ธุรกิจพอดีคำ : “บล็อกเชน แบบเข้าใจง่ายๆ”

กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว

ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ท่ามกลางขุนเขากว้างใหญ่

ผู้คนอยู่กันอย่างสงบสุข นับได้สิบหลังคาเรือน

มีผู้ใหญ่บ้านหนึ่งคน ที่คอยดูแลทุกคนในหมู่บ้านให้มีความสุข

หมู่บ้านนี้ มีความถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

จนกระทั่งวันหนึ่ง เอกและโท ชายหนุ่มเจ้าของบ้านสองแห่งมีปากเสียงกัน

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เอกนั้นนำ “เงินเก็บ” ที่มีอยู่ไม่มากมาซื้อ “โทรทัศน์ใช้แล้ว” จากโท

ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ โทมาเคาะที่ประตูบ้านเอก แล้วบอกเอกว่า

“เอกยังจ่ายเงินไม่ครบนะ ขาดไปหนึ่งร้อยบาท”

เอกได้ยินดังนั้น ก็รู้สึกแปลกใจและไม่พอใจเป็นอย่างมาก

“วันนั้นผมจ่ายไปครบนะครับ คุณโทก็นับเองกับมือนะ” เอกพูดขึ้นด้วยความโมโห

โทก็สวนไปทันที “ผมไม่ได้นับนะ คุณเอกมั่วรึเปล่า ผมมาดูอีกทียังขาดอีกหนึ่งร้อยบาท คุณเอกต้องจ่ายเพิ่มมาเดี๋ยวนี้”

เมื่อตกลงกันไม่ได้ ไม่มีใครยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของตัวเอง

ทั้งสองคนจึงเดินไปพบผู้ใหญ่บ้านให้ช่วย “ไกล่เกลี่ย”

ผู้ใหญ่บ้านเห็นปัญหาดังกล่าว จึงเสนอทางแก้ไขให้

“ครั้งนี้เดี๋ยวผมออกไปให้ละกัน แต่ต่อจากนี้ ก่อนที่คุณจะจ่ายเงินกัน ให้เรียกผมมาเป็นพยาน ว่าได้มีการจ่ายเงินกันจริงๆ นะ จะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง”

กฎใหม่นี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไปให้ใช้กันทั้งหมู่บ้านทันที

ปัญหาต่างๆ เรื่องการจ่ายเงินก็ไม่เกิดขึ้นอีก

เพราะเมื่อไรที่มี “คู่กรณี” เห็นไม่ตรงกัน

ผู้ใหญ่บ้านก็จะออกมาช่วย “ไกล่เกลี่ย” เพราะเขาจดบันทึกการจ่ายเงินทุกอย่างไว้แล้ว

เป็น “พยาน” สำหรับการจ่ายเงินทุกครั้งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน

ผู้ใหญ่บ้านเป็นบุคคลที่ “เชื่อใจได้”

ไม่ต่างจาก “ธนาคาร” ในโลกปัจจุบัน

จนกระทั่งเดือนหนึ่งผ่านไป

เอกและโทก็เกิดปัญหาเดิมขึ้นอีก

ไม่มีใครจำได้ว่า ใครจ่ายเงินครบ หรือไม่ครบ

ทั้งคู่จึงเดินทางไปหา “ผู้ใหญ่บ้าน” อีกครั้งหนึ่ง

ผู้ใหญ่บ้านเห็นทั้งสองมาขอความช่วยเหลือ จึงเดินเข้าไปในบ้าน เพื่อนำ “สมุดจดบันทึก” ของตัวเองออกมาตรวจสอบ

ปรากฏว่า “หาไม่เจอ”

สมุดจดบันทึกนั้นเหมือนจะถูก “ขโมย” ไป

ไม่ต่างจากธนาคารที่โดนมือดี “แฮ็ก” ข้อมูล

ทำให้ผู้ใหญ่บ้านไม่สามารถช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาได้

เอกและโทไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากข้อมูลที่เชื่อถือได้ของผู้ใหญ่บ้านถูกขโมยไป

ด้วยความโชคร้ายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้

เอก โท และผู้ใหญ่บ้าน จึงช่วยกันคิดหาวิธีการใหม่ในการตรวจสอบ “ความจริง”

พวกเขาตกลงกันว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

หากมีใครก็ตามในหมู่บ้านแห่งนี้จ่ายเงินไปให้กับใคร เขาจะต้องประกาศการจ่ายเงินครั้งนั้นทาง “วิทยุกระจายเสียง” ของหมู่บ้าน

บ้านทุกหลังเมื่อได้ยินแล้ว จะต้องจด “การจ่ายเงินครั้งนั้น” ลงไปในสมุดจดบันทึกประจำบ้านของตัวเอง

ทุกบ้านจะต้องจดข้อมูล “การจ่ายเงิน” ของทุกคน แล้วเก็บสมุดไว้เป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้น ทุกคนก็จะมีสมุดจดการจ่ายเงินที่เหมือนๆ กัน

มีสิบคน ก็มีสิบเล่ม เก็บไว้คนละเล่ม เก็บไว้พร้อมๆ กัน

คราวนี้ลองนึกภาพว่า “เอกกับโท” มีปากเสียงตกลงกันไม่ได้อีก

พวกเขาจะสามารถไปเช็กกับใครก็ได้ในหมู่บ้าน

ทุกคนควรจะมีข้อมูลเหมือนๆ กัน

แม้ว่าผู้ใหญ่บ้านจะ “สะเพร่า” ทำสมุดจดบันทึกหายไป ก็ยังมีลูกบ้านคนอื่นๆ ที่มีข้อมูลเหมือนๆ กัน ยืนยันความจริงที่เกิดขึ้นได้

ลองนึกภาพว่า ถ้ามีผู้ประสงค์ร้าย อยากจะแก้ไขข้อมูลการจ่ายเงินจริงๆ

เขาจะต้อง “ขโมย” สมุดจดบันทึกของคนในหมู่บ้าน “เกินครึ่ง”

หมู่บ้านมี 10 คน ก็ต้องขโมยสมุดจดบันทึกมาเปลี่ยนข้อมูลเกิน 5 เล่ม

ถึงจะทำให้ “ความจริง” ถูกบิดเบือนได้

ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำ

ด้วยระบบ “ทุกคนจดบันทึกเรื่องของทุกคน” นี้

ทำให้ “ความจริง” ยืนหยัดได้อย่างมั่นคงใน “วงของหมู่บ้าน”

ไม่ต้องกังวลว่า “ผู้ใหญ่บ้าน” จะทำสมุดหาย

หรือแอบเปลี่ยนข้อมูลตามใจชอบอีกต่อไป

นี่แหละระบบการทำงานของ “บล็อกเชน” เทคโนโลยีที่ใครๆ มักพูดถึงว่าจะมาแทน “การมีอยู่ของธนาคาร”

เพราะธนาคารก็เปรียบเสมือน “ผู้ใหญ่บ้าน”

เป็นคนน่าเชื่อถือ ที่ลูกค้าเชื่อ บอกได้ว่า คนไหนมีเงินเท่าไร สามารถจ่ายเงินกันได้อย่างสบายใจ

แต่ถ้าวันไหน “ธนาคาร” โดนขโมยเงิน หรือโดนแฮ็กข้อมูล

คนหนึ่งคนที่เอาเงินไปฝากไว้หนึ่งล้านบาท ก็อาจจะเหลือหนึ่งบาทได้

“ธนาคาร” จึงกลายเป็น “จุดอ่อน” ในยุคดิจิตอล

กลับกัน ถ้าหากทุกคนช่วยกันจดข้อมูล

เราก็จะมี “ข้อมูล” ที่ถูกต้องตลอดเวลา ไม่ต้องไปพึ่ง “ธนาคาร” อีกต่อไป

หากข้อมูลของคนหนึ่งคน ไม่ตรงกับคนอื่นๆ

เราก็สามารถรู้ได้ว่า ข้อมูลของคนส่วนใหญ่ที่จดไว้เหมือนกัน คือ “ความจริง”

ไม่ต้องพึ่งคนกลางอย่าง “ธนาคาร” อีกต่อไป

ซึ่งแน่นอนว่า การจะทำให้ “ระบบ” นี้ทำงานได้ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากทุกคน

แถมการ “จดข้อมูล” นั้น ต้องเสียเวลา เสียน้ำหมึก เสียกระดาษ

คนที่อาสามาจด “ข้อมูล” ก็ควรจะได้ “เงินตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ”

สําหรับเทคโนโลยีบล็อกเชน คนที่อาสามาจดข้อมูล เราจะเรียกเขาว่า “คนขุดเหมือง (Miner)”

คนกลุ่มนี้แหละที่เข้ามาทดแทน “ธนาคาร” ที่แต่ก่อน “ผูกขาด” หน้าที่ในการจดข้อมูลคนเดียว

จากหนึ่งคนคือ “ธนาคาร” ที่ทุกคนเชื่อถือ กลายเป็น “ระบบ” ที่ทุกคนช่วยกันจดข้อมูล ทำให้ “ความจริง” ไม่ถูกบิดเบือน

นี่แหละคือวิธีการทำงานแบบง่ายๆ ของ “บล็อกเชน”

ระบบที่ทำให้ “ความจริง” ยังคงเป็น “ความจริงเสมอ”

ไม่เปลี่ยนแปลง

ถามว่า ธุรกิจอะไรที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้ “บล็อกเชน”

คำตอบง่ายๆ คือ ธุรกิจที่เป็นตัวกลาง เก็บค่าธรรมเนียม ค่าผ่านทางต่างๆ

ธนาคาร ตลาดหุ้น พ่อค้าคนกลาง และอื่นๆ อีกมากมาย

โปรดศึกษากันต่อไป