คำ ผกา : เรื่องจริง VS เรื่องมโน

คำ ผกา

ข้อถกเถียงเรื่องโขนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ฉันได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องนาฏศิลป์ของฝ่าย “อนุรักษ์” ดังนี้

– พวกเขาแยกไม่ออกระหว่างงานคลาสสิค กับ งานร่วมสมัย

– พวกเขาอ้างว่าโขนเป็นงานศิลปะการแสดงชั้นสูง โดยสับสนระหว่าง ฐานานุศักดิ์ของตัวละครในรามเกียรติ์ กับ ฐานานุศักดิ์ของโขนในฐานะที่เป็น “ศิลปะการแสดง”

– โขน ในฐานะที่เป็นศิลปะการแสดงมีทั้งโขนราชสำนักและโขนที่นอกราชสำนัก โขนรับจ้างแสดงในงานศพและมหรสพต่างๆ ก็เคยมีมาแต่ต้นรัตนโกสินทร์

– โขนในสยามมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ที่ชัดเจนคือ เปลี่ยนให้ผู้หญิงเข้ามาเล่นโขนได้ในรัชกาลที่ 4

– โขนบางประเภทที่ยุ่งยาก เช่น โขนชักรอก ก็ล้มหายตายจากไปเพราะความยุ่งยากของมัน

– โขนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นเครื่องเล่นของวังเจ้านายต่างๆ เพราะเจ้านายสยามแต่เดิมส่วนใหญ่มีละครและนักแสดงเป็นของตนเอง

– ในยุคก่อนสมัยใหม่ ไม่มีคอนเซ็ปต์ “ศิลปะเพื่อศิลปะ” โขน ละคร การแสดง ฟ้อนรำ ไม่ได้ถือว่าเป็นงานศิลปะของมนุษย์แต่ถือเป็นปางหนึ่งของเทพ การเล่นละคร โชน ฟ้อนรำ ดนตรีต่างๆ จึงต้องมีการบวงสรวง และการแสดงเหล่านี้ก็ถือเป็นพิธีกรรมที่เอาไว้เชื่อมต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่าเป็นศิลปะของมนุษย์ตามคอนเซ็ปต์โลกสมัยใหม่

– นักนาฏศิลป์ไทยส่วนมาก งงๆ ว่าตกลงสิ่งที่ตนเองทำเป็นพิธีกรรมที่เอาไว้เชื่อมต่อกับเทพเจ้าหรือเป็นงานศิลปะกันแน่ บางครั้งจึงกลัวการเปลี่ยนแปลงเพราะถือว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่น “ครุ” เพราะไปคิดว่า การแสดงของตนเป็นพิธีกรรม ในขณะที่ในนิยามของศิลปะสมัยใหม่ต้องการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์เสมอ

– นักนาฏศิลป์ไทยสายอนุรักษ์มักเชื่อมโยงตัวเองกับ “โบราณราชประเพณี” ทั้งๆ ที่องค์ความรู้นาฏศิลป์ไทยในฐานะที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยเกิดจากการ “รวมชาติ” แบบ หลวงวิจิตรวาทการ ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยนาฏศิลป์ในปี 2477 (ด้วยจิตวิญญาณแบบ 2475 ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโบราณฯ อยู่มาก) และครูที่มีส่วนในการวางรากฐานให้กับแบบแผนนาฏศิลป์ไทยคือ ครูลมุล ยมะคุปต์ อ่านประวัติอันน่าสนใจอย่างยิ่งของครูได้ที่ https://sites.google.com/site/ajanthus/nang-lmul และยิ่งอ่านจะยิ่งเข้าใจว่า นาฏศิลป์ไทยนั้นลงหลักปักฐานมาเช่นไร – พูดให้ง่ายว่า ฝ่ายอนุรักษ์นาฏศิลป์ไทยไม่ได้ตระหนักว่านาฏศิลป์ไทยคือผลผลิตของ 2475

– นาฏศิลป์ไทยผ่านหลวงวิจิตรวาทการผ่านวิทยาลัยนาฏศิลป์ ผ่านกรมศิลป์ โดยกำเนิดของมันคือ นำศิลปะการแสดงที่เคยเป็นของราชสำนัก ลงสู่สามัญชน และปรับองค์ความรู้ให้มีมาตรฐาน มีความเป็นวิชาการที่อ้างอิงได้ และความรู้นั้นไม่ใช่เรื่องลี้ลับ ไม่ใช่วิชาที่ครูคนใดคนหนึ่งจะมาหวงไม่ถ่ายทอดให้ใครยกเว้นศิษย์บางคนตามสไตล์โบราณ

– พูดง่ายๆ ว่า โรงเรียนนาฏศิลป์ทำให้การแสดงที่สูงส่ง ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสมบัติของราชสำนักหรือขุนนางอำมาตย์เท่านั้น กลายมาเป็นศิลปะเพื่อมวลชน โดยที่ลูกหลานมวลชน สามัญชน สามารถมาเรียน มาครอบครองได้ และวัตถุประสงค์ในการแสดงก็เพื่อความบันเมิงของมวลประชาชนแล้ว มิใช่เพื่อเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

– ความโกรธาเรื่องโขน กับเอ็มวี เที่ยวไทยมีเฮ ทำให้เห็นได้ว่า นักอนุรักษ์ทั้งหลายนอกจากจะไม่ค่อยเข้าใจ “นัย” ของประวัติศาสตร์แล้ว ยังไม่มีอารมณ์ขันอีกด้วย

– สุดท้ายดูเหมือนว่านักอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีโบราณ จะไม่เคยรู้เรื่องโบราณตามข้อเท็จจริงเพราะพวกเขามีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับความเป็นไทยเอย ความศักดิ์สิทธิ์เอย ความไม่รักชาติเอย การหมิ่นครูบาอาจารย์เอย การหมิ่นบรรพบุรุษผู้สร้างสมความเป็นไทยไว้ให้กับเราเอย

ชนชั้นนำในอดีตของเรานี่แหละคือผู้นำเข้าวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในสยามเสียด้วยซ้ำในฐานะที่มันคือสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าและอารยธรรม อีกทั้งตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่า ชนชั้นนำสยามในอดีต ไม่เคยคิดแช่แข็งวัฒนธรรม ไม่เคยกลัวการเปลี่ยนแปลง แถมยังพร้อมจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมให้หลากหลายรุ่มรวยขึ้น

สยามในยุคนั้นต้องเผชิญกับมโนทัศน์เกี่ยวกับ ชาติ รัฐ แผนที่ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี เทคโนโลยี – ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกรวมๆ ว่า “ความเป็นสมัยใหม่” ที่มาพร้อมกับการแผ่ขยายอิทธิพลของตะวันตกผ่านเจ้าอาณานิคมใหญ่สองเจ้าคือ อังกฤษกับฝรั่งเศส

คำถามที่สยามต้องเผชิญอยู่เนืองๆ นอกจากคำถามที่ว่า สยามมาจากไหน ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อไหร่

ภาษาไทยมาจากไหน มีความเป็นมาอย่างไร

หรือพูดรวมๆ ได้ว่า “ประวัติศาสตร์ของสยาม” คืออะไร และเผอิญว่าคำถามของคนจากโลกสมัยใหม่ เขาต้องการคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่จะมาเล่าประวัติศาสตร์แบบมีอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ แบบพงศาวดารของเรา เขาก็ไม่ค่อยจะเชื่อถือเสียด้วย

ดังนั้น สยามจึงต้องเริ่มเขียนประวัติความเป็นมาของตนเอง อันเราจะเรียกต่อไปว่า “ประวัติศาสตร์ไทย” เมื่อมีประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวหนังสือแล้วก็ต้องมีหลักฐานทางโบราณคดีด้วย

ชนชั้นนำปัญญาชนในยุคที่ต้องคอยตอบคำถามฝรั่ง โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สี่เป็นต้นมา

จึงต้องพยายามไปสำรวจเสาะหาศิลาจารึกต่างๆ อีกทั้งเริ่มการขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อเป็นหลักฐานทางวัตถุยืนยันว่า อาณาจักรสยามของเราไม่ได้กระจอกนะ เราก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและร่ำรวยลุ่มลึกทางวัฒนธรรมไม่แพ้มหาอำนาจตะวันตก

ขณะเดียวกันก็ต้องโชว์ว่าตนเองครอบครองวัตถุสิ่งของทันสมัยของตะวันตกไว้มากมาย

 

ในบันทึกการเดินของ อองรี มูโอต์ พูดถึงพระที่นั่งองค์ใหม่ของรัชกาลที่ 4 เอาไว้ว่า

“หลังงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ พระเจ้าแผ่นดินสยามชี้ชวนให้พวกเราดูคำจารึก 2 ภาษา (ภาษาสันสกฤตและภาษาอังกฤษ) ที่เหนือโค้งประตู แปลได้ความว่า “ที่ทรงพระเกษมสำราญ” ภายในพระที่นั่งหลังนี้จัดแต่งไว้ให้เป็นที่ประทับโดยสมบูรณ์ ทั้งตกแต่งและประดับด้วยเครื่องเรือนตามรสนิยมอย่างยุโรป มีกระจก นาฬิกาลูกตุ้ม และพรมแขวนหรูหราราคาแพง

น่าประหลาดใจพอควรที่ได้เห็นงานปั้นและภาพเหมือนของบรรดาเจ้านายและบุคคลสำคัญทางยุโรป บรรดาเครื่องเคลือบเซรามิกฝีมือช่างทั้งทางตะวันออกและตะวันตก หิ้งหนังสือ เอกสารลายมือจากทุกภาษา แผนที่ทางภูมิศาสตร์ แผนที่โลกและลูกโลก เครื่องมือตรวจวัดและเครื่องมือทางฟิสิกส์ กล้องโทรทรรศน์ ขวดโหลบรรจุชิ้นส่วนตัวอย่างไว้ศึกษาธรรมชาติ ของที่ระลึกจากอังกฤษ เครื่องเรือนสัมฤทธิ์ และวัตถุราคาแพงๆ ชิ้นเล็กชิ้นน้อยนับพันชิ้น ประชันฝีมือกันระหว่างช่างจากปารีส และสิ่งละอันพันละน้อยจากกวางตุ้ง เครื่องเคลือบลงรักจากญี่ปุ่น ตุ๊กตาจิ๋วจากอินเดีย เครื่องแก้วบัคการาต์ หลอดแก้วทรงสูงสำหรับห้องทดลอง กล้องถ่ายภาพ ห้องฉายภาพ ข้าวของทั้งหมดผสมปนเปรวมกันอยู่ ดูจะสะท้อนความนึกคิดเยี่ยงสารานุกรมเดินได้”

(บันทึกการเดินทางของ อ็องรี มูโอต์, หน้า 39-40)

จะเห็นว่า นอกจากความเป็นลูกผสมของ จีน อินเดีย เขมร แล้ว เมื่อมหาอำนาจตะวันตกแผ่นอิทธิพลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สยามโดยชนชั้นนำก็รับเอาความเป็นตะวันตกเข้ามาอย่างเต็มที่หาได้รังเกียจรังงอนแต่อย่างใด

มิหนำซ้ำสไตล์การแต่งบ้านด้วยการ “แสดง” วัตถุสิ่งของสูงค่าจากทั่วโลกอย่างผสมปนเปกันยังกลายมาเป็นสไตล์การแต่งบ้านของชนชั้นสูง และชนชั้นกลางไทยในกาลต่อมาจวบจนถึงทุกวันนี้

เพราะฉะนั้น นักอนุรักษ์ทั้งหลายหยุดเคลมได้แล้วว่า ความเปลี่ยนแปลงจะไปทำลายความเป็นไทยที่บรรพบุรุษของคนไทยได้เฝ้าสร้างสม

เพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ บรรพบุรุษของชาวสยามสร้างสมความก้าวหน้าแบบตะวันตกไว้ให้เราต่างหาก

ส่วนในเรื่องศิลปะการแสดงของสยามที่เหล่านักอนุรักษ์คลั่งไคล้กลัวจะสูญเสียความดั้งเดิมบุร่ำบุราณเพราะมันช่างงามงดนักนั้น

 

แต่ อ็องรี มูโอต์ ได้บันทึกความประทับใจของเขาต่อการชมศิลปะการแสดงของชาวสยามเอาไว้ว่า

“พวกเจ้าขุนมูลนายสยามแต่ละคนต่างมีโรงละครและอุปถัมภ์คณะนักแสดง…ครั้งหนึ่งได้ชมการแสดงในราชสำนัก…ขุนนางชั้นผู้ใหญ่หมอบกราบลดหลั่นกันลงไปตามชั้นยศ บริเวณด้านล่างที่ติดกับเวทีทำเป็นยกพื้นกว้างเอาไว้วางเก้าอี้และโซฟาสำหรับแขกชาวยุโรป…

การแสดงโหมโรงกันอย่างเอิกเกริก เสียงดนตรีดังแสบแก้วหู ได้ยินวงดนตรีบรรเลงอย่างอึกทึก แต่แทนที่จะได้ฟังทำนองหลากเสียง กลับรู้สึกว่าไม่ประสานสอดคล้องกันเลย ดนตรีดังไปเรื่อยๆ อย่างนี้ถึง 5 ชั่วโมง

ข้าพเจ้านั้นพร้อมจะเชื่อเสียแล้วว่าศาสตร์การดนตรีแห่งสยามคงจะวนเวียนอยู่กับทำนองพิลึกๆ อย่างนี้แหละ…และยากที่จะหาใครเทียบได้

ในที่สุดการแสดงก็ออกโรง คณะนักแสดงทั้งชายหญิงแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแปลกพิลึกเกินกว่าจะจินตนาการได้ปรากฏตัวขึ้นบนเวที พวกเขาแต่งกายด้วยชุดผ้าไหม ปักดิ้นลายทอง สวมหมวกปลายแหลมสูง ประดับด้วยเครื่องเพชรพลอยเก๊ๆ อย่างภาคภูมิ

ภาพที่ได้เห็นแปลกตาชวนดู ส่วนท่าทางที่แสดงนั้นก็ไม่มีอะไรซับซ้อน มีแต่การออกท่าออกทางของคณะนักร้องที่ยืนเยื้องหลังนักแสดงไปเล็กน้อย ต่างคนต่างลีลาก็จริง แต่ดูแล้วอยู่ข้างจะไม่งาม…การแสดงกินเวลากว่า 6 ชั่วโมงแล้ว …ข้าพเจ้าถือโอกาสหลบฉากออกมาจากการแสดงของชาวสยาม

เห็นจะต้องกล่าวไว้ตรงนี้ว่า ชาวสยามแสดงความประณีตทางศิลปะได้ก็แต่เฉพาะเรื่องฝีมือในการจัดฉากปิดม่านมนุษย์บนผืนภิภพ ก็คืองานศพนั่นเอง …เพราะจะมีมหรสพยามค่ำคืนสารพัดชนิด การละเล่น และการจัดเลี้ยง…”

(บันทึกการเดินทางของ อ็องรี มูโอต์, หน้า 57-58)

อ่านแล้วคงจะเห็นว่าสยามแต่โบราณนั้นไม่มีอะไรที่ตรงกับจินตนาการว่าด้วย “ความเป็นไทยแท้แต่โบราณ” ของเหล่านักอนุรักษ์ความเป็นไทยที่แสนสูงส่งงดงามเก่าแก่เลยแม้แต่นิดเดียว (อีฝรั่งบ้า ตกใจนะ มาว่าชาวสยามเก่งเรื่องเดียวคือเรื่องจัดงานศพ)

อ้อ – เมื่อมีวิทยาลัยนาฏศิลป์ในปี 2477 โขนและนาฏศิลป์ทั้งหมดก็ถูกนิยามให้เป็น “ศิลปะ” แบบสมัยใหม่แล้วนะ (แต่ดูเหมือนว่าจะล้มเหลว เพราะสำนึกแบบพิธีกรรมดูจะแรงกว่า)