เกษียร เตชะพีระ : อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (ยุค 1) – ลักษณะอุปถัมภ์ระหว่างรัฐราชการไทยกับทุนเจ๊ก

เกษียร เตชะพีระ

(ตอน3) อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน : ยุค 1 ค.ศ.1975-1989

น่าสังเกตว่าข้อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐและไทยกับจีนของ ดร.เจษฎาพัญ ทองศรีนุช ในวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตเรื่อง “สี่ทศวรรษนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีน : นโยบาย ปัจจัยและข้อเสนอแนะ” (พ.ศ.2560) และ Benjamin Zawacki ในหนังสือ Thailand : Shifting Ground between the US and a Rising China (ค.ศ.2017) กลับตาลปัตรกันในยุคที่ 1 ของความสัมพันธ์ไทย-จีน ค.ศ.1975-1989 นี้

คุณเจษฎาพัญประเมินสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐค่อนไปทางลบ และประเมินสัมพันธ์ไทยกับจีนค่อนไปทางบวก โดยได้รับอิทธิพลจากการประเมินของนักวิชาการไทยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่าง จุลชีพ ชินวรรโณ, กุสุมา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, สุรชัย ศิริไกร เป็นต้น โดยเฉพาะในแง่ความมั่นคงและการซื้ออาวุธ (น.123-126)

ในทางกลับกัน Benjamin Zawacki กลับประเมินกลับตาลปัตร คือประเมินสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐค่อนไปทางบวกกว่า และประเมินสัมพันธ์ไทยกับจีนค่อนไปทางลบกว่า โดยเฉพาะในแง่ความมั่นคงและการซื้ออาวุธ

ประเด็นที่ BZ ชี้และไม่ถูกเอ่ยถึงในวิทยานิพนธ์ของคุณเจษฎาพัญคือ :

-การริเริ่มฝึกซ้อมรบ Cobra Gold ที่สหรัฐริเริ่มทำร่วมกับไทยและทำต่อเนื่องกันมาทุกปี ความช่วยเหลือทางทหารที่สหรัฐให้กับไทยช่วงนั้น และคุณภาพอาวุธที่สหรัฐขายให้กับไทยซึ่งเหนือกว่าของจีนมาก (BZ, p.58, 70, 73-74)

ถึงแก่ Benjamin Zawacki วิจารณ์ว่าคุณภาพอาวุธจีนแม้จะค่อยๆ พัฒนาดีขึ้นแต่ส่วนใหญ่แล้ว “ขยะแท้ๆ” (absolute rubbish) และรถถังที่ไทยซื้อจากจีนเป็นแค่ “กระป๋องติดล้อ” (tin cans on wheels) เท่านั้นเอง (BZ, p.74)

ในทางภาพรวม ขณะที่วิทยานิพนธ์ของเจษฎาพัญสรุปสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ยุค 1 นี้ว่าแย่ลง/ห่างเหินออกไป เทียบกับสัมพันธ์ไทย-จีนช่วงนี้ว่าดีขึ้น/แนบแน่นเข้า ถึงแก่คุณเจษฎาพัญใช้คำว่าเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” (น.80, 82) และบางทีก็ถึงกับใช้คำหลวมๆ ว่า “พันธมิตรทางด้านความมั่นคง” และ “พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์” (น.172)

ทว่า Benjamin Zawacki กลับให้ภาพความสัมพันธ์ในยุค 1 ต่อยุค 2 (ค.ศ.1990-2000) ที่พลิกไหว ซับซ้อนปรับเปลี่ยนและเบากว่า ที่ p.64 ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ :

– ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ : สหรัฐเป็น [พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง -> ไม่ใช่พันธมิตร -> พันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดในโลก] ของไทย

– ความสัมพันธ์ไทย-จีน : จีนเป็น [ศัตรู -> หุ้นส่วนยุทธวิธี -> ไม่มีสถานะเป็นพันธมิตร -> ภัยคุกคามที่ไม่แน่ชัด] ของไทย

ขอให้สังเกตว่า BZ ใช้คำว่า tactical (ไม่ใช่ strategic) partner คือ “หุ้นส่วนเชิงยุทธวิธี” (ไม่ใช่ “ยุทธศาสตร์”) ระหว่างไทยกับจีน และไม่ใช้คำว่า ally หรือพันธมิตร ในความสัมพันธ์ของจีนกับไทยเลย แถม BZ ยังประเมินตอนท้ายหลังยุคเปรมว่าจีนถูกมองเป็นภัยคุกคามด้วยซ้ำ (ในยุค 2 ถัดไป)

ประเด็นถัดไปคือเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ในรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์) คำถามหลักคือเราจะพิจารณาสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นปัจจัยหนึ่งในแวดวงการจัดวางนโยบายต่างประเทศไหม? ทั้งโดยทั่วไปและโดยเฉพาะนโยบายต่อจีน?

วิทยานิพนธ์ของคุณเจษฎาพัญได้พิจารณาความสัมพันธ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการทูต/นโยบายไทยต่อจีนอยู่ (น.80, 86, 96, 131) อย่างไรก็ตาม นัยและน้ำหนักที่คุณเจษฎาพัญให้บทบาทความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเชิงสนับสนุนหรือมิได้เป็นฝ่ายกระทำ

ในทางกลับกัน Benjamin Zawacki กลับประเมินบทบาทความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์สูงมากในความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐ และที่เกี่ยวข้องกับไทยกับจีนต่อมา เช่น

– ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงรับคำนิยมยกย่องในหมู่ชาวอเมริกันว่าเป็นเสมือน “An American King” (p.32, 34) เพราะทรงประสูติที่นั่นและทรงโปรดวัฒนธรรมอเมริกันหลายอย่าง และในทางกลับกันก็ทรงตำหนิวิจารณ์และไม่ไว้วางพระราชหฤทัยจีนคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น (p.40, 41, 78)

– มองกว้างออกไป BZ ประเมินว่าแนวนโยบายต้านคอมมิวนิสต์ยุคสงครามเย็นของไทยวางอยู่บนเกลียวสัมพันธ์ของกองทัพกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่วมกับสหรัฐอเมริกา [Military-Monarchy + US Nexus] (p.35, 78)

– ในจังหวะสำคัญๆ เจ้านายชั้นสูงและพระบรมวงศานุวงศ์ทรงมีบทบาททางนโยบายต่างประเทศโดยตรงในเรื่องความสัมพันธ์กับสหรัฐ, จีน, ไต้หวัน (p.56, 59)

– น่าสนใจด้วยว่าขณะที่ BZ มองตัวแสดงนโยบายต่างประเทศไทยแทบทั้งหมดเป็น “พวกฉวยโอกาส” (opportunists, pp.27-31, 46) โดยเฉพาะสมัยนายกฯ ชวลิต (p.90) กระทั่งว่าประเทศไทยเป็นชาติที่ขาดอุดมการณ์ (“a nation devoid of ideology” p.5 อูย…แสบ)

แต่เขายกเว้นว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีอุดมการณ์จริงๆ (ในลักษณะชาตินิยม อนุรักษนิยม คัดค้านคอมมิวนิสต์ ทรงโปรดอเมริกัน สากลนิยม แต่ทรงระมัดระวังโลกาภิวัตน์) (p.49, 58, 78)

ส่วนอีกพลังหนึ่งที่ BZ มองว่าพอมีอุดมการณ์บ้างแต่เป็นส่วนน้อย คือขบวนการนักศึกษา 14-6 ตุลาฯ (pp.46-47) ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนในฐานะนักศึกษาทำกิจกรรมสมัยนั้น เห็นว่า BZ ประเมินต่ำไป จำนวนนักศึกษาทำกิจกรรมที่มีอุดมการณ์มีมากกว่านั้น

และ BZ ยังแถมท้ายอย่างน่าสนใจว่านายกฯ ชวน หลีกภัย เกือบมีอุดมการณ์ทางการเมือง (“closest to having espoused a political ideology”, p.76)

ในความเห็นผม ช่วงที่เยี่ยมที่สุด (excellent) อ่านแล้วตื่นเต้นเร้าใจที่สุดตอนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ของคุณเจษฎาพัญ คือตอนท้ายบทที่ 3 หัวข้อ 3.2.2.2 โครงสร้างการเมือง เป็นต้นไป (น.147-172) ซึ่งอธิบายโครงสร้าง ตัวแสดง กระบวนการ และพฤติกรรมรูปธรรมของฝ่ายต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศของไทยต่อจีนในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ สมัยรัฐบาลเปรม

โดยเฉพาะข้อความสรุปเชิงหลักการย่อหน้าแรกของ น.149 ซึ่งระบุว่า :

“อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้เป็นโครงสร้างหลักของการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทย นโยบายหลักทางเศรษฐกิจมักจะอยู่ในกรอบและผ่านกลไกที่ตั้งขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและภายใต้กรอบของระบบราชการหรือภายใต้แผนยุทธศาสตร์จากเทคโนแครตของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมักเป็นขบวนการปกติที่แยกออกจากกระบวนการทางการเมือง เนื่องจากรัฐยังมีบทบาทและความสำคัญ อำนาจทางการเมืองจึงยังอยู่ที่ระบบราชการในการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบาย และใช้ในการขยายฐานอำนาจผ่านระบบอุปถัมภ์โดยมีเทคโนแครตควบคุมอยู่ พร้อมทั้งทหารที่ยังคงมีบทบาทนำและเป็นแกนกลางของอำนาจ ซึ่งเห็นได้จากการที่คณะบริหารของรัฐบาลในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ส่วนใหญ่เคยเป็นข้าราชการประจำและกลุ่มขุนนางนักวิชาการมาก่อน”

ด้วยย่อหน้าที่ใส่เชิงอรรถอ้างอิงเอกสารประกอบถึง 5 แห่งนี้ ก็พอจะสรุปลักษณะทั่วไปของการวางนโยบายในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบนี้ได้ว่ามันเป็น bureaucratized, technocratized, militarized & depoliticized economic policy-making process

คำบรรยายหน่วยราชการกระทรวงทบวงกรมฝ่ายต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายในตอนถัดไปของวิทยานิพนธ์ก็สะท้อนความหลากหลายของหน่วยงานราชการ (bureaucratic pluralism) ที่เข้ามาร่วมการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีนได้อย่างชัดเจน เช่น คณะที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ, คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน, คณะรัฐบาล, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, กระทรวงต่างๆ เป็นต้น (เจษฎาพัญ, น.150-160)

แต่ข้อที่น่าฉงนชวนถามคือ แล้วทหาร/สถาบันกองทัพล่ะ ไม่มีบทบาทเรื่องนี้บ้างหรือ? เช่น การซื้ออาวุธรถหุ้มเกราะจากจีน (ที่ว่ามีปัญหาคุณภาพ) ซึ่ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้

คุณเจษฎาพัญยังได้ชี้ให้เห็นบทบาทของ 4 กลุ่มทุนธุรกิจเอกชนใหญ่ (CP, Bangkok Bank, สยามกลการ, ไทย-อาซาฮี) ว่าได้มาผลักดันทางราชการและรัฐบาลไทยจนเกิดข้อตกลงการลงทุนไทย-จีนขึ้นเป็นครั้งแรก โดยแลกเปลี่ยนกับการที่ฝ่ายจีนอนุมัติให้ตั้งสาขาธนาคารในปักกิ่ง เป็นต้น (น.161- 167) นับเป็นข้อมูลที่เปิดหูเปิดตาน่าตื่นใจยิ่งถึงสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ-การเมืองในระดับประเทศและข้ามชาติ

นอกจากนี้ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายผลประโยชน์ธุรกิจของพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณที่เชื่อมโยงกับจีน ทำให้เห็นอีกมิติหนึ่งของนักการทูตที่แหลมคมคนนี้ (น.156, ซึ่งไม่ปรากฏเอ่ยถึงในงานของ Benjamin Zawacki เลย)

อีกประเด็นหนึ่งที่ควรพินิจพิจารณาเพราะเอ่ยอ้างถึงกันมากจนออกเฝือ คือข้อความเชื่อว่าจีนกับไทยสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกันง่ายสะดวกเพราะมีเชื้อชาติ-วัฒนธรรมสอดรับกัน โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน (พูดและเขียนถึงกันเกร่อจนมิพักต้องอ้างอิงหลักฐานประกอบ)

นอกจากนโยบายฝ่ายจีนที่ไว้ใจทุนจีนโพ้นทะเลกว่าทุนตะวันตกตอนแรกแล้ว (น.173) ผมไม่ค่อยคิดว่าคำอธิบายนี้มีประโยชน์นัก ด้วยเหตุผลทางวิชาการดังนี้คือ :

มันเป็นปัจจัยที่ “นิ่ง” เกินไป ความใกล้เคียงทางเชื้อชาติ-วัฒนธรรมระหว่างคนจีนบางส่วนในเมืองจีนกับคนไทยเชื้อสายจีนเป็นเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว คำถามที่น่าถามคือทำไมจึงมาส่งผลช่วงนี้?

กล่าวคือ มันเป็นปัจจัย “คงที่” ที่ไม่สามารถอธิบายความผันแปรของปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ข้ามช่วงเวลาต่างๆ กันหรือเมื่อมีการเปลี่ยนชั่วรุ่นอายุคนได้ (historical variations over time หรือ generational shift) เช่น ความใกล้ชิดพ้องพานทางวัฒนธรรมที่ว่านี้ยังมีจริงในรุ่นลูกรุ่นหลานหรือ? คงที่เช่นเดิมหรือ? ไหงตอนสงครามเย็นไม่มากเท่านี้เล่า? หรือจู่ๆ ตอนนี้ทำไมจึงดูมากและเข้มข้นขึ้นกว่าตอนนั้น?

คำอธิบายทำนองนี้เหมือนกำปั้นทุบดิน ทุบตุ้บลงไปก็โดนดินเข้าวันยังค่ำ จึงพิสูจน์ว่าผิด (falsification) ได้ยากหรือไม่ได้เอาทีเดียว พูดอีกก็ถูกอีก

 

ฉะนั้น พูดไปก็ไม่ค่อยเกิดประโยชน์โภชผลอะไรในการอธิบายนอกจากทำให้รู้สึกดี และอ้างเหตุผลหลักฐานอะไรมายืนยันก็ไม่ปรากฏชัด

ดังนั้น ทางที่รอบคอบแล้ว ไม่ควรเน้นหรือให้น้ำหนักกับคำอธิบายทำนองนี้มากนัก (เจษฎาพัญ, น.101, 129-130, 173) เพราะไม่ค่อยเป็นสารประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปัญหาการลงทุนในจีนของนักธุรกิจไทย (เชื้อสายจีนด้วย) เพราะวัฒนธรรมธุรกิจ จริยธรรมการทำงานต่างกัน (น.96-98) อันนั้นจริงกว่ามากและสะท้อนว่าเจ๊กคบจีนทางเศรษฐกิจเพื่อจ๊อเซ็งลี้ร่วมกันจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ถ้าเชื้อชาติวัฒนธรรมช่วยจริง ไหงตอนไปลงทุนจริงที่เมืองจีนถึงเท้าเถี่ยเท้าฮิ้ง (ปวดกบาล หัวหมุนมึนตึ้บ) ขนาดนั้นล่ะ?

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าเชื้อมูลปัจจัยทางชาติพันธุ์วัฒนธรรม (ethno-cultural factors) ใช้อธิบายอะไรไม่ได้เลย หากพึงใช้ในลักษณะเป็นโครงสร้างโอกาสทางวัฒนธรรม (cultural opportunity structure) ที่ต้องอาศัยปฏิบัติการทางการเมืองวัฒนธรรมไปตีความระดมขับเคลื่อน (cultural political interpretation & mobilization) อย่างสอดรับกับสถานการณ์

เช่น การที่ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ชูประเด็น “ลูกจีนรักชาติ” ขึ้นมาในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลสมัคร เป็นต้น

ผมกลับคิดว่าคำวิเคราะห์บรรยายเรื่องคนจีนในเมืองไทยทางเศรษฐกิจที่ฉลาดแยบคายที่สุดที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ของคุณเจษฎาพัญคือของ สารสิน วีระผล ที่หน้า 133 ซึ่งพูดได้แนบเนียนมาก สะท้อนลักษณะอุปถัมภ์ระหว่างรัฐราชการไทยกับทุนเจ๊กได้สมจริงดี อันส่งผลต่อสายสัมพันธ์ไทย-จีนโดยอ้อมต่อไป ดังนี้ :

“สารสิน วีระผล นักวิชาการด้านจีนศึกษากล่าวว่า ชาวจีนโพ้นทะเลในไทยมีบทบาทสำคัญและเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศ ในด้านของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ในช่วงปี ค.ศ.1950-1980 ชาวจีนโพ้นทะเลและชาวไทยเชื้อสายจีนมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจของไทยโดยในช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากทุนพาณิชยกรรมเป็นทุนอุตสาหกรรม ชาวจีนในไทยมีการเปลี่ยนแปลงบทบาททางการเมืองร่วมมือกับชนชั้นนำทางอำนาจของไทย โดยใช้ระบบสายสัมพันธ์ผ่านทางวัฒนธรรมความสัมพันธ์แบบบรรณาการกับชนชั้นนำของไทย และระบบอุปถัมภ์ (patron-client) ที่ชนชั้นนำทางทหารนำมาใช้ ทำให้ฐานะเศรษฐกิจของชาวจีนในไทยค่อยๆ ดีขึ้น ได้เป็นเจ้าของในภาคการผลิตและการธนาคารซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ส่วนชาวไทยเชื้อสายจีนในรุ่นต่อมาก็มีบทบาททางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนโดยอ้อมมากขึ้น”

(ต่อสัปดาห์หน้า)