หลังเลนส์ในดงลึก : “แก่และป่วย”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

01:30 นาฬิกา 1 กันยายน พ.ศ.2559

สายฝนโปรยเบาบาง ท้องฟ้ามืดครึ้ม ด้านทิศตะวันตก มีแสงฟ้าแลบเป็นทางยาว ณ เวลานี้หากย้อนกลับไป 26 ปี ราวๆ 3 ชั่วโมงต่อจากนี้ ไม่ไกลจากบริเวณบ้านพักหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งคนปัจจุบัน ซึ่งผู้คนในเขตเรียกว่า “บ้านกระทิง” จะมีเสียงปืนดังขึ้นนัดหนึ่ง เสียงปืนที่พรากผู้ชายคนหนึ่งไปด้วยความตั้งใจของเขาเอง

ผ่านไปแล้ว 26 ปี หัวค่ำของวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2559 ผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มคนสาว ยืนนิ่งเงียบสงบอยู่ในความมืด ทุกคนถือเทียนเล่มเล็กๆ ที่เปลวไฟไหววับแวมตามแรงลม ตั้งใจระลึกถึงชายผู้กลายมาเป็นรูปปั้นนี้

พวกเขายืนรายล้อมรูปปั้นสูงทะมึนซึ่งตะคุ่มอยู่ในความมืด รูปปั้นของผู้ชายที่เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเมื่อ 26 ปีก่อน การจากไปของเขาทำให้คนรู้จักป่าห้วยขาแข้ง ได้รับรู้ถึงปัญหาและปัจจัยคุกคามต่างๆ และรู้ว่าลำพังข้าราชการเล็กๆ คนหนึ่งมีภาระหน้าที่หนักหนาเกินไป หนักหนาเกินกว่าที่เขาและเพื่อนๆ ในป่าจะรับไหว

เมื่อเขาจากไป ไม่เพียงโลกจะรับรู้การมีอยู่ของป่าห้วยขาแข้ง มีส่วนที่เรียกว่า “สรรพกำลัง” มากมายเข้ามาช่วยเหลือ กระทั่งถึงวันนี้ แม้สรรพกำลังทั้งหลายจะเบาบางลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้จางหายไป

“แก่และป่วยครับ” ในวงสนทนาของเราซึ่งเวลาล่วงเข้าวันใหม่ เจ้าของรหัส 301 หรือ สมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งคนปัจจุบัน ตอบคำถามเมื่อผมถามว่า ปัญหาหลักๆ ในการจัดการของเขตคืออะไร

“เรื่องคนทำงานครับ” หัวหน้าอธิบายเพิ่มเติม

“เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ คนของผมอยู่ในวัยใกล้เกษียณ หรือบางคนเหลือหลายปีแต่ก็เจ็บ หลายคนเจ็บเรื้อรังจากบาดแผลถูกยิง ทั้งจากการปะทะและปืนผูก หลายๆ คนเจ็บหลัง จากที่เคยแบกของหนักๆ เดินป่า ส่วนใหญ่พวกเขาเดินไม่ค่อยไหวแล้ว ได้แต่อยู่เฝ้าหน่วยหรือมาอยู่ส่วนกลางทำงานเบาๆ”

ท้องฟ้าแลบเป็นทางยาว ละอองฝนพัดเข้าบริเวณชานที่เราอยู่

“แต่คนพวกนี้คือคนที่ร่วมบุกเบิกหรือทำงานมาอย่างยาวนานในป่าแห่งนี้”

“คนใหม่ๆ ที่เข้ามาได้เรียนรู้จากพวกเขาใช่ไหมครับ” ผมถาม

“ซึ่งนั่นแหละเป็นข้อดีมหาศาล ถึงแม้ว่าวันนี้เราใช้วิทยาศาสตร์เข้ามานำการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นงานลาดตระเวนหรืองานชุมชนที่ต้องทำควบคู่กันไป เด็กรุ่นใหม่เรียนรู้การใช้เครื่องมือได้เร็วคล่องแคล่ว เมื่อได้ทักษะเก่าๆ จากคนที่รู้จักพื้นที่จริงๆ มาช่วยแนะนำ งานก็ดีขึ้น” หัวหน้าหยุด ยกเครื่องดื่มในแก้วทรงสูงขึ้นจิบ

“อีกนั่นแหละ คนหนุ่มๆ มักไม่ค่อยสู้งาน หลายคนเข้ามาทำงานได้ 2-3 วัน ขอลาออก บอกเหงาอยู่ไม่ไหว ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้เกือบทุกหน่วยเรามีพลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ มีจานรับสัญญาณดูทีวีได้ การทำงานในป่าจึงต้องใช้มากกว่าร่างกายที่แข็งแรงอย่างเดียว”

“คนแก่และป่วยช่วยอะไรไม่ได้มาก”

“อย่างที่บอกแหละครับว่าพวกเขาคือคนรุ่นแรกๆ จะให้ผมเอาพวกเขาออกไปได้อย่างไร คนที่ยังแข็งแรงดีต้องทำงานหนัก คนแก่ๆ ก็ช่วยประคองกันไป” ผมฟังที่หัวหน้าพูดอย่างเข้าใจ

คนทำงานในป่าหลายๆ คนที่ผมคุ้นเคยเป็นคนแก่และป่วย ขณะเด็กๆ ออกลาดตระเวน พวกเขาอยู่เฝ้าหน่วยรับ-ส่งวิทยุ ทุกครั้งที่คุยกันหรือเวลาผมถามข้อมูลตำแหน่งแหล่งหากินสัตว์ป่า พวกเขาจะเล่าให้ฟังอย่างละเอียด บอกเส้นทางการเดินได้แม่นยำราวกับหลับตาเห็น

ทักษะต่างๆ เหล่านี้ถูกถ่ายทอดมารุ่นถึงรุ่น

สําหรับสัตว์ป่าพวกมันย่อมมีวิถีไม่ต่างไปจากนี้ สัตว์ป่าโดยเฉพาะตัวผู้ เมื่อแก่และป่วยต่างใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง วัวแดงตัวผู้ชราภาพตัวหนึ่งเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกับผม เดินออกมาจากโป่งขนาดใหญ่ ขณะผมเดินเข้าไป ขาหลังด้านขวากะเผลกๆ รูปร่างซึ่งค่อนข้างผอม ซี่โครงเรียงเป็นซี่ๆ แต่กระนั้นประสาทสัมผัสโดยเฉพาะจมูกยังทำงานได้ดี มันชะงักเงยขึ้นสูดกลิ่นและเดินช้าๆ หลบไปทางด้านขวามือซึ่งเป็นพงหญ้าสูงบังวัวแดงไว้เกือบครึ่ง ขากะเผลกรูปร่างผอม ความชราภาพมองเห็นได้ชัดเจน วันเวลาของมันคงเหลือไม่มาก ริ้วรอยขีดข่วนรวมทั้งแผลบอกให้รู้ถึงความโชกโชนที่ผ่านมา

ผมถ่ายรูปวัวแดงตัวนี้ไว้จำนวนหนึ่ง สิ่งที่จำได้แม่นยำเกี่ยวกับวัวแดงตัวนี้คือ แววตาที่ได้เห็น ไม่ใช่แววตาของชีวิตซึ่งแก่และป่วย ไม่ใช่แววตาของชีวิตซึ่งยอมจำนน แต่เป็นแววตาของสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้จะอยู่กับสภาพที่ตนเองเป็น

วันรุ่งขึ้นผมกลับมาที่โป่งแห่งนี้ วัวแดงตัวนี้กลายเป็นซาก บริเวณคอมีรอยเขี้ยวขนาดใหญ่ของเสือโคร่ง เนื้อแถวก้นถูกกินไปบางส่วน

ผมเข้าที่ซ่อนตัว ช่วงบ่ายฝนตกหนัก สายฝนครอบคลุมจนกระทั่งผมมองเห็นซากวัวแดงเพียงรางๆ ซากอันไม่รับรู้ว่าฝนจะตกแดดจะออกหรือสภาพอากาศจะเป็นเช่นไรแล้ว

ผมพูดขำๆ กับเพื่อนๆ เสมอว่า คงเป็นเพราะชีวิตต้องเดินทางอยู่บนหนทางทุรกันดาร ขรุขระหล่มลึก ลื่นไถลอยู่เกือบตลอดเวลานั่นแหละ จึงทำให้น้ำในขวดที่วางไว้บนรถกระฉอกออกไปไม่เคยใส่ได้เต็ม น้ำที่ไม่เต็มแก้วย่อมเทน้ำใส่เพิ่มได้ตลอด นี่ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งมีคนคิดค้นได้ แต่คือความเป็นจริงตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์

ทุกครั้งที่อยู่ในป่า ผมรู้สึกคล้ายกำลังอยู่ในห้องเรียน “ครู” ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาสอน ทั้งครูที่สอนโดยด้วยคำพูด และครูที่สอนโดยการกระทำ

สายฝนเบาบางลงท้องฟ้าสว่างขึ้น ไฟดับ พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์หมด ท้องฟ้าไร้แสงแดดมาหลายวัน

ผู้รู้จักผู้ชายวัยต้น 50 เจ้าของรหัส 301 ผู้นี้มาเนิ่นนาน ตั้งแต่ครั้งยังหนุ่มไฟแรงรับภาระใหญ่กับการจัดการพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ถึงวันนี้ริ้วรอยชราภาพยังไม่ปรากฏ ที่เห็นมีเพียงประสบการณ์ที่เขาถ่ายทอดให้กับน้องๆ

ผมพบกับสัตว์และคนในป่าซึ่งอยู่ในสถานภาพ “แก่และป่วย” เสมอๆ พวกเขาเกือบทั้งหมดคือครู ไม่ได้สอนผมด้วยคำพูด แต่สอนด้วยวิถีชีวิตที่เขาเป็น