นิ้วกลม : โซฟี โชลล์ : เราจะไม่เงียบ

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1. อะไรทำให้เด็กสาววัย 21 ปี ต้องจบชีวิตลงด้วยกิโยติน

ผู้คุมนักโทษเล่าว่า เธอเดินเข้าสู่ลานประหารด้วยความสงบและกล้าหาญอย่างยิ่ง

การตายของคนคนหนึ่งประกอบขึ้นจากเหตุปัจจัยมากมาย สถานการณ์โลก สภาพสังคมในตอนนั้น อำนาจอยู่ในมือใคร กำลังเกิดอะไรขึ้น เธอทำสิ่งใดลงไป และอะไรทำให้เธอต้องทำสิ่งนั้น

เราลืมตาเกิดขึ้นมาในโลกแบบไหน ในบรรยากาศทางสังคมในช่วงเวลาไหน ล้วนแล้วแต่กำหนดชีวิตของเราไปทางใดทางหนึ่ง

โลกหล่อหลอมเรา ในทางตรงกันข้าม-เราก็พยายามเปลี่ยนโลก

โซฟี โชลล์ ก็เป็นเช่นนั้น

2. โซฟี กับ ฮันส์ โชลล์-พี่ชายของเธอ เป็นวัยรุ่นธรรมดาในประเทศเยอรมนีช่วงทศวรรษ 1930 ทั้งคู่ได้เข้าร่วมใน “Hitler Youth” หรือกองยุวชนฮิตเลอร์-กลุ่มหนุ่มสาวที่ได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมโดยลัทธิทางทหาร มีความเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งถึงความเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าชาติอื่นของชนชาติอารยัน นับเป็นความภาคภูมิใจของพรรคนาซี

ทั้งสองพี่น้องเลื่อมใสในอุดมการณ์ของฮิตเลอร์ เพราะไม่เพียงถูกปลูกฝังในค่ายฝึกยุวชนฮิตเลอร์เท่านั้น แต่การโฆษณาความเชื่อชาตินิยมเช่นนี้ถูกเผยแพร่ซ้ำแล้วซ้ำอีกในทุกอณูของชีวิตในสังคมเยอรมันช่วงนั้น

บางคนค่อยๆ กลายไปเป็นบางสิ่งโดยไม่รู้ตัว

อุดมการณ์บางอย่างค่อยซึมผ่านร่างเข้าสู่สมอง นานวันเข้ายิ่งฝังลึกราวกับเป็นความจริงแท้ เมื่อถูกประโคมบอกซ้ำๆ ว่าคนบางกลุ่มคือปีศาจ และพวกเราคือชนชาติสูงส่ง จากความเชื่อก็ค่อยๆ กลายเป็นความจริง

โลกของการโฆษณาชวนเชื่อที่ฝังลึกยาวนานค่อยๆ สร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมา ผู้คนที่อยู่ในโลกใบนั้นเชื่อเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าราวกับว่านั่นคือสัจธรรม ความดี-ความชั่วที่ถูกบอกผ่านลำโพงไม่มีอะไรให้ต้องตั้งคำถาม ไม่มีสิ่งใดให้ต้องสงสัย และไม่จำเป็นต้องรู้ว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร

อย่างที่กล่าวไปว่า จุดจบของคนคนหนึ่งประกอบขึ้นจากเหตุปัจจัยหลายประการ หากโซฟี และ ฮันส์ โชลล์ อยู่ในครอบครัวที่เต็มไปด้วยคนคลั่งไคล้หลงใหลอุดมการณ์แบบฮิตเลอร์ พวกเขาอาจไม่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ แต่ครอบครัวของทั้งคู่มิได้เป็นเช่นนั้น

ผู้คนแวดล้อมรอบตัวที่คิดต่างไปจากเรามักจะเป็นหน้าต่างไปสู่คำถามที่พาไปหาความจริงที่เราไม่เคยสงสัย หากไม่มีคนเช่นนี้ใกล้ตัว หรือหากตัดสัมพันธ์คนที่คิดต่างไปจนหมดแล้ว ก็เท่ากับว่าหน้าต่างไปสู่ความจริงอื่นอาจถูกโบกปูนจนทึบสนิทไปหมดแล้วเช่นกัน

หน้าต่างบานนั้นของทั้งคู่คือ พ่อ

โรเบิร์ต โชลล์ ผู้มีความคิดต่อต้านเผด็จการ บอกกับลูกๆ ของเขาว่า ฮิตเลอร์และพรรคนาซีกำลังนำพาเยอรมนีไปสู่ความพังพินาศ ในปี 1942 เขาติดคุกนาซีเพราะพูดกับเลขาฯ ของตัวเองว่า “สงคราม! เราแพ้แล้ว! ฮิตเลอร์เป็นพระเจ้าแห่งหายนะของมนุษยชาติ และถ้าสงครามไม่จบภายในเร็ววัน อีกไม่นานพวกรัสเซียจะต้องเข้ามายึดเบอร์ลินแน่ๆ”

อย่างน้อย หน้าต่างแห่งคำถามต่อฮิตเลอร์ที่พ่อแง้มไว้ ก็ทำให้ทั้งคู่ไม่ปักใจเชื่อว่าทุกสิ่งที่ฮิตเลอร์ทำนั้นดีงามไปเสียหมด


3. วันเวลาผ่านไป ฮันส์กับโซฟีค่อยๆ ตระหนักและซึมซับเข้าใจเหตุผลและความคิดเห็นของพ่อที่มีต่อระบบนาซี โดยเฉพาะเมื่อทั้งสองได้เห็นว่าเพื่อนฝูงเชื้อสายยิวหลายคนถูกกระทำอย่างประณามหยามเหยียด และลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

เมื่อเริ่มคิด เริ่มตั้งคำถามกับระบบ ทั้งคู่ก็เริ่มไม่เห็นด้วยว่าพลเมืองจะต้องสนับสนุนปฏิบัติการของทหารในสงคราม

กลับเห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหนก็ตาม พลเมืองมีหน้าที่สำคัญต่อสังคมด้วยการลุกขึ้นยืนหยัดคัดค้านสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นระบอบปกครองที่ชั่วร้าย แม้ในช่วงสงครามก็ตามที โดยเฉพาะเมื่อระบอบนั้นได้สังหารและกระทำรุนแรงกับประชาชนของตนเองอย่างบ้าคลั่งไปเป็นจำนวนมาก

เมื่อตั้งปณิธานเช่นนั้น สองพี่น้องจึงค่อยๆ แบ่งปันความคิดเห็นกับคนรอบข้าง ฮันส์พยายามหันเหแนวทางของขบวนการยุวชนที่ตนเป็นสมาชิก แต่ยากที่จะสำเร็จ การรวมกลุ่มต่อต้านยิ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะหน่วยตำรวจเกสตาโปลักลอบฟังโทรศัพท์ เปิดอ่านจดหมาย และตรวจค้นร่างกายผู้ต้องสงสัยได้ตลอดเวลา

กระทั่งการพูดคุยกับเพื่อนฝูงแบบเปิดใจก็ยังทำได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นสายลับของพรรคนาซีหรือเปล่า

กิจกรรมของฮันส์เริ่มเป็นจริงเป็นจัง เมื่อสงครามเกิดขึ้นแล้วนักศึกษาแพทย์เกือบทั้งคณะถูกเกณฑ์ให้รับใช้ชาติและต้องแต่งเครื่องแบบทหารเข้าชั้นเรียน ระหว่างนั้นฮันส์กับชมอเรลเริ่มสนิทสนมกัน และเปิดใจสนทนาว่าต่อต้านระบอบนาซีเหมือนกัน

ทั้งคู่เริ่มสร้างกลุ่มสนทนาระหว่างนักศึกษาแพทย์ที่มีความเห็นใกล้เคียงกัน เย็นย่ำก็ถกกันเรื่องบ้านเมือง เชิญปัญญาชน นักเขียน นักดนตรี มาบรรยายให้คนในกลุ่มฟัง กระทั่งเป็นกลุ่มก้อนความสัมพันธ์

แล้วขบวนการกุหลาบขาวก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น

4. ฝ่าย โซฟี โชลล์ นั้นเริ่มวิพากษ์วิจารณ์และส่งเสียงคัดค้านความอยุติธรรม และการมีอยู่ของค่ายกักกัน รวมถึงนโยบายของฮิตเลอร์อย่างเปิดเผย แม้ในโรงเรียน

อุดมการณ์ประชาธิปไตยของพ่อมีผลต่อความคิดอ่านของเธออย่างมาก และการที่ฮันส์กับเพื่อนในกลุ่มถูกดำเนินคดีจากการก่อตั้งกลุ่มเยาวชนที่ยึดถือแนวทางที่ทางการไม่เห็นด้วย ยิ่งทำให้เธอรู้สึกต่อต้านความอยุติธรรมเช่นนี้มากขึ้นอีก

รวมถึงการอบรมในครอบครัวซึ่งเป็นชาวคริสต์นิกายลูเธอรัน ผู้ยึดมั่นในพระเจ้าและเชิดชูศักดิ์ศรีมนุษย์ หลังจากนั้นโซฟีได้รับคำแนะนำให้รู้จักผลงานของ จอห์น เฮนรี นิวแมน คาร์ดินัลและนักวิชาการชาวอังกฤษ ผู้มีคำสอนว่า “มโนธรรมคือเสียงสะท้อนถ้อยคำของพระเจ้า…คริสต์ศาสนิกมีหน้าที่ดำเนินรอยตามมโนธรรมสำนึกที่ดี ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่มาก่อนและอยู่เหนือกว่าข้อพิจารณาอื่นทั้งหมด”

โซฟีน่าจะทบทวนมโนธรรมภายในอยู่บ่อยครั้ง สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นคือจดหมายที่เธอเขียนถึง ฟริตซ์ ฮาร์ตนาเกล คนรักของเธอซึ่งเป็นนายทหารเยอรมัน ซึ่งมีข้อความที่แสดงความตระหนักต่อความชั่วช้าของการสังหารหมู่ชาวยิวในรัสเซียจำนวนมาก

แล้วความอัดอั้นภายในใจก็ถูกระบายออกมาและส่งต่อในที่สุด

5. ปี 1942 ฮันส์ โชลล์ กับ อเล็กซ์ ชมอเรล ร่วมกันเขียนข้อความในใบปลิวต่อต้านนาซีฉบับแรก พวกเขาให้ชื่อมันว่า “ใบกุหลาบขาว” (Leaves of the White Rose) เนื้อความในนั้นประณามนาซีโดยตรง รวมทั้งระบุถึงอาชญากรรมที่คนของพรรคกระทำลงไป นับตั้งแต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวทั่วยุโรป ไปจนถึงการใช้อำนาจเผด็จการปิดกั้นเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชนเยอรมันทั้งมวล

ทุกฉบับมีข้อความว่า “กรุณาทำสำเนาใบปลิวนี้ให้มากที่สุด แล้วช่วยแจกจ่ายต่อไป”

ยิ่งนับวัน กลุ่มขบวนการกุหลาบขาวยิ่งได้ข่าวคราวความเลวร้ายที่กองทัพนาซีกระทำต่อผู้คนในประเทศอื่น

นอกจากมโนธรรมและเสรีภาพส่วนบุคคลแล้ว พวกเขาคิดว่าภารกิจสำคัญคือการรักษาประเทศเยอรมนีไว้ไม่ให้ล่มสลายไป ด้วยการกระตุกเตือนเพื่อนร่วมชาติให้รับรู้ถึงความประพฤติที่ไร้มนุษยธรรมของนาซีที่น้อยคนจะรับรู้

พวกเขาต้องการส่งเสียงของชาวเยอรมัน “แบบอื่น” ออกมาว่า ในประเทศนี้ยังมี “เสียงอื่น” นอกจากเสียงอันโหดเหี้ยมทารุณแบบนาซีและฮิตเลอร์ จึงลงแรงทำกิจกรรมกันหนักขึ้น

เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มทิ้งระเบิดถล่มเยอรมนี ประชาชนเริ่มรับรู้ถึงความร้ายแรงของสงคราม ทำให้ผู้คนเริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้น

6. 18 กุมภาพันธ์ 1943 ฮันส์กับโซฟีไปมหาวิทยาลัยมิวนิกพร้อมกระเป๋าใบใหญ่ที่บรรจุใบปลิวจำนวนมาก นี่คือใบปลิวใบที่หก ซึ่งเป็นใบสุดท้าย เริ่มใช้ชื่อเรียกว่า “ใบปลิวของขบวนการต่อต้านแห่งเยอรมนี”

พวกเขานำใบปลิวเหล่านั้นไปวางไว้หน้าห้องเรียนต่างๆ แต่ยังเหลืออีกจำนวนหนึ่ง จึงเดินขึ้นไปบนลานห้องโถงใหญ่แล้วโปรยใบปลิวมาเบื้องล่าง ทุกอย่างเรียบร้อยดีเหมือนเคย ถ้าไม่บังเอิญว่า มีภารโรงคนหนึ่งเห็นทั้งคู่กำลังโปรยใบปลิวอยู่ จึงล็อกตัวส่งตำรวจเกสตาโป

22 กุมภาพันธ์ 1943 ศาลประชาชนแห่งมิวนิกตัดสินว่าทั้งคู่และสมาชิกผู้นำของขบวนการกุหลาบขาวมีความผิดฐานทรยศต่อชาติ ถูกพิพากษาให้รับโทษประหารชีวิต

ในวันเดียวกันนั้นเอง หญิงสาววัย 21 ปี เดินเข้าสู่แท่นประหารด้วยความทระนง ชายหนุ่มวัย 24 ปี ร้องตะโกนเป็นคำพูดสุดท้ายก่อนจากไปด้วยคมมีดกิโยตินว่า “เสรีภาพจงเจริญ!”

7. ดูเหมือนความพยายามของพวกเขาจะจบลงอย่างสูญเปล่า แต่เหตุการณ์ไม่จบลงแค่นั้น

ในเวลาต่อมา เฮลมุต ฟอน โมลต์เก ผู้สนับสนุนของขบวนการได้ลักลอบนำเอาสำเนาแผ่นหนึ่งของใบปลิวฉบับสุดท้ายติดตัวไปด้วยขณะลี้ภัยออกสู่สแกนดิเนเวียและไปสิ้นสุดลงที่อังกฤษ เขานำส่งสำเนานี้ให้ทางการสัมพันธมิตร หลังจากนั้นไม่นาน เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรก็บรรทุกสำเนาใบปลิวนั้นนับล้านๆ แผ่นโปรยปรายลงสู่ทั่วทั้งแผ่นดินเยอรมนี โดยตั้งชื่อหัวข้อให้ใหม่ว่า “คำประกาศของนักศึกษาแห่งมิวนิก”

ปี 2003 โซฟี และ ฮันส์ โชลล์ ได้รับเลือกเป็น “ชาวเยอรมันดีเด่นสุดตลอดกาล” จากการโหวตโดยผู้ชมของสถานีโทรทัศน์ในเยอรมนี เป็นอันดับสี่ เหนือกว่า บาค เกอเธ กูเตนเบอร์ก บิสมาร์ก บรันด์ต และกระทั่งไอน์สไตน์

“ชาวเยอรมันทั้งหลาย! ท่านและลูกหลานต้องการแบกรับความทุกข์สาหัสเช่นที่ได้กระทำลงต่อชาวยิวอย่างนั้นหรือ? ท่านต้องการถูกตัดสินพิพากษาด้วยมาตรฐานเดียวกันกับพวกคนที่ฉ้อฉลต่อท่านอย่างนั้นหรือ?…เราจะกลายเป็นประเทศซึ่งได้รับความเกลียดชังและถูกปฏิเสธโดยมวลมนุษยชาติไปจนตลอดกาลหรือไร?”

ข้อความในใบปลิวส่งเสียงกึกก้องว่า สิ่งที่นาซีทำนั้นมิใช่ “เยอรมนี” ทั้งหมด

เสียงเล็กๆ เช่นนี้เองที่ค่อยๆ ขยายตัวใหญ่ขึ้น เสียงเล็กๆ ซึ่งพยายามเปิดหน้าต่างแห่งคำถามเช่นนี้เองที่เป็น “เสียงอื่น” ซึ่งมีอยู่ในทุกสังคมที่ยังตระหนักถึงความเป็นธรรม

ท่ามกลางความมืดมิดและพายุโหม

บางคนพยายามจุดไฟ

: บางส่วนเรียบเรียงจากบทความ “โซฟี โชลล์ กับ “ขบวนการกุหลาบขาว” โดย ไพรัช แสนสวัสดิ์ ในนิตยสาร WAY ฉบับ 91