สุรชาติ บำรุงสุข : สงครามกลางเมืองซีเรีย: ประเด็นและปัญหาอาวุธเคมี

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สุรชาติ บำรุงสุข

สงครามกลางเมืองซีเรีย:

ประเด็นและปัญหาอาวุธเคมี

หลังจากชัยชนะของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยในอียิปต์และตูนิเซีย
หรือที่เรียกเชิงเปรียบเทียบว่าเป็นดั่งการมาเยือนของ “ฤดูใบไม้ผลิในโลกอาหรับ” (The Arab Spring) แล้ว
กระแสของการเรียกร้องหาความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็แพร่กระจายไปทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง
แต่ไม่มีใครคิดว่าในที่สุดแล้วกระแส “อาหรับสปริง” จะก่อตัวขึ้นในซีเรีย ทั้งในมุมมองของรัฐบาล
ของโลกตะวันตก หรือของผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างเชื่อว่า ซีเรียอาจจะเป็นข้อยกเว้นในกรณีนี้
เพราะมีเงื่อนไขภายในที่ไม่รุนแรงโดยเปรียบเทียบเช่นประเทศอาหรับอื่นๆ …
แล้วอาหรับสปริงก็เกิดขึ้นในซีเรีย
แต่อาหรับสปริงในซีเรียดูจะเป็นด้านตรงข้ามของความสำเร็จในอียิปต์และตูนิเซีย
ซึ่งอาจจะเทียบเคียงได้กับกรณีของลิเบีย ผลที่ตามมาจากการลุกขึ้นสู้ที่ไม่สำเร็จ ก็คือ
สถานการณ์สงครามกลางเมือง และกลายเป็นสถานการณ์ความรุนแรงชุดหนึ่งในเวทีโลกปัจจุบัน
สงครามนี้มีจุดเริ่มต้นจากการประท้วงที่เกิดขึ้นในวันที่ 15 มีนาคม 2011
และการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายน 2011
เมื่อทหารบางส่วนของกองทัพซีเรียเรื่มหันมาเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด
ซึ่งหลังจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว สถานการณ์ความรุนแรงก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
และหนึ่งในอาวุธที่รัฐบาลนำมาใช้ปราบปรามฝ่ายต่อต้าน หรือที่เรียกว่า “ฝ่ายกบฏ” คือ อาวุธเคมี
อาวุธเคมีเป็นหนึ่งในสามของความเป็น “อาวุธต้องห้าม” (อีกสองประเภทคืออาวุธนิวเคลียร์และอาวุธชีวะ
และปัจจุบันถูกจัดเป็น “อาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง” หรือ “WMD”)
และอาวุธชนิดนี้มีกฎหมายและความตกลงระหว่างประเทศควบคุมไว้อย่างชัดเจน
การนำเอาอาวุธดังกล่าวมาใช้ในปฎิบัติการทางทหารจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้
แต่กลับพบหลักฐานของการใช้อาวุธชนิดนี้ของรัฐบาลซีเรียหลายต่อหลายครั้งในพื้นที่ต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจากการโจมตีย่านชานเมืองของอเลปโปในเดือนมีนาคม 2013 เป็นต้นมา
อีกทั้งรายงานการใช้อาวุธเคมีของรัฐบาลซีเรียปรากฎในสื่อหลายแห่ง
จนคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษย์ชนของสหประชาชาติ (UNHRC)
ได้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบการใช้อาวุธนี้ (The Independent International Commission of
Inquiry on the Syrian Arab Republic) และรายงานแรกออกสู่สาธารณะในเดือนกุมภาพันธ์ 2014
ยืนยันถึงการใช้อาวุธเคมีที่เป็นสารซาริน (Sarin) ในปฎิบัติการทางทหารของฝ่ายรัฐบาล
และรายงานฉบับต่อมาในเดือนสิงหาคม 2014 พบว่ามีการใช้สารคลอรีน (chlorine) ในการโจมตีที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้องค์กรที่ทำงานในการตรวจสอบและควบคุมการใช้อาวุธเคมีโดยตรงคือ The Organization for the
Prohibition of Chemical Weapons (OPCW) ซึ่งได้รับมอบภารกิจจากสหประชาชาติ (The OPCW-UN)
ในการเข้าไปตรวจสอบการใช้อาวุธเคมีในซีเรียในเดือนตุลาคม 2013 และสิ้นสุดภารกิจในเดือนกันยายน
2014 แต่ก็ได้กลับเข้ามาจัดตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงอีกครั้ง และออกรายงานในเดือนธันวาคม 2014
ถึงการใช้สารคลอรีนโจมตีหมู่บ้าน Talmenes หมู่บ้าน Al-Tamanah และหมู่บ้าน Kafr Zita
และต่อมาในช่วงต้นปี 2015 องค์กรนี้ได้เปิดเผยถึงร่องรอยของการใช้สารซารินและสารวีเอ็กซ์
ซึ่งเป็นสารที่พบในศูนย์วิทยุของหน่วยงานวิจัยทางทหารของรัฐบาลซีเรีย
แม้ในเดือนกันยายน 2013 รัฐบาลซีเรียถูกกดดันจนต้องยอมรับความตกลงระหว่างประเทศ
และนำไปสู่การทำลายอาวุธเคมีในคลังแสงของตน แต่ก่อนช่วงเวลาดังกล่าว
รัฐบาลซีเรียไม่เคยยอมรับว่ามีอาวุธเคมีไว้ในครอบครอง อย่างไรก็ตามหน่วยข่าวกรองของตะวันตกประเมินว่า
รัฐบาลซีเรียมีอาวุธเคมีมากที่สุประเทศหนึ่งในโลก และในเดือนสิงหาคม 2017
สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานว่า รัฐบาลซีเรียพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการทำลายอาวุธเคมีดังกล่าว
และประมาณการว่า รัฐบาลยังมีอาวุธนี้ไว้ในครอบครองในรูปแบบของระเบิดอีกไม่ตำ่กว่า 2,000 ลูก

นอกจากนี้ สมัชชาความมั่นคงของสหประชาชาติยังได้ออกมติที่ 2235 ในปี 2015
เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วมในการตรวจสอบการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย และในปี 2016
คณะกรรมการนี้ได้ออกรายงานถึง 4 ฉบับที่ล้วนยืนยันถึงการใช้อาวุธนี้ และในต้นปี 2017
รายงานได้ระบุถึงตัวบุคคลและองค์กรของรัฐบาลซีเรียที่เกียวข้องในการใช้อาวุธเคมี
และมีข้อสรุปว่าการใช้อาวุธนี้เป็นผลจากการตัดสินใจใน “ระดับสูงมาก” (very top)
แต่รายงานเหล่านี้ไม่ได้รับการเปิดเผยในเวทีสาธารณะ และสำหรับรัฐบาลซีเรียแล้ว
การใช้อาวุธเคมีเป็นการใช้อำนาจการทำลายล้างที่ดูจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ดีการกว่าส่งกำลังขนาดใหญ่เข้ากวาดล้าง และเป็นที่ทราบกันดีว่า อาวุธเคมีไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และมองไม่เห็น
ทำให้แจ้งเตือนและตรวจสอบได้ยาก แต่หลักฐานที่ชัดเจนก็คืออาการของผู้ป่วย
ที่มีลักษณะของการได้รับสารพิษ และผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมีอาการคล้ายคลึงกัน
รัฐบาลซีเรียพยายามชี้แจงตอบโต้ด้วยหลักฐานบางชิ้นว่า อาวุธดังกล่าวไม่ใช่ของตน
และพยายามชี้ว่าฝ่ายต่อต้านก็มีอาวุธนี้เช่นกัน
หรือมีข้อมูลของหน่วยข่าวกรองที่ระบุถึงความพยายามในการสร้างและพัฒนาอาวุธเคมีของกลุ่มก่อการร้ายอย่างเช่น กลุ่มรัฐอิสลาม และเป็นไปได้มีการใช้อาวุธนี้ในบางพื้นที่เข่นกัน
แต่เป้าหมายก็ยังชี้กลับมาที่ฝ่ายรัฐบาลมากกว่า และในช่วงต้นปี 2016
เริ่มมีรายงานมากขึ้นถึงการละเมิดความตกลงในการใช้อาวุธเคมีของรัฐบาลซีเรีย
เพราะอาการของผู้ป่วยพลเรือนที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกโจมตีมีลักษณะชัดเจนถึงการถูกสารเคมี และในต้นปี 2017
ก็ยิ่งมีเหตุการณ์ที่ยืนยันถึงการใช้อาวุธชนิดนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีที่ Masyaf Dummar และ Barzeh
และสามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นสารคลอรีนและสารเคมีอื่นๆ
อีกทั้งยังมีรายงานถึงการที่รัฐบาลซีเรียหันไปผลิตอาวุธเคมีและชีวะ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาพยายามออกแรงกดดันให้ยุติการทำ “สงครามเคมี” และสถานการณ์ดูจะเป็น
“ฟางเส้นสุดท้าย” สำหรับฝ่ายตะวันตกก็คือ การเสียชีวิตของประชาชนอย่างน้อย 42 คนจากการโจมตีเมือง
Douma ในวันที่ 7 เมษายน 2018 และมีรายงานจาก WHO ว่ามีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษากว่า 500 คน
และผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการที่ชัดเจนถึงการถูกสารพิษ แต่รัฐบาลซีเรียและรัฐบาลรัสเซียปฏิเสธว่า
ไม่มีการโจมตีที่หมายดังกล่าว และกล่าวว่ารายงานที่เกิดขึ้นเป็นข่าวปลอม (Douma
เป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในพื้นที่ด้านตะวันออกองเมือง Ghouta) แต่สำหรับรัฐบาลซีเรียแล้ว
การใช้อาวุธเคมีเป็นดัง “การกวาดล้างสุดท้าย” ที่จะต้องจัดการกับฝ่ายต่อต้านให้หมด
แม้จะมีข้อตกลงให้มีการอพยพออกจากเมืองดังกล่าวแล้วก็ตาม
สำหรับรัฐบาลสหรัฐตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโอบามาที่พยายามหยุดยั้งสงครามเคมีในซีเรีย
แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลของของนายโดนัล ทรัมป์จึงแสดงบทในลักษณะ “ไม้แข็ง” มากขึ้น
จนในที่สุดก็นำไปสู่การใช้มาตรการทางทหารในวันเสาร์ที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา
แต่หลายฝ่ายมีข้อสังเกตว่าปฎิบัติการทางอากาศเช่นนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จในการหยุดยั้งสงครามเคมีในซีเรีย
ได้จริงหรือไม่ และปัญหาที่ตามมาสำหรับทำเนียบขาวก็คือ
สหรัฐจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองซีเรียอีกมากน้อยเพียงใด
และทั้งสหรัฐยังมุ่งหวังในการเปลี่ยนแปลงระบอบในซีเรียอีกหรือไม่
ถ้าเช่นนั้นแล้วความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียในอนาคตทั้งในบริบทตะวันออกกลาง
และในเวทีโลกจะเป็นเช่นใด
ตลอดรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลางจะเป็นไปอย่างใด
แต่ที่แน่นอนสำหรับอนาคตก็คือ สถานการณ์โลกมีความซับซ้อนและผันผวนมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และปัญหาอาวุธเคมีได้กลับมาเป็นวาระความมั่นคงของโลกอีกครั้ง!