โฟกัสพระเครื่อง/เหรียญปั๊มรูปเหมือน หลวงพ่อลา ปุณณชิ วัดโพธิ์ศรี จ.สิงห์บุรี

หลวงพ่อลา ปุณณชิ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ
[email protected]

เหรียญปั๊มรูปเหมือน

หลวงพ่อลา ปุณณชิ

วัดโพธิ์ศรี จ.สิงห์บุรี

จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดเก่าแก่จังหวัดหนึ่งของไทย มีวัดวาอารามมากมาย รวมถึงพระพุทธรูป-พระเครื่องกรุเก่าที่นับเป็นมรดกล้ำค่าและเป็นที่นิยมสืบต่อกันมา
นอกจากนี้ ยังมีพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักและเคารพศรัทธามาแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน หนึ่งในพระเกจิยุคเก่าที่ยังคงเป็นที่กล่าวขาน
คือ “พระครูวินิตศีลคุณ” หรือ “หลวงพ่อลา ปุณณชิ” แห่งวัดโพธิ์ศรี อ.อินทร์บุรี
สร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิด เช่น เหรียญ ตะกรุดโทน ผ้ายันต์ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นที่นิยมสะสมของชาวเมืองสิงห์บุรีและลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ รวมทั้งในแวดวงนักสะสม
โดยเฉพาะ “เหรียญปั๊มรูปเหมือน ปี 2468” ซึ่งเป็นเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกและรุ่นเดียว
สร้างขึ้นเป็นที่ระลึก สำหรับผู้มีจิตศรัทธาร่วมปัจจัยเป็นทุนทรัพย์ในการสร้างโรงเรียนประชาบาล “ลาวิทยาคาร” มีจำนวนเพียง 1,000 เหรียญเท่านั้น เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ปลุกเสกเดี่ยวอีกหนึ่งไตรมาสจึงนำออกมา โดยได้กล่าวกับผู้รับว่า “ขอให้อยู่ในศีลธรรมพระจะช่วยคุ้มครอง ห้ามเอาไปลองเพราะเป็นของสูง”
ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงเสมา หูในตัว เนื้อทองแดงกะไหล่ทองเพียงเนื้อเดียว
ด้านหน้าเหรียญ ยกขอบ 2 ชั้น ตรงกลางเป็นรูปจำลองพระปางนาคปรก ศิลปะสมัยลพบุรี พุทธปฏิมากรศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานในวิหารวัดโพธิ์ศรี เป็นที่เคารพศรัทธาอย่างสูงของชาวสิงห์บุรี
ด้านหลังเหรียญ ยกขอบเส้นลวดด้านใน ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อลานั่งสมาธิเต็มองค์ ล้อมรอบด้วยอักขระขอมพระคาถา 9 ตัว ว่า กะ สะ ทะ กะ พะ สะ สะ ทะ กะ ด้านล่างจารึกอักษรไทยว่า “พระอธิการลา วัดโพธิ์ศรี พ.ศ.๒๔๖๘”

เหรียญหลวงพ่อลา (หน้า)
เหรียญหลวงพ่อลา (หลัง)

นามเดิมว่า ลา พันธุ์โสภาคย์ เกิดที่หมู่บ้านบางกะปิ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เมื่อปี พ.ศ.2404 ในวัยเด็กค่อนข้างเงียบขรึม ชอบเข้าวัดทำบุญและช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่าเล่นซนแบบเด็กทั่วไป
อุปสมบทที่วัดโพธิ์ศรี ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี ในสมัยที่พระอาจารย์คิ้มเป็นเจ้าอาวาส ได้รับฉายา ปุณณชิ
มุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและวิปัสสนาธุระ รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมจากสำนักใกล้เคียง สำนักวัดมหรรณพาราม ในกรุงเทพฯ และสำนักวัดทุ่งแก้วที่ จ.อุทัยธานี
จากนั้นเริ่มออกธุดงค์เพื่อบำเพ็ญสมถกรรมฐาน และเมื่อพบพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมแก่กล้าจึงฝากตัวเข้าเป็นศิษย์เล่าเรียนไสยเวท
เมื่อวัดโพธิ์ศรีว่างเว้นเจ้าอาวาส ชาวบ้านจึงอาราธนาท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี
ต่อมาได้เป็นสหายธรรมกับพระอริยมุนี (เผื่อน) วัดราชบพิธฯ ซึ่งเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต ทำให้เกิดความเลื่อมใสจึงลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส และเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมพระอริยมุนี ถวายตัวกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร
และในปี พ.ศ.2439 จึงได้ญัตติในคณะธรรมยุติกนิกายที่วัดราชบพิธฯ กรุงเทพฯ โดยมีสมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์
จากนั้นกลับมาจำพรรษาที่วัดโบสถ์ อ.อินทร์บุรี ซึ่งเป็นวัดธรรมยุตแห่งแรกของ จ.สิงห์บุรี

ต่อมาในปี พ.ศ.2442 ชาวบ้านวัดโพธิ์ศรีได้มาขอหลวงพ่อลากับพระครูสิงหบุราจารย์ (อินทร์) เพื่อตั้งคณะธรรมยุติขึ้นที่วัดโพธิ์ศรี จึงเปลี่ยนจากวัดมหานิกายเป็นวัดธรรมยุตนิกายนับแต่นั้นมา ประจวบกับเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีว่างลง หลวงพ่อลาจึงได้รับนิมนต์ให้เป็นเจ้าอาวาสเป็นครั้งที่ 2
ดูแลปกครองและพัฒนาวัดโพธิ์ศรีจนเจริญรุ่งเรืองมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักขจรไกล เป็นที่เคารพรักของพุทธศาสนิกชนโดยถ้วนทั่ว ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เรื่อยมา สมณศักดิ์สุดท้ายเป็น พระครูวินิตศีลคุณ
หลวงพ่อลาเป็นผู้ที่ยึดมั่นในสมถกรรมฐานและมีพลังจิตที่แก่กล้า ได้รับความไว้วางใจจากชาวสิงห์บุรีให้เป็นพระคณาจารย์ร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิตในพิธีพุทธาภิเษก “เหรียญกริ่งรูปเหมือน แหวนมงคลเกล้า” ในพิธีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ณ วัดราชบพิธฯ เมื่อปี พ.ศ.2481 ซึ่งเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่มากในยุคนั้น มีพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังจากทั่วประเทศร่วมปลุกเสกถึง 108 รูป
หลวงพ่อลาสร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิด เช่น เหรียญ ตะกรุดโทน ผ้ายันต์ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาของชาวเมืองอินทร์บุรี สิงห์บุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหรียญปั๊มรูปเหมือน ปี 2468 ซึ่งเป็นเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกและรุ่นเดียว ที่นับเป็นหนึ่งในเหรียญยอดนิยมของจังหวัด
มรณภาพในปี พ.ศ.2486 สิริอายุ 82 ปี