แม้จะยังทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจ หรือยังกุมอำนาจการเมืองท้องถิ่นได้

แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เจ้าพ่อเหล่านั้นก็ต้องปรับตัว

นั่นคือ แทนระบบอุปถัมภ์เป็นคนคน สร้างบุญสร้างคุณกันเป็นรายๆ เจ้าพ่อก็ต้องมาเป็นนายกเทศมนตรีของเทศบาล

และพิสูจน์ให้ท้องถิ่นเห็นว่า เขาพัฒนาบ้านเมืองให้ดีขึ้นได้จริง นำพาประโยชน์มาสู่ท้องถิ่นและฐานเสียงของเขาได้จริง

ในพลวัตทั้งหมดนี้ มันก็ไม่สวยหรู งดงามอะไร มันก็ยังมีการโกง การคอร์รัปชั่น มีนักการเมืองทำธุรกิจสีเทา มีการล็อบบี้ ผูกขาดสัมปทาน มีการย่ำยีสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชุมชนอะไรอยู่ตลอดเวลา

แต่อย่างน้อยที่สุด พลวัตมันเกิด พลังในเสียงของประชาชนมันค่อยๆ แข็งแรงขึ้น

น่าเสียดายที่พลวัตที่กำลังดำเนินไปนี้ถูกขัดจังหวะด้วยการรัฐประหารปี 2549 และสิ่งแรกที่การรัฐประหารทำกับประชาชนคนไทยคือ พยายามเอาเครื่องมือใดๆ ก็ตามที่จะทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้นออกไปเสีย

เปลี่ยนกองทุนหมู่บ้านที่เป็นไมโครเครดิตให้เป็นแค่เงินผัน พยายามปรับแก้เงื่อนไขระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ระบบประกันสังคมอ่อนแอ สร้างระบบสงเคราะห์ เช่น บัตรคนจนแทนระบบสวัสดิการรัฐ เปลี่ยน smes เป็นโครงการประชารัฐเข้มแข็ง ฯลฯ

เมื่อประชาชนลืมแล้วว่าครั้งหนึ่งเราเคยตระหนักในศักยภาพ สิทธิ และเสียง เคยฝันหรือแม้กระทั่งเคยมีความสุขกับการเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ก่อนจะถูกเปลี่ยนให้เป็นคนจนมีบัตรไว้แลกซื้อไข่ ซื้อน้ำมันพืช

ในวันคืนแบบนี้ที่วงจรการดูดการซื้อ ส.ส. ได้กลับมา ในเงื่อนไขของการเป็นประชาธิปไตยแบบบอนไซไม้ดัด

กระนั้นก็ตาม ฉันมองโลกในแง่ดีว่า เรามาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 2520s ที่ประชาชนไม่เคยมีประสบการณ์การเมือง

50 ปีผ่าน ประชาชนไม่เหมือนเดิม

นักการเมืองที่ไปกับแรงดูด มีโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง

โจทย์แรก คือการถูกตราหน้าว่าไร้ศักดิ์ศรี จากกลุ่มคนที่ยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2549

โจทย์ที่สอง คือการตกจากเวทีการเมืองโดยการเลือกของคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 2540

ส่วนโจทย์ของพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่คือประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย คือ โจทย์ว่าด้วยการยืนหยัดกับหลักการประชาธิปตายเท่านั้น

ไม่มีทางเลือกอื่น