ทราย เจริญปุระ : “คนต่าง”

ต้องออกตัวก่อนว่าฉันไม่ได้เป็นคนขวัญอ่อนขี้ระแวงแต่อย่างใด

เพราะพิจารณาแล้วว่านิสัยเช่นนั้นควรสงวนไว้ให้ผู้มีรูปลักษณ์สังขารอ้อนแอ้นแน่งน้อย ได้ใช้เป็นทุนชีวิตในการสร้างความน่ารักน่าถนอม

ไม่ใช่หญิงกร้านโลกอย่างฉัน

ฉันจึงฝึกที่จะคิดและไม่คิดไปในเวลาเดียวกัน

คือคิดว่าสิ่งที่เห็นมีอยู่เฉพาะตรงหน้า และไม่คิดว่ามีสิ่งอื่นใดแอบแฝง

ไอ้การคิดและไม่คิดนี้ไม่ได้จำกัดจินตนาการฉันแต่อย่างใด

ยามดูหนังหรืออ่านหนังสือสยองขวัญสั่นประสาท ฉันก็สามารถจะจินตนาการตามไปได้เป็นภาพเป็นเสียง เพียงแต่อ่านจบดูจบแล้วก็แล้วกัน ไม่ได้อ้อยอิ่งคงค้างให้ฉันหวาดระแวงไม่กล้าอาบน้ำคนเดียวหรืออะไรพรรค์นั้น

แต่ก็เหมือนกันทุกๆ เรื่องบนโลกที่ย่อมมีข้อยกเว้น

ความไม่ระแวงของฉันอาจใช้ได้กับเรื่องผีสางตรงๆ

แต่พอเจอนิยายแนววิทยาศาสตร์ยุคบุกเบิก กลับทำให้ฉันขนลุกเกรียว

และเริ่มเดินไปสำรวจกลอนประตูหน้าต่างซ้ำอีกครั้ง

“เกาะสยองของด็อกเตอร์มอโร” และ “บุรุษล่องหน” เป็นผลงานเขียนของ เอช.จี. เวลส์ ซึ่งถือได้ว่าผลงานหลายๆ เล่มของเขาเป็นต้นแบบของวรรณกรรมแนววิทยาศาสตร์ (ที่มักเรียกทับศัพท์อย่างง่ายว่า “ไซไฟ”) แนวแฟนตาซี และแนวสยองขวัญ

บุรุษล่องหนนั้นก็ตรงตัว คือกล่าวถึงกระบวนการและความโกลาหลของกริฟฟิน-มนุษย์ผู้หายตัวได้-จากการกระบวนการทดลองอันเข้มข้น ส่วนเกาะสยองของด็อกเตอร์มอโรนั้น กล่าวถึงเกาะสมมติแห่งหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยความลับและความทะเยอทะยานของนักวิทยาศาสตร์นามมอโร

“ผมเห็นว่าการที่คนหายตัวได้มันมีแต่เรื่องประเสริฐ ทั้งความลึกลับ อำนาจ เสรีภาพ ผมไม่เห็นข้อด้อยใดๆ เลยลองคิดสิ! และผมซึ่งเป็นนักวิจัยยากจนข้นแค้น เป็นอาจารย์ที่ไหนก็จอดไม่ต้องแจว นั่งสอนแต่ไอ้พวกโง่ในโรงเรียนต่างจังหวัด”

“แล้วจู่ๆ ผมก็อาจจะเปลี่ยนไปเป็น…สิ่งนี้”*

ที่มันน่ากลัวสำหรับฉันก็เพราะว่า เวลาที่เราคิดไปว่าเราอยู่ร่วมโลกกับคนเหล่านี้ คนอย่างกริฟฟิน คนอย่างมอโรเขาอาจอยู่มาก่อนเรา

อาจเกิดมาทีหลังเรา

สิ่งที่เคยเป็นเพียงจินตนาการมันแปรสภาพเป็นความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ คัดเลือกพันธุกรรม คลื่นไฟฟ้าสั่งการแทนส่วนที่พิการ เปลี่ยนหัวใจ

เรามาไกลจากจุดเริ่มต้นเหลือเกิน

จนพื้นที่แห่งจินตนาการแทบไม่เหลือเอาไว้ให้ค้นหาอีกต่อไป

หนังสือทั้งสองเล่มกำลังพูดถึง “คนต่าง” ที่พยายามเสาะแสวงหาที่ทางของตัวเอง สร้างความชอบธรรม ตั้งกติกาขึ้นมาเพราะไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนส่วนใหญ่ได้

นี่หมายความว่าคนส่วนใหญ่ไม่ดีอย่างนั้นหรือ

ก็คงไม่ใช่ “ไม่ดี” แบบโหดเหี้ยมเลวทราม แต่เราก็ต้องยอมรับว่าคนเราไม่ได้เป็นคนใจดีกันทุกคน

หลายคนใจดีกับสัตว์มากกว่ากับมนุษย์ บางคนใจดีกับญาติตัวเองมากกว่าเด็ก บางคนใจดีกับคนพิการมากกว่าคนในครอบครัว

เราล้วนมีเงื่อนไข

และในความใจดีของเราก็มีความใจดำอยู่

บางทีเราก็ต้องการเห็นสิ่งมีชีวิตที่ด้อยกว่าเพื่อความสบายใจ ว่าเราไม่ได้มีชีวิตที่เลวร้ายที่สุด

บางทีเราไม่อยากให้ใครดีเกินหน้าเรา เพราะเรารู้ว่าเขาจะทิ้งห่างเราไปไม่เหลียวหลัง

บางทีเราก็เป็นผู้เฝ้ามอง บางทีเราก็เป็นผู้ถูกมอง

แต่ตัวละครหลักทั้งสองของเวลส์นี้ พยายามทำตัวให้หลุดพ้นจากการถูกเฝ้ามอง และแปรสภาพตัวเองไปเป็นอำนาจเหนือกว่าสิ่งอื่น เป็นผู้ชักใย เป็นมือที่มองไม่เห็น

จะด้วยความคับแค้นที่สังคมไม่เข้าใจ หรือมุ่งเอาแต่ผลปลายทางที่บอกว่ามันคือความก้าวหน้าก็ตาม

สิ่งที่มาพร้อมกับการหลุดพ้นจากกติกาหนึ่ง คือไปสร้างกติกาใหม่แล้วให้ตัวเองเป็นผู้คุมกฎ

เถลิงอำนาจที่ใครก็ไม่อาจขัดขืน เพราะระบุตัวตนแห่งอำนาจนั้นไม่ได้ ไม่อาจสบตา และไม่มีความกล้ามากพอจะย้อนถามถึงสิทธิ์ที่มาแห่งอำนาจนั้น

“สิ่งที่เราเรียกว่าศีลธรรมนั้น แท้จริงก็เป็นการปรับเปลี่ยนสัญชาตญาณของมนุษย์อยู่แล้ว ความก้าวร้าวถูกฝึกฝนให้เป็นความกล้าหาญและเสียสละ ความรู้สึกทางเพศถูกกดซ่อนในรูปความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนา–“**

“บุรุษล่องหน” (The Invisible Man) และ “เกาะสยองของด็อกเตอร์มอโร” (The Island of Doctor Moreau) เขียนโดย เอช.จี. เวลส์ (H.G. Wells) ฉบับพิมพ์ครั้งแรกจัดพิมพ์โดย สำนักหนังสือไต้ฝุ่น เล่มแรกแปลโดย จักรพันธ์ ขวัญมงคล (ตุลาคม 2558) เล่มหลังแปลโดย ก้อง พาหุรักษ์ (สิงหาคม 2559)

 


*จากเล่มบุรุษล่องหน
**จากเล่มเกาะสยองของด็อกเตอร์มอโร